อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : นามธรรมไทย แก่นแท้อันเปี่ยมสีสันแห่งศิลปะนามธรรม (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

“ความเป็นนามธรรมมันอยู่กับเรามาตั้งแต่เราเกิด อยู่ในคนทุกคน ไปดูงานเด็กๆ สิ นามธรรมแรงมาก มันไม่ใช่เรื่องรูปธรรมเลยนะ เขาวาดคน ก็ไม่ใช่คนจริงๆ เป็นเส้นเป็นอะไร” สมยศ หาญอนันทสุข ศิลปินนามธรรมไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากลกล่าวเอาไว้”

“ความเป็นนามธรรมมันอยู่กับเรามาตลอด เพียงแต่เราไม่เข้าใจมัน เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร ไอ้งานขาวดำที่ผมทำมันก็มีนามธรรมอยู่ ถ้างานไม่มีนามธรรมมันก็ไม่ใช่งานศิลปะ มันเป็นแค่งานฝีมือ เป็นงานช่าง”

ผลงานของสมยศในช่วงปี 1997-2000

“งานช่างดีๆ ยังมีนามธรรมเลย ไปดูงานญี่ปุ่นสิ ผมว่าเขามีเยอะเลย เวลาผมไปสอนในคอร์สศิลปะ ผมจะบอกทุกคนว่า ผมไม่มีอะไรจะสอนคุณนะ ผมจะเป็นผู้ร่วมทาง ให้คำแนะนำ แต่พวกคุณทุกคนทำงานศิลปะได้อยู่แล้ว เพราะทุกคนเคยเขียนรูปตอนเด็ก เด็กทุกคนเขียนรูปได้ แต่คุณต้องทิ้งกรอบของคุณก่อน คือคนเราเริ่มสั่งสมกรอบต่างๆ มาตั้งแต่เราเริ่มโต แล้วมันทำให้ความเป็นเด็กเราหายไป ความอิสระของเราก็หายไปด้วย เพราะเราถูกกรอบบังคับ”

“อีกอย่าง ผมต้องบอกว่าสิ่งที่ช่วยผมมากก็คือศาสนาพุทธ และคำสอนของพระพุทธเจ้า อันแรกที่ช่วยผมเลย คือผมไปอ่านหนังสือ สิทธารถะ ของ เฮอร์มาน เฮสเซ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาผมมากเลย”

“ความจริงมันไม่มีอะไรเลยนะ ชีวิต ทุกอย่างถ้าเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีแค่ การไม่ยึดติด แค่นั้นเอง

ผลงานของสมยศในช่วงปี 1997-2000

“ทุกวันนี้เวลาผมเขียนรูป ผมไม่เขียนอะไรเลย นอกจากเขียนความรู้สึกในตอนนั้นที่ผมทำงาน คือทุกวันที่เราโตมาตั้งแต่เด็กๆ เราสั่งสมสิ่งต่างๆ เยอะมาก คิดดูสิ เรียนมาเท่าไหร่ พวกเราโตมาเราเรียนอะไรมา สะสมอะไรมาอีกไม่รู้เท่าไหร่ แล้วจริงๆ เราสะสมภาพในชีวิตเราเยอะ สะสมองค์ประกอบ สะสมสี สะสมส่วนผสมอะไรต่างๆ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมเราชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ นั่นเป็นสิ่งที่เราสะสมจากประสบการณ์”

“ทุกอย่างมีสาเหตุ เพียงแต่เราไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้มันคือทุนที่เราจะเอาไปทำงาน วันหนึ่งมันค่อยๆ พัฒนามาจนเราพบว่า เราทุกคนมีโลกของเราเอง”

ผลงานของสมยศในช่วงปี 1997-2000

“ถ้าเราไม่มัวแต่ไปมองข้างนอก เรามองกลับเข้ามาข้างใน โลกของเรามันใหญ่มาก มันเป็นจักรวาลที่ใหญ่ แล้วในจักรวาลนี้มันมีทรัพย์สมบัติเยอะมาก”

