เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : มาจากทะเลเหมือนกัน แต่สะอาดไม่เท่ากัน

สํานักงานแห่งหนึ่งมีพนักงาน 15 คน มีคนเป็นมะเร็ง 2 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน นี่เป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อย เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เตือนเราว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องระแวดระวัง จะกินจะอยู่แบบง่ายๆ อย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว

ก็ยังดีที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งให้ได้ศึกษาค้นคว้ากันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน จะเราพอจะอนุมานได้ว่า สาเหตุที่ทำให้คนเป็นมะเร็ง พูดรวมๆ คือความเครียดและมลพิษ

มลพิษจากอากาศ น้ำ และอาหาร

อากาศในเมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่น ควัน มีออกซิเจนเหลือน้อยเต็มที น้ำที่ปนเปื้อนจากการถ่ายเทของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และอาหารที่แปดเปื้อนมลพิษจากสารเคมี

เราหนีมลพิษในเมืองไปอยู่นอกเมืองเมื่อมีโอกาสทำได้ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ปอด เราซื้อหาน้ำบริสุทธิ์จากเงินที่เราหาได้ โชคดีที่เราไม่ได้ใช้น้ำตรงจากแม่น้ำลำธารที่ไหลผ่านโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้บำบัดน้ำเสียเหมือนชาวบ้านบางท้องถิ่น และเราเสาะหาพืชผักที่ปลอดจากสารเคมีหรือที่เราเรียกว่าออแกนิกได้มากขึ้น

เมื่อมาถึงเนื้อสัตว์ เราเริ่มเรียนรู้ว่าสัตว์ที่เขาเลี้ยงในโรงเรือนปิดมีการฉีดสารเร่งการเติบโต

ถ้าบริโภคมากเข้า ร่างกายขับถ่ายไม่ได้ สะสมในร่างกาย ย่อมมีเซลล์ร้ายที่ชื่อมะเร็งก่อตัว ถ้าร่างกายไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ ก็จะสู้กับเซลล์ร้ายไม่ได้

เราจึงรู้จักพักผ่อนและอยู่ให้ห่างไกลจากความเครียด

เราได้ยินเขาบอกเล่ากันว่าอาหารทะเลแสนอร่อยที่มีคุณประโยชน์มากมาย มันได้ถูกชุบด้วยฟอร์มาลินเพื่อให้คงความสด

ฟอร์มาลินคือน้ำยาที่ใช้อาบศพ

แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ ให้เลิกกินหรือ นั่นมันเป็นการยอมแพ้ที่ง่ายเกินไป

ทางที่ดีเราก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติม

 

คืนวันเสาร์วันหนึ่ง เปิดข้อความในไลน์ที่เพื่อนส่งมาให้ ตรงใจพอดี มีตลาดปลาปลอดสารจากร้านคนจับปลา มาเปิดที่ซอยทองหล่อในเช้าวันรุ่งขึ้นที่เป็นวันอาทิตย์ แม่ศรีเรือนอย่างเรามีหรือจะไม่ตื่นเต้น เช้าวันอาทิตย์กิจกรรมอะไรจะน่าทำเท่าการจ่ายตลาดอย่างมีคุณภาพ

ประสานักจ่ายตลาดมือเก่า ก็จัดแจงเตรียมกล่องโฟมขนาดกลางๆ แวะร้านสะดวกซื้อคว้าน้ำแข็งยูนิคมาสองถุงเทลงไป แล้วก็ขับรถสบายๆ ไปยังที่หมาย

ชาวประมงตัวจริงจากประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดภาคใต้ลงไปกำลังจัดร้านกัน

ร้านมีไม่มาก ปลาก็มีไม่มาก แต่ที่มีน่ะ สดๆ ดีๆ ทั้งนั้น ราคาค่อนข้างสูง แต่ในเมื่อสุขภาพของเราเป็นสิ่งมีค่า มันก็คุ้ม

มีของดีต้องแบ่งปัน นึกถึงเพื่อนที่ชอบทำอาหาร จึงโทร.ไปบรรยายสิ่งที่กำลังเห็นให้เจ้าหล่อนฟัง เจ้าหล่อนก็เลยฝากซื้อปลาเสียหลายชนิด มีทั้งสดและที่ปรุงแล้ว

 

ซื้อทั้งกุ้งทั้งปลา หยุดพักอ่านความรู้ต่างๆ ที่ติดไว้ที่บอร์ด ค่อยๆ ทำความเข้าใจ จึงรู้ว่าเขามีการรวมกลุ่มกัน เรียกว่ากลุ่มคนจับปลา นำผลิตภัณฑ์จากชาวประมงมาส่งถึงมือผู้บริโภค

เขามีหลักการว่า Green Clean and Fair

Green คือใช้เครื่องมือจับปลาที่ไม่ทำลายล้าง พูดให้เจาะจงหมายถึงไม่ใช้อวนตาถี่เล็กที่กวาดปลาทั้งปลาใหญ่ปลาน้อยจนเกลี้ยงทะเล จนประชากรปลาลดลง

