ชุมชน ‘กุฎีจีน’ ได้ชื่อมาจากศาลเจ้าจีน ไม่ใช่เพราะเคยมีภิกษุจีนจำพรรษาอยู่

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เล่าต่อๆ กันมา โดยหาต้นตอไม่ได้ว่าใครเป็นคนเริ่มต้นเล่าเรื่องขึ้นมาว่า ชุมชน “กุฎีจีน” หรือที่เรียกเป็นภาษาปากสั้นๆ ว่า “กะดีจีน” ที่ตั้งอยู่ระหว่างโบสถ์ซานตาครู้ส และวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ นั้น มีชื่อบ้านนามเมืองมาจากการที่เคยมีพระภิกษุสงฆ์ชาวจีนเข้ามาพำนักอาศัยอยู่ ก็เลยเรียกว่าบ้านกุฎีจีน คือหมู่บ้านที่มีกุฏิของพระภิกษุจีนตั้งอยู่

เรื่องเล่าข้างต้นนี้ยังมีรายละเอียดที่ต่างกันไปในแต่ละสำนวน บ้างก็ว่าเรื่องราวเกิดขึ้นในยุคกรุงธนบุรี บ้างก็ว่าเป็นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภิกษุจีนเข้ามาช่วงรัชกาลที่ 1 บ้าง รัชกาลที่ 2 บ้าง บางสำนวนก็ระบุว่า พระสงฆ์จีนที่จำพรรษาอยู่ที่นี่มีจำนวนทั้งหมด 2 รูป

แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่มีหลักฐานเอกสารอะไรมายืนยันได้ชัด?

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้น “วัด” ในพระพุทธศาสนาแบบจีนนั้น เพิ่งจะมีการริเริ่มสร้างขึ้นในยุคปลายแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 เท่านั้น

ไม่มีหลักฐานของการสร้างวัดจีนในไทยช่วงยุคก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นยุคกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี หรือแม้กระทั่งยุคต้นกรุงเทพฯ เลยสักนิด

แถมวัดแห่งแรกดังกล่าวที่ว่านี้ก็คือ วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งอยู่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราช ที่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกต่างหาก

ดังนั้น จึงน่าสงสัยใจไม่น้อยว่า ถ้าเคยจะมีพระสงฆ์จีนมาพำนักอยู่ละแวกริมน้ำย่านฝั่งธนบุรี จนทำให้เรียกกันปากต่อปากในภายหลังว่า “บ้านกุฎีจีน” แล้ว พระภิกษุจีนรูปนี้ (หรือสองรูป) จะมาพักอยู่ที่ไม่มีวัดจีน แถมยังไม่ใช่เขตพื้นที่วัดในพุทธศาสนาทำไมเล่าครับ?

 

ในกลอนเพลงยาวของหม่อมภิมเสน ซึ่งเป็นกวีในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (หรือที่มักเรียกกันอย่างลำลองว่า พระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์องค์สุดท้ายของอยุธยา) ที่เดินทางจากพระนครศรีอยุธยาไปยังเพชรบุรี แล้วได้แวะค้างคืนที่เมืองธนบุรีนั้น มีกลอนบทหนึ่งว่า

“ถึงบางจีนชื่อเช่นเหมือนชื่อพี่ ชื่อสิมีนึกหน้าแล้วแฝงหน้า

ท่านบอกบทกำหนดสักวามา จะถึงท่าประทับที่บุรีธน”

ชื่อ “บางจีน” ที่ปรากฏอยู่ในกลอนข้างต้นนั้น คือพื้นที่ฝั่งตรงข้ามฟากแม่น้ำของบางกอก (หรือบุรีธน ซึ่งหมายถึง ธนบุรี ที่ปรากฏอยู่ในกลอน) ซึ่งก็คือย่านที่มีคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

พื้นที่บริเวณ “บางกอก” ที่ว่านี้ มีศูนย์กลางอยู่ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน ดังนั้น พื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา ย่านกุฎีจีน ที่ห่างจากป้อมสมัยอยุธยาดังกล่าวเพียงประมาณ 500 เมตร จึงเป็นอาณาปริมณฑลของพื้นที่บางกอกอย่างไม่ต้องสงสัย

