“ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (29) ข่วงหลวงเวียงแก้ว : จะจัดการอย่างไรกับพื้นที่ทับซ้อนทางประวัติศาสตร์? ตอนที่ 1

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้นำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้มาจากการขุดค้นพื้นที่ “ข่วงหลวงเวียงแก้ว”

อันเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง “คุ้ม” “ข่วง” “คอก” และ “ขึด”!

 

พื้นที่ทับซ้อนทางประวัติศาสตร์

ที่ตั้งของข่วงหลวงเวียงแก้ว ถือเป็นพื้นที่ที่ผ่านการใช้งานมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันหลายยุค เท่าที่สืบค้นได้ นับจากใหม่ไปหาเก่า คือเพิ่งผ่านการเป็นทัณฑสถานหญิงไปหลัดๆ ย้อนไปสู่เรือนจำกลางที่เคยขังนักโทษทั้งชายหญิง

กับข้อมูลทางประวัติศาสตร์เดิม ที่เรารับรู้กันว่าแผนที่สมัยรัชกาลที่ 5 ระบุว่าพื้นที่นี้เรียกว่า “เวียงแก้ว” ย้อนกลับไปอีกในสมัยพระญากาวิละเคยเป็นคุ้มหลวง และหากยิ่งย้อนกลับไปจนถึงสมัยพระญามังรายเมื่อ 700 กว่าปี ก็เคยเป็นพื้นที่พระราชวัง ที่เรียกว่า “ข่วงหลวงเวียงแก้ว”

ภายหลังจากการย้ายทัณฑสถานหญิงออกไปแล้วตั้งแต่ปี 2555 กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการตามความฝันที่ประชาชนชาวเชียงใหม่อยากเห็นคือ อาจได้พบฐานรากของคุ้มหลวงหอคำหลังเดิม ไม่ว่าตั้งแต่สมัยพระญามังราย สมัยพระญาติโลกราช หรือสมัยพระญากาวิละก็ดี ว่าจะมีหน้าตาอย่างไรกันหนอ

จะสร้างบนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือจัตุรัส จะมีย่อมุม ย่อเก็จ แบบใดกันเล่า จะเหมือนกับอาคารหอคำหลวงที่ราชพฤกษ์สร้างขึ้นใหม่โดยอ้างว่าทำตามหอคำหลวงหลังเดิมซึ่งได้ข้อมูลมาจากภาพถ่ายเก่าหรือไม่ หรือจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

หลายคนได้แต่หลับตาจินตนาการ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางนำไปสู่การออกแบบหอคำจำลองหลังใหม่

 

เงื่อนไขสองส่วนที่ต้องคำนึง

กรมศิลปากรจำเป็นต้องคำนึงถึงเงื่อนไขสองส่วน

ข้อแรก ในแง่กฎหมาย มีพระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองโบราณสถาน หากขุดลงไปในพื้นที่แล้วพบว่าเป็นเวียงแก้วจริง มีอาคารอะไรซุกซ่อนอยู่ใต้ดิน ก็จะต้องนำไปพิจารณาด้านกฎหมายโบราณสถาน

ปัญหาคือ จังหวัดเคยจัดให้มีการประกวดแบบสำหรับการพัฒนาพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้วล่วงหน้าไปแล้ว และมีการมอบรางวัลให้แบบที่ชนะการประกวด ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีมาก่อน

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรรู้ไว้ก็คือ ใต้ชั้นดินนั้นมีอะไรซุกซ่อนอยู่บ้างหรือไม่ มีฐานรากโบราณสถานอยู่ตรงไหนไหม จุดไหนเป็นกำแพงวัง แนวไหนเป็นผนังคอก?