Clean หมายถึงชาวประมงที่ใช้เรือขนาดเล็กออกจากฝั่งไม่ไกลเกิน 3 ไมล์ ไปเช้าเย็นกลับ สัตว์น้ำที่ได้จึงสดใหม่วันต่อวัน เมื่อปลาขึ้นจากเรือจะถูกส่งไปยังร้านคนจับปลาเพื่อจัดเก็บแบบสุญญากาศและแช่แข็งทันทีโดยใช้เวลาน้อยที่สุด ไม่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต

Fair ร้านคนจับปลาเป็นเจ้าของโดยสมาชิกชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นผู้ถือหุ้นในร้าน ทางร้านรับซื้อสัตว์น้ำจากชาวประมงพื้นบ้านที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทะเล ในราคาที่สูงกว่าแพปลาทั่วไป 5-20% รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของร้านคนจับปลาส่วนหนึ่งจะแบ่งไปใช้ในกิจกรรมฟื้นฟูทะเลของชุมชน

ผู้บริโภคที่อุดหนุนร้านคนจับปลาจึงมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาท้องทะเลไปกับชาวประมงพื้นบ้านในเครือข่าย

 

ซื้อปลาเสร็จก็คิดว่านี่เราจะมีโอกาสซื้อกุ้งหอยปูปลาดีๆ แค่ปีละครั้งอย่างนี้หรือ แล้วอีก 300 กว่าวันที่เหลือจะกินอะไร อ้อ เขามีขายที่ร้านเลม่อนฟาร์ม ที่เราสามารถตามไปซื้อได้

สินค้าร้านคนจับปลาจะมีตรา Blue Brand Certified และอยู่ภายใต้สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยที่มีหนุ่มลูกน้ำเค็มชาวระยองเป็นหัวเรือใหญ่ เข้าไปประชุมกับกรรมาธิการในรัฐสภาเพื่อแก้กฎหมายประมงให้เอื้อต่อการทำมาหากินมากขึ้น

เขาบอกว่าในท้องทะเลมีการแบ่งอาณาเขตสำหรับชาวประมงขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ประมงชายฝั่งถือเป็นประมงขนาดเล็ก เป็นผู้ส่งของให้กับร้านคนจับปลา มีอาณาเขตจับปลาห่างฝั่งออกไป 3 ไมล์

บางครั้งเกิดปัญหากับเจ้าหน้าที่ เหตุที่ต้องทำผิด “กฎหมาย” เพราะว่าปลาเหลือน้อย จับได้ไม่พอ เป็นเหตุมาจากเรือขนาดกลางที่ใช้อวนตาถี่ช้อนเอาปลาเล็กปลาน้อยไปหมด

 

เรื่องราวของร้านคนจับปลา เริ่มมาจากในอดีต ชาวประมงในหมู่บ้านคั่นกระได จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำ เน้นเอาปริมาณ

อวนตาถี่กวาดจับสัตว์น้ำแทบทุกชนิด โดยเฉพาะลูกปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ปลาทู ปลาอินทรี ทำให้ชาวประมงหมู่บ้านคั่นกระได เริ่มต้องออกเรือไปไกลขึ้น เพื่อจับปลาจากหมู่บ้านอื่นๆ จนทำให้ทรัพยากรร่อยหรอไปทีละหมู่บ้าน

และได้รับสมญาจากหมู่บ้านที่ไปเยือนว่า “กองปราบปลา”

เจ้าของพื้นที่ยื่นคำขาดให้ออกจากพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมง พวกเขาจึงต้องถอยกลับไปที่หมู่บ้านคั่นกระไดที่ท้องทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนัก

ชาวประมงบางรายต้องเปลี่ยนอาชีพเป็นคนงานก่อสร้าง

สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้แก้ไขปัญหาให้ถูกจุดรวมทั้งการทำงานในรัฐสภาเพื่อแก้กฎหมายต่างๆ ด้วย ที่ผ่านมาเนื่องจากการละเลยของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และเอื้อให้นายทุนทำการประมงโดยไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศในท้องทะเล

และทำให้แทนที่ผู้บริโภคจะได้บริโภคสัตว์น้ำชายฝั่งได้อย่างไม่ขาดแคลน กลับกลายเป็นว่าไม่มีสัตว์น้ำเหลือให้จับ และต้องหันไปบริโภคปลาจากเรือประมงขนาดกลางที่ต้องใช้สารฟอร์มาลินเก็บรักษาแทน

ประเทศไทยมีทะเลล้อมรอบ สัตว์น้ำมีชุกชุมตามธรรมชาติ เหลือแต่การบริหารจัดการที่เป็นธรรมเท่านั้นที่จะทำให้คนไทยได้เข้าถึงแหล่งสัตว์น้ำที่สดสะอาดตามธรรมชาติ