On History : ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เศษซากจากปฏิบัติการ ‘IO’ ยุคจอมพลถนอม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

เศษซากจากปฏิบัติการ ‘IO’

ยุคจอมพลถนอม

 

ถ้าจะว่ากันด้วยนิยามของคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่พี่ไทยเราแปลมาจากคำฝรั่งว่า “democracy” ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของความเป็นมนุษย์ที่ไม่มีการแบ่งแยกทั้งชาติและศาสนาแล้ว มันจะมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ, ประชาธิปไตยแบบฝรั่ง, ประชาธิปไตยแบบจีน, ประชาธิปไตยแบบอิหร่าน หรือประชาธิปไตยแบบอะไรอื่นๆ อีกสารพัดไปได้อย่างไรกัน?

แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” ก็ถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2509 เป็นอย่างน้อยโน่นเลยนะครับ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมีใครมาประดิษฐ์เอาเมื่อไม่กี่วันมานี้เท่านั้น

หลักฐานที่ชัดเจนมีปรากฏอยู่ในบทความที่ตีพิมพ์เมื่อเรือน พ.ศ.ดังกล่าวอย่างน้อย 2 ชิ้น

คือ “ประชาธิปไตย” และ “ประชาธิปไตยไทย” ซึ่งเขียนโดย อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ผู้ที่ถือได้ว่าเป็น “ปัญญาชนสาธารณะ” (public scholar) ในยุคโน้นทั้งสองชิ้นนั่นแหละ

ผมไม่แน่ใจนักว่า อ.ประเสริฐจะเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” เป็นคนแรกหรือเปล่า?

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ในบทความทั้งสองชิ้นที่ว่านั้น ท่านก็ย้ำอยู่เสมอว่า เริ่มมีการพูดถึงคำคำนี้มาตั้งแต่ราวช่วง 10 ปีก่อนที่ท่านจะเขียนบทความทั้งสองชิ้นนี้ขึ้นมาเสียอีก (ซึ่งผมก็จะไม่รู้สึกแปลกใจอะไร ถ้าเมื่อ 10 ปีก่อนหน้า พ.ศ.2509 ที่บทความทั้งสองชิ้นดังกล่าวจะถูกตีพิมพ์ออกมานั้นจะไม่เคยมีคำคำนี้มาก่อนอย่างที่ อ.ประเสริฐอ้างไว้)

แต่แน่นอนว่า บทความทั้งสองนี้ เป็นข้อเขียนชิ้นแรกๆ ที่ทรงพลังอย่างยิ่งต่อการนิยามคำว่า “ประชาธิปไตย” โดยเฉพาะประชาธิปไตยแบบไทย ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนประชาธิปไตยของชาติอื่นๆ ของชนชั้นกลาง และผู้มีการศึกษาของไทยในยุคนั้น

ไม่ใช่เพราะบทความเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นโดยปัญญาชนสาธารณะแบบ อ.ประเสริฐหรอกนะครับ

เพราะตอนที่บทความทั้งสองชิ้นนี้เผยแพร่ออกมาถูกปกปิดว่าใครเป็นผู้เขียน จึงไม่น่าจะทำให้ชื่อของผู้เขียนมีพลังในการโน้มน้าวจิตใจของผู้อ่านได้

แต่เป็นเพราะบทความทั้งสองชิ้นนี้ ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาไทยถึง 40,000 ฉบับ ซ้ำยังถูกหอการค้าจีน (สมาคมเซียงหวย) แปลเป็นภาษาจีน ตีพิมพ์จ่ายแจกกันเองด้วยอีกต่างหาก (ขอให้สังเกตว่า การแปลเป็นจีนถูกจ่ายแจกกันในหมู่คนไทยเชื้อสายจีน ระดับผู้ทำธุรกิจต่างๆ ในยุคนั้น)

และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บทความทั้งสองชิ้นที่ว่านี้ยังถูกใช้อ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และวิทยุสองศูนย์ของกองพล 1 ติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนในช่วง พ.ศ.2509 อีกด้วย

เรียกได้ว่าไม่ต่างจากเป็นข้อมูลที่ใช้ใน “ปฏิบัติการข่าวสาร” (Information Operation หรือที่มักจะเรียกกันย่อๆ ว่า “IO”) ดีๆ นี่เอง

จอมพลถนอม กิตติขจร

สิ่งที่น่าสังเกตเอามากๆ ในบทความทั้งสองเรื่องนี้คือการที่ อ.ประเสริฐได้อ้างถึงกรณีของชาร์ลส์ เดอ โกลล์ (Charles de Gaulle) ประธานาธิบดีที่ก้าวมาจากการเป็นนายพลของฝรั่งเศส มาอ้างว่า บางคนก็ว่า เดอ โกลล์ เป็นเผด็จการ แต่บางคนก็บอกนี่แหละประชาธิปไตยที่เหมาะสำหรับประเทศฝรั่งเศส

ในขณะเดียวกัน อ.ประเสริฐก็ยังอ้างเรื่องประเทศปากีสถาน ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของจอมพลโมฮัมหมัด อัยยุบ ข่าน (Mohammad Ayub Khan) มาใช้เป็นอีกตัวอย่างในการอ้างว่า บางฝ่ายก็ว่า อัยยุบ ข่าน เป็นเผด็จการ แต่บางฝ่ายก็ว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

แถมยังพาดพิงถึงรัฐบาลภายใต้รองเท้าบู๊ตของนายพลเนวินในพม่าด้วยเช่นกันว่า บางฝ่ายก็ว่าเป็นเผด็จการอีกเช่นเคย แต่บางฝ่ายก็ว่าเป็นประชาธิปไตย เพื่อที่ท่านจะบอกว่าในไทยก็เช่นกัน ใครอาจจะมองว่าเป็นเผด็จการ หรือประชาธิปไตยก็ได้?

