อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : นามธรรมไทย แก่นแท้อันเปี่ยมสีสันแห่งศิลปะนามธรรม (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ถ้ากล่าวถึงศิลปินไทยที่ทำงานศิลปะแอบสแตร็ก (Abstract Art) หรือศิลปะนามธรรม ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ชื่อของ สมยศ หาญอนันทสุข คงไม่พ้นต้องได้รับการยกขึ้นมาในลำดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

ศิลปินหนุ่มใหญ่ผู้นี้ ใช้เวลาเกือบครึ่งศตวรรษสร้างสรรค์และแสดงผลงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฟากในแถบยุโรป

เกิดในปี 1949 แรกเริ่มเดิมที สมยศมีความสนใจศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยสภาพแวดล้อมในครอบครัวที่ชอบศิลปะกับดนตรี ถึงแม้ทางบ้านของเขาจะมีฐานะไม่ดีนัก

ตอนเด็กๆ สมยศมักวาดรูปส่งประกวดตามรายการโทรทัศน์บ่อยๆ

ต่อมาในปี 1967 เขาเข้าศึกษาศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์ กรุงเทพฯ ถึงแม้ทางบ้านจะไม่เห็นด้วยนัก

ต่อมาเขาก็เข้าศึกษาต่อในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 1968

ในระหว่างนั้นเอง ที่เขาได้มีโอกาสศึกษาศิลปะกับศิลปินไทยระดับตำนานผู้ล่วงลับอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง

จ่าง แซ่ตั้ง และ สมยศ กับ ภาพวาด Portrait of Chang Saetang (1978), สีน้ำมันบนผ้าใบ

“ตอนผมเรียนช่างศิลป์ปีสอง ผมได้รู้จักกับพี่จ่าง แซ่ตั้ง โดยบังเอิญ คือเสาร์อาทิตย์ผมไปวาดรูปตามวัด บังเอิญไปเจอแกพาลูกไปวาดรูปที่วัดริมแม่น้ำ ก็ไปยืนดูแกวาดรูป แกก็ชวนคุย พอแกกับลูกๆ วาดรูปเสร็จ แกก็ชวนไปบ้าน ก็ไปกับแก ไปถึงเจองานแอบสแตร็กเต็มบ้าน ดูไม่รู้เรื่อง แกก็คุยอะไรต่ออะไรให้ฟัง เราฟังแล้วก็น่าสนใจดี ตอนหลังก็แวะไปเรื่อยๆ พอไปบ่อยเข้า เราก็รู้สึกว่า สิ่งที่แกพูดไม่เหมือนกับที่เราเรียนเลย”

“บางทีเสาร์อาทิตย์ผมก็เลยไปหาแกที่บ้าน แกก็ชวนผมไปเขียนรูปตามท้องนา ผมดูแกเขียนก็ไม่รู้เรื่อง แกชวนให้เขียน เราก็เขียน”

“จริงๆ เราไม่ได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์แกนะ เราก็เรียกแกพี่ ไปไหนมาไหนก็ไปกับแก ก็ได้อิทธิพลจากแกคือแต่งชุดดำ ไว้ผมยาว พอเริ่มเข้าศิลปากร ผมทะเลาะกับที่บ้าน หนักเข้าก็เลยออกจากบ้านไปนอนที่คณะ ตอนหลังพี่จ่างก็ชวนไปอยู่บ้าน ก็เลยกลายเป็นลูกศิษย์แกไปโดยปริยาย”

“หลังจากจบอนุปริญญา ตอนนั้นก็มีคนทำงานรุ่นใหม่ไม่กี่คน ก็มี จุมพล อภิสุข มี สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ที่เป็นลูกศิษย์พี่จ่างมาด้วยกัน”

“มีคราวนึงแกพูดถึงภาพเขียนจีน มันดูยิ่งใหญ่ แกพูดว่า ถ้าเราเป็นมด ภูเขามันจะใหญ่มาก ประโยคนี้มันติดสมองผมมาตลอด ตอนนั่งเรียน ก็นั่งคิดว่า เอ๊ะ ถ้าเราเป็นมด นิ้วเรามันต้องใหญ่มาก ผมก็เลยไปนั่งดรอว์อิ้งริมสะพานพุทธ เขียนนิ้วตัวเองเป็นเซอร์เรียลลิสม์ มโนภาพว่ามันเป็นภูเขา เขียนอยู่หลายรูป รูปก็ไม่ได้ใหญ่ รูปเล็กๆ เป็นดรอว์อิ้งปากกาลูกลื่น สมัยนั้นมันเพิ่งเข้ามา วันนึงได้หลายรูปแล้ว ก็ไปหาพี่จ่าง เราก็ไม่มั่นใจนะ ก็บอกว่า พี่ ช่วยดูอันนี้ให้ผมหน่อย มันเป็นยังไงบ้าง แกดูแล้วแกพูดเสียงดังเลย บอกว่ามันใช่แล้ว ไม่เข้าใจว่ามันดียังไงนะ ได้แต่ทำ ไม่รู้ว่ามันดียังไง”

