นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ครูประเภทที่สอง ในสังคมไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนอธิบายเกี่ยวกับอะไรที่เรียกว่า “ครู” ในสังคมไทยไว้ในคอลัมน์ประจำของท่านเองใน มติชนสุดสัปดาห์ เมื่อคราวที่จารึกวัดพระเชตุพนฯ หรือที่เรียกกันอย่างชินปากมากกว่าว่า วัดโพธิ์ ได้รับการประกาศว่า องค์การยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกเมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ว่า ครูในสังคมไทยมีอยู่สองประเภท

หนึ่งคือ คนที่สอนอะไรให้แก่เรา เราก็ยกย่องให้เขาเป็นครู ครูประเภทนี้มีอยู่มาก พบเห็นได้ทั่วไปจากการศึกษาในระบบตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล เรื่อยไปจนถึงอุดมศึกษา

สำหรับประเภทที่สอง มีจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อยในสังคม ครูประเภทนี้ไม่ได้สอนอะไรให้แก่ใครโดยทั่วไป แต่ก็ถูกยกย่องเรียกขานว่าเป็น “ครู” ด้วยเหมือนกัน เพราะคือคนที่เป็นต้นแบบ หรือต้นตำรา

ตัวอย่างเช่น คนที่สร้างแบบสร้างตำราสำหรับเล่นปี่พาทย์ จนคนอื่นๆ เอาอย่าง หรือถือว่าเป็นการเล่นทางหลักอันหนึ่งถือว่าเป็นครูประเภทที่สอง ส่วนคนที่เพียงแต่สอนปี่พาทย์ ถึงแม้จะมีลูกศิษย์ลูกหาเรียนด้วยมาก แต่ไม่ได้สร้างแบบ สร้างตำราของตนเองขึ้นมา เพียงแค่อาศัยเล่นตาม “ทางครู” ที่เขาเล่นต่อๆ กันมา

อย่างนี้เป็นครูประเภทที่หนึ่ง

 

ในข้อเขียนชิ้นเดียวกันนั้น อ.นิธิพูดถึง “ครู” ในความหมายที่สองนี้ว่าในปัจจุบันคงจะไม่มีคำเรียกที่เหมาะสม จะเรียกว่า “ศาสตราจารย์” ก็ดูจะน้อยไป เพราะศาสตราจารย์ส่วนมากที่เมืองไทยมีอยู่นั้น ก็ไม่ถึงระดับที่จะเรียกว่า “ครู” ตามความหมายนี้ได้ เพราะไม่สามารถสร้างแบบ สร้างตำราเฉพาะทางของตนขึ้นมาได้เลย

มีบ้างที่ครูบางท่านสร้างทางของตนขึ้นมาได้ พวกศาสตราจารย์ก็ไม่ยอมให้ท่านเป็นศาสตราจารย์ขึ้นมาเสียอย่างนั้น

ดังนั้น จึงออกจะน่าสงสัยว่าทำไมในสังคมไทย (โดยไม่จำเป็นต้องไปสนใจว่า ในสังคมอื่นจะมีครูประเภทที่ว่านี้มาก หรือน้อย) จึงมีครูประเภทที่สองอยู่น้อยเสียยิ่งกว่าน้อย?

โดยไม่ได้มีการสำรวจค้นคว้าเพิ่มเติม ผมอยากจะเดา (ศัพท์ลำลองของคำว่า สันนิษฐาน) เอาเองว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเป็นเพราะค่านิยมของคนไทยไม่เอื้อต่อการสร้างครูประเภทนี้เท่าไหร่นัก เพราะ “ผู้รู้” ในความหมายอย่างไทยๆ ดูจะเป็น “ช่างชำนัญการ” เสียมากกว่า

ดูเอาจากคำศัพท์ที่ใช้เรียกก็ได้ครับ

คำที่มีความหมายเกี่ยวโยงกับการเผยแพร่ หรือการผลิตความรู้ เท่าที่มีอยู่ทั้งคำว่า “ครู” และ “อาจารย์” เป็นคำที่เรายืมเอาภาษาพราหมณ์ชมพูทวีปมาใช้ทั้งนั้น

ผมยังนึกไม่ออกว่าเรามีศัพท์พื้นเมืองคำไหนที่มีความหมายตรงกับคำว่า “ครู” บ้าง (และถ้ามีทำไมจึงต้องยืมภาษาต่างด้าวมาใช้ด้วย?) ดังนั้น ในที่นี้ผมจึงสมมุติว่าไม่มีศัพท์ที่มีความหมายตรงกับคำว่า “ครู” ของอินเดียดังกล่าวไปก่อน

