ศึกพระพุทธสิหิงค์ (1) | ว่าด้วยปูมหลังของ ‘สิหิงคนิทาน’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 ดิฉันและคุณธีรวุธ กล่อมแล้ว ในนาม “ฉันลุกแพร่มา” ช่วยกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเสวนาทางคลับเฮาส์ เปิดประเด็นในหัวข้อที่สำคัญยิ่ง “พระพุทธสิหิงค์ ต่างเมืองต่างมี ต่างกันอย่างไร?”

ระหว่าง 19.00-21.30 น. ตลอดช่วงเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังสดนับพัน พร้อมกับคำถามนับร้อย

วิทยากรวันนั้นประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้รู้เรื่องพระพุทธสิหิงค์จากหลายหลากสถาบันร่วม 10 ท่าน สารพันหัวข้อที่ต่างคนต่างหยิบยกปมปริศนาเกี่ยวกับพระพุทธปฏิมาองค์สำคัญมาสาธยายถกแย้ง

ในตอนแรกนี้ดิฉันขอนำเสนอถึงที่มาที่ไปของวรรณกรรมเรื่อง “สิหิงคนิทาน” ก่อน โดยวิทยากรคนแรกที่เปิดประเด็นคือ “คุณเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี” นักวิชาการอิสระด้านล้านนาศึกษา เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองแปลกออกไปจากแนวคิดเดิมๆ

“สิหิงคนิทาน” พระโพธิรังสีคือใคร?

เฉลิมวุฒิเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงผลงานของอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาด้านประวัติศาสตร์ล้านนาให้แก่เขาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่คือ ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ภาคีราชบัณฑิต ว่าอันที่จริงอาจารย์อรุณรัตน์ได้เขียนบทความเรื่อง “ข้อคิดใหม่เกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์” มานานกว่า 12 ปีแล้ว (นับถึงปัจจุบันบวกไปอีก 2 ปีรวมเป็น 14 ปี) แต่น่าเสียดายที่บทความชิ้นดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวงที่ไม่กว้างนัก

อนึ่ง ในรายการคลับเฮาส์นี้เขาไม่ได้ตั้งใจจะมาพูดขยายความซ้ำถึงข้อเขียนของอาจารย์อรุณรัตน์ เนื่องจากทุกคนสามารถค้นหาอ่านได้ในเน็ต

แต่เขาต้องการวิเคราะห์ถึง “ปูมหลังของสิหิงคนิทาน” ซึ่งรจนาโดยพระภิกษุล้านนาเมื่อ 500 กว่าปีที่ผ่านนามนาม “พระโพธิรังสี”

สิหิงคนิทานถือเป็นตำนานเรื่องเก่าแก่สุดที่กล่าวถึง “พระพุทธสิหิงค์” ก่อนที่ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) และ ศ.ร.ต.ท.แสง มนวิทูร จะแปลเป็นภาษาไทยกลาง จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร ใช้ชื่อว่า “ตำนานพระพุทธสิหิงค์ และ “นิทานพระพุทธสิหิงค์” ตามลำดับนั้น เคยมีการแปลเป็นภาษาล้านนามาก่อนแล้ว และมีการคัดลอกต่อๆ กันมา

ฉบับที่เรารู้จักกันดีคือ ฉบับที่เขียนด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนาของพระมหาหมื่น วุฑฺฒิญาโณ แห่งวัดหอธรรม (ส่วนหนึ่งของวัดเจดีย์หลวง) ต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย “อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์” ในชื่อว่า “ตำนานพระสิงห์เจ้า”

ส่วนฉบับที่สำนักพิมพ์ศรีปัญญานำผลงานของสงวนไปพิมพ์ล่าสุด รวมเล่มในหนังสือ “ประชุมตำนานล้านนาไทย” ใช้ชื่อว่า “ตำนานพระสิงห์พุทธปฏิมาเจ้า”

เฉลิมวุฒิกล่าวว่า ถือว่าเป็นโชคดีมากที่มีการแปลควบคู่กันมาแล้วทั้งสองเวอร์ชั่น คือทั้งฉบับล้านนาและฉบับไทยกลาง ทำให้เกิดการตรวจสอบเนื้อหาได้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้น

พระโพธิรังสีคือใคร? ไม่มีเอกสารเล่มใดระบุว่าท่านรจนา “สิหิงคนิทาน” ในปีศักราชไหน แต่ที่แน่ๆ ต้องเขียนก่อนปี พ.ศ.2000 อย่างแน่นอน เนื่องจากเนื้อหาในสิหิงคนิทานมีการทำนายว่า “เมื่อถึง พ.ศ.2000 พระพุทธสิหิงค์จะเสด็จกลับลังกา”

คำทำนายจะจริงเท็จอย่างไรค่อยว่ากัน เพราะคำว่า “ลังกา” ในตำนานนั้น ผู้แต่งตั้งใจจักให้หมายถึงประเทศศรีลังกา หรือมีนัยยะซ่อนเร้นต้องการระบุถึงสถานที่อื่นใดกันแน่ เราไม่อาจทราบได้

อย่างน้อยที่สุดข้อความดังกล่าวสะท้อนว่า พระโพธิรังสีต้องรจนาเรื่องนี้ขึ้นก่อน พ.ศ.2000 จึงเชื่อกันว่า ท่านน่าจะเป็นพระภิกษุที่มีอายุคาบเกี่ยวระหว่าง 3 รัชกาล จากสมัยพระญากือนา พระญาแสนเมืองมา และเลื่อนชั้นเป็นพระผู้ใหญ่ในสมัยพระญาสามฝั่งแกน ท่านน่าจะเริ่มชราหรืออาจมรณภาพในรัชกาลนี้ด้วย (ไม่มีบันทึกหลักฐานของพระรูปนี้ว่าชาตะ-มรณะในปีไหน คงเหลือแต่ผลงานของท่านเท่านั้น)

เฉลิมวุฒิกล่าวว่า พระโพธิรังสีน่าจะเป็นพระภิกษุที่เคยบวชในนิกายดั้งเดิมของล้านนา หมายถึงนิกายเก่าที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชย ก่อนที่จะมีนิกายสวนดอกในสมัยพระญากือนา และต่อมาเกิดนิกายป่าแดงในสมัยพระญาแสนเมืองมา

การที่เฉลิมวุฒิสันนิษฐานเช่นนี้ก็เพราะพระโพธิรังสีระบุว่า มูลเหตุที่ท่านรจนาสิหิงคนิทานนี้ก็เนื่องมาจากได้รับอาราธนาจาก “พระสาครสามี” แห่งนิกายสวนดอกให้ท่านช่วยรจนา

พระสาครสามีน่าจะเป็นคนละรูปกับเจ้าอาวาสวัดสวนดอกลำดับที่ 9 ที่ชื่อคล้ายกันว่า พระมหาญาณสาครเถระ ซึ่งปกครองวัดสวนดอก พ.ศ.2012 อันเป็นศักราชที่เลยปี 2000 ไปแล้ว เนื่องจากสิหิงคนิทานต้องรจนาก่อนหน้านั้น

สะท้อนว่าพระโพธิรังสีน่าจะสังกัดอีกนิกายหนึ่งซึ่งไม่ใช่สวนดอก แต่ก็ไม่ใช่ป่าแดง (เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พระในนิกายสวนดอกจักไปขอร้องให้พระนิกายป่าแดงคู่ขัดแย้งกันช่วยรจนาคัมภีร์) นิกายนั้นย่อมหนีไม่พ้น “นิกายเชื้อเก่าหริภุญไชย” หรือนิกายดั้งเดิม

พระเจ้าไม้แก่นจันทน์ สัญลักษณ์นิกายเชื้อเก่า?

ก่อนจะโฟกัสประเด็นพระพุทธสิหิงค์ เฉลิมวุฒิตั้งข้อสังเกตที่ทุกคนมองข้ามไป นั่นคือช่วงต้นของสิหิงคนิทานมีการกล่าวถึง “พระเจ้าไม้แก่นจันทน์” ว่าเคยประดิษฐานที่พะเยา ซึ่งการจะเข้าไปนมัสการพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ไม่ใช่เรื่องง่าย อยู่สถานที่ที่ปิดบังซ่อนเร้น อนุญาตให้เข้าถึงได้เฉพาะคนที่รู้จักกันเท่านั้น

ต่อมามีพระเถระจากลำปางรูปหนึ่งขอเข้าไปสักการะ และขอลูบเนื้อพระเจ้าแก่นจันทน์ จนกลิ่นไม้แก่นจันทน์ติดสบงจีวรของท่านกลับมา เมื่อเดินทางผ่านเชียงใหม่ ทำให้มีผู้ทราบว่าพระรูปนี้ได้ไปกราบไหว้พระเจ้าแก่นจันทน์มา และระบุข้อความคล้ายนัยยะว่า ยังมีอีกนิกายหนึ่งซึ่งถูกซุกซ่อนไว้ นั่นคือนิกายดั้งเดิม

เฉลิมวุฒิขอละประเด็นเรื่องพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ไว้ก่อน หากมีโอกาสคงได้คุยกันอีกครั้งในปริศนาดังกล่าว เนื่องจากหัวข้อเสวนากำลังจะมุ่งเน้นไปที่ปริศนาของพระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์ สัญลักษณ์นิกายสวนดอก

อย่างไรก็ดี เฉลิมวุฒิอธิบายว่า การที่ต้องเกริ่นถึงพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ และต่อไปต้องกล่าวถึงพระแก้วมรกตด้วยนั้น ก็เนื่องมาจากเขาเชื่อว่า

พระพุทธสิหิงค์ น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของนิกายสวนดอก พระแก้วมรกตน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของนิกายป่าแดง และพระเจ้าไม้แก่นจันทน์น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของนิกายดั้งเดิม แนวคิดนี้ตรงกับที่ดิฉันเคยเสนอไว้เมื่อ 10 ปีก่อนในคอลัมน์นี้แล้ว จักแตกต่างกันก็ตรงที่ดิฉันมองว่า พระแก้วขาวเสตังคมณีน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของนิกายดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากหริภุญไชย

การที่เฉลิมวุฒิสันนิษฐานเช่นนี้ ก็เพราะเห็นว่าตอนที่พระโพธิรังสีเขียนเรื่องสิหิงคนิทานนั้น ท่านเขียนแบบเปิดเผย เชิดชูพระพุทธสิหิงค์อย่างเต็มที่ แสดงว่าต้องเขียนในสมัยพระญาสามฝั่งแกนที่นิยมในนิกายสวนดอก

และเฉลิมวุฒิตั้งข้อสังเกตว่า สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ จากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย คล้ายกับว่านิกายสวนดอกเป็นนิกายมาตรฐานที่ชาวล้านนายอมรับมากที่สุด ไม่ค่อยซับซ้อน

ในขณะที่พระเจ้าไม้แก่นจันทน์ก็มีความลึกลับ สถานที่เก็บก็เข้าถึงยากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ยิ่งพระแก้วมรกตด้วยแล้ว สามัญชนคนธรรมดายิ่งไม่มีสิทธิ์ได้เคารพกราบไหว้ เหมือนเป็นของสูงศักดิ์เกินเอื้อม

 

พระญาสามฝั่งแกน จามเทวีวงส์ จารึก ลพ.9

เฉลิมวุฒิพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิรังสี กับพระญาสามฝั่งแกน และมหาเทวี ผู้เป็นพระราชมารดาขององค์ กับวรรณกรรมอีกเล่มหนึ่งคือ “จามเทวีวงส์ พงศาวดารเมืองหริปุญไชย” ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงอีกเล่มที่ท่านพระโพธิรังสีร้อยเรียง ว่าจามเทวีวงส์นี้ น่าจะมีส่วนในเชิงยกยอพระเกียรติของพระมหาเทวีองค์นี้ว่ามีความยิ่งใหญ่ ในทำนองเดียวกันกับพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญไชย

นอกจากนี้แล้ว เฉลิมวุฒิมองว่า พระญาสามฝั่งแกนเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักสำคัญ คือ ลพ.9 เรียกจารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร จารึกหลักนี้เขียนลำดับรายชื่อกษัตริย์ราชวงศ์มังรายไว้ แต่ไม่มีชื่อของท้าวน้ำถ้วมผู้เคยนั่งเมืองเชียงใหม่ และแน่นอนว่าไม่มีชื่อท้าวมหาพรหมผู้นั่งเมืองเชียงราย

ทั้งๆ ที่ท้าวมหาพรหมเป็นคนแรกที่ได้รับพระพุทธสิหิงค์กับพระแก้วมรกตมาจากกำแพงเพชร?

ท้าวมหาพรหมมีศักดิ์เป็นอนุชาของพระญากือนา มีสถานะเป็นอาของพระญาแสนเมืองมา และเป็นชั้นพระอัยกา (ภาษาชาวบ้านเรียก ปู่น้อย) ของพระญาสามฝั่งแกน

สมัยที่พระญากือนานั่งเมืองเชียงใหม่ ท้าวมหาพรหมนั่งเมืองเชียงราย เมื่อท้าวมหาพรหมได้พระพุทธสิหิงค์พร้อมพระแก้วมรกตมาจากเมืองกำแพงเพชรแล้ว ทำไมกลับยินยอมมอบพระพุทธสิหิงค์ให้พระญากือนาที่ครองราชย์ ณ เมืองเชียงใหม่โดยง่าย

เฉลิมวุฒิตั้งคำถามว่า ตอนที่พระโพธิรังสีเขียนสิหิงคนิทานนั้น มีพระแก้วมรกตอุบัติขึ้นแล้วหรือยังในล้านนา? หมายความว่า ช่วงที่ท่านรจนาสิหิงคนิทานนั้น พระพรหมราชปัญญาเถระ ยังไม่ได้รจนาตำนานเรื่องพระแก้วมรกตหรือใช้ชื่อว่า “รัตนพิมพวงศ์” มิใช่หรือ?

แต่ในตำนานเล่มอื่นๆ ที่แต่งขึ้นหลังจากนั้น เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งรจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระ สมัยพระเมืองแก้ว พ.ศ.2060 กลับระบุว่า ระหว่างพระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์ ที่ท้าวมหาพรหมได้มาจากกำแพงเพชรนั้น เมื่อพระญากือนาทราบข่าว ทรงขอทั้งพระแก้ว-พระสิงห์ทั้งสององค์เลย แต่ท้าวมหาพรหมไม่ให้พระแก้ว ให้เฉพาะพระสิงห์

ส่วนรัตนพิมพวงศ์ระบุว่า ท้าวมหาพรหมสมัครใจเองที่จะเลือกพระแก้วมรกต และยกพระพุทธสิหิงค์ให้พระเชษฐากือนา

สะท้อนให้เห็นว่า ยุคที่เขียนชินกาลมาลีปกรณ์นั้น นิกายสวนดอกกับป่าแดงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง นิกายป่าแดงจำต้องหนีไปเชียงราย? เช่นเดียวกับนิกายดั้งเดิมก็ต้องจรลีไปเส้นพะเยา-ลำปาง หากเรามองผ่านเส้นทางการเคลื่อนย้ายพระเจ้าไม้แก่นจันทน์

ในเมื่อพระญาสามฝั่งแกนสมาทานนิกายสวนดอกอย่างออกหนอกหน้า ย่อมขับไล่นิกายป่าแดงออกไปจากเชียงใหม่จนหมดสิ้นเป็นธรรมดา ฉะนี้แล้วจึงไม่ต้องแปลกใจแต่อย่างใด หากตำนานพระแก้วมรกตจะระบุว่า สมัยพระญาสามฝั่งแกนนั้น ช้างได้นำพาพระแก้วมรกตจากเชียงรายมาไว้ที่ลำปางนานถึง 32 ปีโดยไม่ยอมเข้าไปเมืองเชียงใหม่!

ชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งโปรฝ่ายป่าแดงพรรณนาถึงความอนารยะของพระญาสามฝั่งแกนไว้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์ว่า

“พระองค์มีใจฝักใฝ่ในพุทธศาสนาน้อยนัก โปรดให้เซ่นสังเวยบูชาภูเขา ป่า แม่น้ำ ด้วยโคและกระบือ ประชาชนที่อยู่ภายใต้พระองค์ได้ชื่อว่า ยักขทาส” หมายถึงทาสแห่งยักษ์ •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