ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : จาก ยอร์ช วอชิงตัน ถึง โดนัลด์ ทรัมป์?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

อเมริกันชนกำลังจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงแล้วคนส่วนใหญ่ในประเทศของพวกเขาจะรู้สึกดีใจจริงๆ หรือเปล่า?

เพราะสำหรับชาวอเมริกันแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่ง “บิดาแห่งสหรัฐอเมริกา” หรือ “บิดาแห่งชาติ” ของพวกเขาก็คือ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาเองนั่นแหละ

ยอร์ช วอชิงตัน (George Washington) คือใครคนนั้น

 

เขาเป็นผู้นำในการขับไล่กองทัพอังกฤษออกจากบอสตัน นายทหารผู้สร้างชาติสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่สำหรับอเมริกันชนบางกลุ่มแล้ว ในช่วงหลังจากที่ประธานาธิบดีวอชิงตันเสียชีวิตได้ไม่นานนัก ท่านยิ่งใหญ่มากกว่าที่จะเป็นเพียงแค่มนุษย์ธรรมดา ในสายตาของพวกเขา ยอร์ช วอชิงตัน เป็น “เทพเจ้า”

ประติมากรรมหินอ่อนรูป ยอร์ช วอชิงตัน ถูกนำมาประดิษฐานที่ ดอริก ฮอล แห่งแมสซาชูเซตส์ สเตต เฮ้าส์ (Doric Hall of the Massachusetts State House) ที่ทำการของรัฐในเมืองบอสตัน เมื่อปี ค.ศ.1826 แต่รูปประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐไม่ได้สวมใส่ชุดทหาร หรือเสื้อผ้าของชนชั้นสูงอย่างที่คุ้นตากัน เพราะท่านถูกจับแต่งตัวเต็มยศเยี่ยงชาวโรมัน

มีผ้าพันกายของชาวโรมันที่เรียกว่า “โทก้า” (toga) คลุมร่างกายเสียมิดชิด จนรัศมีของอารยธรรมโรมฟุ้งออกมาจากรูปของท่านประธานาธิบดี

 

“โทก้า” คือผืนผ้ายาวประมาณ 6 เมตร ใช้ห่มคลุมร่างกายที่มีชุดที่เรียกว่า “ทูนิก” (tunic) สวมอยู่ภายใน โดยมากจะทอขึ้นจากขนแกะ ที่สำคัญคือในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ชาวโรมันถือว่าผ้าโทก้าเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะสำหรับ “ผู้ชาย” ซ้ำยังต้องเป็นชายชาว “โรมัน” เสียด้วยสิ

ชาวคริสต์คงนึกภาพฉากตอนที่เหล่าทหารโรมันทรมานพระคริสต์ที่ถูกตรึงอยู่บนกางเขนได้ และคงจะจำกันได้ดีว่า พวกทหารแห่งโรมสวมมงกุฎหนาม และคลุมผ้าสีแดงให้กับพระองค์ พร้อมกับเย้ยหยันว่าพระองค์เป็นราชาแห่งพวกยิว (St.John, 19 : 2-3)

ผ้าสีแดงที่ว่านี่ก็คือผ้าโทก้านั่นแหละครับ แต่ที่ให้ต้องเป็นสีแดงนี่ก็เพราะเป็นสีเฉพาะบนผืนผ้าโทก้าของพระจักรพรรดิแห่งโรม แต่จะแปลว่าสีแดงก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะที่ถูกคือสีมาเจนต้า (magenta) หรือสีแดงอมม่วง พระคัมภีร์บางฉบับจึงแปลฉากนี้เป็นผ้าสีม่วงแทน

ผ้าโทก้าผืนเดียวกันนี้เองที่ในวัฒนธรรมอินเดียเปลี่ยนชื่อเป็น “อาศารยปริวฤติ” และคลุมอยู่บนร่างของพระพุทธรูปยุคเก่าแก่ที่สุด ในแคว้นทางตอนเหนือของอินเดีย (ซึ่งปกครองโดยลูกหลานของชาวกรีกที่ติดตามกษัตริย์อเล็กซานเดอร์รอนแรมทางมาถึงดินแดน) ที่เรียกว่า “คันธาระ” บนเส้นทางสายแพรไหม ในช่วงร่วมสมัยกับคริสตกาล เพราะถือว่าเป็นของชั้นสูง

“โทก้า” จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องแต่งกายของชาวโรมัน แต่เป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ ที่อ้างอิงถึงจากอารยธรรมโรมันด้วย

 

ประติมากรรมรูป ยอร์ช วอชิงตัน สวมผ้าโทก้าอีกชิ้นหนึ่งถูกประดิษฐานที่ ห้องโถงกลางหลังคารูปโดม อันเป็นตำแหน่งศูนย์กลางของรัฐสภาสหรัฐ (Capitol Rotunda) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปี ค.ศ.1841

