Viva la Vida เพลงของวง Coldplay กับฟรีดา กาห์โล

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

วงดนตรีชื่อดังอย่าง Coldplay เพิ่งจะประกาศโปรแกรมทัวร์คอนเสิร์ต “Coldplay Music of the Spheres World Tour” ว่า วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 จะมาแสดงที่กรุงเทพฯ ซึ่งนี่จะเป็นการมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 ของบริตร็อกชื่อดังวงนี้แล้วนะครับ

ครั้งแรกที่ คริส มาร์ติน (Chris Martin) นักร้องนำของวง แอนด์เดอะแก๊งค์ได้มาแสดงคอนเสิร์ตในไทยนั้น ตรงกับเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2560 แถมยังจัดแสดงกันที่เดิมคือราชมังคลากีฬาสถานเหมือนกัน ซึ่งปรากฏว่าการเปิดจองตั๋วคอนเสิร์ตในครั้งนั้น ตั๋วได้ถูกขายหมดอย่างรวดเร็วระดับที่เป็นปรากฏการณ์ในช่วงนั้น

และเมื่อมีการแสดงคอนเสิร์ตแล้ว ก็ได้เสียงตอบรับที่ดีเอามากๆ อีกต่างหาก เรียกได้ว่า แฟนๆ วง Coldplay ในไทย (ซึ่งก็มีมากเสียด้วย) มีประสบการณ์ดีๆ เกี่ยวกับคอนเสิร์ตวงโปรดของพวกเขาอยู่ให้เพียบเลยทีเดียว

ดังนั้น เมื่อมีการประกาศว่า Coldplay จะกลับมาแสดงคอนเสิร์ตอีกในคราวนี้ จึงมีการคาดการณ์กันว่า ตั๋วคอนเสิร์ต (ซึ่งข่าวว่าจะเปิดให้จองรอบ Pre-Sale กันในวันที่ 19 มิถุนายนที่จะถึงนี้ และเปิดให้จองรอบทั่วไป [Public Sale] วันที่ 20 มิถุนายน ทุกประเทศ ทุกรอบการแสดงในเวิลด์ทัวร์คราวนี้ทั้งหมด) ก็จะขายหมดอย่างรวดเร็วอีกเช่นเดิม

แน่นอนว่าผมเองก็เป็นหนึ่งในบรรดามิตรรักแฟนเพลงของวง Coldplay (ไม่อย่างนั้นแล้ว ผมจะพูดถึงวงเขาทำไม) แต่เมื่อจะพูดถึงบริตร็อควงนี้ในคอลัมน์ ที่ว่ากันด้วยเรื่องของประวัติศาสตร์-โบราณคดีเป็นหลักแล้ว ก็เลยต้องพูดถึงซิงเกิล หรือเพลงของพวกเขาที่เกี่ยวข้องกับบริบททางประวัติศาสตร์ด้วยนั่นแหละ

 

และเพลงที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ “Viva la Vida” ซึ่งเป็นซิงเกิลในอัลบั้มที่ 4 ของพวกเขา ที่มีชื่อว่า Viva la Vida or Death and All His Friends ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งซิงเกิลระดับปรากฏการณ์ของ Coldplay

เพราะหลังจากที่ซิงเกิลนี้ถูกปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2551 Viva la Vida ของอัลเทอร์เนทีฟร็อกเกอร์จากเกาะอังกฤษกลุ่มนี้ ก็ทะยานขึ้นไปยึดหัวหาดจ่าฝูงทั้งในชาร์ตของ UK Singles Chart และ Billboard Hot 100 จนในที่สุดซิงเกิลนี้ก็กวาดรางวัลเพลงแห่งปีในการประกาศรางวัล Grammy Award ประจำปี 2552 ไปแบบชิลๆ

ผมไม่รู้ว่าในแง่ของตลาดและดนตรี เพลงนี้มันจับใจคนฟังขนาดนี้ได้ที่ตรงไหน?

แต่ถ้าจะว่ากันที่เงื่อนไขแวดล้อม และเนื้อหาของเพลงๆ นี้ ก็อาจจะบอกได้ว่า มันมีเรื่องราวที่ซับซ้อนและน่าสนใจอยู่มากเลยทีเดียว

และถึงแม้ว่า เนื้อร้องในเพลงจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งดุ้น แต่คำว่า Viva la Vida นั้นกลับเป็นภาษาสเปน โดยมีความหมายแปลตรงตัวเป็นภาษาเดียวกับเนื้อร้อง (แต่กลับไม่มีคำนี้โผล่มาให้เห็นแม้แต่สักแอะเดียว) ว่า “Long Live Life” หรือ “(May) Live Life” หรือจะแปลว่า “Live (the) Life” ก็ไม่ผิด

 

แน่นอนว่า สำหรับคนที่เคยผ่านหูเจ้าเพลงที่ผมพูดถึงนี้มา ก็อาจจะพอรู้ว่า เนื้อเพลงพร่ำพรรณนา (อย่างเป็นบทกวี) ถึงตัวเองว่าเคยเป็นกษัตริย์ และ ณ ขณะจิตที่พร่ำพูดอยู่นั้น ก็สิ้นอำนาจด้วยการถูกบั่นคอไปเรียบร้อยแล้ว (ใช่แล้วครับ เนื้อหาในเพลงนี้มันเป็นทำนองเพลงผีบอก คือกษัตริย์ที่พร่ำพรอดถึงบุญวาสนาของตนเองเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่)

แต่ทั้งที่เนื้อหาของเพลงเป็นการพร่ำพรรณนาของกษัตริย์แล้ว แต่คำ “Viva la Vida” ในที่นี้ ไม่ได้หมายความเป็นการถวายคำสรรเสริญอย่าง “Long Live the King” ที่เราคุ้นเคยกัน

เพราะถึงแม้ในเนื้อเพลงจะมีท่อนที่ร้องว่า long live the king อยู่ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นท่อนที่ร้องต่อจะประโยคที่ว่า Now the old king is dead

ดังนั้น วลี long live the king ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเพลงนี้ จึงมีความหมายค่อนออกไปทางประชดประชัน มากกว่าที่จะมีความหมายแข็งทื่อตรงตามตัวอักษร

และเอาเข้าจริงแล้ว ในเพลงนี้คุณพี่คริส มาร์ติน ก็ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับวลีดังกล่าวเอาไว้ดังปรากฏในเนื้อร้องของเพลงท่อนที่ว่า

“เมื่อกองทัพปฏิบัติยาตราเข้ามาเพื่อรอแผ่นเงิน (หมายถึง แผ่นมีดกิโยติน) บั่นคอข้า ที่เป็นเหมือนตุ๊กตาที่ถูกตรึงไว้อย่างเดียวดาย โอ! ใครฤๅจะอยากเป็นกษัตริย์?” (Revolutionaries wait for my head on a silver plate, just a puppet on a lonely string. Oh who would want to be a king?)

ดังนั้น ถึงแม้เนื้อหาของเพลงนี้จะเป็นคำพร่ำพรรณนาของกษัตริย์ที่ตายแล้ว คำว่า “Viva la Vida” ในชื่อเพลงก็ไม่ได้เป็นคำกล่าวสรรเสริญกษัตริย์ให้มีชีวิตยืนยาวตามธรรมเนียมทั่วไปหรอกนะครับ ยิ่งเมื่ออันที่จริงแล้วชื่อ Viva la Vida นี่ก็เป็นชื่อที่พวกพี่ๆ แกขอยืมมาจากถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในชิ้นงานศิลปะ ของศิลปินสาวจอมอาภัพ (แต่เธอเท่ชะมัดยาดเลยนะ) ชาวเม็กซิกันอย่าง ฟรีดา กาห์โล (Frida Kahlo, พ.ศ.2450-2497)

ผลงานศิลปะของฟรีดา กาห์โล ชิ้นที่ผมพูดถึงอยู่นี่เป็นภาพจิตรกรรมบนผืนผ้าใบ ที่บางทีก็เรียกกันว่า “Watermelons”

แน่นอนว่า เป็นเพราะงานศิลปะของกาห์โลรูปนี้ เธอวาดเป็นรูปมวลหมู่แตงโมหลายใบ ถูกหั่นแบ่งโชว์เนื้อแดงฉ่ำ ตัดกับความสดใสของสีเขียวที่เปลือกในหลากหลายรูปแบบ ส่วนเจ้าคำว่า “Viva la Vida” ถูกเขียนเอาไว้บนเนื้อแดงๆ ของแตงโมซีกกลาง ที่วางอยู่ด้านหน้าตรงกลางของรูปภาพนี้อย่างพอดิบพอดี

อย่างที่บอกเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า กาห์โลเป็นคนอาภัพ เธอเป็นโรคโปลิโอจนขาข้างขวาสั้น และแคระแกรนมากกว่าขาข้างซ้ายตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ พออายุได้ 18 ปี เธอก็ต้องประสบอุบัติเหตุรถชน จนกระดูกไหปลาร้าหัก กระดูกสันหลังก็ตามไปด้วย แต่นั่นก็ยังน้อยกว่าอาการที่กระดูกขาข้างขวาที่หักเป็น 11 ท่อน พร้อมกับราวเหล็กที่ทิ่มจะทะลุมดลูกของเธอ

