นิทานหมาเก้าหาง 3,000 ปีมาแล้ว หาพันธุ์ข้าวให้คนปลูกกิน | สุจิตต์ วงษ์เทศ

คนสมัยก่อนเขียนรูปหมาไว้ทำไม ไม่มีใครรู้? แต่เชื่อว่าต้องเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่มีความหมายยิ่งใหญ่ต่อมนุษย์กลุ่มนั้น ยุคนั้น จึงเขียนรูปหมาไว้อย่างยกย่อง

ในถ้ำเขาปลาร้า จ.อุทัยธานี มีภาพขียนสีรูปหมา มีทั้งหมาตัวเดียวและหมาสองตัวอยู่กับคนตัวโตที่กางแขนขา

หมา 9 หาง

บนหน้าผาที่มณฑลกวางสีในจีน มีภาพเขียนสีแดงรูปหมาขนาดใหญ่สุดอยู่ท่ามกลางฝูงคนที่ทำท่าคล้ายกบเรียงรายล้อมรอบนับพันๆ คน ราวกับกำลังทำพิธีบูชายัญหมา ชาวจ้วงมีนิทานเล่าว่า

แต่ก่อนคนเรายังโง่ ยังไม่มีข้าวกิน เพราะไม่รู้จักและไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก

ครั้งนั้นมีหมา 9 หางตัวหนึ่งขึ้นไปบนสวรรค์ แล้วเอาหางทั้ง 9 จุ่มลงไปในกองข้าวของสวรรค์เพื่อขโมยพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์ พันธุ์ข้าวสวรรค์ก็ติดที่หางทั้ง 9 แล้วหนีมา

แต่เทวดาเห็นก่อน จึงไล่ตาม แล้วใช้เทพอาวุธฟาดฟันหมาที่ขโมยพันธุ์ข้าว

เทพอาวุธฟาดถูกหางขาดไป 8 หาง หมาจึงเหลือหางเดียว พร้อมพันธุ์ข้าวที่ติดหางมาให้มนุษย์

นับตั้งแต่นั้นมามนุษย์ก็รู้จักปลูกข้าวกิน แล้วยกย่องหมาเป็นผู้วิเศษที่ทำคุณแก่มนุษย์

ทุกวันนี้ชาวจ้วงบางกลุ่มยังตั้งรูปหมาหินไว้ตรงทางเข้าหมู่บ้าน เมื่อถึงวันตรุษ-วันสารทก็พากันมาตั้งเครื่องเซ่นสรวงสังเวยหมาหิน เพื่อขอให้เป็นผู้คุ้มครองชุมชน และขอให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย

กลุ่มชนบางพวกบนที่สูงยกย่องหมาเป็นสัตว์บูชายัญ ใช้หมาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยผีบรรพชนและผีบ้านผีเรือน แล้วตัวเองก็กินหมาเป็นอาหารด้วย

ปัจจุบันชาวจ้วงส่วนมากกินหมาเป็นอาหาร ถือเป็นของดีวิเศษสุดทีเดียว เมื่อมีแขกไปใครมาเยี่ยมเยือนก็ต้องปรุงหมาขึ้นโต๊ะไว้ต้อนรับขับสู้

คนเล่าเรื่องเป็นผู้หญิง

คนทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาทั้งปวง เช่น นิทานเรื่องหมา 9 หาง ต้องเป็นผู้หญิง

เพราะผู้หญิงในสังคมดึกดำบรรพ์ได้รับการยกย่องเป็นหัวหน้าพิธีกรรม และผีบรรพชนจะเข้าสิงในร่างทรงของผู้หญิงเท่านั้น

มีตัวอย่างพิธีเลี้ยงผีของชุมชนหมู่บ้านทั่วไปในภูมิภาคอุษาคเนย์ เช่น ผีฟ้าของลาว ผีมดของเขมร ผีเมงของมอญ ล้วนมีผู้หญิงเป็นร่างทรง ผีเหล่านี้ไม่เข้าร่างทรงที่เป็นผู้ชาย

ความรู้ความสามารถพิเศษต่างๆ เป็นของผู้หญิง เช่น ตีหม้อ ทอผ้า ฯลฯ ดังกรณีภาชนะลายเขียนสีในวัฒนธรรมบ้านเชียง ราว 3,000 ปีมาแล้ว ล้วนเป็นฝีมือผู้หญิง แม้ทุกวันนี้หมู่บ้านในภาคอีสานยังมีประเพณีทำภาชนะด้วยวิธีตีหม้อ ก็ล้วนฝีมือผู้หญิง