“เวลาผมทำงานทุกวันนี้ ผมก็แค่ไปคุ้ยมันออกมา ทำให้มันเป็นภาพออกมาให้เราเห็น เหมือนกับนักโบราณคดีไปคุ้ยสมบัติ แต่สมบัติอันนี้จริงๆ แล้วตัวมันเองไม่มีค่าอะไร มูลค่าการซื้อขายเป็นสิ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาทีหลัง มันตอบสนองผมแค่ ถ้าผมทำชิ้นนี้เสร็จ แล้วเราพอใจกับมัน มันก็ให้ความสุขกับเราตอนนั้น แค่นั้น”

“การที่เราเป็นคนทำงานด้านนี้ มันเหมือนกับเวลาเรากินอาหาร พอท้องเราหิว เรียกร้อง เราก็ต้องไปหาของกิน สำหรับผม การเขียนรูปคืออาหารของจิต ของความรู้สึก ถ้าผมขาดมันผมอยู่ไม่ได้ ผมเดือดร้อน ผมมีความทุกข์ ผมเลยต้องทำมัน”

“เวลาไปตามที่ต่างๆ ผมจะชอบถ่ายรูป เพราะผมฝึกตัวเองมาว่าเวลาไปไหน ให้เก็บภาพถ่ายเอาไว้เอามาเป็นทุนทำงาน ไปที่ไหนผมจะสังเกตสิ่งที่ผมเห็น มันจะมีรูปทรง มีแสงเงา มีสี มีส่วนประกอบต่างๆ อยู่รอบๆ ตัวเรา แล้วเราก็รับมันตลอดเวลา เพียงแต่ว่า เราหยาบเกินไปที่จะไปรู้สึกมัน เราไม่ให้ความสำคัญกับมัน”

“ความละเอียดอ่อนตรงนี้ของเราส่วนใหญ่มันจะหายไป เพราะฉะนั้น การทำงานก็คือการฝึกตัวเองกับเรื่องความละเอียดหลายๆ อย่าง ก็เอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาใช้ รูปทรงเส้นโค้ง เส้นตรง วงกลมอะไรต่างๆ มันก็มีอยู่ในธรรมชาติ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ มันก็กลม คราวนี้เราทิ้งสิ่งที่เราไปกำหนดว่ามันเป็นดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ มันก็เหลือแต่ภาพ ไม่ใช่แค่รูปทรงอย่างเดียว มันยังมีพื้นที่ว่างอีก มันยังมีบรรยากาศ มีอะไรต่างๆ”

ผลงานของสมยศในช่วงปี 1997-2000

เวลาทำงานแต่ละครั้ง สมยศจะไม่ร่างภาพก่อน หากแต่ทำลงไปเลยทันที ไม่ว่างานชิ้นนั้นจะเล็ก หรือใหญ่แค่ไหนก็ตาม

“เวลาวาดภาพผมเริ่มเลย สเก๊ตซ์ไม่ได้ ถ้าสเก๊ตซ์แล้วมาทำตาม มันก็แข็ง เพราะเรามีทุกอย่างพร้อมแล้ว เรามีความสามารถในการใช้สี เรามีความรู้เรื่องการผสมผสาน เรื่องอะไรหลายๆ อย่าง เปรียบเทียบกับนักดนตรีเขาก็ต้องมีทักษะที่จะมีอิสระในการแสดงความรู้สึกออกมา”

“เวลาผมทำงานบางทีผมก็เริ่มด้วยการขีดเส้นเส้นหนึ่ง เอาสีสีหนึ่งป้าย หรือบางทีผมเอาเศษสีเหลือๆ มาป้ายไปเรื่อยๆ ในช่วงเวลานั้นสมองเราจะเริ่มทำงาน ความรู้สึกเราเริ่มทำงาน เหมือนเครื่องจักรเริ่มเดิน มันจะมีอะไรเกิดขึ้นบนผืนผ้าใบ หรือบนกระดาษ เราก็ต้องตัดสินใจ”

