เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร ว่าด้วย’สูกรมัททวะ’

พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร (3)

3. เกี่ยวกับสูกรมัททวะ

สูกรมัททะวะคืออะไร

ผู้เขียนมิได้ชี้ชัดว่าคืออะไร เพียงแต่นำทรรศนะของนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์มาอ้างว่า

“เป็นเห็ดชนิดหนึ่ง เนื่องมากจากรากศัพท์ว่า สุกร ได้แก่ หมู และ มัททวะ แปลว่าอ่อนหรือนิ่ม เมื่อนำมาสมาสกันทำให้ได้ความว่า นิ่มสำหรับหมู คือเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่หมูชอบ เพราะความนิ่มของมัน การตีความในลักษณะนี้เข้าได้กับทิฐิของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สายจีน ซึ่งเชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นมังสวิรัติ”

ผู้เขียนสรุปว่า “ไม่ว่าสูกรมัททวะนี้จะเป็นอะไรก็ตาม ก็คงไม่ใช่สาเหตุของการป่วยโดยตรง แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก ที่ทำให้โรคที่สะสมกันมานานและเคยกำเริบมาครั้งหนึ่งแล้วปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง”

ผู้เขียนบอกว่า พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยการเสวยสูกรมัททวะ แต่ปรินิพพานด้วยโรคประจำตัวของพระองค์ ซึ่งคืออะไรแน่ ผู้เขียนก็ใช้ความรู้ทางการแพทย์วิเคราะห์ยืดยาวข้อสรุปก็ไม่เห็นหนีไปจากที่ชาวพุทธทั่วไปได้รู้กันอยู่แล้ว

ชาวพุทธทั่วไปรู้กันแล้วว่า สูกรมัททวะคืออะไร หรือพูดให้ถูกก็น่าจะเป็นอะไร และไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็มิใช่สาเหตุทำให้ปรินิพพาน

ชาวพุทธรู้กันอยู่แล้วว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระโรคประจำคือ “ปักขันทิกาพาธ” (ถ่ายเป็นโลหิต) ปักขันทิกาพาธจะเรียกด้วยภาษาแพทย์สมัยนี้ว่าอย่างไรก็ตาม อาการก็คือมีการตกเลือดอย่างมาก ปรากฏว่าพระพุทธองค์ทรงประชวรด้วยพระโรคนี้เป็นครั้งคราว บางครั้งก็อาการสาหัส ถึงกับบรรยายไว้ว่า “ภาชนะหนึ่งเข้า ภาชนะหนึ่งออก” แต่พระโรคนี้ก็มิใช่สาเหตุให้ปรินิพพาน

เพราะการปรินิพพานทรงกำหนดไว้ก่อนแล้วว่า เมื่อใดที่ไหน ด้วยอาการอย่างไร โรคประจำตัวเป็นเพียงโรคประจำสังขาร ทุกขเวทนาถ้ามีมาก พระองค์ก็ทรงระงับได้ด้วยกำลังสมาธิ

แม้ทรงกำหนดว่าจะปรินิพพานตามวันเวลาที่ตรัสบอกไว้ ถ้าพระองค์จะยืดเวลาออกไปอีกเป็นชั่วกัป ก็ย่อมทำได้ นี้แสดงว่าถ้าจะทรงใช้พลังสมาธิแล้ว พระองค์ก็จะอยู่ได้เป็นกัปโรคภัยอะไรจะมาทำให้สิ้นพระชนม์หามีไม่

ถึงตรงนี้ก็เห็นต้องบอกว่า ผู้เขียนบทความ ข้อมูลไม่แม่น เมื่อข้อมูลไม่แม่นก็นำไปสู่การสันนิษฐานผิดๆ ที่พระพุทธองค์ว่าถ้าพระองค์จะยืดพระชนมายุไปอีกตลอดกัปก็ย่อมได้เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญอิทธิบาทสมบูรณ์เต็มที่แล้ว

ผู้เขียนบทความไปตีความว่าหมายถึง กาลเวลาอันยาวนานมากเป็นกัปเป็นกัลป์

ที่จริงคำว่า “กัป” ในที่นี้คือ “อายุกัป” (life span, กำหนด อายุของมนุษย์ ทั่วไปในยุคนี้ก็ประมาณ 1-100 ปี ที่ว่าพระองค์สามารถยืดพระชนมายุออกไปจนอยู่ได้ถึงหนึ่งกัป ก็คือพระองค์พระชนมายุได้ 80 พรรษา แล้วจะยืดออกไปอีกให้เต็มอายุกัป ก็จะมีพระชนมายุถึง 100 ปี)

ชาวพุทธทั่วไปรู้กันแล้วว่า พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธแต่พระองค์ทรงดับสนิทด้วย “อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

