คำว่า ‘พงศาวดาร’ เป็นร่องรอยความเชื่อ เรื่องวงศ์วานของเทพเจ้า

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

คําว่า “พงศาวดาร” นั้น ประกอบขึ้นมาจากคำว่า “พงศ์” คือ เชื้อสาย หรือสกุล กับคำว่า “อวตาร” ซึ่งหมายถึง การแบ่งภาคลงมาเกิดของพระนารายณ์ (คำว่า อวตาร ใช้เฉพาะกับพระนารายณ์เท่านั้น ถ้าเป็นเทพเจ้าองค์อื่น พ่อพราหมณ์จะอ้างว่า เป็นการแบ่งภาคลงมาเกิด)

ดังนั้น หากพิจารณาจากการเลือกใช้ศัพท์ในการผูกคำขึ้นมาอย่างเคร่งครัดแล้ว “พงศาวดาร” จึงเป็นเรื่องของวงศ์ตระกูลที่สืบมาแต่อวตารของพระนารายณ์นะครับ ไม่ใช่วงศ์ของมนุษย์ธรรมดาทั่วไปที่ไหนเสียหน่อย

และถึงแม้ว่าเราจะได้ยินเรื่องกษัตริย์ของวงศ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์นั้น ก็คือร่างจำแลงของพระนารายณ์, พระอิศวร หรือแม้กระทั่งพระพุทธเจ้า ที่จะกลับเข้าไปรวมเข้ากับบรรดาเทพเจ้าเหล่านี้หลังสิ้นพระชนม์

แต่ความเชื่ออย่างนี้กลับไม่มีในดินแดนต้นกำเนิดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ คือในอินเดีย และพื้นที่ปริมณฑล

ไม่ใช่ว่าชนชาวชมพูทวีปจะไม่มีความเชื่อในทำนองที่ว่า กษัตริย์ ก็คือเทพเจ้าองค์หนึ่ง หรือเมื่อสิ้นพระชนม์ลงไปแล้วจะไปเป็นเทวดาที่บนสวรรค์ไม่ได้

ในอินเดียย่อมมีความคิดทำนองนี้แน่ แต่แตกต่างจากอุษาคเนย์ในรายละเอียด เพราะในอินเดียนั้น กษัตริย์จะถูกนับเป็นเทพเจ้าได้ แต่ไม่ใช่พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม หรือใครองค์อื่นที่มีรายชื่ออยู่บนสรวงสวรรค์ของพ่อพราหมณ์เขา

นักบุญบางท่านอาจจะทำคุณงามความดีไว้มาก จนพวกพราหมณ์ต้องยกให้เป็นพระภาคหนึ่งของพระอิศวร

เช่น ภรตมุนี ที่เชื่อว่าเป็นผู้แต่งตำรานาฏยศาสตร์ (บางทีเรียก ภรตนาฏยศาสตร์) แต่นั่นเป็นเรื่องของการยกย่องให้เกียรติ เพราะท่ารำทั้ง 108 ท่าในตำราที่ว่านั้น กลายมาเป็นแม่บทในการร่ายรำตามขนบวัฒนธรรมอินเดีย

และเมื่องานมันสำคัญเสียขนาดนี้ จะเป็นผลงานของใครอื่นไปได้ นอกจากงานของเทพเจ้า โดยเฉพาะเทพเจ้าแห่งการระบำรำฟ้อน อย่างพระอิศวร ที่ได้ชื่อว่าเป็น พระศิวะนาฏราช คือพระศิวะ (องค์เดียวกับพระอิศวร) ผู้เป็นราชาแห่งการฟ้อนรำ

ภรตมุนี จึงได้รับเกียรติให้กลายเป็นพระอิศวรที่แบ่งภาคลงมายังโลก เพื่อสอนท่าร่ายรำทั้ง 108 ให้กับพวกมนุษย์

