งาช้างฯดำ : ล้านนาคำเมือง

งาช้างฯดำ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “งาจ๊างดำ”

แปลว่า งาช้างดำ

งาช้างดำ เป็นวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน

มีลักษณะเป็นงาปลียาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงส่วนใหญ่ที่สุด 47 เซนติเมตร โพรงตอนโคนลึก 14 เซนติเมตร ความลึกนี้จะตื้นกว่าโพรงงาช้างปกติ มีสีออกน้ำตาลเข้มไม่ดำสนิท

สันนิษฐานว่าเป็นงาข้างซ้ายเพราะมีรอยเสียดสีกับงาชัดเจน

มีจารึกอักษรล้านนาที่ตัวงาว่า “กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” (หน่วยเป็นมาตราของล้านนาโบราณ) เท่ากับน้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม

ความเป็นมาของงาช้างดำนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัด มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมา 2 เรื่อง

เรื่องแรก ในสมัยพระเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน (พ.ศ.2353-2368) มีพรานคนเมืองน่านได้เข้าป่า ล่าสัตว์เข้าไปถึงเขตแดนระหว่างไทยกับเชียงตุงได้พบซากช้างตัวดำสนิทตายในห้วย พอดีกับพรานชาวเชียงตุงมาพบด้วย พรานทั้งสองจึงแบ่งงาช้างดำกันคนละข้าง ต่างคนก็นำมาถวายเจ้าเมือง

ต่อมาเจ้าเมืองเชียงตุงได้ส่งสารมาทูลเจ้าสุมนเทวราชว่า “ตราบใดงาช้างดำคู่นี้ไม่สูญหาย เมืองน่านกับเมืองเชียงตุงจะเป็นมิตรไมตรีกันตลอดไป…”

เรื่องที่สอง เมืองน่านยกทัพไปล้อมเมืองเชียงตุงหลายเดือน ทำให้ชาวเมืองเชียงตุงเดือดร้อน โหรเมืองเชียงตุงทูลเจ้าเมืองว่า “เป็นเพราะมีงาช้างดำอยู่ด้วยกัน ทางที่ดีควรแยกออกจากกัน..” จึงนำงาช้างดำกิ่งหนึ่งมอบให้กองทัพเมืองน่านแล้วกระทำสัตย์สาบานเป็นมิตรกันตลอดกาล

ความสำคัญของงาช้างดำนี้เชื่อกันว่า พญาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5 ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ได้กล่วคำสาปแช่งในพิธีเอาไว้ว่า “ให้งาช้างดำนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป ผู้ใดจะนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวมิได้ ต้องไว้ที่หอคำหรือวังเจ้าผู้ครองนครน่านเท่านั้น…”

ในส่วนของครุฑที่แบกรับงาช้างดำไว้นั้น แกะสลักจากไม้สักทั้งท่อนโดยช่างสกุลน่าน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2469 เนื่องจากช่วงนั้นมีข่าวว่าเจ้าเมืองฝ่ายเหนือบางเมืองคิดแข็งข้อก่อการกบฏต่อราชวงศ์จักรี เจ้าผู้ครองนครน่านจึงสั่งให้ทำพระครุฑพ่าห์ขึ้นมาแบกรับงาช้างดำวัตถุคู่บ้านคู่เมืองไว้

เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า นครน่านในยุคนั้นยังคงจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ไม่เสื่อมคลาย

ปัจจุบันงาช้างดำถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน เป็นวัตถุโบราณที่หายากและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ซึ่งเดิมเป็นที่ประทับของพระเจ้าสุริยพงษ์ผลเดชฯ เจ้าผู้ครองน่านนคร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น มีมุขด้านหน้า หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด บนเนื้อที่ 14 ไร่

ครั้นเมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงพิราลัย เจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนครน่านจึงได้มอบหอคำหลังนี้พร้อมที่ดินให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน

ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ขึ้น กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านขึ้นในปี พ.ศ.2517 และประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นในปี พ.ศ.2528

โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2530 ที่ผ่านมา