นั่นคือที่มาของผลงานในยุคแรกของสมยศในช่วงยุค 1970s ที่เป็นภาพวาดลายเส้นขาวดำจากดินสอ ปากกาลูกลื่น พู่กันจีนและหมึกบนกระดาษ และสีน้ำมันบนผ้าใบ โดยเป็นภาพวาดเหมือนจริงของอวัยวะมนุษย์อย่าง นิ้วมือ นิ้วเท้า ใบหน้าคน ที่มีเนื้อหนังเส้นเอ็นปูดโปนหยาบกร้าน หรือวัตถุและทิวทัศน์ ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดอันซับซ้อนพิสดาร และถูกขยายจนใหญ่โตมโหฬาร เพื่อสำแดงพลังทางอารมณ์และความรู้สึกอึดอัดกดดัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเซอร์เรียลลิสม์”

Third World Baby (1976), สีน้ำมันบนผ้าใบ

“และภาพเขียนของจีนที่นำเอารูปทรงของธรรมชาติอย่างภูเขามาเป็นแนวทางในการจัดองค์ประกอบภาพ เนื้อหาของภาพถูกถ่ายทอดในเชิงสัญลักษณ์สะท้อนสังคม และความรู้สึกขัดแย้งต่อสังคมที่เป็นระบอบเผด็จการในยุคนั้น ซึ่งส่งให้เขามีชื่อเสียงโดดเด่นในแวดวงศิลปะของไทยในสมัยนั้น”

และผลงานชุดนี้นี่เอง ที่ทำให้เขาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมนี ไปศึกษาต่อทางศิลปะจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาจิตรกรรมในสถาบัน Academy of Art (Kunstakademie) ในเมืองมิวนิก ในปี 1972 ในที่สุด

Daumer (1975), สีน้ำมันบนกระดาษลัง

“งานชุดนี้มันทำให้ผมได้ทุนไปเยอรมนี คือสมัยนั้น พี่ถวัลย์ ดัชนี แกสนิทกับพี่จ่าง พอแกเห็นงานผมที่บ้านพี่จ่าง แกก็ถามว่าใครทำ? แกชอบงานผมมาก ถึงได้มาสนิทกัน มีอยู่วันนึงเราไปนั่งที่เกอเธ ตอนนั้นอยู่ถนนพระอาทิตย์ พวกเราชอบไปที่นั่นกันเพราะมันมีห้องสมุด มีหนังสือศิลปะที่หาดูยากมาก และก็มีหนังเกี่ยวกับศิลปินมาฉาย พวกเราก็จะไปชุมนุมกัน ตอนนั่งคุยกันแกก็ยุให้ผมไปหาประสบการณ์ที่เมืองนอก ผมก็บอก แล้วผมจะไปได้ยังไง? ตังค์จะกินข้าวจะยังไม่มีเลย”

“แกก็บอกว่า ตามประเทศต่างๆ เขามีทุนให้ ซึ่งในยุคนั้นพวกเราไม่รู้เรื่อง นอกนั้นที่ศิลปากรไม่มีใครรู้ แล้วพวกเราภาษาอังกฤษก็ไม่ได้กัน พอดีผู้อำนวยการเกอเธเดินผ่านมา แล้วเขาก็รู้จักพวกเรา เพราะสมัยนั้นมันมีคนแสดงงานศิลปะน้อย ที่ไหนมีเขาก็แห่ไปดูกันหมด ก็เลยถามเขา เขาก็บอกให้เราไปที่สถานทูต ไปหาคนนี้ แผนกนี้”

“หลังจากวันนั้นนานพอสมควร ผมก็ไป ก็พบว่าเขาเตรียมเอกสารไว้ให้ตั้งสองอาทิตย์แล้ว ได้เอกสารมาก็วิ่งกลับไปเกอเธ ให้บรรณารักษ์ที่ห้องสมุดช่วยแปล ช่วยกรอกข้อความให้ ผมก็ถ่ายรูปงานส่งไป”

Finger (1975), สีน้ำมันบนกระดาษลัง

“วันหนึ่งเขาก็เรียกไปสัมภาษณ์ ก็คุยไม่รู้เรื่องหรอก เพราะภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่มีอาจารย์จุฬาฯ คนหนึ่งช่วยผม คนอื่นถามแกตอบให้ แกชอบงานเรา มารู้ทีหลังว่าตั้งแต่เราส่งเอกสารไปเราก็ได้แล้ว คือภรรยาของผู้อำนวยการเกอเธเขาจบศิลปะมาจากมิวนิก เขาไปเห็นงานผม เขาก็ไปบอกสามีว่า คุณต้องให้คนนี้ไปเรียน ผมก็ได้ไปโดยได้ทุน DAAD (German Academic Exchange Service) ของเกอเธ”