พระอิศวรจะแบ่งพระภาคลงมาเป็นใคร หรือพระนารายณ์เคยอวตารลงมาตอนไหน พ่อพราหมณ์เขาจดบันทึกเอาไว้ในคัมภีร์ (โดยเฉพาะคัมภีร์ประเภทปุราณะซึ่งมีนับพันฉบับ) หมดแล้ว ดังนั้น ถ้าอยู่ๆ จะมีกษัตริย์องค์ไหนอ้างว่า ตนเองคือเทพเจ้าเหล่านี้ อวตารหรือแบ่งภาคลงมา ก็ย่อมจะเป็นเรื่องที่ชวนตะขิดตะขวงใจบรรดาพ่อพราหมณ์เขาอยู่มากทีเดียว

 

ในอินเดียนั้น การสร้างความเกี่ยวพันระหว่าง “กษัตริย์” กับ “เทพเจ้า” ผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ เป็นไปในลักษณะของการอ้างสายสกุลมากกว่า

ดังปรากฏมีความเชื่อเรื่อง “สุริยวงศ์” กับ “จันทรวงศ์” ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ โดยเฉพาะคัมภีร์ประเภทปุราณะ และมหากาพย์ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

แต่ทั้งชื่อ และความศักดิ์สิทธิ์ ของทั้งสองราชวงศ์นี้ก็ปรากฏอยู่ในปกรณ์ของศาสนาในชมพูทวีป ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ หรือศาสนาเชนด้วย

“สุริยวงศ์” นั้น ก่อตั้งโดยพระเจ้าอิกษวากุ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ราชวงศ์อิกษวากุ”

ตามตำนานว่า หลังจากน้ำท่วมโลกแล้ว ลูกชายของพระมนู ไววัศวัต คืออิกษวากุ ได้ก่อตั้งราชวงศ์อิกษวากุขึ้น พร้อมกับสร้างเมืองที่แคว้นโกศล

แต่บางตำนานก็เล่าต่างออกไปว่า พระมนูได้สร้างเมือง “อโยธยา” ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสรยุ ซึ่งก็คือเมืองเดียวกับที่ “พระราม” ปกครองตามท้องเรื่องในรามายณะ

และก็แน่นอนโดยว่า ความเชื่อว่าเมืองอโยธยาเป็นเมืองของฝ่าย “สุริยวงศ์” นั้น เป็นความเชื่อที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากกว่า

ส่วนชื่อของราชวงศ์นั้นได้มาจากการที่ปรัมปราคติของพราหมณ์ระบุว่า พระมนูนั้นเป็นบุตรชายของพระสุริยะ ดังนั้น จึงเรียกราชวงศ์นี้ว่า “สุริยวงศ์”

ในคัมภีร์พุทธวงศ์ ซึ่งก็คือหนังสือว่าด้วยวงศ์ของพระพุทธเจ้า และมหาวงศ์พงศาวดารลังกาทวีปนั้น ระบุว่า ศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้า สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกากะ ซึ่งก็คือพระเจ้าอิกษวากุ ในชื่อเรียกแบบบาลี

ดังนั้น ชาวพุทธจึงถือว่าพระพุทธเจ้าเกิดในสุริยวงศ์ด้วยเช่นกัน

 

ส่วน “จันทรวงศ์” นั้นเป็นวงศ์ที่มีปฐมกษัตริย์ชื่อ ปุรุราวัส ซึ่งเป็นบุตรของพุธ และมีพระโสมะ (พระจันทร์) เป็นปู่ ราชวงศ์นี้จึงได้ชื่อว่าเป็น “จันทรวงศ์” หรือ “โสมะวงศ์” คือ “วงศ์ของพระจันทร์”

ในคัมภีร์ฤคเวทระบุว่า ปุรุราวัสเป็นลูกของนางอิลา ส่วนในมหาภารตะอ้างว่า นางอิลาเป็นทั้งพ่อและแม่ของปุรุราวัส (ต้นเค้าของเรื่อง อิลราชคำฉันท์ ที่พระยาศรีสุนทรโวหาร [ผัน สาลักษณ์] แต่งขึ้นเมื่อครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสารประเสริฐ เมื่อ พ.ศ.2456 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6) บางครั้งจึงมีการเรียกราชวงศ์นี้ว่า “อิลาวงศ์”

