จารึกหงศวดีสัตยาธิษฐาน จารึกพระสัตย์ปฏิญาณ ล้านนาคือที่พึ่งของรัฐมอญและอังวะ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฉบับที่แล้วเราได้เห็นความสามารถของ “พระเมืองแก้ว” ในฐานะ “กวี” ผู้ประพันธ์ “กะโลง” หรือ โคลงนิราศหริภุญไชย (ตามทัศนะของอาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร) กันไปแล้ว

ถือว่าเป็น “อัจฉริยภาพ” อีกด้านหนึ่งของพระมหากษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย นอกเหนือไปจากข้อมูลที่เรารับรู้กันอย่างกว้างขวางแต่เพียงว่า สมัยของพระองค์นั้นคือ “ยุคทองของพระพุทธศาสนา” อย่างแท้จริง

แล้วด้านการรบการสงครามล่ะ! พระองค์มีความเก่งกาจสักกึ่งก้อยของพระราชปัยกา (ทวด- พระเจ้าติโลกราช) ไหม? อีกทั้งด้านการเมืองการปกครองเล่า บารมีของพระองค์จักทัดเทียมเสด็จทวด ผู้ได้รับฉายาว่าพระเป็นเจ้าแห่งโลกทั้งสามหรือไม่?

บทความฉบับนี้จะขอนำเสนอประเด็นแปลกใหม่ เชื่อว่าคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก นั่นคือ “สถานะความเป็นผู้นำ หนึ่งในอุษาคเนย์” ของพระเมืองแก้ว ที่เพื่อนบ้านหลายแว่นแคว้นต้องมาขอพึ่งพาบารมี

ราชสาส์นจากแดนไกลสองฉบับ
สะท้อนความหวั่นไหวจากภัยหนึ่งเดียว

ใครที่เคยเข้าไปชมนิทรรศการในห้องศิลาจารึก ชั้นล่างของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน คงอดสงสัยมิได้ว่า ทำไมจึงมีจารึกสมัยล้านนาที่เขียนด้วยตัวอักษรฝักขามสองหลัก อยู่ในสภาพแตกหักไม่สมบูรณ์ สึกกร่อนรอนรานตามธรรมชาติ หรือว่าถูกใครจงใจทุบทำลายโดยเจตนา?

จารึกหลักแรกเลขทะเบียน ลพ.13 (ลพ. ย่อมาจากลำพูน) มีชื่อเรียกว่า “จารึกหงศวดีสัตยาธิษฐาน” อีกหลัก ลพ.14 ชื่อ “จารึกพระสัตย์ปฏิญาณ” จารึกทั้งสองหลักเคยปักอยู่ที่โคนฐานพระธาตุหริภุญไชยด้านทิศตะวันตก ใกล้กับที่ตั้งของ “วัดแสนข้าวห่อ” ซึ่งปัจจุบันก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยนั่นเอง

แม้จารึกของทั้งคู่จะเว้าแหว่ง อ่านได้ไม่ปะติดปะต่อ แต่นักภาษาโบราณทั้งสายกรมศิลปากรและสายสถาบันวิจัยสังคม มช. ทีม ดร.ฮันส์ เพนธ์ ก็ปริวรรตเนื้อหาและประมวลความเห็นพ้องอย่างต้องตรงกันว่า

จารึกทั้งสองหลักนี้ พระเมืองแก้วโปรดให้อาลักษณ์ในราชสำนักล้านนาจารขึ้น ตามข้อความพระราชสาส์นที่พระองค์ได้รับจาก “สองอาณาจักร” 1.รัฐมอญหงสาวดี 2.รัฐอังวะที่สืบสายมาจากพุกาม