“ตอนนั้นภาษาก็ยังไม่ได้ เขาให้เรียนภาษาสี่เดือน เพราะเขาสอนเป็นภาษาเยอรมันเลย เราไม่มีพื้นฐาน ก็สอบตกแหละ แต่พอดีเรียนศิลปะมันไม่ค่อยใช้ภาษา เขาดูผลงานเอา”

แต่หลังจากนั้นสมยศกลับละทิ้งการทำงานศิลปะในรูปแบบเดิมที่เคยสร้างชื่อเสียงให้เขา และเปลี่ยนแนวทางในการทำงานอย่างสิ้นเชิง

“ในยุคนั้นมีเรื่องเข้าใจผิดสำหรับผมอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าเราเจอทางหรือมีสไตล์ของเราแล้ว เราจะต้องทำอย่างงั้นไปเรื่อยๆ ไปตลอด แล้วสมัยก่อนผมก็เป็นคนเครียดมาก งานมันก็เลยออกมาอย่างงั้น แต่มาวันหนึ่งผมทำงานแบบเดิมไม่ได้ ผมทำแล้วไม่รู้สึกกับมัน แต่เรายังเชื่ออยู่ว่า เราจะต้องทำแบบนี้ เพราะมันเป็นสไตล์ของเรา แล้วคนยอมรับด้วย ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาในอคาเดมีที่ทุกคนรู้จัก มีชื่อเสียง”

“จนในที่สุดผมล่มไปพักหนึ่ง เพราะเรามัวไปยึดติดกับรูปแบบ แต่ข้างในเราไม่มี แล้วมันยื้อกันไปยื้อกันมา ทำงานก็ไม่สนุก ทำไม่ออก มันก็เลยมีแต่งานครึ่งๆ กลางๆ ทำขึ้นมาแล้วก็ไปไม่รอด ตอนนั้นผมหยุดแสดงงานไปนานเลย”

Heels and Guns (1971), สีน้ำมันบนผ้าใบ

“แต่ในยุโรปมันดีอยู่อย่างนึง มันมีหนังสือให้อ่านเยอะ ผมอยู่ที่โน่นผมก็พยายามทำความเข้าใจกับปัญหา ได้พูดคุย ได้ถกปัญหา รายการทีวีบางทีก็มีนำเสนอเรื่องปัญหาชีวิต เรื่องจิตวิทยา คงเป็นเพราะตัวเองมีปัญหาเราก็เลยสนใจ พอเจอรายการพวกนี้ผมจะสนใจดู แล้วเราก็มามองที่ตัวเรา อ๋อ อย่างงี้นี่เอง แล้วปมต่างๆ มันก็ค่อยๆ แก้ไปทีละปมๆ จนวันนึง ความรู้สึกผมเปลี่ยน ชีวิตผมก็เปลี่ยน งานแบบเดิมผมทำไม่ได้แล้วนะ มันไม่มีข้างใน งานแบบนั้นมันเกิดจากความรู้สึกข้างในของเรา”

“เคยมีครั้งนึงที่คิดจะเลิกด้วย ไม่ทำงานศิลปะอยู่ประมาณสองอาทิตย์ ไม่จับเลย โอ้โห มันนอนไม่หลับน่ะ มันเดือดร้อน เพราะเราทำมาตลอด ก็เลยบอกตัวเองว่า โอเค มันคงเป็นทางของเราที่จะต้องทำ ก็ทำ แล้วหลังจากที่ทุกอย่างคลี่คลายไป งานก็เริ่มเปลี่ยน ก็เริ่มเกิดงานที่มีสีสันขึ้นมา มันก็คลี่คลายมาจนทุกวันนี้”

ในปี 1979 สมยศเข้าศึกษาต่อที่สถาบัน Royal Academy of Art, University of Copenhagen กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ผลงานในยุคต่อมา (1990s) ของเขาได้แรงบันดาลใจจากศิลปะพื้นบ้านของไทยในแต่ละท้องถิ่น เช่น ลวดลายบนสิ่งทออย่างผ้าถุง ผ้าซิ่น และชุดชาวเขาที่มีสีสันและลวดลายสดใสสวยงาม รวมถึงศิลปะไทยโบราณจนเกิดเป็นผลงานจิตรกรรมที่เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวออกมา

ผลงานของสมยศในช่วงปี 1991-1996
ผลงานของสมยศในช่วงปี 1991-1996

และในที่สุดในช่วงปี 1997 จนถึงปี 2000 ผลงานของเขาก็คลี่คลายและพัฒนามาเป็นผลงานจิตรกรรมแบบนามธรรมที่ไร้เรื่องราว รูปแบบให้ขบคิดหรือตีความ หากแต่สามารถสัมผัสและรับรู้ได้ด้วยอารมณ์และความรู้สึก ที่เกิดจากการหยอดสี เทสี หรือวาดเส้น สี รูปทรง ลงบนผืนผ้าใบ จนกลายเป็นผลงานศิลปะที่เปี่ยมไปด้วยสีสันอันบรรเจิด

ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ขอบคุณภาพจากคุณสมยศ หาญอนันทสุข