คุยกับทูต ‘คีริลล์ บาร์สกี้’ รัสเซียกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน

คุยกับทูต คีริลล์ บาร์สกี้ รัสเซียกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน (1)

ประเทศซีเรียกลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งชุลมุนวุ่นวายหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายก็มีจุดประสงค์และความต้องการของตัวเอง ทำให้ความขัดแย้งในครั้งนี้อาจยุ่งเหยิงจนสางไม่ออก ทั้งยังมีการใช้อาวุธสงครามโต้ตอบกันอย่างรุนแรง

ความขัดแย้งเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ.2011 จากกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนเพียงเล็กน้อยตามกระแสอาหรับสปริง แล้วขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง

ต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลซีเรียโดยประธานาธิบดี บาซาร์ อัล อัสซาด (Bashar al-Assad) ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และการแทรกแซงจากกองกำลังต่างชาติ

เมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร ได้แก่ อังกฤษ และฝรั่งเศส เปิดปฏิบัติการทางทหารโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดต่อรัฐบาลซีเรียนับตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองที่นั่น ในช่วงกลางดึก เวลาประมาณ 01.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นซีเรีย (ตรงกับเวลา 07.00 น. เช้าวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย) มีเป้าหมายที่คาดว่า เป็นคลังเก็บอาวุธเคมี เป็นที่ผลิตและวิจัยอาวุธเคมีของกองทัพซีเรียในประเทศซีเรีย ทั้งนี้ เพื่อตอบโต้ที่ซีเรียใช้อาวุธเคมีโจมตีสังหารประชาชน

แม้รัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรของซีเรียจะได้ออกมาขู่ว่า อาจก่อให้เกิดสงครามครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียก็ตาม

แต่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษ ก็ออกมาแถลงยืนยันว่า การตัดสินใจโจมตีทางอากาศต่อซีเรีย “เป็นเรื่องถูกต้องและถูกกฎหมาย”

ก่อนหน้านี้ เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส ออกมากล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นสามในห้าของสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ นายกูแตร์เรสยังได้กล่าวเตือนว่า ทั้งสามประเทศมีพันธะ “ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎบัตรของสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลัก”

วันนี้ นายคีริลล์ บาร์สกี้ (H.E.Mr.Kirill Barsky) เอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ได้มาชี้แจงและแสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่างๆ ตั้งแต่สงครามซีเรีย ความสัมพันธ์กับสหรัฐ นาโต้ จีน เกาหลี และอาเซียน เป็นต้น

เป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ของรัสเซียในสงครามซีเรีย

“ในการตอบคำถามนี้ ผมควรเริ่มต้นด้วยข้อเท็จจริงที่สำคัญบางประการ โดยเหตุที่ประเทศซีเรียเป็นเพื่อนเก่าแก่ที่ดีของรัสเซีย เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในซีเรีย และปี ค.ศ.2013 มีต่างชาติเข้าแทรกแซง อันเป็นส่วนหนึ่งในบริบทของการประท้วงอาหรับสปริง ที่เริ่มต้นในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เป็นเหตุทำให้ซีเรียได้รับความเสียหายอย่างหนัก”

“จึงกลายเป็นการเปิดช่องโหว่ที่เป็นโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศขยายกำลังแพร่กระจายไปทั่วซีเรียและยึดพื้นที่ส่วนใหญ่เข้าเป็นอาณาเขตของตน โดยที่รัฐบาลซีเรียไม่สามารถต้านทานการรุกรานของผู้ก่อการร้ายเพียงลำพังได้ และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากรัสเซียในปี ค.ศ.2015 ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ว่า ประเทศหนึ่งประเทศใดสามารถเข้าควบคุมการดำเนินการด้านการทหารในดินแดนของรัฐอธิปไตยอื่นได้”

“ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัสเซียจึงได้เข้าไปติดตั้งกองกำลังปฏิบัติการของกองทัพอากาศรัสเซียในซีเรีย ตามคำเชิญของรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของสาธารณรัฐอาหรับซีเรีย”

“ต่อคำถามที่ว่า อะไรคือเป้าหมายสำคัญของรัสเซียในประเทศซีเรียนั้น ผมมีคำตอบที่ง่ายและชัดเจนมาก ดังต่อไปนี้

– เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ (เช่น ISIS, Jabhat al-Nusra ฯลฯ)

– เพื่อให้การสนับสนุนทางการทหารและการเมืองแก่ซีเรียในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

– เพื่อรักษาความปลอดภัยแก่บุคลากรทางทหารของรัสเซียในประเทศซีเรีย

– เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการยุติสงครามกลางเมืองตอนต้น ทั้งในกระบวนการปรองดองแห่งชาติ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้ง การสร้างรัฐบาลประชาธิปไตยใหม่ และ

– เพื่อช่วยบูรณะฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมของซีเรียหลังสงคราม”

ส่วนเป้าหมายที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดของรัสเซียและประชาคมระหว่างประเทศนั้น ท่านทูตคีริลล์ บาร์สกี้ กล่าวว่า

“นั่นคือการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวซีเรียหลายล้านคน ที่ต้องการอาหาร น้ำ ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องสุขภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น”

“หลักการสำคัญ คือฟื้นฟูการควบคุมดูแลดินแดนซีเรียโดยรัฐบาลซีเรีย เพื่อปกป้องซีเรียให้เป็นรัฐเอกราช และเป็นรัฐอธิปไตย โดยประกันอำนาจอธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการในความมีเอกภาพ อิสรภาพ บูรณภาพแห่งดินแดนของตนเอง ตามกฎบัตรสหประชาชาติและมติที่ 2254 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ”

การโจมตีเป้าหมายในซีเรียนำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตร

“หลังการโจมตีซีเรียทางอากาศเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนแน่นอนที่สุดว่า เป็นการกระทำที่ล่วงละเมิดต่อบรรทัดฐานและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรของสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากกว่าที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้”

การโจมตีทางอากาศของสหรัฐในซีเรีย

ได้มีความพยายามในการเจรจาเพื่อหาทางออกด้วยวิถีทางการเมือง แต่ก็ยังไร้ข้อยุติ เพราะทุกฝ่ายต่างยึดมั่นในจุดยืนของตนเอง ฝ่ายหนึ่งปกป้องอธิปไตย ต่อต้านผู้ก่อการร้าย ในขณะที่อีกฝ่ายต้องการขับไล่รัฐบาลทรราช และพวกที่ต้องการสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของตน วิกฤตสงครามกลางเมืองซีเรีย จึงกลายเป็นภาวะชะงักงันทางการเมืองระหว่างประเทศ ท่ามกลางการปะทะด้วยอาวุธสงครามอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ท่านทูตคีริลล์ บาร์สกี้ มีความเชื่อมั่นว่า

“สำหรับวิกฤตทางการเมืองในซีเรียนั้น การใช้วิธีทางการทหาร อาวุธ และความรุนแรงไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหา หากแต่เราทุกคนจักต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง เพื่อหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งด้วยกระบวนการเจรจาโดยสันติวิธี ไม่ว่าจะเป็นวิถีทางการเมืองหรือการทูตและให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”