ผลงานของสมยศในช่วงปี 1997-2000

“แล้วจากตรงนั้นเราก็ค่อยๆ ไปต่อ ผมชอบเปรียบการทำงานศิลปะกับการเดินทาง การผจญภัย เราไปที่ไหนที่เราไม่เคยไปมาก่อน แล้วเราก็ไม่รู้ว่าระหว่างทางมันเป็นยังไง ปลายทางมันเป็นยังไง”

“แต่เราโตขึ้นมา เรามีความรู้ เรามีการหยั่ง ตรงนี้อันตรายนะ ก็หลบมัน หาทางอื่น ตรงนี้ไม่ได้ ทางตัน ก็ไปทางอื่น เวลาทำงานก็เหมือนกัน”

แล้วถ้าจะถามว่าแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าจุดมุ่งหมายของการเดินทางมันจะอยู่ตรงไหน ภาพนี้จะเสร็จเมื่อไหร่ สมยศตอบคำถามนี้ได้อย่างคมคายว่า

“เวลาเรากินข้าว ใครบอกเราล่ะ ว่าเราจะอิ่มตอนไหน? เราบอกตัวเราเองใช่ไหม มันเหมือนกัน ถ้าเปรียบตรงๆ นะ มันเหมือนเวลามีเซ็กซ์ ตอนเสร็จ ใครเป็นคนบอก? เรารู้เองใช่ไหม การทำงานบางครั้งมันก็มีบางครั้งที่ผิดพลาดเหมือนกัน ถ้าเราไม่แน่ใจว่างานนี้มันโอเคหรือไม่ ก็ตั้งทิ้งเอาไว้ สองสามวันค่อยมาดู มันก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้สัญชาตญาณนั่นแหละ”

“ลองสังเกตเด็กเล็กๆ ดูสิ เขาวาดคนยังไม่เป็นคน แต่เขาบอก “นี่แหละคน” พอเริ่มโตขึ้นมาเขาก็วาดรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่สำคัญมาก คือ ความรู้สึกที่อิสระ เขาไม่ได้แคร์ว่าใครจะมาซื้อ หรือใครจะมาว่าอะไรเกี่ยวกับรูปของเขา”

“ส่วนคนที่โตขึ้นมาแล้ว ยังไงก็ไม่มีอิสระ เราโดนกฎเกณฑ์บังคับเยอะมาก เอาง่ายๆ คุณอยู่เมืองไทยเนี่ย เราไม่รู้ตัวเลยว่ามีกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมบังคับเราเยอะมาก เราจะรู้ก็ต่อเมื่อเราไปมีประสบการณ์ที่อื่น อย่างคนที่ไปอยู่ยุโรป หรือประเทศอื่นๆ เขาจะไปรับรู้วัฒนธรรมแบบอื่นมาแล้ว ถึงจะมองเห็นว่าเราถูกกฎเกณฑ์บังคับ นี่คือปัญหา”

“แต่จริงๆ แล้วการทำงานศิลปะมันไม่ได้มีอะไรมันเป็นเรื่องง่ายๆ ทุกอย่างง่ายๆ มันไม่มีเรื่องเกียรติยศ ไม่มีเรื่องคุณค่า ไม่มีอะไรเลย แค่เกิดขึ้นแล้วมันก็จบไป แล้วก็มีคนมาร่วมกันเสพสิ่งที่คุณทำเสร็จแล้ว เรื่องคุณค่าของงานมันเป็นเรื่องที่เราตั้งกันเอง เป็นเรื่องที่ตลาดเขาตั้งกันเอง”

มีคำถามที่คนส่วนใหญ่มักจะสงสัยกันว่า ทำไมงานศิลปะนามธรรมถึงดูไม่รู้เรื่อง? สมยศกล่าวว่า