โดยที่สองรัฐนี้มีความ “หวั่นไหว-หวาดเกรง” ภยันตรายจากอำนาจของรัฐใหม่ที่กำลังเติบกล้าขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ “ราชสำนักตองอู” ซึ่งวันหนึ่งต้องรุกรานหาญหักต่อรัฐหงสาวดีและรัฐอังวะอย่างแน่แท้ จึงได้เขียนสาส์นมาขอพึ่งใบบุญจากกษัตริย์ล้านนา เป็นเชิงผูกสัมพันธไมตรีขอให้เป็นมิตรที่ดีต่อกัน ประมาณว่า ญาติอย่าทิ้งญาติ หรือเพื่อนต้องช่วยเพื่อน

สาส์นฉบับแรก (ลพ.13) กษัตริย์หงสาวดีเรียกพระเมืองแก้วว่า “พี่” (เชษฐา) ในทำนองว่า หากเมืองหงสาวดีมีภัย ขอให้เราสามัคคีกัน พี่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลอย่าได้ทอดทิ้งน้อง ข้อความตอนท้ายเขียนว่า “หงศวดีสัตยาธิษฐาน” และ “วรสัตยาธิษฐาน”

อีกฉบับจากกรุงอังวะ (จารึก ลพ.14) ถูกนำมาจารประกาศให้โลกรู้ ปัก ณ เชิงฐานพระธาตุหริภุญไชยทิศปัจจิมคู่กับราชสาส์นฉบับแรก ฉบับหลังนี้กษัตริย์อังวะเรียกตัวเองว่า “หลาน” (พระราชภาคิไนย) และเรียกพระเมืองแก้วแบบยกย่องให้อาวุโสกว่าว่า “น้า” (พระมาตุลา)

เนื้อหากล่าวถึงคำสัตย์ปฏิญาณระหว่างสองนคร ว่าหากราชสำนักใดราชสำนักหนึ่งมีภัย ขอ “น้า-หลาน” อย่าได้ทอดทิ้งกัน

“โลการถจรรยานี้ แก่น้าเรา ด้วยตน ด้วยปาก ด้วยใจ บ่มิให้คลาดคลาจลาจลแท้จริงแล ภยันตรายแห่งน้าเราก็ดี แห่งราชสมบัติน้าเราก็ดี เราบ่จงจักให้บังเกิดมีเลย อุปทวะอันใดอันหนึ่ง หากเกิดมีแก่น้าเราและเราได้รู้ เราก็จักช่วยน้าเราให้มีสุขชุประการ ในประมาณมีเท่านี้ เป็นคำพระสัตย์ปฏิญาณแห่งเรา”

ข้อความในจารึกทั้งสองนี้ สอดคล้องต้องตรงกันกับเนื้อหาใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” ที่กล่าวว่า

“พระเมืองแก้วตรัสสั่งให้เก็บรักษาหนังสือสัญญาพระราชไมตรี ที่พระเจ้าอริมัททนะใช้ให้ราชทูตอุปทูตเชิญมา เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีกับพระองค์ ไว้ที่เชิงพระมหาธาตุหริปุญไชย หนังสือสัญญาพระราชไมตรีของพระเจ้าหงสาวดีก็เช่นเดียวกัน…”

หมายเหตุ ชินกาลฯ ยังคงเรียกอังวะว่าพุกาม หรืออริมัททนาอยู่ เนื่องจากมองว่าจากราชบัลลังก์อังวะนั้นเป็นการสืบทอดต่อมาจากพุกาม ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง ในสมัยล้านนานั้น ศูนย์อำนาจเคลื่อนจากพุกามไปที่อังวะแล้ว

เกิดอะไรขึ้นล่ะหรือ? กับกษัตริย์ “หงสา-อังวะ” พวกเขากำลังหวาดกลัวใคร? ทำไมถึงขนาดต้องเขียนราชสาส์นมายังกษัตริย์แห่งล้านนาอันไกลโพ้นด้วยเล่า สนมสนิทชิดเชื้อกันมากแค่ไหนหรือถึงกับนับญาติ?

กษัตริย์ทั้งสองในจารึกคือใคร?
สุดท้ายล้านนาไม่ได้ช่วยรัฐหงสา-อังวะดอกหรือ?

