ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ “ผาหลวง” ในโองการแช่งน้ำฯ คือ “เขาไกลาศ” ไม่ใช่ “เขาพระสุเมรุ”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
"ทศกัณฐ์โยกเขาไกลาศ" มีพระอิศวรประทับนั่งอยู่บนยอดเขา ภาพสลักจากปราสาทบันทายสรี ประเทศกัมพูชา อายุราว พ.ศ.1510 (ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ravana_Shaking_Mt._Kailasa_Banteay_Srei_1225.jpg)

บทเริ่มต้นในหนังสือแช่งน้ำพระพัทธ์ เป็นร่ายสรรเสริญเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สามพระองค์ เริ่มมาจาก พระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม ตามลำดับ

ที่เรียกว่า “แช่งน้ำพระพัทธ์” ไม่ใช่ “แช่งน้ำพระพิพัฒน์” นั้น ปราชญ์ผู้รู้รอบอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายเอาไว้ว่า ในจารึกคำสัตย์สาบาลที่ประตูพระราชวังหลวงของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ในเมืองพระนคร มีชื่อพิธี “พระพัทธประติชญา” (วฺระ วทฺธปฺรติชฺญา) ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นต้นเค้าให้กับพิธีถือน้ำพระพัทธ์ของกรุงศรีอยุธยา ที่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงเทพฯ

จิตรอธิบายต่อไปว่า คำว่า “พัทธ” เป็นคำสันสกฤตแปลว่า “ผูกมัด” ส่วน “พัทธประติชญา” แปลว่า “สาบาลผูกมัด” จิตรจึงเชื่อว่า คำ “แช่งน้ำพระพิพัฒน์” เป็นความเข้าใจผิดของคนในชั้นหลัง เพราะไม่รู้จักความหมายเดิมของคำแล้ว

ผมเชื่อตามที่จิตรสันนิษฐาน เพราะในหนังสือแช่งน้ำพระพัทธ์นั้นยังมี “ความเข้าใจผิดของคนในชั้นหลัง” อยู่อีกมาก

ยกตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจผิดแบบที่ว่าได้เป็นอย่างดี ซ้ำยังเป็นความเข้าใจผิดพลาดเพราะการหลงลืมความรู้ของเขมรสมัยเมืองพระนครเหมือนกันอีกด้วย ปรากฏอยู่ในร่ายสรรเสริญเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สามบทแรกที่ผมกล่าวถึง

แต่ในที่นี้จะพูดถึงกรณีเฉพาะของร่ายบทที่สอง ซึ่งสรรเสริญบูชาองค์พระอิศวร ดังใจความที่ว่า

“โอมบรเมศวราย ผายผาหลวงอคร้าว ท้าวเสด็จเหนืองัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพช็รกล้า ฆ่าพิฆนะจัญไร”


“ทศกัณฐ์โยกเขาไกลาศ” มีพระอิศวรประทับนั่งอยู่บนยอดเขา ภาพสลักจากปราสาทบันทายสรี ประเทศกัมพูชา อายุราว พ.ศ.1510 (ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ravana_Shaking_Mt._Kailasa_Banteay_Srei_1225.jpg)

ในร่ายบทนี้บรรยายถึงลักษณะขององค์พระอิศวรตามเทพปกรณ์ของพวกพราหมณ์ อย่างไม่มีอะไรต้องสงสัย

พระอิศวรทรงพระโคสีขาวที่ชื่อ นนทิ เป็นพาหนะ มีสังวาลย์เงือก คือนาควาสุกรีสะพายแล่งอยู่ที่ลำพระองค์ ข้างบนมุ่นมวยผมที่รวบสูงขึ้นไป (อินทรชฎา?, โดยทั่วไปเรียกชฎามกุฎ คำนี้ยังไม่มีผู้อธิบายความไว้ได้อย่างน่าพอใจ)

มีพระจันทร์เสี้ยวทัดเป็นปิ่นอยู่ และมีพระเนตรที่สามตั้งขวางอยู่ตรงกลางพระนลาฏ (หน้าผาก) ระหว่างกลางของพระเนตรทั้งสองข้าง

ที่น่าสงสัยเพราะไม่ตรงตามลักษณะกฎเกณฑ์มาตรฐานของเทพปกรณัมพราหมณ์-ฮินดู ในร่ายบทนี้มีอยู่สองประโยคคือ “ผายผาหลวงอคร้าว” และ “แกว่งเพ็ชรกล้า” เพราะนักปราชญ์นักวิชาการในชั้นหลังอธิบายว่านี่เป็นลักษณะของพระอินทร์ ไม่ใช่พระอิศวรเสียหน่อย

