“สวดคฤหัสถ์” คืออะไร ? แล้วทำอย่างไรไม่ให้เป็น “วัฒนธรรมลอยลม”

คุยกับ “ครูมหา-ไอยเรศ งามแฉล้ม” ทำอย่างไรให้ “สวดคฤหัสถ์” ไม่ใช่ “วัฒนธรรมลอยลม”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม 2561 นิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้จัดงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา (ประกอบการแสดง) หัวข้อ “ตลกจำอวด-สวดคฤหัสถ์”

หนึ่งในวิทยากรที่มาให้ความรู้และมอบความเพลิดเพลินบันเทิงใจแก่ผู้ชมผ่านการแสดงสวดคฤหัสถ์ในวันนั้นก็คือ “ไอยเรศ งามแฉล้ม” และเพื่อนๆ ชาวคณะ “มหาเทพบันเทิงศิลป์”

ผู้เขียนได้พูดคุยกับไอยเรศ หรือที่รู้จักกันในนาม “ครูมหา” อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการแสดงไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.รามคำแหง เกี่ยวกับการสวดคฤหัสถ์ รวมถึงแนวคิดว่าด้วยการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจดังต่อไปนี้

: การสวดคฤหัสถ์คืออะไร?

“คฤหัสถ์” แปลว่า “ผู้ครองเรือน” คือฆราวาสธรรมดานี่ละ เราจะเรียกว่าคฤหัสถ์ เป็นศัพท์ภาษาบาลี การสวดคฤหัสถ์ได้รับอิทธิพลจากการสวดพระในพิธีสวดศพ

สมัยก่อนนั้นมีพิธีอันหนึ่งเรียกว่า “สวดพระมาลัย” สวดโดยพระภิกษุสงฆ์เรียกว่า “สวดพระมาลัยกล่อมหอ” คือสวดให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว สมัยก่อนวัฒนธรรมการแต่งงานมันเยอะหลายขั้นตอน เจ้าบ่าวจะต้องไปปลูกเรือน เมื่อปลูกเรือนเสร็จก่อนที่จะไปยกขันหมากขอเจ้าสาว จะต้องอยู่เฝ้าเรือนหอ ก็จะนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูปไปนั่งสวดที่เรือนหอ

สวดพระมาลัย สอนเรื่องศีลธรรม นรก สวรรค์ สอนให้ทำความดี ละความชั่ว ไม่ผิดลูกผิดเมีย คือเป็นการสอนเจ้าบ่าวโดยสอนที่เรือนหอนั่นละ รุ่งเช้าถึงไปแห่ขันหมากขอเจ้าสาว แล้วมาแต่งงานที่เรือนหอ เขาเลยเรียกว่ามาลัยกล่อมหอ

ตอนหลังมาได้ยักย้ายถ่ายเทเปลี่ยนไปสวดในงานศพเมื่อไรไม่แน่ใจ ไม่สามารถทราบได้เพราะวัฒนธรรมมัน “ไหลลื่น” แล้วก็เกิดมีการสวดพื้นพระอภิธรรมขึ้นมา ก็เลยมีทางให้มีการเล่นสวดคฤหัสถ์เพิ่มขึ้น มีพื้นพระมาลัย พื้นพระอภิธรรม พื้นโพชฌงค์มอญ และพื้นมหาชัย มีอยู่ 4 พื้นหลักๆ เกิดจากพระสงฆ์สวดกันก่อน

โดยพระสงฆ์เป็นคนที่รู้และถ่ายทอด พระสงฆ์ถึงมีเทคนิค ทำนองในการสวดเยอะแยะมากมาย พวกฆราวาสไปเห็นก็จำ บางคนก็ไปบวชเรียน อย่างพวกสวดคฤหัสถ์ก็ต้องบวชเรียนกันมาแล้วมีความรู้เรื่องการสวด การเทศน์อะไรต่างๆ ก็เอามาปรับเป็นรูปแบบการสวดที่เห็นในปัจจุบันนี้

ต่อมาภายหลังก็เอามาสวดเล่นกัน โดยพระสงฆ์เล่นเป็นลักษณะตลกคะนองก่อน เนื่องจากธรรมเนียมการอยู่เป็นเพื่อนศพสมัยก่อน 1.คนตายมันโศกเศร้า 2.เงียบเหงาวังเวง 3.ต้องอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพ 4.ต้องอยู่เป็นเพื่อนศพด้วย

เพราะมีคติความเชื่อว่าคนตายสมัยก่อนยังไม่เอาลงโลงนะ เขาจะกางมุ้งให้ก่อน เขามีความเชื่อว่าตายแล้วฟื้น ตายจริงหรือเปล่าเช็กให้แน่นอนก่อน เพราะการตายไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ คือจับยัดใส่โลงแล้วเผาเตา ไปฟื้นอยู่ในเตาเขาก็เสียใช่ไหม ต้องดูให้แน่ก่อนว่าเน่าจริงเหม็นจริงถึงจะทำโลงแล้วก็ใส่โลง

: สรุปแล้วการสวดคฤหัสถ์คือการอยู่เป็นเพื่อนศพ?

