เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : จากหลากหลายสายน้ำ

ความคิดของผู้ต้องการทำงานเขียนหนังสือ ทำหนังสือ และที่สุดคือเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์มีเพียงไม่กี่แนวทาง เป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกัน ไม่ผิดแผกแตกต่างกันสักเท่าใด

เมื่อครั้งเรียนชั้นมัธยมปลาย ขรรค์ชัย บุนปาน เขียนบทกวีเป็นกลอนแปดประจำ ทั้งยังมีผลงานปรากฏในนิตยสารบางฉบับขณะนั้น ส่วน สุจิตต์ วงษ์เทศ น่าจะยังเริ่มเขียนกลอนอยู่บ้าง ส่วนผมไม่ค่อยถนัดเขียน แม้จะชอบเขียน แต่ชอบทำหนังสือที่มีเรื่องให้ทำมากกว่า

ระหว่างนั้นเมื่อผมมีโอกาสทำหนังสือโรงเรียน ดังกล่าวแล้ว จึงขอให้ขรรค์ชัยเขียนเรื่องสั้นมาลงพิมพ์ในชื่อ “แดงกับความเวิ้งว้าง” เป็นการแสดงแววเขียนหนังสือมืออาชีพของขรรค์ชัยที่มีมาก่อนใคร

เมื่อมาเรียนที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ขรรค์ชัยรู้จักมักคุ้นกับนักกลอนผู้ใหญ่หลายคน ที่ชอบพอและนับถือกัน คือ พยนต์ นุชพันธุ์ บ้านอยู่ในสวนลึกละแวกบางมด ชอบกินหมากปากแดง เขียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน คุ้นเคยขนาดว่าไปเที่ยวบ้านพี่พยนต์ซึ่งมีทางเดินระหกระเหินและวิบากมาก ส่วนที่ขรรค์ชัยเล่าให้ผมฟังยังจำมาได้ถึงวันนี้ คือกลอนวรรคหนึ่งที่พี่พยนต์แต่งขึ้นสดๆ ร้อนๆ ขณะเดินบนเส้นทางวิบากนั้นว่า

“หนทางเดินเพลินดีไหมที่รัก”

 

นอกจากนั้น ยังชอบไปงานประกวดกลอนสดและพบปะกับนักกลอนรุ่นใหญ่ อาทิ สุรพล สุมนนัฏ ชลัมพ์ ขำศิริ ภิญโญ ศรีจำลอง กรองแก้ว เจริญสุข สุรินทร์ ประสพพฤกษ์ ธัญญา ธัญญามาศ ฯลฯ ซึ่งยามเย็นต่างมาชุมนุมกันที่ร้านกาแฟหน้าวัดอินทรวิหาร ด้านถนนบางขุนพรหม

ต่อมาย้ายมาชุมนุมที่ร้านกาแฟ ริมถนนสามเสน ทางเข้าวัดอินทรวิหาร เรียกที่ชุมนุมร้านกาแฟนั้นว่า ชมรมนักกลอนบางขุนพรหม

เรื่องของนักกลอนระดับมหาวิทยาลัย ประยอม ซองทอง บันทึกไวในหนังสือ “ชีวิตจริงพริ้งกว่านิยาย” ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2502 หลังทำบุญเลี้ยงพระที่โรงพยาบาลสงฆ์อุทิศส่วนกุศลแด่บรรพกวีที่ล่วงแล้ว หลังรับประทานอาหารได้ประชุมกันเป็นการเริ่มตั้งกลุ่มที่เราเห็นชอบตั้งเป็น “ชมรมนักกลอน” ที่หอประชุมโรงพยาบาลสงฆ์

กลุ่มนักกลอนของสองมหาวิทยาลัยช่วงนั้น มีชื่อเสียงระดับ “มือทอง” หลายคน ตั้งแต่ ประยอม ซองทอง มะเนาะ ยูเด็น วินัย ภู่ระหงษ์ อำพล สุวรรณธาดา โกวิท สีตลายัน ฯลฯ ต่อมามี นภาลัย ฤกษ์ชนะ สุวรรณธาดา และอีกหลายคน

ในส่วนของธรรมศาสตร์ มี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นทั้งนักกลอนและนักดนตรีไทย นิภา บางยี่ขัน ทวีสุข ทองถาวร ดวงใจ รวิปรีชา ฯลฯ

 

ช่วงนั้น ผมมีโอกาสติดตามขรรค์ชัย ไปร่วมวงสุราฮะกึ๋นกับบรรดานักกลอนผู้ใหญ่และรุ่นใกล้เคียงกัน เช่น ศิริพงศ์ จันทน์หอม กับเขาด้วย ขณะที่สุจิตต์เข้าเรียนในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว จึงไม่ค่อยได้ไปร่วมวงกับใครเขา ทั้งน่าจะไม่ค่อยชอบหรืออย่างไรไม่ทราบได้

