ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 พฤษภาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
พระพิมพ์
แต่เดิมไม่ใช่วัตถุมงคล
หรือเครื่องเคารพบูชา
กลายเป็นของขลัง
เพราะศาสนาผีแบบไทยๆ
ในหนังสือเก่าแก่ระดับอีกไม่ใกล้ไม่ไกลก็จะมีอายุครบร้อยปี ในขวบปี พ.ศ.ปัจจุบันนี้อย่าง “ตำนานพระพิมพ์” ที่เขียนขึ้นโดยนักอ่านจารึกโบราณ ควบตำแหน่งนักอุษาคเนย์ศึกษาระดับเจ้าพ่อของวงการ ในช่วงยุคอาณานิคมอย่างศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Goerge Cœdès) ได้อธิบายถึงมูลเหตุของการสร้าง “พระพิมพ์” ในอุษาคเนย์สมัยโบราณเอาไว้ว่า
“พระพิมพ์ได้ยุติกันมาตั้งแต่เดิมแล้ว ว่าเปนของที่นับถือกันเหมือนอย่างอนุสาวรีย์ ด้วยเหตุที่ความนิยมนับถือเครื่องหล่อเจริญมากขึ้น การสร้างรูปเคารพพระพุทธเจ้าหรือรูปเคารพอื่นๆ ในทางสาสนาถือกันว่าเปนมูลแห่งกุศล
แต่การหล่อรูปด้วยโลหะแกะด้วยไม้หรือสลักด้วยหิน เปนของที่ทำกันไม่ได้ทั่วไป คนจนๆ ผู้มีความปราถนาบุญ เพื่อหวังจะให้ตนมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นในชาติหน้า จึงพากันสร้างรูปด้วยก้อนดินอันถือว่าเปนหนทางได้บุญกุศล โดยไม่ต้องอาศรัยสติปัญญาชั้นสูงหรือทรัพย์สมบัติ
เมื่อเขาปราถนาเช่นนี้แลมีโอกาศที่จะทำได้ด้วย จึงได้เกิดการสร้างรูปด้วยดินขึ้นเปนจำนวนมาก บางครั้งรายหนึ่งตั้ง 84,000”
(อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่ปรับย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านง่าย สบายมาก โดยผู้เขียน)
และประโยคต่อจากนี้ เซเดส์ได้สรุปอย่างสั้นๆ แต่รวบรัดได้ใจความว่า “ข้อนี้เองเปนมูลเหตุแห่งการสร้างรูปพระพุทธเจ้าด้วยดิน”
แน่นอนว่า สิ่งที่เซเดส์ว่ามาข้างต้นนั้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัว มากกว่าที่จะเป็นการวิเคราะห์หรือวิพากษ์หลักฐาน ดังจะสังเกตได้ว่า เซเดส์เองก็ไม่ได้ยกหลักฐานอะไรมาประกอบแม้แต่สักชิ้นเดียวว่า ทำไมเขาถึงได้ใช้เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจของผู้คนในสมัยโบราณมาอธิบายความ
และเราจะแน่ใจได้จริงๆ หรือครับว่า ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเหล่านี้ คือสิ่งที่ทำให้มีการสร้างพระพิมพ์ขึ้นมา?
ในเมื่อเซเดส์เองก็บอกเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นเดียวกันนี้ด้วยว่า แม่พิมพ์ที่จะใช้สำหรับพระพิมพ์เหล่านี้ “จะต้องเปนแผ่นทองแดงแกะอย่างลึกแลมีด้ามสำหรับถือ” (ปัจจุบันมีการค้นพบแม่พิมพ์ของพระพิมพ์เหล่านี้ ซึ่งมักจะทำมาจากดินเผา หรือหิน ไม่มีที่พบว่าทำขึ้นจากทองแดง ข้อสันนิษฐานนี้ของเซเดส์เขียนขึ้นก่อนการพบแม่พิมพ์เหล่านี้)
แถมพระพิมพ์ที่พบในอุษาคเนย์เหล่านี้บางส่วน โดยมีตัวอย่างจากพระพิมพ์ซึ่งพบที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานีนั้นยังเป็นของอิมพอร์ตที่มาจากอินเดีย หรือไม่ก็ต้องใช้ฝีมือช่างอินเดีย ที่อพยพเข้ามาอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้อีกด้วย ดังที่เซเดส์ได้อธิบายเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นเดียวกันนี้ว่า
“แลพระพิมพ์ที่ได้พบที่เมืองไชยานี้ ก็เปนฝีมือช่างอินเดียกับยอดปราสาทเมืองพุทธคยานั้น โดยไม่ต้องสงสัยเลย”