ด้วยฐานคิดอย่างที่ว่านี้เอง “ความรู้” ในวัฒนธรรมไทย (อย่างน้อยที่สุดก็ในความหมายที่ใช้กันอย่างกว้างๆ ในปัจจุบัน) โน้มเอียงไปทางความหมายของสิ่งที่ได้รับจากการถ่ายทอด มากกว่าสิ่งที่ได้จากการประดิษฐ์คิดค้น หรือสร้างขึ้นมาใหม่

ความรู้ที่ได้จากการถ่ายทอดมักจะแข็งทื่อ เป็นท่อนไม้ กระดุกกระดิกตัวไม่ได้เดี๋ยวความรู้ที่ได้รับมาหล่นออกจากตัว ธรรมชาติของการยึดมั่นในความรู้ที่ได้จากการถ่ายทอด โดยไม่ตรวจสอบดูว่าถูกต้อง ใช้งานได้จริงหรือเปล่า? จึงมีแต่จะทำให้ความรู้ประเภทที่ว่านี้เรียวลง และไม่เปิดพื้นที่ให้กับการประดิษฐ์คิดค้น หรือการตั้งคำถามใหม่ๆ

คิดนอกลู่นอกทางจากที่เขาถ่ายทอดไว้ก็ไม่ได้ด้วยนะครับ เพราะเดี๋ยวจะถูกหาว่า “นอกครู”

 

การให้ความสำคัญกับความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดจึงมุ่งเน้นไปที่การจดจำรายละเอียด (เพื่อที่จะไม่ผิดไปจากครู) มากกว่าที่จะพิจารณาถึงโครงสร้างของความรู้ชุดที่ว่า หรือวิธีคิดในการอธิบายความ (ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะผิดจากที่ครูว่าเอาไว้ได้อยู่เสมอ)

และด้วยลักษณะอย่างนี้แหละที่ทำให้ “ผู้รู้” ในความหมายอย่างไทยๆ ไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขของการผู้ถ่ายทอดความรู้หรือไม่ก็ตาม ดูจะเป็น “ช่างชำนัญการ” เสียมากกว่าครูในประเภทสองตามความหมายของ อ.นิธิ

ผมเดาเอาว่า ในวัฒนธรรมท่องจำแบบไทยๆ ความรู้ ก็ดูเหมือนจะว่าจะหมายถึง การท่องจำได้มาก่อน คนที่ท่องจำได้มากก็คือผู้ที่มีความรู้มาก การเรียนการสอนในแบบเก่าๆ นักเรียนจำต้องไปศึกษาที่บ้านของครูเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นพระอภัยมณี หรือพ่อขุนรามคำแหง ก็ต้องไปเล่าเรียนกับพระฤๅษีที่ในป่า ไม่ต่างอะไรกับที่นักดนตรีไทยสมัยเก่าต้องไปเล่าเรียนอยู่ที่บ้านของครู “การต่อเพลง” หรือท่ารำชั้นสูง จะเกิดขึ้นได้เมื่อนักเรียนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไข เช่น หากเป็นผู้ชายก็ต้องเคยผ่านการบวชเรียนมาแล้ว เป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม เป็นต้น

ดังนั้น ในภาษาพื้นเมืองเราจึงมีแต่คำว่า “ช่าง” หรือ “หมอ” ที่หมายถึงผู้ชำนัญการอยู่เต็มไปหมด

นิธิ เอียวศรีวงศ์

และควรสังเกตด้วยนะครับว่า สำหรับในสังคมไทยแต่ดั้งเดิมแล้ว “ความรู้” ยังมีลักษณะเป็นเหมือน “ความลับ” ที่จะไม่เผยแพร่ให้แก่คนนอก ดังมีหลักฐานอยู่ในเพลงยาวถวายโอวาทของสุนทรภู่ ที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีข้อความบางตอนระบุว่า

“อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุด ‘ซ่อน’ ใส่เสียในฝัก สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก จักค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย”

ลักษณะอย่างนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ความรู้ที่ชาวสยามในยุคดั้งเดิมหวงแหนอยู่นั้น สัมพันธ์อยู่กับอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น สุนทรภู่จึงบอกว่าต้อง “ซ่อน” เอาไว้ในฝัก ดังนั้น รัชกาลที่ 3 จึงกริ้วที่นายโหมด (ต้นตระกูล อมาตยกุล) นำเอากฎหมายตราสามดวงไปพิมพ์เผยแพร่เป็นอย่างมาก จนมีรับสั่งให้เก็บทั้งหมดไปฝังไว้ในกรุเจดีย์พระบรมบรรพต เพราะเป็นการเอาความรู้ที่ควรจะเก็บซ่อน เอาไว้ให้รู้กันเฉพาะภายในเครือข่ายของอำนาจออกไปเผยแพร่