“เพราะเราไปสัมผัสมันผิด คนส่วนใหญ่ชอบไปหา “ภาพ” ในงาน ไปหาสิ่งที่เราเคยรู้จักมาก่อน ว่าทำไมมันไม่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ไม่มีคน ไม่มีอะไร มีบางคนนี่มาดูภาพผมแล้วบอกว่า อ๋อ ตรงนี้เหมือนหน้าคน เป็นเหมือนช้าง เพราะเขามัวแต่ไปหาภาพ”

ผลงานของสมยศในช่วงปี 1997-2000

“ความจริงทุกคนมีความสามารถในการสัมผัสงานนามธรรมได้หมด เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ไปให้ความสำคัญกับความรู้สึก งานนามธรรมเป็นเรื่องของความรู้สึก เรามัวแต่ไปหาอะไรที่เป็นเรื่องที่เราเข้าใจ ไปหาความหมาย เราไม่ได้ไปหาความรู้สึก การเข้าถึงมันไม่ได้ยากขนาดนั้น”

“บางคนนี่กลัวเลยนะ พอพูดถึงงานแอบสแตร็กเนี่ย บอกว่าหัวไม่ถึงบ้าง รู้สึกเหมือนตัวเองต่ำต้อยไปเลย คิดว่าต้องปีนกระไดดู ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะว่าเขาถูกสอนมาผิดๆ”

“บางทีบางคนไปดูภาพในหอศิลป์ในนิทรรศการแล้วไม่เข้าใจ ก็ไปเหยียดหยามกันเลยก็มี ทั้งๆ ที่จริงๆ มันง่ายมาก มันเป็นพิ้นฐานของมนุษย์”

“เช่น ทำไมแต่ละคนเลือกสิ่งต่างๆ มาประดับตัวเองต่างกัน ทำไมวันนี้เราต้องใส่กางเกงตัวนี้กับเสื้อตัวนี้ หรือผู้หญิงบางคนทำไมต้องใส่ต่างหู ต้องแต่งหน้าแต่งตา ทาเล็บ มันเป็นเรื่องความรู้สึก เป็นเรื่องนามธรรม มันไม่มีกฎเกณฑ์อะไรบอก บางทีสิ่งที่คนหนึ่งชอบ อีกคนอาจไม่ชอบ หรือเราชอบผู้หญิงคนนี้ แต่อีกคนไม่สนใจ แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน”

“เพราะฉะนั้น คนดูงานแต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน”

“เรื่องความหมายต่างๆ นั้นเป็นการอุปโลกน์เพื่อสร้างความประทับใจ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาตอนหลัง สิ่งเหล่านี้อธิบายไม่ได้ เป็นประสบการณ์ที่แต่ละคนต้องสั่งสมกันมาเพื่อมาสัมผัสกับมันเอง”

ผลงานของสมยศถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการทั้งกลุ่มและเดี่ยวทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมนี รวมถึงในสวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา, ฮ่องกง และอยู่ในคอลเล็กชั่นของหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ รวมถึงนักสะสมงานศิลปะทั่วโลก

นอกจากนั้น ผลงานของเขายังเป็นงานศิลปะบนปกด้านในของอัลบั้มวงดนตรีร็อกชื่อดังระดับโลกอย่าง Guns N” Roses ในชุด Chinese Democracy อีกด้วย

ผลงานของสมยศบนปกด้านในของอัลบั้ม Chinese Democracy ของ Guns N’ Roses ภาพจาก https://goo.gl/CtYuvx

เรื่องของเรื่องก็คือ แอ็กเซิล โรส นักร้องนำของวง เคยซื้อภาพวาดของสมยศไปติดบ้าน และชื่นชอบผลงานชิ้นนี้ของเขาจนนำไปไว้ในปกอัลบั้มนั่นเอง

ปัจจุบัน สมยศใช้ชีวิตและทำงานศิลปะทั้งในสตูดิโอที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย และในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี

 

ผู้อ่านสามารถคลิกอ่าน  อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : นามธรรมไทย แก่นแท้อันเปี่ยมสีสันแห่งศิลปะนามธรรม (ตอนแรก)