บทความพิเศษ : “มองการเมืองพม่าผ่านพรรคเล็ก” โดย ลลิตา หาญวงษ์

ที่ทำการพรรค Democratic party (Myanmar) - อู ตุ้ เว่ย หัวหน้าพรรค DPM

บนชั้น 2 ของห้องแถวเล็กๆ มืดๆ บนถนนอ่องมินกะลา ในย่านต่ามวย (Tamwe) ทางตะวันตกของเมืองย่างกุ้งเป็นที่ทำการของพรรคการเมืองเล็กๆ พรรคหนึ่งนาม Democratic Party (Myanmar) (DPM)

ผู้เขียนได้รับคำแนะนำจากเพื่อนจากแดนไกลผู้หนึ่งให้มาสนทนาเรื่องการเมืองร่วมสมัยกับคณะผู้บริหารพรรคนี้

เมื่อกดกริ่งและถอดรองเท้าเข้าไป ด่อ ยิน ยุ้น สตรีร่างท้วมที่กำลังสาละวนรับโทรศัพท์อยู่ออกมาต้อนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เธอพูดให้ผู้เขียนฟังด้วยเสียงดังและมีเอกลักษณ์ว่า “รอหน่อยนะคะ อู ตุ้ เวย กำลังติดให้สัมภาษณ์นักข่าวอยู่ข้างใน”

ระหว่างรอ อู ตุ้ เวย ให้สัมภาษณ์ ด่อ ยิน ยุ้น คนเดิมเดินมาพร้อมกับแบโม้ง (แพนเค้กใส่ถั่ว) เต็มถ้วย และกาแฟ 3 in 1 อีกแก้ว เธอต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี มิตรจิตมิตรใจเป็นเยี่ยมเช่นเดียวกับคนพม่าอื่นๆ

 

พรรค DPM เป็นพรรคเล็กๆ ที่ในปัจจุบันมี ส.ส. ในสภาเพียง 1 คนจากเมือง Chan Aye Thar San ในเขตมัณฑะเลย์

อู ตุ้ เวย ก็เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเล็กๆ เหมือนกับหัวหน้าพรรคเล็กอื่นๆ ที่ต้องการให้คนในสังคมเข้าใจและรับฟังปรัชญาการเมืองแบบของเขา

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าหากพรรคของ อู ตุ้ เวย ต้องการสร้างประชาธิปไตยและกระบวนการปฏิรูปในพม่า เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมกับพรรค NLD ของ ออง ซาน ซูจี จะดีกว่าหรือไม่หากพรรคเล็กๆ รวมกันเป็นพรรคใหญ่ และร่วมขับเคลื่อนสังคมพม่าไปด้วยกัน?

ผู้เขียนเก็บคำถามนี้ไว้ในใจมาเนิ่นนาน

เสียงประตูห้องด้านหลังเปิดออก อู ตุ้ เวย เดินยิ้มกว้างออกมาจากห้อง “สวัสดีครับ อาจารย์ลลิตาใช่ไหมครับ” อู ตุ้ เวย ทักทายผู้เขียนด้วยภาษาไทยอย่างฉะฉาน

อู ตุ้ เวย เป็นชายชราวัย 85 ปีจากเมืองตองอู ในทุกๆ วัน เขายังคงนั่งรถไฟจากเมืองฉ่วยปยีตาทางตอนเหนือของย่างกุ้งเข้ามาทำงานในแถบต่ามวยทุกวัน

ต่อคำถามคาใจของผู้เขียนข้างต้น อู ตุ้ เวย หุบยิ้ม หน้าตาเริ่มเคร่งเครียดขึ้น

“คุณพร้อมแล้วนะ ผมจะเล่าให้ฟัง” เขาเอ่ยขึ้น

อู ตุ้ เวย อธิบายว่าการทำความเข้าใจการเมืองพม่าต้องเริ่มจากทำความเข้าใจ “การเมืองว่าด้วยตัวบุคคล” (personal politics) ก่อน การเมืองสมัยใหม่ของพม่าเริ่มต้นขึ้นเพียงไม่กี่ปีก่อนพม่าได้รับเอกราชใน ค.ศ.1948/พ.ศ.2491 เมื่อมีการตั้งพรรคเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในนาม AFPFL (Anti-Fascist People”s Freedom League) ภายใต้การนำของนายพลออง ซาน ผู้นำพรรคและผู้นำประเทศที่มีบุคลิกลักษณะน่าเลื่อมใส

แม้ AFPFL จะมีสมาชิกจากทั่วประเทศ และมีแกนนำเป็นนักการเมืองฝีมือดีอีกหลายคน ชื่อของ AFPFL ก็ยังอยู่คู่กับ ออง ซาน แม้นเมื่อ ออง ซาน ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว

ออง ซาน จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของทั้งพรรคการเมืองและความเป็นชาติของพม่า

เมื่อพม่าได้รับเอกราช อูนุขึ้นมาเป็นผู้นำ AFPFL และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า การเมืองสไตล์ one man show ยังดำเนินต่อไป เพียงแต่อูนุมิได้มีบารมีเทียบเท่ากับอองซาน

ถึงกระนั้น อูนุก็เป็นผู้นำที่ชาวพม่าให้ความเคารพรักและศรัทธา อาจเป็นเพราะเขามีภาพการเป็นนักการเมืองที่โปร่งใสและมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า

อย่างไรก็ดี อู ตุ้ เวย เตือนว่าการเมืองที่เน้นตัวบุคคลนี้เป็นอันตรายและไม่เป็นผลดีต่อการเมืองพม่า (หรือของที่อื่นๆ ด้วย) ในระยะยาว

 

พม่าเพิ่งเฉลิมฉลองการได้เอกราชปีที่ 69 ไปเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา แต่แม้จะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว การเมืองในพม่ายังคงมีจุดเน้นที่บารมีของผู้นำเพียงคนใดคนหนึ่ง มิอาจปฏิเสธได้ว่า ออง ซาน ซูจี คือจุดกึ่งกลางของการเมืองพม่าในปัจจุบัน

ผู้คนทั่วโลกรู้จักพม่าจากชื่อของ ออง ซาน ซูจี มากกว่าที่จะรู้จักตัวตนจริงๆ ของพม่า

ในยุคของ ออง ซาน ผู้พ่อนั้น นักการเมืองของ AFPFL หรือกลุ่มอื่นๆ พร้อมใจเสียสละเรียกร้องเอกราชให้พม่า แม้พม่าได้รับเอกราชไปแล้ว นักการเมืองก็ยังจับกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อร่วมกับขับเคลื่อนรัฐนาวาฝ่าคลื่นพายุหลายๆ ลูก โดยหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูประเทศให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเฉกเช่นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ในปัจจุบัน อู ตุ้ เวย เน้นว่า ออง ซาน ซูจี อาจเป็นคนดีมีความสามารถจริง แต่หากคนในพรรค NLD อื่นๆ ไม่มีประสิทธิภาพเล่า?

ปัญหาใหญ่สำหรับกระบวนการปฏิรูปและการปรองดองในพม่ามิใช่เป็นเพียงการประสานประโยชน์ระหว่างพรรครัฐบาลของ NLD กับพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ กองทัพ พรรคของกองทัพ (USDP) และกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เท่านั้น

แต่ศึกหนักของ “ด่อซุ” ในปัจจุบันยังเป็นการประสานประโยชน์คนในพรรค NLD ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพรรคใหญ่ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย

 

ปัญหาที่หนักอึ้งอีกประการหนึ่งสำหรับการเมืองพม่าในทุกวันนี้อาจมาจากตัวของ ออง ซาน ซูจี เอง และลัทธิบูชาตัวบุคคลของคนพม่าที่มักมองเธอคือผู้นำที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเดียว และเป็นสิ่งที่คนพม่าภาคภูมิใจ

ระหว่างทางจากสนามบินย่างกุ้ง คนขับแท็กซี่ถามผู้เขียนว่าผู้เขียนรู้จัก ออง ซาน ซูจี หรือไม่

เขาตื่นเต้นมากเมื่อผู้เขียนตอบว่า “รู้จักสิ”

และตอบกลับมาว่า “เธอเป็นคนดีที่สุด คนพม่าทุกคนรักเธอ”

เสียงสะท้อนจากคนพม่าในระดับรากหญ้าอย่างคนขับแท็กซี่ท่านนี้คงจะพอทำให้เราเข้าใจคำกล่าวของ อู ตุ้ เวย อยู่บ้างว่าพม่าจะเดินไปข้างหน้าต่อไปไม่ได้หากคนในชาติไม่ยอมรับว่าผู้นำของตนเองมีข้อผิดพลาด

นอกจากนั้น ออง ซาน ซูจี ยังต้องการผู้ช่วยดีๆ อีกมาก มิใช่ผูกขาดอำนาจการบริหารและการตัดสินใจอยู่ที่ตัวเธอเองทั้งหมดอย่างที่เป็นอยู่

รองประธานาธิบดีที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ (เฮนรี่ วัน เทียว เป็นชาวฉิ่น) รองประธานาธิบดีที่เป็นโควต้าจากกองทัพอย่างมยิ้นส่วย หรือแม้แต่ประธานาธิบดีถิ่นจอเองยังต้องคอยถามความเห็นของ ออง ซาน ซูจี ในทุกๆ เรื่อง

