รู้จัก “คันจิแห่งปี” สิ่งที่คนญี่ปุ่นโหวต เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ที่สุดในปีนั้นๆ 2020 คือ…

12.12 คงเป็นวันที่ขาช้อปบ้านเราเพลิดเพลินกับสินค้าราคาลดกระหน่ำ แต่สำหรับคนญี่ปุ่น วันที่ 12 ธันวาคม เป็น วันคันจิ (คันจิ คือ อักษรจีนในภาษาญี่ปุ่น)

ภาษาญี่ปุ่นมีอักษร 3 ชนิด คือ อักษรฮิรางานะ อักษรคาตาคานะ และ อักษรคันจิ 2 ชนิดแรกเป็นอักษรญี่ปุ่น ที่ต้องใช้การอ่านผสมคำจึงมีความหมาย ส่วนอักษรคันจิ เป็นอักษรที่แสดงความหมายโดยตัวเอง แต่ละตัวล้วนมีความหมายทั้งสิ้น เช่น 上 (แปลว่า บน) 下 (แปลว่า ล่าง) ถ้านำมารวมกันเป็น

上下 (แปลว่า บนล่าง) หรือ 毎 (แปลว่า ทุกๆ) 日 (แปลว่า วัน) ถ้านำมารวมกันเป็น毎日(แปลว่า ทุกวัน) เป็นต้น

อักษรคันจิ นี้ ญี่ปุ่นรับมาจากจีน ย้อนไปราวศตวรรษที่ 6 – 7 เมื่อญี่ปุ่นรับพุทธศาสนามหายานมาจากจีนผ่านทางคาบสมุทรเกาหลี คัมภีร์ประไตรปิฎกเขียนเป็นอักษรจีนทั้งสิ้น เมื่อต้องการเรียนรู้พระธรรมจึงต้องศึกษาอักษรจีน และได้นำอักษรจีนมาประยุกต์ปรับใช้ให้เข้ากับภาษาญี่ปุ่นของตัวเอง และใช้เป็นส่วนหนึ่งของตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้

ภาษาญี่ปุ่นจึงเป็นภาษาที่แปลกและยาก มีอักษรถึง 3 ชนิดใช้ร่วมกัน ในประโยคเดียวกันอาจมีอักษรทั้ง 3 ชนิด อยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่พบในภาษาอื่นๆในโลก นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมหนึ่งจะต้องอ่านเขียนได้ทั้ง อักษรฮิรางานะ (46 ตัว) คาตาคานะ (46 ตัว) แล้วตามด้วยอักษรคันจิ ซึ่งกระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์จะกำหนดจำนวนคำที่ต้องเรียนรู้แต่ละชั้นการศึกษา

จำนวนคันจิที่ใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน กำหนดให้มี 1945 ตัว และต่อมาให้เพิ่มขึ้นเป็น 1981 ตัว คันจิส่วนที่เกินจากนี้ หากจะใช้ ก็ให้เขียนคำอ่านเป็นอักษรฮิรางานะ กำกับไว้ด้วย

วันคันจิ นี้ กำหนดขึ้นโดย สมาคมการสอบวัดระดับความสามารถคันจิในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัด เกียวโต กำหนดให้วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปีเป็น วันคันจิ เริ่มตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นวันที่ 12 ธันวาคม ใช่ไหมคะ ก็เพราะ 12.12 อ่านตรงตามตัวได้ความหมายว่า ตัวอักษรดีๆหนึ่งตัว

สมาคมฯจะคัดเลือกอักษรคันจิหนึ่งตัว ที่มีผู้ส่งเข้ามาจากทั่วประเทศที่มากที่สุด และถือเป็น