แต่ประติมากรรมรูปนี้ต่างจากรูปก่อนที่ท่านประธานาธิบดีไม่ได้ยืนสงบนิ่งอยู่เฉย เพราะท่านถือดาบประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ ในลักษณะกึ่งเปลือย ผ้าโทก้าถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับเสริมความองอาจ และอำนาจของท่านผู้เป็นบิดาแห่งสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ในศิลปะโรมัน การ “เปลือย” ถือเป็นคุณลักษณะของ “เทพเจ้า” เคิร์ก ซาเวจ (Kirk Savage) นักประวัติศาสตร์ศิลปะคนสำคัญ ชาวอเมริกัน กล่าวไว้ว่าอิริยาบถของ ยอร์ช วอชิงตัน ในประติมากรรมรูปนี้ดูราวกับเป็นเทพซุส (Zeus) ราชาแห่งทวยเทพบนเขาโอลิมปุสเลยทีเดียว

น่าสนใจที่ภายหลังท่านประธานาธิบดีวอชิงตันในรูปลักษณ์ของมหาเทพจูปิเตอร์ ถูกย้ายออกมาตั้งอยู่ที่ลานหน้าตึกรัฐสภา ก่อนที่ในปี ค.ศ.1908 จะโอนไปให้สถาบันสมิธโซเนียนดูแลอีกทอดหนึ่ง

วิบากกรรมของ ยอร์ช วอชิงตัน ในฐานะอวตารของมหาเทพซุสยังไม่จบเท่านั้น ท่านยังระหกระเหินไปแสดงตัวอยู่ที่ National Museum of American History ในปัจจุบัน

สถานการณ์ของมหาเทพวอชิงตัน ดูจะตรงกันกับที่ซาเวจกล่าวว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ถูกวิจารณ์ในเชิงลบได้หนาหูที่สุดในแวดวงประวัติศาสตร์ศิลปะอเมริกัน ถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่า “ควรจะมีใครสักคนหยิบผ้าโทก้าขึ้นมาคลุมร่างของท่านประธานาธิบดีเสียที!”

เห็นได้ชัดว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่อยากให้บิดาแห่งประเทศของพวกเขา สวมโทก้า แล้ววางท่าเป็นมหาเทพ ภาพ ยอร์ช วอชิงตัน ทรงเครื่องเป็นเทพด้วยผ้าโทก้า ที่มีเป็นงานจิตรกรรมอยู่ด้วยจึงไม่ค่อยมีใครรู้จัก หรือเคยเห็นนัก

 

น่าคิดนะครับว่า การที่อเมริกันชนไม่นิยมตกแต่งรูปบุคคลด้วยผ้าโทก้า ต่างจากในยุโรป อาจเป็นเพราะอารยธรรมโรมเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ เพราะมี “ทาส” ลักษณะอย่างนี้ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของอเมริกา?

ลองนึกภาพ ยอร์ช วอชิงตัน วางตัวเป็นเทพเจ้าอยู่ในโคลอสเซียม ดูเหล่ากลาดิเอเตอร์เข่นฆ่ากัน หรือดูข้าทาสต่อสู้กับสิงโตอยู่บนที่นั่งชั้นพิเศษ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องด้วยความสนุกสนาน คงเป็นภาพที่ประหลาดดีพิลึก สำหรับรัฐบุรุษผู้ปลดแอกสังคมจากระบบกษัตริย์มาเป็นระบบสาธารณรัฐ

จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรนัก ที่พวกอเมริกันกลับชมชอบในที่ระลึกถึงบิดาแห่งชาติของพวกเขาด้วยอะไรที่ดูเป็นนามธรรมมากกว่าอย่าง อนุสาวรีย์วอชิงตัน (Washington Monument) ที่ก่อเป็นเสาสูงทึบตันยอดแหลม เพื่ออุทิศให้กับบิดาของพวกเขามากกว่ารูปของ ยอร์ช วอชิงตัน ในฐานะมหาเทพ

และก็เป็นเสาของ ยอร์ช วอชิงตัน แท่งนี้เอง ที่อ้างถึงเสรีภาพ และอุดมการณ์ของรัฐโดยมี ยอร์ช วอชิงตัน เป็นภาพแสดงแทน

(แต่อนุสาวรีย์วอชิงตันไม่ได้สูงขนาดนี้มาแต่เริ่มแรกนะครับ แรกสร้างเมื่อปี ค.ศ.1848 เจ้าเสายักษ์แท่งนี้ยังสูงแค่ 152 ฟุตเท่านั้นเอง ต่อมาจึงได้มีการค่อยๆ ก่อให้สูงขึ้นไปเรื่อยอยู่ตลอด นับเฉพาะครั้งสำคัญได้ราว 5 ครั้ง เจ้ายอดแหลมอย่างที่เห็นในปัจจุบันยิ่งเพิ่งก่อขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1884 ทำให้อนุสาวรีย์แห่งนี้สูงถึง 555 ฟุต เพราะการต่อเติมครั้งก่อนๆ ล้วนแต่คงลักษณะเดิมไว้)

ตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จึงมีสถานภาพคล้ายๆ ภาพแสดงแทนอุดมการณ์ส่วนรวมของพวกเขามาตลอดนะครับ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรอีกเช่นกันที่ใครหลายคนจะไม่แน่ใจนักว่า “ทรัมป์เนี่ยนะ?”