จารึก ลพ.13 และ ลพ.14 นี้เป็นเครื่องยืนยันถึง “ความพยายามขอพึ่งบารมีจากล้านนาของสองรัฐ” ที่กำลังหมิ่นเหม่อยู่ภายใต้ภัยของราชวงศ์ตองอูอย่างยิ่งยวด

เรามาถอดรหัสกันก่อนว่ากษัตริย์ทั้งสองคือใครกัน องค์แรกเป็นกษัตริย์มอญกรุงหงสาวดี ขณะนั้นปี 2066 เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าตรงกับสมัยของโอรส “พระเจ้าธรรมเจดีย์มหาราช” ผู้มีพระนามว่า “พระญารามที่ 2”

ส่วนกรุงอังวะนั้น หม่องทินอ่อง เขียนไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์พม่า” ว่าตั้งแต่ปี 2060 ลงมา ในยุคของกษัตริย์อังวะองค์สุดท้ายคือ “โตฮาน-บว่า” (ในผู้ชนะสิบทิศเรียก โสหันพวา) ซึ่งมีพันธมิตรเป็นไทใหญ่

อังวะเข้าสู่ยุคเสื่อมและไร้อำนาจอย่างสุดจะพรรณนา

แม้ขนาดว่าโสหันพวายอมยกหลานสาวให้ “เมงคยินโย” (มินกินโย-พระราชบิดาของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูแล้วก็ตาม ทว่า ตองอูก็ไม่ได้ช่วยเหลืออังวะในสงครามกับพวกไทมาวแต่อย่างใดเลย

สิ่งที่เราควรตั้งคำถามคือ ขณะที่ทั้งหงสาวดีและอังวะต่างเกรงกลัวต่ออำนาจของพระเจ้าเมงคยินโย ซึ่งมีอายุตรงกับสมัยพระเมืองแก้วนั้น ข้างฝ่ายกรุงศรีอยุธยา สถานการณ์เป็นเช่นไรเล่า ไยรัฐทั้งสอง หงสา-อังวะจึงไม่ขอความช่วยเหลือจากรัฐที่เกรียงไกรกว่าอย่างกรุงศรีอยุธยาแทน

รวมไปถึงคำถามที่ว่า กิตติศัพท์ของรัฐล้านนาขณะนั้นมีความยิ่งใหญ่ ชื่อเสียงฟุ้งขจรขจายมากพอที่จะปกป้องรัฐหงสาวดีและอังวะได้ล่ะหรือ?

ข้อสำคัญ พ่อของตะเบ็งชะเวตี้จะล่วงรู้ด้วยหรือไม่ว่า ห้วงเวลาที่คุณฮึ่มฮั่มประกาศแสนยานุภาพของรัฐตองอูอยู่นั้น รัฐระดับหงสา-อังวะบังเกิดความหวาดหวั่น ถึงกับต้องแอบเขียนสาส์นมาขอกระชับสัมพันธไมตรีเป็นมิตรแท้ในยามยากกับล้านนา?

การจะศึกษาว่า พระเมืองแก้วมีบารมีแผ่ไพศาลมากน้อยเพียงใด ต่อการรับรู้ของรัฐในลุ่มน้ำสาละวินนั้น คงต้องย้อนกลับไปมองวีรกรรมของสามมหาราชรุ่นปู่ทวดที่ร่วมสมัยกัน

ฝ่ายมอญหงสาคือพระเจ้าธรรมเจดีย์ ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราชของล้านนา และพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ยุคก่อนหน้าพระเมืองแก้วราว 4-5 ทศวรรษเท่านั้น โดยต้องถือว่าเป็นยุคทองของอุษาคเนย์

เสด็จทวดของพระเมืองแก้ว (ติโลกราช) ได้ส่งพระภิกษุระดับมหาราชครูไปร่วมทำสังฆกรรมที่อุโบสถกัลยาณี ตามคำอาราธนาของพระเจ้าธรรมเจดีย์จำนวนมหาศาล ช่วงนั้นเองที่ชาวหงสาได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ด้านการพระพุทธศาสนาของล้านนา และน่าจะเป็นอานิสงส์สืบทอดมาจนถึงยุคของพระเมืองแก้ว ว่ารัฐล้านนานี้ยังคงความเกรียงไกรในทุกๆ ด้านไว้อยู่