ก็พระอิศวร ท่านควรประทับอยู่บน “ผาเผือก” คือ “เขาไกลาศ” (ไทยเราเอาคำพราหมณ์มาแล้วกลัวไม่ขลังจึงเติม “ร” เข้าไปอีกตัวกลายเป็นสะกดว่า “ไกรลาศ”) ไม่ใช่ “ผาหลวง” คือ “เขาพระสุเมรุ” ที่เป็นนิวาสสถานของพระอินทร์ แถม “เพ็ชรกล้า” ก็ควรหมายถึง “วัชระ” อันเป็นอาวุธของพระวรกายของพระอินทร์องค์เดิม ไม่ใช่ “ตรีศูล” อย่างของพระอิศวร ไม่ใช่หรือครับ?

ความเข้าใจที่ตั้งอยู่บนมาตรฐานความเข้าใจอย่างพราหมณ์อินเดียทุกกระเบียดอย่างนี้ ทำให้มีการอธิบายด้วยการยกตัวอย่างคำเก่าแก่ที่เรียกพระอิศวรอย่างสับสนว่า “พระอินศวร” โดยเชื่อกันว่าเป็นตัวอย่างความสับสนระหว่าง “พระอิศวร” กับ “พระอินทร์” ในจักรวาลวิทยาของไทยเช่นกัน

ถ้าในระยะหลัง พ.ศ.2000 มาแล้วเป็นอย่างน้อย จะมีความสับสนอย่างที่อ้างกันนี้ก็ไม่เห็นจะแปลก หลักฐานก็มีกันอยู่เห็นๆ แต่ในงานยุคเก่าแก่อย่าง หนังสือแช่งน้ำพระพัทธ์ ที่จิตรกำหนดอายุไว้ว่าเก่ากว่าการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 จะสับสนอย่างนั้นจริงหรือครับ?

 

เรื่องนี้ผมไม่แน่ใจนัก แต่เฉพาะในส่วนของประเด็นเรื่อง “ผาหลวง” (ส่วนเรื่องแกว่งเพ็ชรกล้า จะขอพูดถึงต่อไปในโอกาสข้างหน้า) มีนักบูรพคดีศึกษา ชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญ และช่ำชองในคัมภีร์ปุราณะของพวกพราหมณ์อย่าง ฌอง ฟิลลิโอซาต์ (Jean Filliozat, ค.ศ.1906-1982) เคยศึกษาถึงข้อมูลที่ปรากฏในศิลาจารึกจากปราสาทสด๊กก็อกธม ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ในเขตจังหวัดสระแก้ว

ปราสาทแห่งนี้พบศิลาจารึกอยู่ทั้งหมดสองหลัก หลักที่สำคัญและยาวกว่าเรียกว่า จารึกสด๊กก็อกธม 2 กล่าวถึงการสถาปนาลัทธิเทวราชา ในราชอาณาจักรกัมพูชา ฟิลลิโอซาต์ศึกษาถึงลัทธิที่ว่าในจารึกหลักนี้นี่เอง

ข้อมูลสำคัญตอนหนึ่งในจารึกหลักนี้กล่าวถึงการที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 สถาปนาเขาพนมกุเลน เป็น “มเหนทรบรรพต” แล้วสถาปนา “เทวราช” คือ “ศิวลึงค์” ไปประทับอยู่บนภูเขาลูกนั้น ศิวลึงค์ คือ ตัวเดียวอันเดียวของพระศิวะ (ก็คือองค์เดียวกันกับพระอิศวรนั่นแหละ) จะไปประทับอยู่ที่ไหนได้ ถ้าไม่ใช่บนเขาไกลาศ อันเป็นวิมานของพระองค์

แต่คำว่า มเหนทรบรรพต นั้นแปลตรงตัวว่า เขาใหญ่ หรือเขาหลวง (ผาใหญ่ หรือผาหลวง) จะอย่างไรก็หมายถึง เขาพระสุเมรุของพระอินทร์ไม่ใช่หรือ?

 

ฟิลลิโอซาต์ อธิบายว่า ในอินเดียใต้มีการเรียกเขาไกลาศของพระอิศวรว่า มเหนทรบรรพต ดังนั้น ถ้าพวกขอมสมัยเมืองพระนคร ซึ่งติดต่อกับอินเดียใต้อย่างลึกซึ้งจะเรียก “เขาไกลาศ” ว่า “มเหนทรบรรพต” ก็ไม่เห็นจะแปลก หรือแหกคอกที่ตรงไหน?

