ปริศนาโบราณคดี : ‘พลับพลาพระเจ้าตาก’ สัญญาที่ไม่วิปลาส ต่อกองทหารโพกหัวแดง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“ใครจักไปนิพพานกับกูบ้าง?”

ประโยคนี้ไม่เคยมีใครได้ยินจริงๆ กับหู แต่เป็นคำให้การที่ถูกบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้ฟังดูสมจริงว่าพระเจ้าตากสินมหาราชทรงประกาศเช่นนั้นท่ามกลางหมู่สงฆ์ เป็นวลีที่ถูกนำมาใช้สร้างวาทกรรมว่าพระองค์ทรงมีพระสติฟั่นเฝือหรือมี “สัญญาวิปลาส”

นำไปสู่ความชอบธรรมของเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ในการจับพระองค์ท่านปลงพระชนม์ จากนั้นก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

จริงหรือ ที่พระเจ้าตากสินทรงมีพระสัญญาวิปลาส?

โดยเฉพาะประเด็นอวดอุตริมนุษย์ธรรมว่าได้บรรลุโสดาปฏิมรรคแล้ว ถึงขนาดบังคับให้พระสงฆ์ยกมือไหว้ หรือโบยเฆี่ยนอำมาตย์ขุนนาง แม้กระทั่งจับนางสนมหัวแข็งย่างไฟสดเป็นว่าเล่นโดยไร้เหตุผล

เรื่องนี้จริง-เท็จเช่นไรในฐานะของ “ความทรงจำ” หรือในฐานะ “ประวัติศาสตร์” ของชนรุ่นหลัง

ประวัติศาสตร์ปรัศนี โบราณคดีปริศนา :
ความจริงและความทรงจำ ?

“ประวัติศาสตร์ที่พึ่งสร้าง หรือตำนานที่พึ่งเขียน” แตกต่างจาก “ความทรงจำ” อย่างไร เป็นประเด็นใหญ่คาใจนักประวัติศาสตร์

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ความทรงจำเรื่องการสวรรคตของพระเจ้าตากสินจักถูกเล่าขานส่งผ่านข้อเท็จจริงของเหตุการณ์โดยไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของ “ผู้ชนะ” ที่ถืออำนาจในมือแล้วปรุงแต่งความจริงของฝ่ายตนให้เป็น “ประวัติศาสตร์” อีกต่อไป

ดังปรากฏการณ์ของความทรงจำนอกกระแสที่เกิดอาการตาสว่าง กันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์

นักศึกษาประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ (โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก) เริ่มอ่านแตกและตีรหัสวาระที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้การปรักปรำว่าพระเจ้าตากสินมีสัญญาวิปลาสซึ่งประวัติศาสตร์กระแสหลักบันทึกไว้จนทะลุปรุโปร่ง

จะวิปลาสหรือไม่วิปลาส ขอให้พิสูจน์กันที่วาระสุดท้ายก่อนจะถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ พระเจ้าตากสินทรงรำพึงกับพระยาสรรค์ หนึ่งในแม่ทัพเอกผู้อยู่เคียงข้าง ณ แดนประหารว่า

“เมื่อสิ้นบุญพ่อแล้ว ขออย่าให้ผองไพร่ต้องเดือดร้อนเลย…”

นัยของคำพูดนี้ เป็นการกล่าวอย่างผู้มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนบริบูรณ์ หรือเป็นคำกล่าวของคนวิกลจริต?

ทรงห่วงใยต่อไพร่ฟ้าว่าอาจเดือดร้อนเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน ถึงขนาดขอร้องให้ผู้จงรักภักดีต่อพระองค์อย่าได้ลุกขึ้นมาต่อต้านราชวงศ์ใหม่เลย ขอให้แต่ละคนจงรักษาตัวรอดเอาชีวิตไว้ก่อนเถิด

ด้วยเหตุนี้คำให้การของคนใกล้ชิดทุกพยานปาก ที่ถูกบันทึกไว้ในจดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์จึงสอดคล้องเหมือนท่องสคริปต์บทเดียวกันว่า

“เป็นความจริงที่พระเจ้าตากมีสัญญาวิปลาส!”