หมอผี หมอขวัญ

คนที่มีความรู้พิเศษมักเรียกกันว่าหมอ และ/หรือช่าง เช่น หมอผี หมอพร หมอขวัญ หมอลำ หมอแคน หมอตำแย หมอดู หรือช่างขับ ช่างฟ้อน ฯลฯ จนถึงช่างสิปป์หมู่ (สิปป์ ตรงกับ ศิลป์ แต่ภายหลังความเข้าใจคลาดเคลื่อน เลยเขียนสิบ กลายเป็นช่างสิบหมู่)

เหตุนี้เองคำว่าหมอจึงใช้เรียกแพทย์ที่มีความรู้พิเศษในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนไข้คนป่วยในปัจจุบันด้วย

แต่ในยุคดึกดำบรรพ์คนที่ได้รับยกย่องว่าหมอ จะเป็นพวกมีความรู้หลากหลายรอบด้าน เช่นเดียวกับทุกวันนี้ยกย่องนักปราชญ์ราชบัณฑิตว่ารอบรู้ทั้งคดีโลกและคดีธรรม ซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมของยุคนั้น

กรณีคนทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาทั้งปวง คงเรียกว่าหมอผี หรือหมอขวัญ หรือหมอพร ดังจะพบว่าในปัจจุบันยังมีหมอผี กับหมอขวัญ หรือหมอพรทำพิธีกรรมเชิญผีและเลี้ยงผี รวมทั้งพิธีสู่ขวัญด้วย แต่ส่วนมากหลังจากรับศาสนาจากชมพูทวีปแล้วริบให้ผู้ชายทำหน้าที่

ประเพณีเล่าเรื่องด้วยคำคล้องจองอย่างมีทำนองและมีเครื่องดนตรีประกอบ พบหลักฐานเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว คือลายเส้นบนหน้ากลองทองหรือมโหระทึก ในวัฒนธรรมดองซอนที่ภาคเหนือของเวียดนาม เป็นรูปหมอแคนทำท่าเป่าแคน แล้วมีหมอลำหรือช่างขับช่างฟ้อน ทำท่าทางเข้าทำนองอยู่ด้วย

นั่นไม่ใช่การแสดงสนุกสนานอย่างทุกวันนี้ หากเป็นการละเล่นศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมขอฝน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของเผ่าพันธุ์และชุมชน ซึ่งต้องขับลำด้วยคำคล้องจอง ที่เรียกกันภายหลังว่าคำขับนั่นเอง

แต่เป็นคำขับที่คล้องจองกันอย่างไร? และขับเรื่องอะไร? ย่อมรู้ไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัด ถ้าจะคาดคะเนเอาตามประเพณีที่มีสืบเนื่องอยู่ในชนเผ่าเหล่ากอมาถึงปัจจุบัน ก็อาจบอกได้ว่าลายเส้นหมอแคนกับหมอลำกำลังขับลำเล่าเรื่องผีฟ้า ผีแถน หรือผีบรรพชน

ภาพประกอบ

ภาพเขียนสีบางภาพ เสมือนภาพประกอบตำนานนิทานศักดิ์สิทธิ์

แต่ภาพเหล่านั้นเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดียืนยันว่าคนยุคนั้นมีความเชื่อจริงอย่างตำนานนิทาน แต่ตำนานนิทานไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นจริง

ตำนานนิทานจึงใช้ประโยชน์ได้ในทางวิชาความรู้ เมื่อมีพยานหลักฐานประกอบหนักแน่น และขึ้นอยู่กับจะใช้งานประเภทไหน? อย่างไร?

หมาศักดิ์สิทธิ์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว ในภาพเขียนที่ถ้ำขาม ภูซำผักหนาม บ้านวังน้ำอุ่น ต.ทุ่งนาเลา อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ (ภาพลายเส้นคัดลอกจากหนังสือ ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. พเยาว์ เข็มนาค เรียบเรียง. กองโบราณคดี กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ 2539.)
หมาศักดิ์สิทธิ์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว ในภาพเขียนที่ถ้ำขาม ภูซำผักหนาม บ้านวังน้ำอุ่น ต.ทุ่งนาเลา อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ (ภาพลายเส้นคัดลอกจากหนังสือ ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. พเยาว์ เข็มนาค เรียบเรียง. กองโบราณคดี กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ 2539.)
คนจูงวัวและรูปหมาศักดิ์สิทธิ์ ที่คนเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว เชื่อว่าหมานำพันธุ์ข้าวจากฟ้ามาให้คนปลูกกินเป็นอาหาร ภาพเขียนสีและลายเส้นคัดลอกที่เขาปลาร้า อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
คนจูงวัวและรูปหมาศักดิ์สิทธิ์ ที่คนเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว เชื่อว่าหมานำพันธุ์ข้าวจากฟ้ามาให้คนปลูกกินเป็นอาหาร ภาพเขียนสีและลายเส้นคัดลอกที่เขาปลาร้า อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี