ย้อนเวลาเรียบเรียงความทรงจำ ยามย่ำแดนไกลในวัยหนุ่ม ตอนที่ 5

ญาติทั้งหลายรวมหญิงชาวลาวอพยพซึ่งเข้ามาเกี่ยวดองขยายพันธุ์เป็นคนรุ่นใหม่ได้สัญชาติอเมริกันที่ได้นำมากล่าวถึง และญาติผู้ใหญ่จากเมืองไทยซึ่งเดินทางไปเรียนยังสหรัฐ กระทั่งผลิตลูกผสมขึ้นมาใหม่ล้วนเป็นข้างของหุ้นส่วนชีวิตทั้งสิ้น

สิ่งที่คิดที่ฝันถึงสหรัฐอเมริกาเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา กระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ค่อยๆ เลือนหายไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ได้ย่างเหยียบถึงเมืองดิ มอยน์ มลรัฐไอโอวา (Des Moines Iowa)

ภาพที่เคยวาดไว้อย่างหนึ่งเริ่มเปลี่ยนแปลง ขณะได้รับการเชิญชวนไปเยี่ยมเยียนมวลหมู่ญาติมิตรแต่ละบ้าน มีการเลี้ยงอาหารกลับได้พบหน้าปลามีหนวดไร้เกล็ด (Cat Fish) ซึ่งเคยร่วมเดินทางไปตกด้วยกันมาบนโต๊ะอาหาร มันดันโผล่หน้ามาสบตาเมื่อบังเอิญไปเปิดตู้เย็นจนได้รับกลิ่นคาวจัด

ความจริงแต่เล็กแต่น้อยเกิดในชนบทเรื่องอาหารการกินไม่ได้วิเศษสูงส่ง แถมยังอดอยากยากแค้นในบางครั้ง

เรื่องยิงนกตกปลาล่าสัตว์เล็กๆ น้อยๆ ย่อมเคยผ่าน เรียกได้ว่ามีประสบการณ์ไม่น้อย

แต่การปรุงอาหารจากปลาที่มีกลิ่นคาวจัดมันไม่เหมือนกัน ต้องแอบไปคายทิ้งในห้องน้ำโดยไม่ให้ใครเห็นเพื่อเป็นการรักษามารยาท

พยายามอดทนกับการเลี้ยงทุกครั้งจนต้องกลับมาแอบต้มข้าวกินเองที่บ้านของน้องชาย

 

เดินทางกลับจากไปเที่ยวกับคุณน้ามาถึงเมืองวิกเตอร์เป็นเวลาค่ำมืด ได้พบกับน้องชายกับภรรยามารอรับอยู่ก่อนแล้วตามนัดหมาย ทำเอาท่านค่อนข้างแปลกใจเนื่องจากเดิมทีได้ตกลงกันว่าจะพักค้างคืนยังบ้านของท่านอีกคืนหนึ่งก่อนเดินทางกลับเมืองดิ มอยน์

ระหว่างนั้นได้แอบพูดคุยกับหุ้นส่วนชีวิตว่า จำเป็นต้องหาทางคลี่คลาย ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้ไปไหนกัน

โดยต้องปล่อยทิ้งแม่ไว้ยังเมืองนี้ให้ลูกชายซึ่งไม่ได้พบกันเป็นเวลานาน และเป็นการพบกันครั้งแรกของคนที่เรียกว่าลูกสะใภ้ซึ่งพยายามเหลือเกินจะต้องมีที่มาที่ไปทั้งฝ่ายตัวและฝ่ายผัว พยายามจะโชว์ในกลุ่มผู้อพยพด้วยกันว่าแตกต่าง มีชาติตระกูลอะไรประมาณนั้น

ผู้นำพาจึงต้องโทรศัพท์นัดหมายกับเพื่อนรักผู้ให้ที่พักพิงเพื่อบินกลับลอสแองเจลิส (Los Angeles) ก่อนจะได้มีโอกาสเรียนรู้เปิดหูเปิดตาในประเทศใหญ่โตผู้ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะมหานครแห่งนี้ซึ่งกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Los Angeles 1984) อันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรกเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 1932 (2475) ห่างจากครั้งที่ 2 ถึง 52 ปี) ซึ่งจนถึง พ.ศ. นี้เวลาผ่านไปอีก 34 ปี นครลอสแองเจลิสยังไม่ได้เพิ่มตัวเลขการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาอันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอีกเลย

ถึงอย่างไรประเทศไทยย่อมไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก เมื่อมีโอกาสเดินทางย่างเหยียบเข้ามายังเมืองที่กำลังเป็นเจ้าภาพจะไม่ให้ดูกีฬาหรือเที่ยวชมบรรยากาศต่างๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ นับว่าเสียเที่ยว

ส่วนจะได้ไปดูชมมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับเพื่อนผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ เพราะเขาเป็นเจ้าของบ้าน เชี่ยวชาญพื้นที่ ส่วนเราไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย

ตัดสินใจทิ้งคุณแม่ของหุ้นส่วนชีวิตไว้ในหมู่บ้านคนลาวอพยพ ซึ่งได้กลายเป็นอเมริกันกันหมดเพราะพูดภาษาฝรั่งได้ โดยนัดแนะกันว่าให้ลูกชายส่งท่านขึ้นเครื่องบินเดินทางไปยังแอลเอ (L.A) ก่อนที่เราจะถึงกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยอีกสัก 2-3 วัน

ถ้าหากเป็นเวลาปัจจุบัน ทุกสิ่งอย่างจะง่ายไปหมดกับเทคโนโลยี การสื่อสารด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่อินเตอร์เน็ตทุกรูปแบบการนัดหมายติดต่อเพื่อส่งขึ้นเครื่องบินและรอรับผู้ใหญ่ซึ่งท่านสูงอายุไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

แต่เวลานั้นถ้าหากออกจากบ้านไปแล้วเป็นอันว่าไม่สามารถติดต่ออะไรกันได้อีกเลย

กลับมาถึงแอลเอเราได้ออกเดินทางสู่ลาสเวกัส (Las Vegas) กับกมล ทัศนาญชลี และนวลศรีคู่ชีวิต โดยมีหลานๆ อีก 2 คนด้วยรถยนต์วอลโว่ (Volvo van) คู่ชีพของเพื่อนรักโดยมีนักศึกษาศิลปะจากสถาบัน “โอทิส” (Otis Art Institute) ชื่อกมล (เช่นเดียวกัน) เผ่าสวัสดิ์ บัณฑิตจากจุฬาฯ ร่วมทางเป็นมือสองช่วยขับรถด้วย

ต่อมา กมล เผ่าสวัสดิ์ กลับมาเป็นอาจารย์ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หลังสำเร็จการศึกษา ได้พบกันบ้างเป็นครั้งคราวในโอกาสอันเกี่ยวเนื่องด้วยกิจกรรมเรื่องราวของงานศิลปะ ปัจจุบันน่าจะเกษียณอายุราชการแล้วหรือยัง? ไม่แน่ใจ

รู้แต่ว่าเขาเป็น “ศิลปิน” ยังทำงานศิลปะร่วมสมัย และเปิดนิทรรศการให้ประชาชนได้ชมอยู่เนืองๆ เป็นครั้งคราว

ไม่รู้เหมือนกันว่าเขายังจะจำได้เหมือนผู้สูงวัยอย่างเช่นเราได้หรือไม่ว่า เคยได้นั่งดื่มเบียร์กระป๋องสนทนากันในเต็นท์ที่แกรนด์ แคนยอน (Grand Canyon) หรือกระทั่งได้เคยเดินไปเป็นเพื่อนเพื่อเสี่ยงโชคกับไพ่แบล็กแจ๊ก (Blackjack) ในโรงแรมที่ลาสเวกัส

ในขณะผู้ร่วมเดินทางอื่นๆ แอบลอบเข้าไปหลับแออัดกันในโรงแรมเล็กๆ

คณะของเราเดินทางอย่างประหยัดโดยตัดปัญหาเรื่องที่พักไปได้มากทีเดียวเมื่อกมลได้เตรียมเต็นท์ไปกางนอนยังสถานที่ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของเขาได้ตระเตรียมไว้ให้ การอาบน้ำซักเสื้อผ้าเล็กๆ น้อยๆ ใช้วิธีหยอดเหรียญ

การกินอาหารบางมื้อแม่บ้านมือระดับอินเตอร์ทำอาหารต้อนรับแขกจากเมืองไทยไม่เว้นแต่ละเดือน ครั้งละมากๆ อย่างนวลศรีย่อมมีอุปกรณ์ประเภทข้าวสารอาหารแห้งที่ผู้คนส่งต่อรวมทั้งซื้อหามาตระเตรียมไว้ทั้งจากเมืองไทย และตลาดไทในแอลเอ (L.A) อย่างพร้อมมูล จะเป็นเพียงบางมื้อเท่านั้นต้องเสียเงินพึ่งพาร้านอาหาร

