“กินนร-กินรี-กินนารอน” อมนุษย์ที่ปรากฏในเทพนิยาย อาศัยในป่าหิมพานต์

 

กินาฯนฯรอฯร กินาฯนฯรี

อ่านว่า “กิ๋นนาลอน กิ๋นนาลี”

ตรงกับภาษาไทยว่า “กินนร-กินรี” หมายถึง อมนุษย์ที่ปรากฏในเทพนิยาย โดยกินนรเป็นเพศชาย ส่วนกินรีเป็นเพศหญิง มีถิ่นอาศัยในป่าหิมพานต์

ชื่อของ “กินนร-กินรี” ได้ตามรูปร่างลักษณะ คือมีลักษณะครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก จึงให้ศัพท์เป็น กิํํ + นร (กิํ – อะไร) เมื่อรวมเป็นคำตามหลักสนธิทางภาษาก็สำเร็จเป็น กินนร แปลว่าคนอะไร

ประมาณความหมายว่า “คนอะไรมีตัวเป็นนก”

 

กินนรและกินรีที่เป็นครึ่งคนครึ่งนกพบบ่อยๆ ในลักษณะของรูปปั้นหรือภาพเขียนทั่วไป

กล่าวถึงกินนารอนและกินนารีในภาษาล้านนามักปรากฏในวรรณกรรมในฐานะของอมนุษย์ที่ชำนาญในการฟ้อนรำ ดังในวรรณกรรมเรื่อง เวสสันตระ ฉบับไผ่แจ้เรียวแดง ตอนที่พรรณนาปราสาทหรือเมรุบรรจุร่างพระนางมัทรีตอนหนึ่งว่า

“…รูปนกเกรียนม่ายหัสสดีลิงค์แลการวีก แขกเต้าปีกเขียวสรี

มีทังรูปกินนารีนารอนม่ายฟ้อน ปลายตีนอย่อนหากัน…”

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอีกชนิดหนึ่งมีรูปเหมือนคนเวลาจะบินใส่ปีกใส่หางแล้วบินไป อย่างเช่นในวรรณกรรมเรื่อง สุธนชาดก นางมโนราห์เป็นนางกินนารีที่ใส่ปีกและหางบินจากเมืองทุมมราชมาเล่นน้ำแล้วถูกพรานปุณฑริกจับไปถวายพระสุธน เมื่ออยู่กับพระสุธนก็ถูกยึดปีกและหางไว้

ตอนที่นางจะถูกฆ่าบูชายัญนั้น นางได้อ้อนวอนขอปีกขอหางมาใส่โดยอ้างว่าจะฟ้อนรำให้ชมก่อนตาย และเมื่อได้แล้วนางก็รีบบินหนีกลับเมืองทุมมราช

รูปกินาฯนฯรีแบบฯฯล้านฯนาฯที่วัดฯหางฯด฿งฯ ฮูปกิ๋นนาลีแบบล้านนาตี้วัดหางดง แปลว่า จิตรกรรมฝาผนังกินรีแบบล้านนาที่วัดหางดง

ครั้นพระสุธนเดินทางติดตามไปจนพบ พญาทุมมราชราชบิดาของนางมโนราห์ได้เนรมิตปีกและหางให้พระสุธนสามารถบินได้อย่างนางกินนารี เพื่อจะได้พากันบินกลับยังเมืองอุตตรปัญจาลนครซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระสุธน

การที่พระสุธนบินได้เหมือนกินนารีก็แสดงว่าพระสุธนอยู่ในลักษณะของกินนารอน

อนึ่ง การแสดงของชาวไทใหญ่ที่ใส่ปีกและหางอย่างนกแล้วฟ้อนรำ เรียกกันทั่วไปว่า “ก้านก” คือฟ้อนนก เรียกตัวผู้ฟ้อนว่า “กิงกะหร่า” จะเห็นได้ว่ากิงกะหร่า มีรากศัพท์มาจาก กึ + นรา เช่นกัน เพียงแต่สนธิต่างกัน กล่าวคือ แปลงนิคหิตเป็น ง สะกด แล้วใช้ ก เป็นตัวตาม ส่วน น หายไปเพราะออกเสียงไม่เข้ากัน

นอกจากนี้ ในเอกสารโบราณหรือวรรณกรรมเก่าแก่เรื่องอื่นๆ ยังปรากฏคำว่า “กังรี” และ “กังขารี” ซึ่งถ้าพิเคราะห์ดูก็จะเห็นว่ามาจาก กํ + นรี (กํ – อะไร) ซึ่งมีความหมายไม่แตกต่างจาก กึ + นรี แต่ประการใด •