แน่นอนว่า อาการสาหัสเพียบขนาดนี้จึงทำให้กาห์โลต้องนอนพักอยู่พร้อมกับเฝือกรัดๆ ที่กักขังเธอเอาไว้จนแทบจะมิดหายไปทั้งตัว พร้อมกับที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการที่ว่ามากถึง 35 ครั้ง

แต่ก็นั่นแหละครับ กาห์โลกลับพลิกวิกฤตหนักเพียบแปล้ในครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสของเธอได้ ความที่ต้องอยู่เฉยๆ บนเตียง โดยขยับได้แค่หัวกับมือ เธอก็เลยหันมาจริงจังกับการวาดรูปตั้งแต่อยู่บนเตียงครั้งนั้นเป็นต้นมา

และนั่นก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประเทศเม็กซิโก ได้จิตรกรหญิงฝีมือเยี่ยมเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน

 

เชื่อกันว่า ภาพวาด Watermelons (หรือถ้าใครจะเรียก Viva la Vida ก็ไม่ผิด) เป็นภาพวาดสุดท้ายในชีวิตของศิลปินสาวคนนี้ ซึ่งก็วาดก่อนที่เธอจบชีวิตไปเมื่อฤดูร้อน ในปี พ.ศ.2497 จากสารพัดมรสุมรุมเร้าสุขภาพ และชีวิตของเธอ ด้วยวัยเพียง 47 ปีไปเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

แต่ความเชื่อก็ยังเป็นแค่ความเชื่ออยู่วันยังค่ำ เพราะความจริงนั้นก็ได้ปรากฏขึ้นเมื่อมีนักประวัติศาสตร์ศิลปะไปศึกษาภาพวาดนี้อย่างละเอียด แล้วก็พบว่า ที่จริงแล้วภาพดังกล่าวอาจจะวาดขึ้นก่อนหน้าช่วงเวลานั้นเล็กน้อย

แต่เจ้าวลีที่ว่า Viva la Vida นี่ต่างหาก ที่ถูกกาห์โลใส่เพิ่มเข้าไปใหม่ก่อนสิ้นชีวิตเพียงไม่นาน

จนมีผู้วิจารณ์ว่า กาห์โลได้เปลี่ยนแตงโมของเธอให้กลายเป็นสัญลักษณ์ และการเฉลิมฉลอง ต่อความสุขของชีวิตให้เรียบง่าย เหมือนกับการใช้เนื้อแตงโมบางๆ เนื้อเย็นฉ่ำในการบรรเทาความสาหัสสากรรจ์ของฤดูร้อนในช่วงชีวิตของเธอ

(ชีวิตของกาห์โลนั้นมีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเสียจนเคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ “Frida” ที่ลงเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ.2545 โดยมีนักแสดงมากฝีมืออย่าง ซัลมา ฮาเย็ก [Salma Hayek] มารับเป็นกาห์โลเลยทีเดียว)

ดังนั้น วลีที่ว่า “Viva la Vida” บนเนื้อแตงโมฉ่ำเยิ้มสีแดงฉานของกาห์โล จึงมีพลังกระแทกใจผู้คนมาก และก็ไม่ใช่เฉพาะผู้คนในเม็กซิโกเท่านั้นนะครับ แต่เป็นไปทั่วในโลกของผู้ที่พูดภาษาสเปน และอังกฤษก็ด้วย

เพราะต่อมาคำนี้ก็ได้กลายเป็น “วรรคทอง” ที่ต่อให้ใครเคยหล่นคำพูดนี้ออกมาก่อน เสียงก็ไม่ดังเท่าของกาห์โล เมื่อเทียบกับอะไรหลายๆ อย่างสารพัดในชีวิตที่เธอได้เคยเผชิญมา

เมื่อเปรียบเทียบเนื้อเพลงของวง Coldplay ที่เป็นถ้อยคำพร่ำพรอดถึงอดีตอันหอมหวานของกษัตริย์ที่สิ้นชีพลงไปแล้ว เข้ากับชีวประวัติของกาห์โล ผู้ทำให้วลี “Viva la Vida” กลายเป็นวรรคทอง ทั้งในโลกภาษาสเปนและโลกภาษาอังกฤษแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ช่างเป็นเพลงที่ตั้งชื่อได้ราวกับเป็นบทกวี และประชดประชันสิ้นดีเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาสอดแทรกวลี long live the king เอาไว้เพื่อสรรเสริญกษัตริย์ที่สิ้นชีวิตไปแล้วองค์นี้

สุดท้ายนี้ก็ได้แต่หวังว่า แฟนๆ ของ Coldplay จะจองตั๋วคอนเสิร์ตรอบนี้กันทันนะครับ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