ที่น่าสนใจก็คือหลายครั้งเลยทีเดียวที่จะมีการอ้างกันว่า นางอิลานั้นเป็นลูกของพระมนู นางในเทพปกรณ์คนนี้จึงเป็นพี่น้องกับอิกษวากุ ผู้ก่อตั้งสุริยวงศ์ด้วย เรียกได้ว่าทั้ง 2 ราชวงศ์นี้มีความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันอยู่

ในมหากาพย์มหาภารตะระบุเอาไว้ว่า ปุรุราวัสมีหลานชายชื่อ ยยาติ ซึ่งมีลูกอีก 5 คนชื่อว่า ยทุ, ตุรวาสุ, ทรุหยุ, อนุ และปุรุ อันเป็นชื่อของชนเผ่าโบราณทั้ง 5 ที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวท

ถึงผมจะไม่บอก แต่ก็คงจะสังเกตกันได้นะครับว่า ตำนานเรื่องสายจันทรวงศ์นี้ ถูกสร้างขึ้นเผื่อผูกโยงสร้างความเป็นเครือญาติระหว่างเผ่าต่างๆ ในอินเดีย ที่มาเก่าก่อนพุทธกาล ให้เป็นพวกเดียวกัน ในขณะเดียวกับที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสายตระกูลที่ถูกนับว่าเป็นพวกเดียวกัน ว่ามีเชื้อสายของเทพเจ้า พร้อมๆ กับที่บรรจงถีบผู้คนกลุ่มอื่นๆ ให้ต้อยต่ำกว่าพวกของตน

ที่สำคัญก็คือ ความใน “มหาภารตะ” นั้น ยังได้ระบุด้วยว่า “พระกฤษณะ” ซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์เกิดในราชวงศ์ยทุวงศ์ จึงถือกันว่า พระกฤษณะเป็นสาย “จันทรวงศ์”

ดังนั้น มหากาพย์ที่สำคัญที่สุด 2 เรื่องของอินเดียคือ “รามายณะ” และ “มหาภารตะ” จึงเป็นเรื่องของ “สุริยวงศ์” และ “จันทรวงศ์” เพราะมี “พระราม” และ “พระกฤษณะ” ซึ่งก็คืออวตารของ “พระนารายณ์” ร่วมอยู่ในวงศ์นั้นตามลำดับด้วยเช่นกัน

พระรามและพระกฤษณะ

บรรดากษัตริย์ในอินเดียโบราณจึงมักจะอ้างว่า ราชวงศ์ของตนเองสืบสายมาจากสุริยวงศ์ หรือไม่ก็จันทรวงศ์ เพื่ออ้างว่าสืบสายมาจากพระราม หรือไม่ก็พระกฤษณะ (น่าสังเกตว่าไม่ยักจะอ้างว่าสืบมาจากพระสุริยะ หรือพระจันทร์)

ที่สำคัญก็คือ ตามธรรมเนียมของอินเดียทั้ง “รามายณะ” และ “มหาภารตะ” นั้น จะถูกเรียกว่าเป็นคัมภีร์ประเภท “อิติหาสะ” คือ “พงศาวดาร” หมายความว่า บรรดาราชวงศ์ในอินเดียเมื่อครั้งกระโน้น ต่างก็สมาทานเอาเทพปกรณ์เรื่องสุริยวงศ์ และจันทรวงศ์ มาใช้เพื่อให้ตัวเองมีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติกับเทพเจ้าจริงๆ

(ส่วนที่มีการเรียกรามายณะ และมหาภารตะว่า “มหากาพย์” ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ร้อยกรองที่ยิ่งใหญ่” นั้นก็ไม่ผิด เพียงแต่เป็นเลือกใช้คำในความหมายที่ตรงกับคำว่า “epic” ในภาษาอังกฤษ)

