กศจ. จะไปทางไหน? งาน 80-90% ยุ่งแต่เรื่องบริหารงานบุคคล ขับเคลื่อนคุณภาพไม่เกิน20%

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 ผู้คน ผู้ใฝ่ใจการศึกษา อนาคตของลูกหลานและสังคม ยังคงมาร่วมงานกันคึกคัก เลือกชมนิทรรศการแสดงผลงาน สะท้อนทักษะความสามารถของนักเรียน นักศึกษา สถานประกอบการต่างๆ ตามปณิธาณ รักษ์วัฒนธรรม ทันการเปลี่ยนแปลง แสวงสัมมาชีพกันหลากหลาย

ตั้งแต่โครงการพระราชดำริทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลักสูตรรักษ์เชียงใหม่ วิถีวัฒนธรรมชนเผ่า การแพทย์แผนพื้นบ้านเยงใหม่ สล่าพื้นบ้านล้านนา สืบสานตำนานบ่าเก่า เชียงใหม่สู่มรดกโลก ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาสู่การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่

STEM ศึกษาและการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการทักษะในศตวรรษที่ 21 วิถีพอเพียง สู่การเรียนรู้ Active Learning การศึกษาทางเลือก เทคโนโลยีทางการศึกษา ศตวรรษที่ 21 การเตรียมความพร้อมนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นสู่โลกของการทำงาน ทวิศึกษาสู่สัมมาชีพเชียงใหม่

 

หัวข้อการประชุมสัมมนาที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมเลือกได้ตามชอบ ตามถนัด กระจายออกไป 16 ประเด็น ปรับให้ทันสมัย เข้ากับสถานการณ์สดๆ ร้อนๆ อาทิ Entrance ยุคไทยแลนด์ 4.0 ผลทดสอบ PISA 2015 ตอกย้ำวิกฤตการศึกษาไทย การศึกษาสร้างผู้ประกอบการอย่างไร (เถ้าแก่น้อย) เลี้ยงลูกให้เก่งและดี เริ่มต้นที่ปฐมวัย การผลิตและพัฒนาครูสู่ความเป็นเลิศ

ห้องที่ยังเป็นที่นิยมมีผู้ขอเข้าร่วมมากสุดเช่นเดิมคือ โรงเรียนผู้ปกครอง จัดเป็นรุ่นที่ 6 พ่อแม่ผู้ปกครองล้นหลามเหมือนเช่นทุกครั้ง

กิจกรรมและรายการภาคสาระวิชาการเหล่านี้ หากถ่ายทอดสดผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ เฟซบุ๊ก หรืออื่นๆ ผู้ที่ไม่ได้มา ดูผ่านมือถือ หน้าจอคอมพิวเตอร์ น่าจะเกิดประโยชน์กว้างขวางมากขึ้น งบฯ ดำเนินการน่าจะหาได้ไม่ยาก

ยอดผู้ชมพุ่งทะลุ สปอนเซอร์คงตามมาเอง

 

สื่อเก่าอย่างผม เก็บได้แต่บางส่วนมาเล่าสู่กันฟังด้วยความเสียดาย ตัดสินใจลงตัวที่ห้อง A5 “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สู่คุณภาพที่หลากหลาย” องค์กรที่ร่วมคือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานเลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา

เหตุเพราะต้องการติดตามความก้าวหน้าของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา กับหาคำตอบโจทย์ที่ค้างคาใจมาตั้งแต่เกิดความเปลี่ยนแปลงการบริหารการศึกษาระดับชาติ มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10, 11/2559 ปรับโครงสร้างบริหารการศึกษาใหม่ทุกจังหวัด คือ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)

คำถามคือ โครงสร้างใหม่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา และที่อื่นๆ ซึ่งภาคประชาสังคมตื่นตัวเรียกร้องการมีส่วนร่วมด้านการศึกษาในหลายจังหวัดด้วยหรือไม่ อย่างไร ขณะที่แนวทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่กำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ

กศจ. ตอบโจทย์การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในความหมายที่ควรจะเป็นได้จริงหรือไม่

 

ได้ฟัง คุณทวนทอง ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเวทีในหัวข้อ บทบาท กศจ. กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชียงใหม่ ไม่ผิดหวังครับ

สาระ มุมมอง และท่าที สะท้อนความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่าง กศจ. กับภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา หากทุกจังหวัดจัดความสัมพันธ์กันแบบร่วมด้วยช่วยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ถืออำนาจ กฎระเบียบที่มีจุดอ่อนเป็นหลัก ให้เกียรติ ให้ความเคารพ ผลพวงคงตกถึงเด็กเร็วที่สุด

“กศจ. จะไปอย่างไร” คุณทวนทองเริ่มบทสนทนา

“ถูกมองเป็นความหวังการปฏิรูปการศึกษา แต่กฎหมายเขียนออกมาไม่ครอบคลุม ยกอำนาจ อกคศ.เขตพื้นที่ กับกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเดิม มาให้ กศจ. ทำ เวลาผ่านมาเกือบ 1 ปี ทำงานแบบนยักษ์ไม่มีกระบอง ที่เชียงใหม่ใช้การทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือ มีความพร้อมจึงร่วมมือกันอย่างดี”