ห้วงเวลานั้น สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ขาวดำแห่งแรกของไทยและประเทศในเอเชียอาคเนย์ เมื่อ พ.ศ.2498 ตั้งอยู่ในบริเวณวังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังมีการจัดประกวดประชันกลอนสด ในชื่อ “ลับแลกลอนสด” ที่ คุณจำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายจัดรายการเป็นผู้ริเริ่ม

กลุ่มนักกลอนช่วงนั้น และหลังจากนั้น น่าจะมีเพียง 3 กลุ่ม คือกลุ่มนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มผู้ที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย กับผู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัยอื่น เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร และวิทยาลัยครู

ยุคนั้นเป็นยุคบทกลอนเฟื่องฟู ทั้งเป็นยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ บทกลอนส่วนใหญ่จึงเป็นกลอนหวานแหวว กระทั่งกระแหนะกระแหนว่า “กลอนหาผัวหาเมีย”

เป็นยุคที่เรียกว่า “สายลมแสงแดด” ของมหาวิทยาลัย

 

หนังสือ “คือ… คนหนังสือพิมพ์” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เล่มแรก ในส่วนของ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ตำราครบเครื่องเรื่องหนังสือพิมพ์ โดย ธนัชพงศ์ คงสาย บันทึกไว้ว่า

บรรยากาศบ้านเมืองในยุคนั้น ตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ กองทัพออกข้อบังคับเพื่อควบคุม กีดกันกิจกรรมของนักศึกษาไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง กิจกรรมนักศึกษาเกือบทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของความบันเทิง สนุกสนาน ฟุ้งเฟ้อ ไม่สนใจปัญหาสังคม เป็นยุค “สายลมแสงแดด” ของมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในมหาวิทยาลัยขณะนั้น ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการ กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ อาทิ พระจันทร์เสี้ยว หนุ่มเหน้าสาวสวย เจ็ดสถาบัน ฯลฯ ได้ใช้งานเขียน งานศิลปวัฒนธรรม เป็นเวที แสดงทัศนคติต่อบ้านเมือง และความคิดแบบเสรีนิยม

(ยุคนั้นนักกลอนรุ่นใหม่บางคนที่ไม่นิยมระบบเผด็จการจึงพยายามหันเหแนวทางมาเขียนกลอนเสียดสีสังคม สองนักกลอนฝีปากจัดจ้านขณะนั้นที่ฉีกแนวทางกลับไปเรียนรู้จากกวีรุ่นเก่า เช่น นายผี ทวีปวร จิตร ภูมิศักดิ์ คือ ขรรค์ชัย บุนปาน กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ)

 

ผ่านพ้นยุคการประชันบทกลอน ถึงยุคเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อสัญกรรม ผ่องถ่ายอำนาจให้ จอมพลถนอม กิตติขจร กับ จอมพลประภาส จารุเสถียร มี พันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอมเป็นตัวแทนอำนาจสำคัญ

“อาจารย์ป๋อง” – ชื่อเล่นของ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ขณะเรียนในคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในกลุ่มเจ็ดสถาบัน คือ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เกษตรศาสตร์ ศิลปากร เชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดทำวารสารรายเดือนขายเล่มละ 1 บาท จึงได้ชื่อว่า “หนังสือเล่มละบาท” ออกจำหน่ายแก่นักศึกษาและประชาชนเป็นครั้งแรก ในปี 2507

“เราต้องการทำหนังสือออกเผยแพร่ข้างนอกมหาวิทยาลัย อยากทำหนังสือแบบนักศึกษา ก็ไปขอเช่าหัวหนังสือ “เสือสนาม” เป็นเสือสนามฉบับพิเศษ โดยเล่มแรกมีเรื่องนักศึกษา มีจดหมายจากนักหนังสือพิมพ์เก่าๆ ทั้ง เวทย์ บูรณะ เจญ เจตนธรรม สุรีย์ ทองวานิช มีเรื่องนักเขียนที่ติดคุกมาแล้วก็เอามาลงหลายเรื่อง ซึ่งแตกต่างกว่าหนังสือพิมพ์เล่มละบาททั่วๆ ไป แค่เล่มแรกก็ทำท่าว่าจะถูกปิดแล้ว”

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 ขณะนั้น ห้ามหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์บทความหรือเสนอข่าวในลักษณะไม่สมควร ซึ่งอาจส่งผลให้ภัยร้ายแรงแก่ประเทศ และที่สามารถจะทำให้ต่างชาติเสื่อมความเชื่อถือไว้วางใจในประเทศไทย

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษถึงโดนยึดหนังสือพิมพ์หรือสั่งถอนใบอนุญาตผู้พิมพ์