ทำให้อำนาจการตัดสินใจในทุกเรื่องกระจุกอยู่ที่เธอแต่เพียงผู้เดียว

 

เมื่อไม่นานมานี้ มีการคาดการณ์กันว่าเริ่มมีความระส่ำระสายในพรรค NLD อย่างหนัก และเริ่มมีการส่งสัญญาณความแตกแยกในพรรค ในงานแต่งงานบุตรสาว อู วิน เทง ซึ่งเป็น “ผู้ใหญ่” ในพรรค NLD และเป็นผู้ช่วยเบอร์ 1 ของ ออง ซาน ซูจี มีผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค NLD ไปร่วมงานครบถ้วน แต่กลับไม่ปรากฏแม้เงาของประธานาธิบดีถิ่นจอและภริยา ด่อซูซู ลวิน (ในพม่าปัจจุบันมีคนเรียก ออง ซาน ซูจี ว่า “ซูซูจี” เพื่อล้อกับชื่อของ “ซูซูลวิน”)

สังคมพม่าจึงคาดเดากันต่างๆ นานาว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายของถิ่นจอและฝ่ายของวินเทง

นอกจากนี้ ยังมีเสียงกระซิบว่าบารมีของด่อซูซูลวิน ภริยาของถิ่นจอ ซึ่งปัจจุบันก็เป็น ส.ส. ของพรรค NLD และยังเป็น “สตรีหมายเลขหนึ่ง” ของพม่า ได้เข้าไปบดบังรัศมีของ “ซูซูจี” บางส่วนจนทำให้ฝ่ายหลังเริ่มไม่พอใจ

คะแนนนิยมพรรค NLD ยังถูกท้าทายอย่างหนักตลอดปีที่ผ่านมา เมื่อมีคนบ่นว่า ส.ส. NLD หลายคนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม แม้แต่กรรมการบริหารพรรคอย่าง อู วิน เทง เองก็เคยมีข่าวด่ากราดและใช้คำหยาบคายกับนักข่าวถึง 2 ครั้งในปีที่ผ่านมา

การใช้อำนาจของคนในพรรค NLD ในฐานะ “คนของพรรครัฐบาล” ยังมีอีกหลายกรณี ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งในพม่า อาจารย์ท่านนั้นพูดให้ฟังว่ารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ถูกวางตัวไว้แล้วตั้งแต่ก่อนรู้ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนปีก่อน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีจากพรรค NLD ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกระทรวงต่างๆ ก็มิได้ถูกคัดเลือกตามความสามารถหรือความเชี่ยวชาญของแต่ละคน

กลับเป็นความอาวุโสและ “พระเดชพระคุณ” ที่รัฐมนตรีบางคนมีต่อพรรคและผู้นำในพรรค รัฐมนตรีหลายคนเป็นอดีตนักโทษการเมืองที่ถูกจำคุกคนละหลายปี

จนอาจเรียกได้ว่าคนกลุ่มนี้ถูกตัดขาดจากโลกยุคโลกาภิวัตน์

มีรัฐมนตรีเพียงบางคนในรัฐบาลของ ออง ซาน ซูจี ที่ใช้อินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีแบบ “4.0” ได้อย่างคล่องแคล่ว

 

อูตุ้ เวย มองว่าพรรคของเขาเป็นทางเลือกใหม่ของสังคมพม่า เพราะอย่างน้อยพรรค DPM ก็เน้นการทำงานกันเป็นกลุ่ม เน้นการกระจายงานให้ทั้งคนในส่วนกลางและคนของพรรคในส่วนภูมิภาค แม้จะเป็นพรรคเล็กๆ ที่มีสมาชิกพรรคเพียงหลักพัน และมีจำนวน ส.ส. น้อยมากเมื่อเทียบกับพรรคใหญ่อย่าง NLD ที่มีจำนวน ส.ส. สูงถึง 255 คนในสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว

แต่ อู ตุ้ เวย เชื่อมั่นว่าพรรคของเขาจะร่วมกับ NLD เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมๆ กันได้

แต่ในท่ามกลางสภาพการเมืองพม่าที่ประชาชนแห่กันลงคะแนนเสียงให้พรรคใหญ่ พรรคเล็กๆ แทบไม่มีบทบาททางการเมืองใดๆ เลย

มีเพียงสิ่งเดียวที่คอยเป็นกำลังใจและขับเคลื่อนให้พวกเขาทำงานกันอย่างเต็มที่ คือความหวังและความใฝ่ฝันที่จะเห็นการเมืองในพม่าเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เสียที