“ความรู้” ในสังคมไทยยุคเก่าเป็นความลับที่ถูกสงวนไว้สำหรับคนเฉพาะกลุ่มอย่างไม่อาจที่จะปฏิเสธได้ และอะไรที่เรียกว่า “ครู” ก็คือผู้กุมความลับอันนั้นเอาไว้

 

เมื่อพิจารณาถึงกรณีของนายโหมดแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีการพิมพ์เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ “อำนาจ” ที่ผูกติดอยู่กับ “ความรู้” สั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในสังคมสยาม เพราะการพิมพ์ทำให้เกิดการผลิตซ้ำ และแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง

“ความรู้” จึงไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รู้กันเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป

พ.ศ.2362 แอนน์ ฮาเซลไทน์ ยัดสัน มิชชันนารีอเมริกัน ร่วมมือกับช่างพิมพ์ ยอร์ช เอช เฮาห์ ตีพิมพ์หนังสือสอนศาสนาฉบับภาษาไทยแจกจ่ายให้แก่เชลยศึกชาวไทยในพม่า นับเป็นการประดิษฐ์ตัวพิมพ์อักษรไทยเป็นครั้งแรก แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ “ความรู้” แพร่หลายไปพร้อมๆ กับการพิมพ์ ดูจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการตั้งโรงพิมพ์ในสยามของชาวนิวยอร์กที่ชื่อ แดน บีช บรัดเลย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อของหมอบรัดเลย์ ในช่วงคล้อยหลังมาไม่ห่างกันนักมากกว่า

การที่ “ความรู้” แพร่หลายออกไปพร้อมกับการพิมพ์จึงทำให้ความหมายของความรู้เคลื่อนคล้อยไปจากเดิมด้วยในขณะเดียวกัน หนังสือนับเป็นเครื่องช่วยจำที่ทำให้ผู้มีหนังสือมาก (และต้องอ่านมากด้วย) มีสถานภาพไม่ต่างไปจากผู้ที่จดจำได้มาก การที่จะตัดสินใจว่าใครคือผู้ที่มีความรู้ของคนไทยจึงทับซ้อนกันอยู่ระหว่างเรื่องของความจำ กับวิธีคิด

ดังนั้น “ครู” ในสังคมไทยจึงมีสองประเภท และทั้งสองประเภทนั้นก็มีความหมายที่แตกต่างจากกันเป็นอย่างมากตามอย่างที่ อ.นิธิเคยว่าไว้นั่นแหละครับ

 

อ.นิธิเองก็เป็น “ครู” ของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยเรียนกับอาจารย์ในชั้นเรียน หรือเรียนกับอาจารย์ผ่านตัวอักษร ในหนังสือ และบทความที่อาจารย์ได้เคยเขียนเอาไว้ (ซึ่งก็คือ การนำความรู้ออกสู่ที่แจ้ง แตกต่างจากขนบดั้งเดิมของครูในสังคมไทย ที่จะสงวนความรู้เอาไว้เป็นความลับของคนเฉพาะกลุ่ม)

และก็คงไม่มีใครปฏิเสธนะครับว่า ถ้าจะว่ากันตามประเภทของครูในสังคมไทย ที่ อ.นิธิเคยแบ่งเอาไว้ ท่านก็ย่อมจะเป็นครูประเภทที่สองแน่ เมื่อพิจารณาจากองค์ความรู้ต่างๆ ที่อาจารย์ได้เคยสร้างสรรค์เอาไว้ ซึ่งสามารถจะเรียกว่าเป็น “ต้นตำรา” (ตามสำนวนของ อ.นิธิเอง) ได้ ซ้ำยังเป็นครูที่นิยมในการแจกจ่ายความรู้สู่สาธารณะ มากกว่าที่จะสงวนเอาไว้เป็นความลับอีกด้วย

การจากไปของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่เพิ่งผ่านมานี้ จึงเป็นการสูญเสีย “ผู้รู้” ที่แตกฉาน หรือ “ครู” ประเภทที่สอง ที่มีน้อยเสียยิ่งกว่าน้อยในสังคมไทยปัจจุบันไปพร้อมกัน

ด้วยจิตคารวะถึง อ.นิธิ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