กองทหารโพกหัวแดงชาวล้านนา
สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสิน

ปีพุทธศักราช 2317 มีเหตุการณ์สำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ล้านนา นี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ล้านนาต้อง “เลือกข้าง” ว่าจะอยู่กับใคร ระหว่างการยอมอยู่ใต้บังคับของพม่าดุจช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมานับแต่บุเรงนองยึดเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2101 หรือว่าอยากทดลองเปลี่ยนไปอยู่กับอำนาจใหม่เป็นประเทศราชของสยามแทน?

บุคคลผู้มีบทบาทอย่างสูงในการตัดสินใจคือ พญาจ่าบ้าน (บุญมา) และพญากาวิละ ขณะนั้นกษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะได้มอบหมายให้พญาจ่าบ้าน เป็นผู้ดูแลนครเชียงใหม่ ส่วนพญากาวิละเป็นผู้ดูแลนครลำปาง ภายใต้การควบคุมของ “โป่มะยุง่วน” ผู้ที่ชาวเชียงใหม่เรียกว่า “โป่หัวขาว” เนื่องจากเป็นหม่องที่ชอบโพกผ้าสีขาวเป็นสัญลักษณ์เสมอ

กองกำลังของพญาจ่าบ้านมีเพียงหยิบมือ ในขณะที่พม่ามีทหารนับหมื่น หนทางเดียวที่ล้านนาจะหาญสู้พม่าได้ ก็คือการหันไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสิน พญาจ่าบ้านได้ส่งหลานชายผู้มีฐานะเป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพม่าตั้งให้ดูแลเมืองลำพูนด้วย ชื่อ “ก้อนแก้ว” นำกองทัพ “ทหารโพกผ้าแดง” ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าตากสิน ณ ถ้ำแห่งหนึ่งกลางลำน้ำปิง เวียงลี้

อุปราชก้อนแก้วเป็นคนหนุ่ม ฝีมือเข้มแข็ง ซุ่มฝึกกองทหารโพกหัวด้วยผ้าแดงไว้ราวพันกว่าคน เป็นผู้นำทัพที่ชาวล้านนารักใคร่และเคารพยำเกรงมาก ถือว่าเป็นแม่ทัพมือขวาของพญาจ่าบ้านเลยทีเดียว

ประวัติศาสตร์ช่วง “ฟื้นม่าน” ของชาวล้านนา ได้ถูกนำมาแต่งเป็นกวีนิพนธ์เรื่องแล้วเรื่องเล่า อาทิบทกวี “โคลงค่าวริร่ำถ้อยเมืองพิงค์” ไม่ทราบนามผู้รจนา เขียนด้วยอักษรธรรมบนใบลานไม่ระบุปีที่แต่ง แต่ทางวัดป่าแพ่ง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ได้คัดลอกสำนวนเก็บไว้เมื่อปี พ.ศ.2406 กวีนิพนธ์มีความยาว 80 บท แต่ขอยกมาเพียง 3 บทเพื่อให้เห็นภาพความเคลื่อนไหว

หัวขาวโป่ม่านเถ้า         เพพลัด
ตื่นแตกหนีกระจัด        พ่ายค้าน
เครื่องยศเสตฉัตร         …ทอด ทุมเอย
วิบากเลยถบพ้าน         พรากห้องเสียเมือง
กษัตริย์เสิกอยุธิเยศเจ้า* เหนือหัว
กวัดกวาดฝูงคนครัว      ลูกล้อน
ช้างม้าหมู่งัวควาย        ริบร่าย รอมเอย
เก็บรายกันเข้าข้อน       แต่งตั้งเวียงละพูน
ตั้งจ่าบ้านหื้อครองอยู่    รักษา
พลไพร่ฝูงประชา          ไพร่ฟ้า
ก้อนแก้วเป็นอุปราชา     รองราช ลงเอย
พิงเพิ่งหลานและน้า       อยู่เฝ้าเมืองละพูน

*กษัตริย์อยุธยาในที่นี้เป็นความเข้าใจของคนล้านนาที่ยังคงเรียกเมืองสยามว่าอยุธยาอยู่ แท้จริงได้ย้ายราชธานีไปอยู่กรุงธนบุรีแล้ว