อยู่เป็นเพื่อนศพแล้วก็แฝงคติความเชื่อนิดๆ เพราะเนื้อที่ใช้สวดเป็นเนื้อพระธรรม เนื้อธรรมะ

คือ การสอนธรรมะ ถ้าสอนแบบตรงๆ คนไม่ค่อยฟังหรอก คนเรามีหลายเกรด บางคนชอบสนุก บางคนชอบฟังธรรมแบบตรงๆ เลย เทศน์ธรรมะแบบด่าๆ เลย ต้องไปฟังพระสายปฏิบัติธรรม เขาจะพูดเจาะถึงใจ ไม่มีภาษาบาลีใดๆ ทั้งสิ้น บางคนชอบสนุกสนาน ชอบดูมโหรสพ แทรกธรรมะเข้าไปใส่ในมโหรสพ

แต่ว่าลึกๆ คือตีกรอบสังคมหรือควบคุมให้คนอยู่ในกรอบในระเบียบวินัย เป็นแฝงลึกๆ ซึ่งต้องอธิบายให้ฟัง ไม่งั้นไม่มีใครเข้าใจ

: ในการสวดคฤหัสถ์ใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้าง?

ในการสวดคฤหัสถ์จะใช้ดนตรีที่เรียกว่า “ดนตรีปาก” ใช้ปากทำเสียงเครื่องดนตรี เพราะฉะนั้น ผู้ที่สวดก็จะมีตำแหน่งในการร้องเล่น โดยเฉพาะคนที่เป็นตัวคอสอง ไม่ใช่อยู่ๆ มานั่งเป็นลูกคู่เฉยๆ ต้องมีความรู้เรื่องดนตรี ต้องรู้เรื่องเพลงไทยเดิม

ในตำแหน่งของทั้ง 4 คนในการสวด มีหน้าที่ มีเทคนิค และมีทักษะความรู้ซึ่งแตกต่างกันหมดเลย แล้วเอามารวมกันเป็นองค์ประกอบในการแสดง แล้วก็ต้องสอดรับส่งกัน

แต่ในการใช้มุขดนตรีปาก บางทีอย่างเช่นคณะใหญ่ๆ ที่รับงานเริ่มมีชื่อเสียง คนติดเยอะมาก ก็จะมีเงิน เขาก็จะซื้อเครื่องดนตรีมาประกอบเพิ่ม เพื่อเพิ่มอรรถรสให้คนชม

: บทที่เอามาแสดงเอามาจากไหน?

มีของเก่าเป็นบทเก่าและวิธีการเล่นแบบเก่าที่เขียนบันทึกไว้โดย “อาจารย์นิสา เมลานนท์” ท่านทำวิจัยเรื่องสวดคฤหัสถ์ ท่านก็บันทึกไว้ ผมก็ไปเจอหนังสือเล่มนี้แล้วเอามาเทียบเคียง

เลยเข้าใจว่าการสวดคฤหัสถ์มันมีแบบนี้ หนึ่งว่าเนื้อพระธรรม สองว่ารำนอก ออกร้องจ่าหน้า แล้วเล่นเป็นเรื่อง 12 ภาษา พอหมดมุขปุ๊บ ว่าเนื้อพระธรรม ออกรำนอก ว่าเนื้อ 12 ภาษา แล้วเล่นเป็นเรื่อง ก็จะสลับไปอย่างนี้ เล่นทั้งคืน ทุกชุดจะเป็นแบบนี้หมด

12 ภาษา คือ ภาษาต่างชาติต่างๆ จีน ญวน แขก มอญ พม่า ลาว ที่เล่นกันโบราณที่ผมไปสืบก็จะมี “6 ภาษา” ใน 6 ภาษาเนี่ยเราจะเรียกว่า “12 ภาษา”

: ปัจจุบันเราหาชมการสวดคฤหัสถ์ได้ที่ไหนบ้าง?

ปัจจุบันหาชมได้ยากหน่อย เพราะว่าคนไม่ค่อยหาไปแสดงที่งานศพ เพราะว่าเขาไม่รู้ บางคนก็รู้แล้ว แต่ว่าพอเราบอกราคา เขาก็ไม่สู้ก็มี บางคนก็ไม่เข้าใจเรื่องการสวดอะไรพวกนี้

แต่ถ้าอยากดูจริงๆ ผมมีการเผยแพร่ลงเฟซบุ๊กของผม มีเปิดเพจ “คณะมหาเทพบันเทิงศิลป์” ผมก็จะมีความคืบหน้าเรื่องประวัตินักสวด เรื่องสวดคฤหัสถ์ ทำนองการสวดแบบนี้ คฤหัสถ์เอามาเป็นทำนองในการสวด ผมก็จะเผยแพร่เกี่ยวกับความรู้เรื่องการสวดคฤหัสถ์ทั้งหมด

แล้วก็มีคลิปงานการแสดงของเราแต่ละครั้ง แชร์ลงไปในเพจนี้ ให้คนได้ติดตามแล้วสอดแทรกความรู้ลงไปด้วยตลอด

: อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้มาสืบทอดการสวดคฤหัสถ์?