การตั้งคำถามว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไรนั้น จึงเป็นการถามไม่ถูก ไม่ตรงประเด็น เมื่อถามไม่ตรงประเด็น ก็ป่วยการจะทราบคำตอบ ถึงจะพยายามหาคำตอบมาอธิบายมากมาย ก็ไม่มีน้ำหนักจะรับฟัง นอกจากจะ “รู้ไว้ใช่ว่า” หรือฟังปตามมารยาทเท่านั้น

ไหนๆ ก็จะ “รู้ไว้ใช่ว่า” แล้วก็ขอให้สำเนียกทรรศนะที่โบราณาจารย์ท่านแสดงไว้เกี่ยวกับสูกรมัททนะไว้บ้างก็จะดี

ในอรรถกถา สุมังคลวิลาสินี (ภาค 2 หน้า 172) ท่านให้ความหมายไว้ 3 ประการ คือ

1. เนื้อสุกรอ่อน (นาติรุณสฺส นาติชิณฺณสฺส เอเชฏฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ ตํกิร มุทุญฺเจว สินิทฺธญฺจ โหติ)

2. ข้างหุงด้วยนมโคอย่างดี (มุทุโอทรสฺส ปญฺจโครสยูส ปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามํ)

3. สมุนไพรชนิดหนึ่ง (สูกรทฺทวํ นาม รสายวิธิ ตฺ ปนรสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ภควโต ปรินิพฺพานํ น ภเวยฺ ยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตํ)

ข้อความแวดล้อมในมหาปรินิพานสูตร บอกว่า

(1) นายจุนทะเตรียม ขาทนียะ โภชนียะ (ของเคี้ยวของฉัน) เพียงพอ และเตรียม สูกรมัททวะ เพียงพอ

(2) นายจุนทะเตรียมอาหารนั้นทั้งคืน

(3) นายจุนทะถวายของเคี้ยว ของฉันแก่พระสงฆ์ถวายสูกรมัททวะแก่พระองค์

(4) พระพุทธองค์ตรัสว่า ไฟธาตุของพระองค์เท่านั้นที่ย่อยสูกรมัททวะนี้ได้แล้วให้นำเอาที่เหลือจากที่เสวยไปฝังดินเสีย

ข้อความแวดล้อมนี้ นำไปสู่การสันนิษฐานว่า สูกรมัททวะน่าจะได้แก่อะไร

(1)ถ้าเป็นเนื้อสุกรอ่อน ไม่น่าจะต้องเตรียมนานปานนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องย่อยยาก ใครกินก็ย่อมจะย่อยได้และไม่น่าสงวนไว้ให้พระพุทธเจ้าเท่านั้นเสวย พระรูปอื่นก็ควรได้รับถวายด้วย เพราะฉะนั้น สูกรมัททวะไม่น่าจะเป็นเนื้อสุกรอ่อน

(2) ถ้าเป็นข้าวหุงด้วยนมโคอย่างดี ก็ยิ่งไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการย่อย ไม่น่าจะเสียเวลาปรุงนาน และพระรูปอื่นก็ควรได้รับฉันด้วย สูกรมัททวะจึงไม่น่าจะเป็นข้างหุงด้วยนมโค

(3) ถ้าเป็นสมุนไพร หรือยาอย่างใดอย่างหนึ่ง มีแหตุผลที่น่าเป็นไปได้ เพราะนายจุนทะรู้ว่า พระพุทธองค์ทรงประชวรจึงเตรียมยาไว้ให้เฉพาะ ยานั้นคงต้องใช้เวลาปรุงนานกว่าจะสกัดตัวยาออกมาได้ปริมาณตามที่ต้องการ และตรัสว่าไฟธาตุของพระองค์เท่านั้นที่ย่อยได้นั้นก็จริง เพราะการจะกินยาสมุนไพรโบราณ เขาต้องคูณธาตุอ่อนแก่ไม่เท่ากัน

พระองค์ทรงหมายความว่า ปริมาณที่พระองค์เสวยนั้น ถ้าเป็นคนอื่นคงไม่สามารถย่อยได้ ที่รับสั่งให้เอาที่เหลือไปฝัง ก็เพราะว่าคนอื่นไม่ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องกินอยู่แล้ว

พิเคราะห์ตามความแวดล้อมนี้สูกรมัททวะน่าจะเป็นประเภทที่ (3) ส่วนจะเป็นสมุนไพรชนิดไหน จะเป็นเห็ด หรืออะไร ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม สูกรมัททวะ ก็มิใช่สาเหตุให้ปรินิพพาน เพราะการปรินิพพานของพระพุทธองค์เป็นการ “ดับสนิทด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ” ดังกล่าวแล้ว อนุปาทิเสสนิพพานคืออะไร ดับสนิทอย่างไร เป็นหน้าที่ของชาวพุทธพึงศึกษาทำความเข้าใจ

ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไม่ควรกำแหงสำแดงทิฐิชี้ผิดชี้ถูก