แล้วคนจนๆ ไม่ว่าจะสังกัดอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี ศรีวิชัย อยุธยา กรุงเทพฯ หรือวัฒนธรรมไหนๆ กัน ที่จะพอมีปัญญาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ซื้อของอิมพอร์ตจากเมืองนอกเมืองนา หรือซื้อข้าวของจากช่างฝีมือชาวต่างแดนในภูมิภาค
และนี่ยังไม่นับว่า พระพิมพ์ส่วนใหญ่นั้น ไม่ใช่พระพิมพ์ดินดิบ ที่เพียงแค่นำดินที่พิมพ์แล้วไปตากให้แห้งเท่านั้น แต่เป็นพระพิมพ์ดินเผา ที่ต้องนำไปเข้าเตาเผาเสียก่อน ซึ่งก็ยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตอีกด้วย
เอาเข้าจริงแล้ว การนำปัจจัยทางเศรษฐกิจมาใช้ในการอธิบายเรื่องพระพิมพ์ จึงไม่น่าจะเป็นอย่างที่เซเดส์ว่าไว้ แต่ควรจะเป็นในทิศทางที่ตรงกันข้ามกันต่างหาก คือควรที่จะเป็นผู้มีกำลังทรัพย์หรืออาณาบารมีมากพอเท่านั้น จึงจะผลิตพระพิมพ์ได้
แต่ก็ไม่ใช่ว่าคำอธิบายเกี่ยวกับคตินิยมในการสร้างพระพิมพ์ของเซเดส์ในข้อเขียนชิ้นนี้จะเชยไปแล้วเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลหลักฐานในปัจจุบันไปเสียหมดนะครับ เพราะเซเดส์ยังอธิบายไว้ด้วยว่า พระพิมพ์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อสืบพระศาสนา ดังที่ข้อความที่ว่า
“ขอให้นึกถึงคำทำนายที่ว่าพระพุทธสาสนาจะสิ้นไปเมื่ออายุครบ 5,000 ปี…ต่อให้เกิดมหาอุทกภัยซึ่งจะสามารถพัดพาเอาวัตถุต่างๆ ในพระสาสนาไปทั้งหมดเปนต้นว่า โบสถ์วิหาร รูปหล่อ พระคัมภีร์แลของอื่นๆ อีก ขอให้เหลือแต่พระพิมพ์อย่างเดียวเท่านั้น นักโบราณคดีสมัยเลย 5,000 ปีไปนั้น เมื่อได้พบเห็นพระพิมพ์แล้วจะสามารถรู้ได้ว่า สาสนาอันสูงสุดกว่าสาสนาทั้งปวง ได้เคยมาเจริญอยู่ในอาณาเขตซึ่งเรียกกันว่าบูรพาทิศนี้ครั้งหนึ่ง”
ถึงแม้ว่าคำอธิบายข้างต้นจะเป็นคำอธิบายโดยไม่มีหลักฐานประกอบอยู่เช่นเคย แต่ก็สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องพุทธศาสนาจะเสื่อมลงเมื่อผ่านไป 5,000 ปี ซึ่งเป็นความเชื่อโดยทั่วไป และปรากฏอยู่ในจารึกนครชุม (จารึกสุโขทัยหลักที่ 3) ที่พบจาก จ.กำแพงเพชร ระบุศักราช ตรงกับ พ.ศ.1900 โดยอ้างถึงการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาจากลังกา และเตือนให้ทุกคนเร่งทำบุญ ก่อนพระพุทธศาสนาจะสิ้นเมื่ออายุครบ 5,000 ปี (ถึงแม้ในจารึกจะไม่ได้กล่าวถึงการสร้างปูชนียวัตถุสถานอะไร เพื่อให้ผู้คนเมื่อพระศาสนาสิ้นไปแล้วระลึกถึงพระศาสนาเลยก็ตาม)
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนัก ที่นักโบราณคดี โดยเฉพาะในไทย ส่วนใหญ่จะยังอธิบายถึงมูลเหตุในการสร้างพระพิมพ์ตามแนวคิดอย่างที่เซเดส์ว่าไว้อยู่แม้จนกระทั่งทุกวันนี้
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวกับคติการสร้างพระพิมพ์โดยตรง คือข้อมูลในบันทึกของพระภิกษุอี้จิง ซึ่งเดินทางเข้าไปศึกษาพระธรรมในมหาวิทยาลัยนาลันทาทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียปัจจุบันนี้ แล้วเขียนบันทึกตั้งแต่การเดินทางไป-กลับ รวมไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ ขณะศึกษาพระธรรมอยู่ในชมพูทวีป ตรงกับช่วงระหว่างเรือน พ.ศ.1214-1238 โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
ที่อินเดียมีความนิยมในการสร้างพระพิมพ์ และสถูปจำลองขนาดเล็ก โดยมักจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และคาถา เย ธมฺมา (คือคาถาหัวใจพระไตรปิฎก) โดยเชื่อกันว่าผลบุญจากการสร้างพระพิมพ์และสถูปจำลองนั้น จะทำให้เมื่อผู้สร้างได้ไปเกิดใหม่จะมีชีวิตที่สุขสบายไปอีก 4 ชาติภพ