แต่ผู้ที่อ้างตนว่าสืบสายมาจากพระราม หรือพระกฤษณะ ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในอินเดีย และอาณาปริมณฑลทางวัฒนธรรมโดยรอบเท่านั้นนะครับ

เพราะเมื่อกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ในอุษาคเนย์ยุคหลัง พ.ศ.1000 ยอมรับเอาศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู เข้ามา ก็รับเอาแนวคิดเรื่องนี้เข้ามาพร้อมๆ กันด้วย

ดังปรากฏการกล่าวอ้างอยู่ในศิลาจารึกต่างๆ ของทั้งพวกขอม จาม และชวา

น่าสนใจด้วยว่า กษัตริย์ในโลกอุษาคเนย์ยุคโบราณเหล่านี้ หลายองค์เลยทีเดียว ที่เลือกใช้คำว่า “วรมัน” (ที่จริงแล้วสะกดว่า “วรรมัน” แต่ในโลกภาษาไทยปัจจุบันมักเขียนว่า วรมัน) ต่อท้ายที่พระนามของตนเอง เพราะเจ้าพ่อของภารตวิทยาในไทยคนปัจจุบันอย่าง อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง นั้น เคยอธิบายให้ผมฟังว่า ในตำราทำพิธีของพราหมณ์ที่ชื่อ นิตยกรรมปธติ กำหนดไว้ว่า ในการประกอบพิธีกรรมนั้น แต่ละวรรณะจะต้องใช้นามสกุลต่างกัน โดยวรรณะกษัตริย์ให้ใช้นามสกุลว่า “วรมัน” หรือ “วรมา” นี่แหละ (ส่วนวรรณะอื่นคือ พราหมณ์ใช้ “ศรมัน/ศรมา” แพศย์ใช้ “คุปตะ” ส่วนศูทรใช้ “ทาส”)

อะไรที่เรียกว่า “ศิลาจารึก” นั้น ก็คือเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม เรื่องราวที่ถูกจดจารลงไปนั้นก็คือข้อความที่ต้องการสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

หมายความว่า กษัตริย์ในโลกอุษาคเนย์โบราณเหล่านี้ นอกจากที่จะอ้างว่าตนสืบเชื้อสายมาจากพระราม หรือพระกฤษณะแล้ว ในเชิงพิธีกรรมยังประกาศตนด้วยว่า สังกัดอยู่ในวรรณะกษัตริย์ ทั้งๆ ที่อุษาคเนย์นั้นไม่เคยนำเอาระบบวรรณะของอินเดียมาใช้จริงเสียด้วยซ้ำ

(อย่างไรก็ตาม ต่อมาชนชาวอุษาคเนย์ได้หลอมรวมเอาแนวคิดเกี่ยวกับเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในปรัมปราคติของพุทธ และพราหมณ์ เข้ากับแนวคิดเรื่อง “ขวัญ” ซึ่งเชื่อว่าเมื่อคนตาย ขวัญจะกลับไปรวมเข้ากับ “แถน” คือพลังงานของบรรพชน กษัตริย์ของอุษาคเนย์เมื่อสิ้นพระชนม์ลงจึงกลับไปรวมเข้ากับพระนารายณ์ พระอิศวร ได้อย่างไม่เคอะเขินเหมือนในอินเดีย)

คำว่า “พงศาวดาร” ซึ่งแปลตรงตัวว่า วงศ์ตระกูลซึ่งสืบสายมาจากอวตารของพระนารายณ์ (ในที่นี้คือ พระราม และพระกฤษณะ) จึงเป็นร่องรอยสำคัญของการรับเอาความเชื่อ เรื่องการเป็นวงศ์วานว่านเครือของเทพเจ้าจากอินเดียมาใช้ในอุษาคเนย์ในยุคเริ่มแรก เมื่อราว พ.ศ.1000

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