และเมื่อมองย้อนไปจาก พ.ศ.ปัจจุบันนี้แล้ว ผมคงจะไม่ต้องอธิบายว่า รัฐบาลพม่าและปากีสถานในสมัยนั้นเป็นเผด็จการหรือไม่? แต่อยากจะเพิ่มเติมข้อมูลให้ทราบอีกสักหน่อยว่า ในบทความทั้งสองชิ้นนี้ ผู้เขียนคือ อ.ประเสริฐยังได้พูดอ้อมๆ เอาไว้ด้วยว่า ถ้าสังคมยังไม่พร้อม แม้จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกตั้ง ซึ่งก็แน่นอนว่า จากแม่น้ำทั้งห้าที่ท่านลากมานั้น ประเทศไทยก็ยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ “ประชาธิปไตยแบบไทย” อย่างที่ อ.ประเสริฐได้อธิบายเอาไว้นั้นจะถูกนำมาใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ในคณะของจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนที่จอมพลถนอมเองนั่นแหละจะฉีกมันทิ้งกับมือ แถมยังขยี้มันซ้ำด้วยตีนหุ้มเกือกทรงรองเท้าบู๊ตเสียอีก

(ซึ่งจะเกิดผลเป็นโดมิโนตามมาให้จอมพลถนอมทำการรัฐประหารตนเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ยุบพรรคสหประชาไทย และตามมาด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516)

และก็ไม่แปลกอะไรอีกเช่นกัน ที่การจับเอาพื้นที่ของความเป็นประชาธิปไตยให้ลงมาอยู่ใต้พื้นของรองเท้าบู๊ตเสียขนาดนี้ จะทำให้ในภายหลัง อ.ประเสริฐได้มาเป็นมันสมองสำคัญของอดีตนายกรัฐมนตรี ระดับผู้มีบารมีนอกรัฐสภา ที่ก้าวเข้าสู่วงโคจรของอำนาจผ่านทางกองทัพอีกท่านหนึ่ง

ดังนั้น ผมจึงไม่แน่ใจนักว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” จะเป็น “ประชาธิปไตย” ในนิยามที่แปลมาจากคำว่า “democracy” ในภาษาอังกฤษจริงหรือเปล่า?

ก็ไอ้เจ้าประชาธิปไตย “แบบไทย” อย่างที่ว่ามานี้ ดูจะเป็น “ไทย” ที่มีความหมายประหลาดๆ แถมยังเปิดทางให้กับอำนาจที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน ผ่านการเลือกตั้ง พร้อมกันกับการสร้างที่ทางให้กับบารมีสีลายพรางอยู่ชอบกล

 

แต่เอาเข้าจริงแล้วก็มีอยู่บ่อยครั้งที่ “ความเป็นไทย” ถูกประดิษฐ์และบังคับใช้โดยรัฐของไทยเองนั่นแหละ

ช่วงทศวรรษของปี พ.ศ.2480 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (16 ธันวาคม พ.ศ.2481-1 สิงหาคม พ.ศ.2487) และคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป.ก้าวขึ้นมาพร้อมกับ “ลัทธิชาตินิยม” มีการประกาศสิ่งที่เรียกว่า “รัฐนิยม” 12 ฉบับ ในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี คือระหว่างปี พ.ศ.2482-2485

“รัฐนิยม” ที่ว่าก็คือประกาศของทางการเกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของประชาชน ที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติอันมีอารยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างของชาติ สำหรับให้ใช้เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งก็มีทั้งเรื่องการบังคับให้ภาคภูมิใจในหนังสือและภาษาไทย (ฉบับที่ 9 ประกาศวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2483) บังคับเรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย (ฉบับที่ 10 ประกาศวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2484) และบังคับในเรื่องกิจวัตรประจำวัน (ฉบับที่ 11 ประกาศวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2484)

เรียกได้ว่าเป็นประกาศที่บังคับให้ประชาชน “นิยม” ในความเป็น “ไทย” แถมอันที่จริงแล้วยังบังคับให้ใครต่อใครที่ไม่เคยเป็นไทยในประเทศนี้ ต้องเปลี่ยนมาเป็นไทยเลยอีกด้วย

เอาเข้าจริงแล้ว “ความเป็นไทย” ในสายตาของรัฐ จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่รัฐสามารถที่จะปกครองได้โดยง่ายนะครับ

เพราะความเป็นไทย อย่างที่ประกาศเอาไว้ในรัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับนั้น ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนไม่หือไม่อืออะไรออกมาได้ทั้งสิ้น ซึ่งก็ดูต่างกันสิ้นดีกับอุดมการณ์ของประชาธิปไตย ที่พยายามทำให้ทุกฝ่ายรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันได้อยู่เสมอ

ดังนั้น ผมจึงไม่แน่ใจนักว่า คำว่า “ไทย” ในคำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” ของ อ.ประเสริฐ มันจะหมายถึง “democracy” หรอกนะครับ

ยิ่งเมื่อคำว่า “ไทย” ใน “ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่ถูกใช้กันมาตั้งแต่ยุคจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างน้อยที่ว่านี้ ก็ยังแน่ใจไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่า หมายถึงคนไทยทุกคน หรือคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการอ้างความเป็นไทย