ถ้าจะเป็นความสับสนจริงอย่างที่เชื่อๆ กัน ก็ต้องบอกเป็นความสับสนที่มีมาตั้งแต่ในอินเดียใต้ ไม่ใช่เพิ่งมาสับสนในหนังสือแช่งน้ำพระพัทธ์ถึงจะถูกต้อง

และต่อให้ฟิลลิโอซาต์ ไม่ได้ค้นคว้ามาให้เราทราบว่า “มเหนทรบรรพต” ที่แปลเป็นไทยตรงคำว่า “ผาหลวง” ในจารึกสด๊กก็อกธมคือ “เขาไกลาศ” เราจะบอกว่าคนโบราณที่ประพันธ์ร่ายสรรเสริญพระอิศวร ในหนังสือแช่งน้ำพระพัทธ์ ท่านผิด ท่านไม่รู้ว่าพระอิศวรอยู่บนผาเผือก คือเขาไกลาศ ไม่ใช่ผาหลวง คือเขาพระสุเมรุ ทั้งๆ ที่ในจารึกสด๊กก็อกธมก็มีข้อความบอกอยู่ทนโท่ว่า ในอุษาคเนย์มีการสถาปนาพระอิศวร (ผ่านรูปเคารพคือ ศิวลึงค์) ไว้บน มเหนทรบรรพต คือ ผาหลวง อย่างนั้นหรือ?

ความเข้าใจผิดของคนในชั้นหลัง ทำนองเดียวกันนี้มีอยู่ในกฎมณเฑียรบาล ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเก่าก่อนกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน

 

ในพระราชพิธี “ชักนาคดึกดำบรรพ์” คือการจำลองฉากกวนเกษียรสมุทร เพื่อคั้นน้ำอำมฤต (น้ำที่ดื่มเพื่อความเป็นอมตะ) ตามเทวปกรณ์พราหมณ์ ที่บันทึกไว้ในกฎมณเฑียรบาล ระบุให้ตั้ง “เขาพระสุเมรุ” เป็นแกนสำหรับชักนาค ความตรงนี้ต่างจากเทวปกรณ์ในอินเดียเช่นกัน เพราะปุราณะแขกเล่าว่าเขาที่ใช้เป็นแกนกลางสำหรับชักนาคชื่อว่า “เขามันทระ”

แน่นอนว่าปราชญ์และนักวิชาการในชั้นหลังส่วนใหญ่จะเทียบเคียงข้อความตอนนี้กับปุราณะในอินเดีย ผลสรุปที่ออกมาจึงกลายเป็นว่า อาลักษณ์ที่จดจารกฎพระมณเฑียรบาลเข้าใจผิด เพราะจดมาไว้ไม่ต้องตรงกับความรู้ของอินเดีย

แต่ใครจะรู้บ้างว่าในตำราเก่าแก่ยุคราว พ.ศ.1600 ของพวกพราหมณ์ชวาตะวันออก (ซึ่งสนิทสนม และรับส่งอิทธิพลถึงกันกันอย่างมากมายกับขอมสมัยเมืองพระนคร และเป็นรากฐานความรู้ให้กับกรุงศรีอยุธยายุคตั้งต้นอีกทอดหนึ่ง) ที่ชื่อ “อาทิบรรพ” ระบุว่า ภูเขาที่เป็นแกนกลางในการกวนเกษียรสมุทรคือ “เขาเมรุ” คือ “เขาพระสุเมรุ” ไม่ใช่ “เขามันทระ” อย่างในอินเดียเสียหน่อย

การชักนาคดำบรรพ์เป็นพระราชพิธีจำลองการกวนเกษียรสมุทร มีการเกณฑ์เจ้าพนักงานฝ่ายต่างๆ มาแต่งกายเป็นยักษ์ เป็นเทวดา ตามเทพปกรณ์ เหมือนอย่างละคร คำว่า “ละคร” นี้ชวาเรียก “เลกอง” เขมรเรียก “ละโคน” (หรือ “ละโคนพระกรุณา”) ไทยเรียก “ละคร” หรือ “โขน”

ในกรณีนี้เทพปกรณ์จึงถูกเล่าเรื่องสืบผ่านทางพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ตัวคัมภีร์ หรือตำนานมุขปาฐะ

ไม่ต่างจากที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ว่าแหละครับ หนังสือโบราณเล่มนี้แต่เดิมมีชื่อว่า “แช่งน้ำพระพัทธ์” ไม่ใช่ “แช่งน้ำพระพิพัฒน์” อย่างที่เข้าใจผิดกันในชั้นหลัง เรียกได้ว่าเข้าใจผิดกันมาตั้งแต่ชื่อเรื่องเลยทีเดียว

แล้วจะนับประสาอะไรกับเนื้อในที่มีความซับซ้อนยิ่งกว่าชื่อเรื่องอีกนักต่อนัก?