ข้อสอง ต้องคำนึงถึงความสำคัญของพื้นที่ในแง่ประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า พระญามังรายสร้างวังในบริเวณที่กวางเผือก 2 แม่ลูกอาศัย

ปัจจุบันยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า พระญามังรายไปไล่สุนัขที่วิ่งไล่กวางในบริเวณไหน ตำนานบอกว่าบริเวณนั้นอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบริเวณที่ท่านสร้างหอนอนชั่วคราวในเวียงเหล็ก (บ้างเรียกเวียงเล็ก) คือวัดเชียงหมั้นปัจจุบัน

เมื่อมีการสอบทานข้อมูล นักวิชาการมีฉันทามติว่า จุดที่ตั้งคุ้มหลวงของพระญามังรายก็ควรจะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดเชียงหมั้น แต่ไม่มีใครทราบว่าอยู่จุดไหนแน่ชัด

โชคดีที่มีการระบุในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า คุ้มของพระญามังรายนั้นตั้งอยู่กึ่งกลางสายสะดือเมือง เมื่อเปรียบเทียบตำแหน่งทาบเชิงสัมพัทธ์ แม้ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่พอกำหนดเลาๆ ว่าจุดที่เป็นวังหรือคุ้ม น่าจะเป็นจุดในบริเวณคอก (คุก) เก่านี้?

 

การขุดค้นทางโบราณคดี

ในส่วนเนื้อหาทางโบราณคดีที่ศึกษา สายกลาง จินดาสุ ได้ดำเนินการ 4 กิจกรรมหลักคือ

หนึ่ง สำรวจทางธรณีฟิสิกส์ คือการใช้คลื่นสแกนหาฐานรากสิ่งก่อสร้างใต้ดิน เพื่อจะได้ทราบว่าแนวโน้มตรงส่วนไหนที่เป็นแนวกำแพง ได้รับความร่วมมือจากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาช่วยกำหนดอายุ กำหนดหาค่าโบราณวัตถุให้แม่นยำขึ้น

สอง ขุดค้นทางโบราณคดีเสร็จแล้ว 6 หลุม ในเขตที่เรียกว่าพื้นที่เวียงแก้ว พบว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นการศึกษาพื้นที่ใจกลางเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งแรก ซึ่งไม่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดีกลางเมืองเชียงใหม่มาก่อน ที่ผ่านมาแม้จะมีการขุดค้นวัดสะดือเมือง อินทขีล วัดเจดีย์หลวง แต่ก็เป็นเพียงการขุดแต่งขุดลอกดินที่ทับถมรอบๆ โบราณสถานออกไป ไม่ใช่การขุดค้นชั้นดินที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในพื้นที่กำแพงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีความหมาย มีนัยในการบอกเล่าเรื่องราวของเมืองเชียงใหม่มาก

สาม ขั้นตอนการขุดแต่งพื้นที่ ขุดลอกดินที่ทับถมรอบๆ โบราณสถานออก

สี่ ขั้นตอนการบูรณะ

การขุดค้นทางโบราณคดีแบ่งเป็นจำนวน 6 หลุม 1.หลุมแรกอยู่ด้านทิศเหนือของศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก (นอกรั้วกำแพงคุก) 2.อยู่ด้านข้างอาคารทิศตะวันออก 3.-4.ด้านหน้าโรงอาหาร 2 หลัง 5.ด้านหน้าศาลเจ้าที่ 6.ด้านหลังอาคารหอประชุม คือทิศใต้

 

พบหลักฐานเก่าถึงพระญามังรายไหม

ชั้นดินมี 4 ชั้นหลักๆ

ชั้นบนสุด จากผิวดินลงไปจนถึงความลึกประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นพื้นที่สมัยปัจจุบัน มีการถมปรับ ลาดยางมะตอย พบอิฐต่างขนาดกัน บางชิ้นมีขนาดเล็กกว่าอิฐในอดีต วิธีกระบวนการสร้างอิฐก็ต่างกัน เพราะใช้ปูนซีเมนต์สอ ไม่ได้ใช้ปูนตำปูนหมัก

ชั้นที่ 2 ลึกลงไปเกินกว่า 50-100 เซนติเมตร เป็นช่วงการใช้งานในสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นไป เจอเหรียญกษาปณ์ระบุ ร.ศ.113 ซึ่งสอดคล้องกับอายุของประวัติศาสตร์พื้นที่

ชั้นที่ 3 เป็นช่วงพระญากาวิละเข้ามาใช้พื้นที่ สืบต่อมาถึงยุคเจ้าหลวงคำฝั้น เจ้าหลวงพุทธวงค์ เจ้ามโหตรประเทศ และหยุดแค่นั้น ครั้นยุคเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ มีการรื้อหอคำของเจ้าหลวงมโหตรประเทศออกไปสร้างวิหารวัดพันเตา กับเจ้าหลวงอินทวโรรส ก็มีการผาติกรรมไปสร้างวิหารวัดแสนฝาง

อย่างน้อยที่สุดชั้นที่ 3 นี้ พื้นที่การใช้งานต้องมีมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 จึงหวังว่าตัวฐานรากที่ขุดนั้นน่าจะพบแนวกำแพงของเวียงแก้วที่แบ่งเขตชั้นนอกชั้นใน แต่ครั้นเมื่อดูภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2487 ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นไปได้ว่าหากไม่ใช่แนวกำแพง ก็อาจเป็นอาคารอีกหลัง

ชั้นที่ 4 เป็นยุคล้านนา พบหลักฐานที่เก่าสุดคือเศษภาชนะเครื่องถ้วยประเภทเครื่องเคลือบเซลาดอน หรือเครื่องเคลือบเขียวไข่กา กำหนดอายุตรงกับราชวงศ์หมิงของจีน ซึ่งร่วมสมัยกับอาณาจักรล้านนาตอนกลาง ไม่ใช่ช่วงที่เริ่มสร้างเชียงใหม่ในสมัยพระญามังราย

ปัญหาคือ เราไม่ได้เจอในชั้นดินที่อยู่ล่างสุด แต่เจอในชั้นดินถมทับด้านบนที่ปะปนร่วมกับชั้นดินที่พบเศษเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาสันกำแพง และเตาเวียงกาหลง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ราวยุคพระญาติโลกราช

ปรากฏการณ์เช่นนี้สามารถอธิบายได้อย่างไร ขอเปรียบเทียบให้เห็นว่า เหมือนกับถ้าเราเจอเหรียญเงินยุคปัจจุบันร่วมชั้นดินกับสตางค์แดงหรือเงินรูเปียยุครัชกาลที่ 5

แสดงว่ามีการนำดินจากชั้นล่างโกยขึ้นมาชั้นงานใหม่ปะปนกับดินชั้นบน ดินมีการถูกรบกวน

เป็นไปได้ว่าเครื่องถ้วยเซลาดอนสมัยราชวงศ์หมิงคงถูกขุดจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในบริเวณนั้นซึ่งถูกนำมาใช้ใหม่ในยุคหลัง

เป็นได้ไหมว่า ตอนที่พระญากาวิละเข้ามาสู่เมืองเชียงใหม่เมื่อ 200 กว่าปีก่อน ขณะนั้นเมืองต้องร้าง ต้องหักร้างถางพงให้โล่งเตียน คือต้องมีการปรับพื้นที่ก่อนที่จะให้เข้าไปอยู่อาศัยได้ หมายความว่า อาจมีการเอาเนื้อดินในยุคล้านนาสมัยเมื่อ 700-500 ปีก่อน ขุดขึ้นมาปรับหน้าดิน เพราะพบว่าฐานแต่ละชั้นมีดินเก่ามาอัดปนรวมกับดินใหม่

เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ท้าทายที่นักโบราณคดีต้องค้นหาคำตอบ ด้วยการเทียบเคียงจากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และทางวิทยาศาสตร์คู่ขนานกันไป

และหากหลักฐานทางโบราณคดีเก่าถึงแค่ 500 ปี แค่ยุคพระญาติโลกราช แต่ไม่ถึง 720 ปี ในยุคพระญามังราย ก็มีคำถามตามมาว่า หอคำหรือข่วงหลวงเวียงแก้วของพระญามังราย ตั้งอยู่ที่ไหนกันฤๅ?