ข้างฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเล่า ปี 2066 ตรงกับสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (แต่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่าตรงกับสมัยของอาทิตยวงศ์ หรือบรมราชาธิราชที่ 4) ซึ่งทั้งสองรัชกาลนี้ต่างเป็นว่านเครือเชื้อสายของมหาราชบรมไตรโลกนาถ เชื่อว่ากิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาก็น่าจะอยู่ในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าล้านนา

ดิฉันไม่ทราบเหมือนกันว่า ทั้งพระญารามที่ 2 แห่งหงสาและกษัตริย์อังวะองค์สุดท้าย ได้เขียนสาส์นมาขอความช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยาหรือไม่ เนื่องจากเรายังไม่พบหลักฐาน

หลังจากพระเมืองแก้วสิ้นพระชนม์ปี 2068 (2 ปีหลังจากกระทำจารึก) กรุงอังวะก็ถูกยึดโดยพระเจ้าเมงคยินโยในปี 2070

พระเมืองเกษเกล้าโอรสของพระเมืองแก้วขึ้นเป็นกษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 12 สถานการณ์เมืองมอญเลวร้ายลงเรื่อยๆ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ปิดฉากยึดหงสาวดีอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเมื่อ พ.ศ.2082

น่าสงสัยว่า ขณะนั้นพันธมิตรแห่งความเป็น “น้า-หลาน” “พี่-น้อง” ระหว่างล้านนาและรัฐทั้งสอง คงไม่มีการหยิบมาพูดถึงอีก เพราะลำพังพระเมืองเกษเกล้าเองก็ตกอยู่ในสถานะลำบาก พระองค์ถูกปล้นราชบัลลังก์ ถูกเนรเทศ จนกระทั่งถูกสำเร็จโทษ แม้แต่พระองค์เองก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ยิ่งหลังจากนั้นมา เข้าสู่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง อย่าว่าแต่หงสา-อังวะ หรือล้านนาเลย แม้แต่กรุงศรีอยุธยาที่ว่าแข็งแกร่ง ก็ยังต้องพ่ายต่อตองอู

กษัตริย์เปลี่ยน สถานการณ์แปร แต่จารึกยังคงผงาดอยู่ ร่องรอยของการฟันหินให้แตกเป็นเสี่ยงๆ เป็นความจงใจของใคร ยุคไหนหรือ? เป็นไปได้ไหมว่าพระเจ้าบุเรงนองมาเห็นจารึกสองหลักตอนนมัสการพระธาตุหริภุญไชยแล้วโมโห หนอย! แอบนัดแนะเป็นพันธมิตรกันดอกรึ?

ฤๅว่าคนรุ่นหลัง สมัยพระเจ้ากาวิละมาอ่านเจอเข้า อ้าว! กษัตริย์ล้านนายุคทองเคยจับมือกับพวกมอญ-ม่านด้วยหรือนี่? หรือแท้จริงแล้วไม่มีใครทุบ หากเสื่อมสภาพตามกาลเวลา

น่าคิดว่าจารึกสองหลักนี้ ทำไมจึงเลือกรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่าในการจาร หรือว่าจำเป็นต้องสร้างความแตกต่างระหว่างจารึกที่เขียนในเชิงประกาศความยิ่งใหญ่ทาง “อาณาจักร” ด้วยมิใช่ “ศาสนจักร”

ชวนให้นึกถึงศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัยขึ้นมาทันที เพราะโดยปกติแล้วพบว่าจารึกทั่วไปที่เน้นการทำบุญ กัลปนาสิ่งของผู้คนเพื่อการศาสนาต่างๆ มักเป็นแผ่นแบนๆ แบบจารึกสองหน้า •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