สะพานสิริลักษณ์ ราชบุรี

ปริญญา ตรีน้อยใส

พาไปมองทางหลวงหลายสาย ต่อเนื่องกันหลายฉบับ เล่าขานนามทางหลวงที่สร้างตามนโยบายพัฒนาถนนหรือทางหลวง สมัยหลังกึ่งพุทธกาล พ.ศ.2500

ด้วยเรื่องที่มอง ล้วนเป็นเรื่องเก่า คิดว่าคงไม่ค่อยมีคนสนใจ โดยเฉพาะเจนใหม่ แต่ก็มีเสียงก้องกลับมาจากเจ้าของคอลัมน์ หลังลับแลมีอรุณรุ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากทางหลวงแล้ว ยังมีสะพานที่สร้างตามแนวทางหลวง ที่มีการประกาศนามเช่นกัน และนามนั้นก็มาจากนามสกุลนายช่างกรมทางหลวงเหมือนกัน

เริ่มจากสะพานเนาวจำเนียร ที่นครปฐม สะพานวิริยะชัย ที่ดาวคะนอง และสะพานข้ามอนุสร ที่เพชรบูรณ์

สะพานภาสะวณิช ข้ามคลองบางกอกน้อย สะพานเทพหัสดิน ข้ามแม่น้ำบางปะกง ชลบุรี สะพานเปี่ยมพงศ์สานต์ ข้ามแม่น้ำระยอง สะพานตัณฑรัตน์ ข้ามแม่น้ำป่าสัก สะพานโพธิ์แก้ว ข้ามแม่น้ำนครชัยศรี นครปฐม สะพานบูรณฉัตร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ปทุมธานี สะพานหงสกุล ข้ามแม่น้ำปัตตานี ยะลา สะพานภวภูตานนท์

ข้ามลำน้ำเซ อำนาจเจริญ

และสะพานท่องวิถีตรวจ ข้ามลำน้ำเซิน เชียงคาน

 

ส่วนสะพานวุฒิกุล ข้ามแม่น้ำปิง ที่วังก์เจ้า กำแพงเพชรนั้น มองบ้านมองเมือง เคยพาไปมองมาแล้วเมื่อสองสามปีก่อน หลังการบูรณะตัวสะพาน ที่มีโครงสร้างสวยงาม

ให้แข็งแรงรองรับการสัญจรได้แม้ในปัจจุบัน ไม่เหมือนสะพานอื่น ที่สร้างพร้อมกัน ล้วนถูกรื้อทำลาย หายไป หรือกลายเป็นสะพานแบบมาตรฐาน

ในเรื่องนี้ ปรากฏว่ามีนามสะพานสองแห่งที่ไม่ได้มาจากนามสกุล แต่มาจากชื่อ คือ สะพานกาวิละ ที่อยู่ในแนวทางหลวงสายวารินทร์-พิบูล-ช่องเมฆ มาจากเจ้ากาลวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ ช่างกำกับการภาคอีสาน

และสะพานสิริลักษณ์ ที่ราชบุรี ประกาศนามตามอดีตวิศวกรกรมทางหลวง ชื่อ สิริลักษณ์ จันทรางศุ

 

ดร.สิริลักษณ์ จัทรางศุ ผู้นี้ เป็นบิดาของ ดร.ศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่มีบทบาทในงานก่อสร้างมากมาย โดยเฉพาะท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และ รศ.ดร.การุณ จันทรางศุ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธา ผู้มีบทบาทในงานก่อสร้างมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะรถไฟฟ้าบีทีเอสที่วิ่งอยู่ทุกวันนี้

จึงเท่ากับว่า ครอบครัวนี้ ทั้งพ่อทั้งลูก ล้วนเป็นวิศวกรโยธา สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหมือนกัน และยังเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาเหมือนกัน

ยิ่งไปกว่านั้น นายช่างสิริลักษณ์ จันทรางศุ เป็นบุตรชายของพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) อดีตผู้ว่าราชการร้อยเอ็ด ที่มีผลงานช่วยพัฒนาบ้านเมืองมากมาย โดยเฉพาะการขุดลอกบึงพลาญชัย แหล่งน้ำสำคัญของเมือง จึงเป็นที่รักของชาวร้อยเอ็ด ถึงกับสร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่บึงน้อย วัดพลาญชัย

สำหรับพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์นั้น ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ในหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์มติชน นายทองมหาดเล็ก ผลงานของ ธงทอง จันทรางศุ จึงเชิญชวนให้ตามไปมองต่อไปตามอัธยาศัย •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส