จรัญ พงษ์จีน : พรรคใหญ่กุมขมับ กับสารพัดวิธี “ดูด”

จรัญ พงษ์จีน

จากกฎข้อบังคับของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 “มาตรา 91” ที่ระบุให้การคำนวณหา “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ” ของแต่ละพรรค ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. นำคะแนนที่ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งไปหารด้วยจำนวนเต็มของสมาชิกเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ (500)

2. นำผลลัพธ์จากข้อที่ 1 ไปหารด้วยจำนวนรวมที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้

3. ผลลัพธ์ที่ 2 จำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรค “พึงมี”

4. นำจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรค “พึงมี” ลบด้วยจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคนั้น

5. “ถ้าพรรคใดมี ส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่าจำนวน ส.ส. ของพรรคที่พึงมี พรรคนั้นจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ”

6. “ถ้าพรรคใดมีจำนวน ส.ส. ที่พึงมีมากกว่า ส.ส.เขต พรรคนั้นจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามอัตราส่วน”

จากหลักเกณ์ดังกล่าว จึงเกิดการนิมิตฝันกันไปต่างๆ นานา โดยยกเอาการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายคือปี พ.ศ.2554 มาเป็น “โจทย์” แล้วนำไปบวกลบคูณหาร หาค่าตามหลักคณิตศาสตร์ แบบ “บัญญัติไตรยางศ์”

ตัวเลขในฝัน หลายคนจึงออกมา “สวยคูณสอง”

กล่าวในรายละเอียด ยกตัวเลข “ศึกเลือกตั้ง” พ.ศ.2554 มาคำนวณ มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ 35 ล้านคน นำไปหารด้วย 500 ตาม “กฎข้อที่ 1” คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 70,400

นำคะแนนเฉลี่ย “ข้อที่ 1” คือ 70,400 ไปหารด้วยจำนวนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับ

“ถอดรู้ต” มาเป็นพรรคการเมือง “เพื่อไทย” เลือกตั้ง พ.ศ.2554 ชนะแบบแลนด์สไลด์ ถล่มทลาย 15.7 ล้านเสียง ยึดหัวหาดไปเรียบวุธ จากเขตเลือกตั้ง 200 ที่นั่ง หยิบชิ้นปลามันไปอีกบานตะเกียง จาก “บัญชีรายชื่อ” ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ 2550

เสร็จสรรพทั้ง “เขตเลือกตั้ง” และ “บัญชีรายชื่อ” โกยไปสูงสุดถึง 265 ที่นั่ง คู่ปรับตลอดกาลคือ “ประชาธิปัตย์” ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ “พรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็ก” ไม่ต้องพูดถึงให้เมื่อยตุ้ม

แต่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2560 “พรรคเพื่อไทย” จะม่อยกระรอก เพราะชนปังตอ ติดเงื่อนไขตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่ง “มาตรา 91”

นำต้นทุนเท่าเดิม 15.7 ล้านเสียง ของการเลือกตั้ง 2554 มาเป็นตัวตั้ง คะแนน “พึงมี” ของเพื่อไทย ตัวเลขอยู่ที่ 220 ที่นั่งโดยประมาณการ

เกิดกระแสยังคงเส้นคงวา รักษามาตรฐานตัวเองได้อย่างดีเหมือนเดิม “เขตเลือกตั้ง” ได้มามากเท่าไหร่ “บัญชีรายชื่อ” ยิ่งลดน้อยถอยลง โดยคะแนนเสียง “เต็มตุ่ม” สำหรับพรรคเพื่อไทย ไม่เกินคะแนน “พึงมี” 220 ที่นั่ง

จากหลักเกณฑ์การคิดคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สัดส่วน “บัญชีรายชื่อ” ดังกล่าว ส่งผลให้ถนนการเมืองเกิดสภาพคึกคักยิ่งกว่าตลาดโรงเกลือ ทั้งของจริง-ของปลอม และ “กเฬวราก” ทั้งหลาย แห่มาร่วมแจมกันจำนวนมาก

กิ๊บเก๋สุด-สุดเลย เขาลือกันว่า คือพระเอกของเรา “ไอ้ตัวดูด” ยังมาร่วมวงไพบูลย์ในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจแถว “คนเลือกตั้ง” หลังจากหัวหน้า “คสช.” มีคำสั่งที่ 53/2560 เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมือง แจ้งชื่อยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ให้เวลา 30 วัน ซึ่งปิดหีบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน

ปรากฏว่า “พรรคเก่า” ทั้งประชาธิปัตย์-เพื่อไทย ชีช้ำตามๆ กันด้วยความเสมอภาค

พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกมายืนยันความเป็นสมาชิก 1 แสนราย จากจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด 2.5 ล้าน “เพื่อไทย” ก็หร็อมแหร็ม สมาชิกหลักแสน มายืนยันแค่หมื่นเดียว สต๊อกเหลือแค่ “ก้นหีบ”

ยิ่งไปกว่านั้น 2 พรรคขาใหญ่ “ปวดตับ” ครือๆ กัน “ประชาธิปัตย์” เลือดไหลไม่หยุด กลุ่มยังเติร์กเครือข่าย กปปส. ถูก “ดูด” ไปตั้งแต่ไก่ยังไม่ขัน นำร่องโดย “สกลธี ภัทธิยกุล” ตามด้วย “ชื่นชอบ คงอุดม” ลูกชาย “ชัชวาลย์ คงอุดม” คนดังเตาปูน

ลือแซดกันว่า จะยกทีมตามไปในไม่ช้าไม่นานอีกหลายหน่อ อาทิ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์”

เพื่อไทย เรียงเป็นตับ ไม่ยอมมาปรากฏกายยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค อาทิ กลุ่มมัชฌิมา ของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ซุ้มบ้านใหญ่นิกันติ แห่งตระกูล “สะสมทรัพย์” จากนครปฐม และยังมีกึ๊กๆ กั๊กๆ อีกหลายซุ้มหลายกลุ่ม

ใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบ ทั้งขู่-ปลอบ-กดดัน-อ่อยเหยื่อ สารพัด

กล่าวสำหรับ “พรรคใหม่” ที่ร้อนแรงมากที่สุดในเวลานี้ ใครถูกชักชวนแล้วไม่ไป รับรอง “เสียใจตาย” ในภายหลัง เพราะมีคุณสมบัติถูกสเป๊ก พรรคในฝัน “คนการเมือง” โดยแท้ อยู่ใน “ศูนย์อำนาจ”

และเหนือสิ่งอื่นใด “กลุ่มทุน” สนับสนุน บอกได้คำเดียวว่า “มีไม่อั้น” กระสุนมีเป็นกระสอบๆ รัวเท่าไหร่ รับรอง “ยิงไม่หมด”

วกกลับไปที่ “พรรคพลังประชารัฐ” จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นพรรคพรรคเดียวกับ “พลังดูด” ที่ว่าหรือไม่

รู้แต่ว่า “พลังประชารัฐ” จะตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้กลับมาสู่ทำเนียบ เป็นนายกฯ รอบ 2 มาด้วยเส้นทาง “ฟาสต์แทร็ก” ตามช่องทางที่ 1 ด้วยมาด “นายกฯ คนใน”

ตั้งตุ๊กตาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งใน “พรรคใหม่” ไว้หลวมๆ ประกอบด้วย “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นรองหัวหน้าพรรค “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค

ล่าสุดอาจจะมีการปรับลุกส์ ให้ยอดเยี่ยมไปทุกองค์ประกอบ เข้ากับยุคสมัยอีกนิดหน่อย

อาจจะปั้นดาวดวงใหม่ ให้ “กฤษฎา พวงราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค กับ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มาเป็นเลขาธิการพรรค

ในการนี้ จะมีคนในแวดวง “สื่อมวลชน” ผิวสีพอได้ ไปทำงานมวลชน รั้งรองหัวหน้าพรรค กับ “ผู้อำนวยการพรรค”

มีการประเมินตัวเลขกันแล้วในเบื้องต้นว่า “พรรคใหม่” ไม่ว่าจะใช้บริการใครตามชื่อข้างต้น แมวสีอะไรมาบริหาร จะมี ส.ส. จากเขตเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อ 70-80 ที่นั่ง เป็นอย่างต่ำ

“ย้ำ” อีกครั้งว่า “เป็นอย่างต่ำ” โดยพรรคใหม่จะได้รับเลือกมีสัดส่วนคะแนนเสียงไว้ที่ 7,000,000 เสียง