การขึ้นมาปราบพม่าที่เชียงใหม่ พระเจ้าตากสินได้ตรึงทัพไว้ที่ถ้ำช้างร้อง กลางกระแสน้ำแม่ปิงที่ไหลเชี่ยวกราก ปัจจุบัน ถ้ำนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

พระเจ้าตากสินให้ทหารผูกพลับพลาไม้ไว้หลังหนึ่ง เป็นศาลาโถง หลังคามุงแป้นเกล็ด ตกแต่งหน้าบันเรียบง่ายด้วยจั่วหน้าพรหม มีจุดเด่นอยู่ที่คันทวยฉลุฉลักลวดลายเล็กน้อยพองาม มีพระธุดงค์มาจำศีลตลอด

ชาวลี้เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “พลับพลาพระเจ้าตาก”

ในเมื่อชาวล้านนาได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ขอเลือกที่จะอยู่ข้างฝ่ายสยาม พระเจ้าตากสินจึงทรง “มอบบ้านเวนเมืองให้เป็นเจ้า” ด้วยการแต่งตั้งให้พญาจ่าบ้านเป็นพระยาหลวงวชิรปราการกำแพงเพ็ชร ครองเมืองเชียงใหม่ เจ้ากาวิละครองนครลำปาง ส่วนอุปราชก้อนแก้วให้ดูแลฐานทัพเสบียงที่เวียงป่าซางเมืองลำพูน

แต่เหตุไฉนคนไทยไม่เคยรับรู้เรื่องราวของพญาจ่าบ้านเลย ผิดกับพญากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพจักร หรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ผู้เป็นต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ ลำพูน ฯลฯ พญาจ่าบ้านหายไปไหนหรือ ทั้งๆ ที่เคยเป็นถึงเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์แรกก่อนพญากาวิละ?

เหตุที่ชื่อของพญาจ่าบ้านลบเลือนหายไปจากความทรงจำ ก็เนื่องด้วย “พระสัญญาที่ไม่วิปลาส” ของพระเจ้าตากสินที่ทรงมีต่อกองกำลังทหารโพกผ้าแดงของอุปราชก้อนแก้วนั่นเอง

เรื่องของเรื่องก็คือ ช่วงที่พม่าบุกกลับเข้ามาหมายจะยึดเมืองเชียงใหม่คืนจากสยาม พญาจ่าบ้านกับอุปราชก้อนแก้วได้แบ่งกองกำลังทหารซุ่มโจมตีพม่าคนละทิศ

การสู้รบครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนาน กองทัพของพญาจ่าบ้านอดอยากแร้นแค้นถึงขนาดที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บันทึกไว้ว่า ต้องจับจิ้งจกตุ๊กแกกิ้งก่ากิน

หรือแม้กระทั่งเมื่อจับทหารพม่าได้ 7 นาย แทนที่จะฆ่าทิ้งกลับจำใจต้องแล่เนื้อเถือหนังเพื่อประทังความหิวโหย

พญาจ่าบ้านได้ขอให้กองทัพของอุปราชก้อนแก้วแบ่งปันเสบียงอาหารให้แก่กองทัพตน แต่อุปราชก้อนแก้วเองก็อัตคัดเหลือทนมิอาจทำตามคำขอนั้น

ผลสุดท้ายพญาจ่าบ้านรู้สึกขัดใจจึงเกิดโทสะฆ่าอุปราชก้อนแก้วนั้นเสีย

กองทหารโพกผ้าแดงเมื่อเห็นว่าเจ้านายถูกฆ่าด้วยสาเหตุเพียงแค่เรื่องแย่งชิงเสบียงอาหาร ก็มิอาจร่วมรบรับใช้พญาจ่าบ้านได้อีกต่อไป ต่างคนต่างแตกหนีเข้าป่าไปคนละทิศละทาง

เหตุการณ์นี้เมื่อรู้ถึงพระกรรณของพระเจ้าตากสินเมื่อปี พ.ศ.2323 ทรงมีท้องตราเรียกให้พญาจ่าบ้านหรือพระยาหลวงวชิรปราการกำแพงเพ็ชร ลงไปเข้าเฝ้าที่กรุงธนบุรีเพื่อไต่สวนคดี