ก็อย่างว่า คือเราเคยเห็นอยู่ แล้ววันดีคืนดีมันหายไป อุปนิสัยทุกคนเลยผมว่านะชอบความสนุก ความขบขัน ความตลก ผมก็น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น พอเห็นแล้วมันขัน เห็นแล้วมันสนุก แล้วเป็นความสุข ก็เลยอยากจะฟื้นฟู อยากจะสืบทอดต่อ

เลยเที่ยวไปเสาะหาครูอาจารย์ ซึ่งสมัยก่อนบ้านผมก็มีที่บางบัวทอง แล้วเขาก็ล้มหายตายจากกันไปหมด มันก็เป็นการหาข้อมูลที่ยากพอสมควรสำหรับผม เพราะว่าในช่วงแรกๆ ไปหาที่ไหนก็ตายหมด จนมาเจอพ่อเล็ก (ครูชนะ ชำนิราชกิจ) นี่ละ จนมาเจอที่ศูนย์สังคีตศิลป์ที่แกบันทึกเทปไว้ แกพาไปเจอครูหอม (ครูหอม ภุมรา) ก็เลยได้รู้ว่าทำนองสวดเป็นแบบนี้

ก็ได้วิธี ได้บทสวด ได้ทำนองสวดมา เราก็เอามาปะติดปะต่อ มาคัดว่าบทสวดอันนี้ออกเป็นภาษาอะไร สำเนียงอะไร เราก็มาเลือกใช้ให้เหมาะกับที่เราจะสวดและออกเล่นเป็นภาษา แล้วโยงจากเอกสารตำราเก่าที่เขาบันทึกไว้ว่าเล่นภาษานี้ต้องออกมุขนี้ๆ โยงกันเข้าเอามาผสมกันจนเกิดเป็นรูปแบบการแสดงนี้ขึ้นมา

: ฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ให้สืบสานการแสดงสวดคฤหัสถ์?

ผมไม่ฝากอะไรกับคนรุ่นใหม่นะ ผมไม่ฝาก เพราะว่าคนรุ่นใหม่เขาก็มีแนวคิด มีวิธีคิดของเขา ผมก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่ ผมเคยได้เห็นของเก่า 100 จะมี 1 คน 10 จะมี 1 คนที่ชอบ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถไปบีบบังคับให้เขามาชอบ ให้เขามารัก แต่มันสำคัญตรงที่ให้เขาได้รู้ ให้เขาได้เห็น แล้วค่อยๆ ซึมซับ

เพราะวัฒนธรรมทั้งหลายไปยัดเยียดให้หรือไปสอนตามโรงเรียนมันเป็น “วัฒนธรรมลอยลม” แต่ถ้าให้เขาเห็น เขารู้ เกิดความรักและความชอบ แล้วผ่านการซึมซับ เขาจะแสวงหาและมีวิธีในการอนุรักษ์ถ่ายทอดสืบทอดต่อไปเอง

ผมไม่โทษรัฐบาล ไม่โทษหน่วยงานไหนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทุกอย่างมันเป็นไปตามสังสารวัฏ เป็นไปตามวัฏจักร ของใหม่ขึ้นมาของเก่าก็หายไป มันเป็นธรรมดา วัฒนธรรมการสวดคฤหัสถ์มันก็มีการปรับตัวมาแต่อดีต ปรับมาตลอด

เมื่ออยู่ไม่ไหวเขาก็ปรับตัวไปเป็นจำอวด ไปเป็นละครย่อย จนมาเป็นตลกในปัจจุบัน จนกลายเป็นตลกในจอแก้วในปัจจุบันนี้ ปรับจากตลกในจอแก้วมาเป็นเกมโชว์ มันมีการพัฒนาและปรับตัวตลอด แต่มันก็เอามุขของสวดคฤหัสถ์นี้มาทั้งนั้น แต่ไม่มีใครรู้จักรากเท่านั้นเอง

ผมไม่ฝากแต่บอกให้เข้าใจ มันจะเป็นอะไรก็เป็นวัฒนธรรม แต่ขอให้มีสื่อหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เขารู้ ทำให้เขาเห็น ใน 100 คน มันจะมีสักคนหนึ่งที่มันดูแล้วจุดประกายแล้วมันไปต่อยอดครับ