ก่อนพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยา รอบเกาะเมืองอยุธยา มีวัดวาอารามใหญ่โตแล้ว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

พระราชพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยาอ้างว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (ซึ่งพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปใส่วงเล็บต่อท้ายว่าคือกษัตริย์ในตำนานอย่าง “พระเจ้าอู่ทอง”) สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893

แต่ก็เป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่มเดียวกันที่บอกกับเราด้วยว่า มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นในบริเวณของเมืองอยุธยา ก่อนหน้าที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว

ดังนั้น อยุธยาจึงเป็น “เมือง” ที่มีทั้งกำลังทรัพย์ และกำลังคน ในการที่จะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ยักษ์มาก่อนปี 1893 แล้วนะครับ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมีใครที่ไหนอพยพผู้คนหนีโรคห่ามาจากถิ่นฐานดั้งเดิม แล้วสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาใหม่จนสำเร็จเสร็จสิ้นในคราวเดียวเสียเมื่อไหร่

ส่วนพระพุทธรูปองค์ที่ว่านั้นก็คือ พระพุทธรูปองค์ที่พระราชพงศาวกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (ซึ่งเป็นพงศาวดารอยุธยาฉบับที่เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ [ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199-2231] โดยถือว่าเป็นพงศาวดารฉบับที่เขียนด้วยภาษาไทยที่เก่าที่สุด) เรียกว่า “พระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง”

พระพุทธรูปที่พงศาวดารเรียก “หลวงพ่อพแนงเชิง” นี้ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารวัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยความในพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ยังได้ระบุว่า พระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1867 อันเป็นช่วงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี

ข้อความตอนที่ว่านี้ยังสอดคล้องกับรูปแบบศิลปะขององค์พระพุทธรูป ซึ่งแม้จะถูกบูรณะทั้งองค์ในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ก็ยังมีเค้าเดิม โดยเฉพาะลักษณะของพระพักตร์ที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม ขมวดพระเกศาเล็ก และมีเปลวรัศมี

โดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะจัดว่าเป็นพระพุทธรูปในศิลปะอู่ทอง รุ่นที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผสมผสานระหว่างวัฒธรรมขอมจากละโว้ และวัฒนธรรมสุโขทัย

 

ส่วนคำว่า “พแนงเชิง” เป็นภาษาเขมร (จึงไม่ต้องแปลกใจที่หลวงพ่อท่านจะมีพระพักตร์แบบขอม) แปลว่า “นั่งขัดสมาธิ” อันเป็นท่าประทับนั่งของพระพุทธรูปองค์นี้ และคงเพี้ยนมาเป็นชื่อวัดพนัญเชิงในภายหลัง

แต่ต่อมา รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานให้ใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” ในคราวที่ทรงบูรณะหลวงพ่อในสมัยของพระองค์ โดยน่าจะมีที่มาจากการที่ชาวจีนนิยมเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อซำปอกง” ซึ่งเป็นชื่อของแม่ทัพขันทีชาวจีน ที่มีชีวิตอยู่จริง ในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง อันเป็นที่นับถือของชาวจีน แต่ก็มีความหมายแปลตรงตัวว่า “แก้วสามประการ” หรือ “พระรัตนตรัย” นั่นเอง

การที่ชาวจีนนับถือพระพุทธรูปองค์นี้ จนเรียกว่า หลวงพ่อซำปอกง นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะย่านวัดพนัญเชิงเป็นย่านชาวจีน โดยเฉพาะจีนแต้จิ๋ว มาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา และก็น่าสังเกตด้วยว่า ความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั้น ก็เกี่ยวข้องอยู่กับวัฒนธรรมจีนนี่แหละ

บริเวณพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับส่วนที่เรียกว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานกำลังของฝ่ายราชวงศ์จากเมืองละโว้คือ “ราชวงศ์อู่ทอง” มาตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 แล้วด้วย

เอาเข้าจริงแล้ว ร่องรอยหลักฐานที่แวดล้อมอยู่รอบๆ หลวงพ่อโตแห่งวัดพนัญเชิงองค์นี้ จึงแสดงให้เห็นว่า ในช่วงก่อน พ.ศ.1893 อันเป็นปีที่พงศาวดารอ้างว่าเป็นปีสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น ในพื้นที่บริเวณนี้มีผู้คนอยู่มากมายหลายชาติภาษา ไม่ว่าจะเป็นเขมร จีน กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทย และน่าจะมีอีกสารพัดสารพันเลยทีเดียว

 

แต่หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงนั้น ก็ไม่ใช่พระพุทธรูปที่พบอยู่ในละแวกเกาะเมืองอยุธยาองค์เดียว ที่ควรมีอายุเก่าก่อนเรือน พ.ศ.1893 นะครับ

เพราะยังมีการพบเศียรพระพุทธรูปสำริด จากวัดธรรมิกราช จ.พระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา) ซึ่งก็เป็นศิลปะอู่ทอง ยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาด้วยเช่นกัน

แถมถ้าจะว่ากันด้วยชุดความรู้ของนักประวัติศาสตร์ศิลปะแบบเพียวๆ แล้ว ก็ต้องบอกว่า เศียรจากวัดธรรมิกราชนั้น น่าจะมีอายุเก่าก่อนหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงอีกต่างหาก เพราะยังไม่ปรากฏรัศมีรูปเปลวอยู่บนพระเศียร

จึงจัดเป็นพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 ซึ่งก็แน่นอนว่า รุ่น 1 ก็ควรที่จะมีมาก่อนรุ่น 2 อันเป็นรุ่นที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะเขายกตำแหน่ง มอบรุ่นให้กับหลวงพ่อโต

เศียรจากวัดธรรมิกราชก็มีขนาดใหญ่ โดยมีความสูงถึง 2 เมตรโดยประมาณ เรียกได้ว่าถ้าอยู่ครบเต็มองค์ก็จะมีไซซ์พอฟัดพอเหวี่ยงกับหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงเลยทีเดียว

แต่นักวิชาการสันนิษฐานกันว่า พระวรกายเบื้องล่างตั้งแต่พระศอ (คอ) ลงไปเป็นงานก่ออิฐถือปูน ไม่ได้ทำจากสำริดทั้งองค์

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ วัดธรรมิกราช เป็นวัดที่ตั้งอยู่อย่างใกล้ชิดกับพระราชวังของกรุงศรีอยุธยาในยุคต้น ก่อนที่จะมีการย้ายและขยับขยายพระราชวังในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1994-2032) จนมีสภาพเหมือนในปัจจุบันนั้น

ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ในยุคแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อมูลในหนังสือเก่าอีกเล่มที่ชื่อว่า พระราชพงศาวดารเหนือ

“พระราชพงศาวดารเหนือ” ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ถูกชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) แต่เป็นของที่มาก่อนตั้งยุคปลายของกรุงศรีอยุธยา โดยน่าเชื่อว่าเริ่มเขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระนารายณ์

ข้อความในหนังสือเก่าเล่มนี้ระบุว่า พระเจ้าธรรมิกราชได้ทรงสร้างวัดมุขราช หรือวัดธรรมิกราช อันเป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าควรเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปประธานภายในวัด ซึ่งในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงพระเศียรขึ้นด้วย

“พระเจ้าธรรมิกราช” ที่ว่านี้เป็นกษัตริย์ในตำนาน ซึ่งพระราชพงศาวดารเหนืออ้างว่า เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง และครองราชย์ที่อยุธยา ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1708-1748

แต่ก็อย่างที่บอกนะครับว่า พระเจ้าธรรมิกราชองค์นี้เป็นกษัตริย์ในตำนาน เราจึงไม่แน่ใจนักว่า พระองค์จะมีตัวตนจริงๆ หรือเปล่า?

 

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เขียนพระราชพงศาวดารเหนืออ้างว่า พระองค์ครองราชย์มาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ก็ย่อมเป็นร่องรอยว่า ผู้คนในยุคกรุงศรีอยุธยานั้น เชื่อว่าทั้งวัดธรรมิกราช และพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว เป็นของที่มีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาด้วยเช่นกัน หมายความว่า บรรพชนคนอยุธยาเหล่านี้ก็ทราบดีว่า กรุงศรีอยุธยานั้นเป็นบ้าน เป็นเมืองใหญ่โตมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1893 แล้ว

แถมพระราชพงศาวดารเหนือไม่ได้ระบุว่า วัดธรรมิกราช เป็นวัดเดียวที่สร้างขึ้นก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา แต่ยังมีอีกให้เพียบ เช่น

“จุลศักราช 671 (พ.ศ.1852) ปีเถาะ เอกศก พระองค์ทรงสร้างวัดกุฎีดาววัด 1 พระอัครมเหสีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์วัด 1”

พระองค์ที่เป็นผู้สร้างวัดกุฎีดาวนั้นหมายถึง พระเจ้าธรรมราชา ซึ่งข้อมูลในพงศาวดารเหนือระบุเอาไว้ว่าเป็นกษัตริย์องค์ที่ 8 ของยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อ พ.ศ.1893 โดยพงศาวดารเหนืออ้างว่า พระเจ้าธรรมราชานั้นครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ.1844-1853

ส่วนพระอัครมเหสีของพระเจ้าธรรมราชา ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์นั้น ทรงพระนามว่า พระนางกัลยาณี ดังนั้น ถ้าหากจะเลือกเชื่อตามพงศาวดารเหนือ วัดมเหยงคณ์จะสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 41 ปีเลยทีเดียว

แน่นอนว่าพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และเอกสารเก่าฉบับอื่นๆ นั้น ระบุอายุสมัยที่สร้างวัดมเหยงคณ์ และวัดกุฎีดาวแตกต่างไปจากที่พระราชพงศาวดารเหนือระบุไว้ โดยทั้งหมดระบุว่า ทั้งสองวัดที่ว่า สร้างขึ้นภายหลังจากที่สมเด้จพระรามาธิบดีที่ 1 สถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลของบรรดานักประวัติศาสตร์ศิลปะเขาด้วย

แต่การที่ทั้งวัดมเหยงคณ์ และวัดกุฎีดาวนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่สำคัญของบริเวณที่เรียกกันว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ซึ่งมีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยานั้น ก็ชวนให้เห็นถึงร่องรอยในพระราชพงศาวดารเหนือที่เปิดเผยให้เห็นถึงคำบอกเล่าที่สืบทอดกันอยู่ในยุคกรุงศรีอยุธยา เกี่ยวกับความเก่าแก่ของพื้นที่บริเวณซีกตะวันออกของเกาะเมือง ที่เรียกสั้นๆ ว่า “อโยธยา” นี่แหละ

กรุงศรีอยุธยาไม่ได้อยู่ๆ ก็ลอยลงมาจากฟ้า แต่เป็นเมืองที่รุ่งเรือง และใหญ่โตพอสมควรมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยามาก่อนแล้ว •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