และเมื่อคำนึงถึงยุคสมัยที่เส้นทางคมนาคมใช้ “แม่น้ำลำคลอง” เป็น “ถนน” สายหลักนั้น ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ชุมชนจีนขนาดใหญ่ (อย่างน้อยก็ใหญ่จนเรียกว่า บางจีน ไม่ใช่บางไทย บางลาว หรือบางเขมร) ก็เพียงอยู่แค่อีกฟากข้างของถนนใหญ่ของชุมชนกุฎีจีนเท่านั้นนะครับ

แต่นี่ก็ยังไม่ใช่หลักฐานที่จะยืนยันได้ว่า เคยมีพระภิกษุจีนมาจำพรรษาอยู่ที่บ้านกุฎีจีน

เพราะข้อมูลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 1 จะสร้างพระบรมมหาราชวังนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ไล่ที่ทำวัง” คือการย้ายพวกชาวจีนที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม ออกไปอยู่ที่สำเพ็ง (หมายถึงบริเวณวัดสำเพ็ง คือวัดปทุมคงคา ย่านตลาดน้อย) ก่อนที่ชุมชนจะขยายออกไปจนเกิดเป็นย่าน “ไชน่าทาวน์” ขนาดใหญ่อย่าง “เยาวราช” จนเกิดมีวัดจีนสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในอีกร้อยปีเศษต่อมา

อย่างน้อยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวจีนจำนวนมาก จึงได้ถูกย้ายออกจากพื้นที่อีกฟากถนนใหญ่คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ของกุฎีจีน ดังนั้น ถ้าจะมีพระภิกษุจีนเคยมาจำพรรษาที่บริเวณดังกล่าวในช่วงต้นกรุงเทพฯ จริงอย่างคำอ้าง ก็ไม่ควรจะเกี่ยวกับชุมชนบางจีนที่อีกฟากข้างของแม่น้ำ

 

อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณ “บางกอก” ที่มีป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นศูนย์กลางนั้น เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นเมืองท่าแห่งแรกที่เรือซึ่งจอดเทียบท่าในอ่าวไทยต้องผ่าน ก่อนจะเข้าไปสู่พระนครศรีอยุธยานั้นได้

ตัวป้อมวิชัยประสิทธิ์ เดิมชื่อป้อมวิไชเยนทร์ ตั้งชื่อตามเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ที่เป็นคนควบคุมการก่อสร้าง

ชื่อวิชัยประสิทธิ์นั้น ตามประวัติว่า พระเจ้าตากสินเป็นผู้เปลี่ยนชื่อป้อมแห่งนี้เมื่อครั้งมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของพระตำหนักของพระองค์ (ปัจจุบันเรียก พระราชวังเดิม)

ตัวโครงสร้างของป้อมแห่งนี้ จึงสร้างมาตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อราว พ.ศ.2200

แต่ประวัติความสำคัญของพื้นที่ยังสืบย้อนไปได้ไกลกว่านั้น เพราะเมื่อคราวที่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ได้มาสร้างป้อมแห่งนี้ ตามบัญชาของสมเด็จพระนารายณ์ ก็เป็นการสร้างทับป้อมเดิมที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างน้อยก็ตั้งแต่ตอนที่ กรุงศรีอยุธยาก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง พร้อมกับตั้งชื่อเสียใหม่ว่า “ทณบุรี” (ต่อมาคือ ธนบุรี) ดังปรากฏในกฎหมายพระไอยการอาชญาหลวง ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2091-2111)

การยกฐานะขึ้นเป็นเมืองนี้แสดงให้เห็นว่า กรุงศรีอยุธยาเห็นความสำคัญ และในกฎหมายฉบับที่ว่านี่เองที่ระบุตำแหน่ง “นายพระขนอนทณบุรี” คือนายด่านเก็บภาษี คู่กับขนอนน้ำ ขนอนบกต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยา

หมายความว่า อยุธยาได้นับบางกอกเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในอำนาจรัฐของตนเอง จนถึงกับต้องตั้งเจ้าหน้าที่เก็บภาษีไปประจำอยู่ที่นั่น และจะค่อยๆ ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนมีตำแหน่ง “เจ้าเมือง” ในที่สุด