“บทบาทที่ยังคลุมเครือ คงจะมีคำสั่งมาตรา 44 ออกมาให้ปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบให้ชัดขึ้น จังหวัดต้องเป็นฐาน ทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จที่จังหวัดให้ได้ ไม่ใช่อะไรก็ส่วนกลาง ยกตัวอย่าง เขต 3 ครูย้ายออกไปแทนที่จะได้ครูมาทดแทนเลย ต้องรอส่วนกลางจัดสอบพร้อมกันก่อน ต่อไปไม่ได้แล้วต้องจบในจังหวัด ผมเสนอให้มีสภาการศึกษาจังหวัดมาช่วยกันขับเคลื่อน ไม่ใช่ กศจ. แค่ 22 คนคิด”

“ที่ผ่านมา มุมมองเรื่องการศึกษาแต่ละฝ่ายไม่ตรงกัน ขับเคลื่อนไปคนละทิศทาง ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย ผลทดสอบปีซ่า เขต 3 เป็นตัวแทนของเรา เขาไปประเมินพื้นที่บนเขา เด็กอายุ 15 ปี ไอทีไม่ทันเกม ถ้ามาสอบที่มงฟอร์ต ปรินซ์รอยัล ไม่ห่วง จัดการศึกษาต้องให้เด็กมีความสุขกับการเรียน เราโชคดีมีในหลวง ร.9 ให้แนวทางพวกเรา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

“การศึกษาคือการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์ มน(ใจ) ษย(สูง) เราใจสูงหรือยัง คนมีการศึกษาต้องวัดใจตัวเองก่อน หากใจไม่สูงก็ไม่ต่างจากสัตว์ ใจสูงด้วยอะไร ด้วยศีลและธรรม ศีล 5 เราครบหรือยัง จะให้สูงอย่างต่ำต้องมีศีล 5 ครบ ขาดข้อใดข้อหนึ่งเท่ากับลดลงไป 20% ขาดทุกข้อ คนก็คือสัตว์ เรามองเป้าหมายไม่ชัด ลืมนึกถึงพื้นฐาน ต้องมีธรรมขั้นต่ำของความเป็นมนุษย์ มีหิริโอตตัปปะ ความเกรงกลัวและละอายต่อบาปถึงเป็นมนุษย์ เราไม่ได้จัดการศึกษาเพื่อไปแข่งขันกับใครแต่แข่งกับตัวเอง”

“มนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นอย่างไร มหาตมะ คานธี บอกว่า มนุษย์ที่สมบูรณ์คือจุดศูนย์กลางของวงกลมที่ไม่มีเส้นรอบวง แสดงว่าวงกลมต้องใหญ่มากจนมองไม่เห็นวงรอบ เส้นรอบวงคือจิตวิญญาณของเรา เพราะมนุษย์ขีดเส้นตัวเองเลยมีเส้นรอบวง”

“เมื่อไรก็ตามที่เราขีดเส้นรอบวงตัวเอง ความเป็นมนุษย์ของเราก็แคบลงเรื่อยๆ ขีดวงรอบตัวเองเอาไว้ก่อนก็อยู่กับคนอื่นยาก คนแรกที่ต้องสร้างคือตัวเราก่อน ทลายวงกลมของตัวเองก่อน”

“การศึกษาของเราหลักสูตรเน้นคนเก่ง คนดี มีความสุข เดี๋ยวนี้เอาคนดีก่อน อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขในโลกปัจจุบันให้ได้ ทำตามพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู สอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อนไม่ให้แข่งขันกันแต่ให้แข่งกับตัวเอง”

“ที่ผ่านมา กศจ.เชียงใหม่ งาน 80-90% ยุ่งแต่เรื่องบริหารงานบุคคล ขับเคลื่อนคุณภาพไม่เกิน 20% ยิ่งจังหวัดใหญ่มีหลายเขตทุกอย่างมุ่งมาที่เขต 1 หมด ต่อไปบทบาท กศจ. ต้อง 1.สร้างโอกาสทางการศึกษา คุ้มครองโอกาสเด็ก ดูแลสิทธิมนุษยชน 2.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผลประเมินโอเน็ต ต่ำกว่าระดับชาติมานานกว่า 10 ปีแล้ว 3.เมืองศูนย์กลางการศึกษานานาชาติสู่ความเป็นสากล เป็นฮับการคึกษา นครแห่งคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ หากให้มีสภาการศึกษาจังหวัด ประชุมเดือนละ 2 ครั้ง ต้นเดือนเรื่องคุณภาพการศึกษา ปลายเดือนเรื่องบริหารบุคคล” เขาทิ้งท้าย

ก่อนมอบเวทีให้ทีมนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำเสนอรายงานผลวิจัยที่น่าสนใจ เรื่องอะไรต้องติดตาม