ถึงแม้ว่าจะเป็นความเชื่อในอินเดียก็ตาม แต่ก็เป็นความเชื่อร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดี และศรีวิชัย ที่เพิ่งจะยอมรับเอาศาสนาพุทธเข้ามาในภูมิภาคอุษาคเนย์ แถมยังนิยมสร้างพระพิมพ์ และจารึกคาถา เย ธมฺมา เช่นกัน ดังนั้น ก็คงจะไม่แปลกอะไรนักถ้าผู้คนในทั้ง 2 วัฒนธรรมที่ว่านี้จะอิมพอร์ตเอาความคิดชุดนี้เข้ามาด้วย
พูดง่ายๆ อีกทีหนึ่งก็ได้ว่า จากหลักฐานเก่าสุดที่มีอยู่ การสร้างพระพิมพ์นั้นก็คือการทำบุญวิธีหนึ่งในพุทธศาสนานั่นแหละครับ ไม่ได้เกี่ยวกับการใช้ในแง่ของความขลังศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ ในคติการบูชาพระเครื่องพระพิมพ์ในสมัยนี้เลยสักนิด
เซเดส์เองก็อธิบายไปในทำนองนั้น แถมยังกล่าวถึงความเชื่อในสมัยที่เขียนข้อเขียนชิ้นนี้เอาไว้ด้วยว่า “แลทุกวันนี้ (พระพิมพ์) ก็ยังได้ใช้เปนเครื่องรางอันเข้าใจกันว่าเปนของคงกะพันชาตรีกันอยู่มาก”
หมายความว่า ความเชื่อเรื่องพระพิมพ์เป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นของใหม่ แม้กระทั่งในสมัยโน้น
และถ้าจะว่ากันให้ถึงที่สุดแล้ว ศาสนาพุทธแต่ดั้งเดิมเขาไม่ทำพระพิมพ์กันหรอกนะครับ เพราะในพระไตรปิฎกอ้างว่า พระพุทธเจ้าบอกให้พระธรรมเป็นสิ่งที่ใช้ระลึกถึงพระองค์ เป็นประธานของศาสนาพุทธ
ไม่ได้บอกให้สร้างรูปเหมือนตัวพระพุทธเจ้าให้กราบไหว้เสียด้วยซ้ำไป
กว่าจะทำพระพุทธรูปยังโน่นเลย รอจนพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ยกทัพกรีกจากมาซิโดเนียมาตีอินเดีย ตอนพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว 217 ปี แล้วทิ้งพวกกรีกไว้แถวอัฟกานิสถาน ปากีสถานปัจจุบัน จากนั้นยังต้องรอไปอีกประมาณ 400 ปี ให้พวกศกะ ที่เคลื่อนย้ายมาจากทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเข้ามาปกครองดินแดนแถบดังกล่าว ถึงจะเอาช่างกรีกมาทำพระพุทธรูป
แปลง่ายๆ ว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้เคยสอนให้ใครทำพระเครื่องหรือพระพิมพ์ หรือแม้กระทั่งพระพุทธรูปด้วยซ้ำไป และถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ทำขึ้นในพุทธศาสนา แต่ก็เป็นแค่ฉากหน้า ที่เคลือบความเป็นศาสนาผี คือศาสนาดั้งเดิมของแต่ละวัฒนธรรมเอาไว้ โดยแล้วแต่ว่าในแต่ละวัฒนธรรมจะมีพื้นฐานแตกต่างกันอย่างไร ก็แสดงออกมาในรูปแบบนั้นๆ
โดยเฉพาะในวัฒนธรรมไทย ที่ในสมัยหลังมาเชื่อกันว่า พระพิมพ์เป็นวัตถุมงคลที่สามารถดลบันดาลโชคลาภ ช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย หรือคงกระพันชาตรีต่างๆ นานา อย่างที่ไม่เคยปรากฏในคำสอนของพระพุทธเจ้ามาก่อน
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องตลกร้ายสิ้นดี ที่เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติจะเป็นเดือดเป็นร้อนกับการที่มีผู้ทำขนมอาลัวรูปพระพิมพ์ขึ้นมา ด้วยเห็นว่าเป็นวัตถุมงคล และเป็นเครื่องสักการบูชา จนถึงขนาดมีการนำกำลังตำรวจและทหารเข้าตรวจสอบยังร้านขนมดังกล่าว
ทั้งๆ ที่ก็รู้กันดีอยู่ว่ามีเรื่องของการบิดเบือนพระศาสนาอยู่อีกมาก (โดยหลายเรื่องก็บิดเบือนกันตั้งแต่ในวัดนั่นเลย) ที่สำนักพุทธฯ ควรจะให้ความสำคัญมากกว่านี้