คันจิแห่งปี กล่าวคือ เป็นคำที่มีความหมายสื่อถึงเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปีนั้นๆตั้งแต่ต้นปีเรื่อยมาจนถึงจวนจะสิ้นปีในเดือนธันวาคมนั่นเอง คนในประเทศต้องผ่านเหตุการณ์อะไรบ้าง ไม่ว่าจะมองในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ภัยพิบัติ กีฬา การต่างประเทศ เป็นต้น นัยว่าต้องการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าใจ สนใจในอักษรคันจิอันถือเป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และเพื่อให้ผู้คนมีความหวังในสิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ด้วย

คันจิ เพียงตัวเดียวนี้เอง เป็นเหมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์แบบย่นย่อสั้นที่สุดจนสุดจะสั้นประจำปีนั้นๆ ของคนญี่ปุ่นทั้งประเทศที่ผ่านเรื่องราวต่างๆร่วมกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน่ายินดีหรือเรื่องทุกข์ยากที่เผชิญร่วมกัน

25 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 1995 – 2019 น่าแปลกใจว่ามี คันจิตัวเดียวกันครองแชมป์ถึง 3 ปี เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดว่าจะใช้อักษรตัวเดิมที่เคยใช้มาแล้วไม่ได้นั่นเอง

ตัวอักษรดังกล่าวคือ 金 (ทอง) เป็นอักษรประจำปี 2000 ปี 2012 และปี 2016 นั่นคือ ญี่ปุ่นได้ครองเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ลอนดอน อังกฤษ และ ริโอเดอจาเนโร บราซิล

5 เหรียญ 7 เหรียญ และ 12 เหรียญ ตามลำดับ นับเป็นเรื่องน่ายินดีและภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ

คันจิอีกตัวหนึ่งที่ใช้มาแล้ว 2 ครั้ง ก็คือ 災 (ภัยพิบัติ หายนะ) เป็นปีที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่นและภัยธรรมชาติหลายๆอย่าง ในปี 2010 暑 (อากาศร้อน) เป็นปีที่อากาศในฤดูร้อนของญี่ปุ่นร้อนมากที่สุดในรอบ 30 ปี

ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ คันจิที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ

ปี 1997 倒 (ล้มลง) เป็นปีที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ยักษ์ใหญ่ยามาอิชิ และบริษัทอื่น รวม 4 แห่งประสบภาวะล้มละลายตามติดกันมา

ปี 2014 税 (ภาษี) ปีที่รัฐบาลประกาศขึ้นภาษีผู้บริโภคในรอบ 17 ปี จาก 5% เป็น 8%

ปี 2009 新 (ใหม่) เป็นครั้งแรกที่พรรคเสรีประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านได้จัดตั้งรัฐบาล นำโดยนาย ฮาโตยามะ ยูกิโอะ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ปี 2008 変 (เปลี่ยน) นาย บารัค โอบามา เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ปี 2017 北 (ทิศเหนือ ในที่นี้หมายถึงเกาหลีเหนือ) ประกาศทดลองขีปนาวุธ

ส่วนคำที่เกี่ยวกับเรื่องกีฬาก็มี เช่น

ปี 2003 虎 (เสือ) คือปีที่ทีมเบสบอลไทเกอร์สขวัญใจชนะเลิศในรอบ 17 ปี

ปี 2013 輪 (ห่วง ในที่นี้หมายถึง 5 ห่วง สัญลักษณ์ของกีฬาโอลิมปิค) กำหนดให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคปี 2020

ก่อนจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ปี 1999 ปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ใช้อักษร 末 (ปลาย, ท้าย)

ส่วนปี 2019 ที่ผ่านมา อันเป็นปีที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนชื่อรัชศกใหม่เป็น 令和 (เรวะ) เฉลิมฉลองการขึ้นครองราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ อักษรคันจิประจำปีคือ 令 (ความดีงาม ความถูกต้อง)

เมื่อได้คำที่มีผู้ส่งเข้ามามากที่สุดแล้ว ก็จะมีพิธีประกาศซึ่งไม่ใช่การประกาศผ่านสื่อมวลชนทั่วไป

แต่พิธีจัดขึ้นที่วัดเคียวมิสึเดระ เมืองเกียวโต หรือที่คนไทยรู้จักในนาม วัดน้ำใส วัดไม้เก่าแก่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก บนระเบียงกว้างชั้นบนของอาคารไม้ ท่านเจ้าอาวาส หลวงพ่อโมริ เซฮัน(森 清範)จะเป็นผู้เขียนตัวอักษรประจำปีด้วยพู่กันใหญ่ขนสีขาวที่มีขนจากหูวัว ขนาดของพู่กันเฉพาะส่วนขน ยาว 11.5 ซ.ม. ลงบนกระดาษญี่ปุ่นที่ใช้เขียนโคลงกลอน ขนาด

150 ซ.ม. x 130 ซ.ม. เป็นกระดาษทำมือคุโรทานิ ที่ทำสืบทอดกันมายาวนานเป็นผลิตภัณฑ์ของเกียวโตด้วย

สำหรับปี 2020 นี้ วันที่ 12.12 ตรงกับวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ต้องเลื่อนวันประกาศ

คันจิแห่งปี มาเป็นวันจันทร์ที่ 14 เวลา 14.00 น. พิธีกรแจ้งให้ทราบว่ามีผู้ร่วมส่งคำมาหลายช่องทางเป็นคนหลายวัย รวมทั้งสิ้น 208,025 เสียง และคำที่ได้รับคัดเลือกประจำปีนี้ จำนวน 28,401 เสียง คือ

密 (อ่านว่า มิทสึ แปลว่า ความหนาแน่น ใกล้ชิด ลับตา) ปีนี้เป็นปีที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และได้รับผลกระทบมากมาย ทางเศรษฐกิจนั้นแน่นอนอยู่แล้ว นอกจากนี้ญี่ปุ่นที่ได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกในปีนี้ ยังต้องเลื่อนงานออกไปเป็นปี 2021 การแพร่ระบาด การติดเชื้อยังมีเพิ่มขึ้นไม่น้อยทุกวัน ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงไวรัสแพร่ระบาดหนัก ผู้ว่าราชการ(หญิง)กรุงโตเกียว โคอิเคะ ยูริโกะ ได้ออกมาขอความร่วมมือชาวโตเกียว หลีกเลี่ยง 3 密 หรือ ความหนาแน่นสามชนิด คือ 密閉 (สถานที่อากาศปิดไม่ถ่ายเท) 密集 (ที่คนอยู่รวมกันหนาแน่น) 密接 (การสนทนากันอย่างใกล้ชิด ไม่เว้นระยะห่าง) ด้วยความหวังว่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้ แต่อันที่จริงแล้ว 密 นี้ ก็มีข้อดีอยู่บ้าง เมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้าน หรือออกนอกบ้านน้อยลง ก็ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับครอบครัวยิ่งขึ้น จากการที่ไม่เจอหน้ากัน ไม่ได้คุยกัน ก็หันหน้ามาพูดคุยกัน ปรับทุกข์กัน (โดยเว้นระยะห่างบ้าง)

เมื่อเขียนแผ่นป้ายคำว่า 密เสร็จแล้ว ก็นำแผ่นป้ายถวายวัดเป็นเครื่องบูชา แล้วท่านเจ้าอาวาสเริ่มนำสวดภาวนาขอให้ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า เป็นปีแห่งความสดใส มีความหวังของชาวญี่ปุ่น

ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวโลกทั้งหลายต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้และหลีกเลี่ยง 密 ไปอีกนานเท่าใด

ชาวญี่ปุ่นได้บันทึกคำว่า 密 ลงในประวัติศาสตร์ประจำปี 2020 แล้ว ดูเขาแล้วย้อนมาคิดถึงชาวเราบ้าง ถ้ามี ภาษาไทยปีละคำ บ้าง ท่านผู้อ่านคิดว่า ปี 2563 เราจะใช้คำว่า……อะไรดีคะ