เมื่อทราบความตามจริงทรงสลดพระทัยและเสียดายยิ่งนักที่คนดีมีฝีมือเป็นถึงแม่ทัพของกองทหารโพกหัวแดงถูกน้าของตัวเองฆ่า แต่ก็มิได้ทรงลงอาญาแก่พญาจ่าบ้านถึงขั้นประหาร พิพากษาลงโทษให้เฆี่ยนร้อยที แล้วจำคุกไว้จนสิ้นชีวิตในปีต่อมา

จากนั้นจึงได้เลื่อนสถานะของเจ้ากาวิละจากผู้ครองนครลำปาง ให้มาเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่แทน

พระเจ้าตากสินเคยเห็นหน่วยก้านความอาจองของอุปราชก้อนแก้วและกองทหารโพกผ้าแดงมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่มาเข้าเฝ้า ณ พลับพลาพระเจ้าตากเวียงลี้ จึงมีรับสั่งให้เจ้ากาวิละไปเกลี้ยกล่อมกองทหารโพกผ้าแดง นักรบผู้กล้าที่ไร้แกนนำ ซึ่งหนีกระจัดกระจายพรายพลัด ให้กลับออกจากป่ามาเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง

ทหารโพกหัวแดงกลุ่มนี้เมื่อรู้ว่าพระเจ้าตากมีรับสั่งให้มาตามพวกตน ก็ยินดีกลับมาเป็นนักรบฉกาจกล้า ช่วยฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขับไล่พม่าหรือ “กองทหารโพกหัวขาว” ออกจากล้านนาอย่างถวายชีวิต

การที่พญาจ่าบ้านลุโทสะถึงขั้นประหารขุนศึกเอกเช่นอุปราชก้อนแก้วที่เคยร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กรำศึกมาด้วยกัน ซ้ำยังเป็นหลานชายในไส้ ในมุมมองของคนที่เคยผ่านประสบการณ์ความหิวถึงขนาดทุบหม้อข้าวหม้อแกงตัวเองทิ้งมาแล้วยังเอาชนะข้าศึกได้เช่นพระเจ้าตากสิน ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่น่าให้อภัยอย่างยิ่ง

ทว่า นักประวัติศาสตร์หัวไดโนเสาร์กลับฉวยโอกาสนำเหตุการณ์ที่พญาจ่าบ้านถูกลงโทษครั้งนี้ไปใช้เป็นตัวอย่างหนึ่งในการปรักปรำว่าพระเจ้าตากมี “สัญญาวิปลาส” …ขนาดพญาจ่าบ้านผู้ยอมสวามิภักดิ์นำอาณาจักรล้านนามาถวายให้ก็ยังถูกจองจำจนตาย!

ไยจึงไม่มองว่าเหตุการณ์นี้คือภาพสะท้อน “สัญญา” ของพระเจ้าตากสินที่ไม่เคยวิปลาส ทรงมิได้ละเลยความสำคัญหรือมองข้ามคุณงามความดีของ “คนเล็กๆ” เช่นอุปราชก้อนแก้วว่าไร้ค่าไร้ความหมาย จะต้มยำทำแกงอย่างไรก็ได้ในเมื่อขัดขืนผู้บังคับบัญชา ถามว่าคุ้มไหมกับการสั่งสอนพญาจ่าบ้านด้วยบทเรียนราคาแพง ทั้งๆ ที่อุปราชก้อนแก้วตายไปแล้ว ทำไมจึงไม่เลือกข้างคนเป็น แต่กลับเห็นแก่คนตาย

คนเช่นนี้หรือที่มี “สัญญาวิปลาส”

ความทรงจำน่าเจ็บปวดเกี่ยวกับเรื่องราวพระเจ้าตากสินที่เคยถูกบิดเบือนนั้น จักพลิกฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่นับต่อแต่นี้ ทว่า จะไม่รจนามันภายใต้อำนาจพิเศษหรือมือที่มองไม่เห็นอีกต่อไป

ประวัติศาสตร์นอกกระแสจักบันทึกความทรงจำให้คนเปิดใจต่อความจริงได้ตาสว่าง …ไหลบ่าออกมาทีละฉาก ๆ โดยเฉพาะสยามยามวิกฤติที่ “ความจริง” ต้องตกอยู่ใต้มือมืดดังเช่นในทุกวันนี้