พื้นที่บริเวณบางกอก ที่มีป้อมแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง จึงเป็นพื้นที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคกลางของกรุงศรีอยุธยา เมื่อราว 450 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย

และจึงไม่แปลกอะไรเลยที่ย่านนี้จะมีความเป็นนานาชาติ มีทั้งมัสยิด และกุโบร์ของชาวมุสลิม กระจายอยู่ทั่ว มีทั้งโบสถ์ฝรั่งอย่างโบสถ์ซานตาครู้ส มีชุมชนชาวโปรตุเกสเดิม และก็ยังเป็นย่านนานาชาติต่อมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคต้นกรุงเทพฯ ต่อเนื่องมาจนถึงยุคเริ่มเข้าสู่การเป็นรัฐชาติสมัยใหม่

ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ว่า หมอบรัดเลย์เมื่อตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกขึ้นในสยามประเทศ ก็สร้างขึ้นไม่ห่างจากย่านนี้มากนัก

 

ชุมชนกุฎีจีน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันกับป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทเช่นนี้นั่นแหละนะครับ

และถ้าจะมีคนจีนมาตั้งรกรากอยู่ในย่านนี้ท่ามกลางฝรั่ง แขก ไทย หรือชนชาติไหนๆ ด้วยก็ไม่เห็นจะแปลก เพราะเป็นย่านดาวน์ทาวน์ของเมืองในยุคโน้น

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องของพระภิกษุมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ จนกลายเป็นชื่อ “กุฎีจีน” นั้น จึงเป็นเรื่องเล่าที่ว่า แต่เดิมเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงตัดสินพระทัยสร้างพระตำหนักอยู่ที่กรุงธนบุรี ชาวจีนที่ติดตามพระองค์มา ก็มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ด้วย จากนั้นก็ได้สร้างศาลเจ้าพ่อกวนอู และศาลโจวซือกง ขึ้นในพื้นที่บริเวณนี้

กาลล่วงเลยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี บรรพชนต้นตระกูลตันติเวชกุล และสิมะเสถียร ซึ่งเป็นชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในสยาม ได้ทำการสักการะศาลเจ้าทั้งสองแห่งดังกล่าวแล้วเห็นว่าศาลเจ้าทั้งสองแห่งมีสภาพทรุดโทรม จึงรื้อศาลทั้งสองแห่งนี้ออกมันเสียอย่างนั้น จากนั้นก็สร้างศาลใหม่ขึ้นมาแทนที่หลังหนึ่ง พร้อมนำเจ้าแม่กวนอิมเก่าแก่องค์หนึ่งในเมืองแชฮุนเต็ง ประเทศจีน มาประดิษฐานเป็นประธานของศาลเจ้าใหม่แห่งนี้แทน

จากนั้นมาศาลเจ้าแห่งนี้เลยถูกเรียกว่า “ศาลเกียนอันเกง” ซึ่งก็หมายถึงศาลเจ้าแม่กวนอิมนั่นแหละ

ชื่อของชุมชน “กุฎีจีน” จึงควรจะมีที่มาจากการที่พื้นที่บริเวณนี้มีศาลเจ้าจีนตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อกวนอู หรือศาลโจวซือกง ที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว หรือศาลเกียนอังเกง ที่ยังเหลืออยู่เป็นประจักษ์พยานมาจนทุกวันนี้

เช่นเดียวกับที่มีการเรียก “มัสยิด” ในศาสนาอิสลามว่า “กุฎี” ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดกุฎีขาว, มัสยิดกุฎีหลวง, มัสยิดกุฎีช่อฟ้า ฯลฯ

โดยไม่เห็นจะต้องมีประวัติว่าเคยมีพระภิกษุในพุทธศาสนารูปไหน หรือชาติใดมาจำพรรษาอยู่

ชื่อของชุมชน “กุฎีจีน” จึงมีที่มาจากการที่มีศาลเจ้าจีนตั้งอยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่เพราะเคยมีพระภิกษุจีนมาจำพรรษาอยู่นั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