เมื่อต้องพักรถระหว่างทางเพื่อเติมน้ำมันและจัดการธุระส่วนตัว

คุณนวลศรี (แม่ครัวตะหลิวทองคำ) จะเอาหม้อหุงข้าวมาเสียบปลั๊กหุงจนสุกเรียบร้อยพร้อมรับประทาน เอาเป็นว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ สำหรับวันแรกๆ จะไม่ต้องเสียเงินค่าอาหารเพราะตุนเตรียมมาจากบ้านกระทั่ง “น้ำปลาพริกขี้หนู” คณะเดินทางของเรายังมีกินตลอดทางด้วยซ้ำ

ครั้งหนึ่งกำลังรับประทานอาหารกลางวันกันอยู่บนลานกว้าง เขตรัฐแอริโซนา (Arizona) โดยปูผ้า ปูกระดาษนั่งกินกับพื้น เกิดมีลมพัดมาอย่างแรงกวาดกับข้าว น้ำปลาพริกขี้หนูกระเด็นหกกระจายเหม็นกันโดยทั่วหน้า

เป็นการเดินทางสู่ลาสเวกัส (Las Vegas) เมืองแห่งบาปตามที่ฝรั่งเรียกขานเป็นครั้งแรก รอนแรมผ่านความกว้างใหญ่ของแผ่นดินทั้งทะเลทราย ป่าเขา เข้าเมืองไปจนถึงเขื่อนฮูเวอร์แดม (Hoover Dam) เขื่อนหินยักษ์คอนกรีตรูปโค้งกั้นแม่น้ำโคโลราโด (Colorado) ชายแดนรัฐแอริโซนา (AriZona) กับเนวาดา (Nevada) ใช้เวลาทั้งหมด 3 คืน 3 วันในการเดินทาง

โดยจะต้องรีบกลับแอลเอเพื่อให้ทันการขึ้นชกของ “ขาวผ่อง สิทธิชูชัย” ซึ่งได้เข้าชิงเหรียญทองโอลิมปิกในรุ่นไลต์เวลเตอร์เวต กับ เจอร์รี่ เพจ (Jerry Page) นักชกอเมริกัน

จำได้ว่าโชคดีเป็นอย่างมากมีคนไทยในแอลเอท่านจัดการเรื่องบัตรให้ได้เข้าไปเชียร์ “ขาวผ่อง” หรือ “ทวี อัมพรมหา” เมื่อ 34 ปีที่ผ่านมาถึงในสนาม และเขาได้แจ้งเกิดมีอนาคตก้าวหน้าเติบโตในอาชีพการงานมาจนกระทั่งปัจจุบัน ถึงเขาจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

แต่เป็นนักชกคนแรกที่คว้า “เหรียญเงินโอลิมปิก” (ครั้งที่ 23) ได้ และเป็นคนที่ 2 หลัง “พเยาว์ พูลธรัตน์” ซึ่งเป็นนักชกไทยคนแรกที่ได้ “เหรียญทองแดงโอลิมปิก” ในรุ่นไลต์ฟลายเวต เมื่อปี พ.ศ.2519 จากประเทศแคนาดา

 

กับหุ้นส่วนชีวิตได้เปิดหูเปิดตาและพบปะผู้คนเพื่อนพ้องจากเมืองไทยจำนวนมากในนครลอสแองเจลิส เพื่อนรักได้พาไปหาความรู้เรื่องศิลปะตามสถาบันต่างๆ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะอันมีชื่อเสียง พบพูดคุยกับศิลปินอเมริกันรวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อลือชา อย่างเช่น ดิสนีย์แลนด์ (DisneyLand) ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ (Universal Studio) ซึ่งได้เข้าไปชมตั้งแต่มาถึงสหรัฐ, แอลเอ (L.A) วันแรกๆ พร้อมกับพาคุณแม่ซึ่งต้องใช้วิธีให้ท่านไปนั่งตามจุดต่างๆ ก่อนออกมารับ

บังเอิญท่านเป็นคนใจดีเรียบง่ายสบายๆ ไม่ยุ่งยากวุ่นวายเลย เพียงแต่ท่านเดินไม่ค่อยจะไหวด้วยสูงวัยเท่านั้นจึงไม่เหนื่อยกันสักเท่าไร

เรื่องนี้ต้องเห็นใจหุ้นส่วนชีวิต และขอบคุณครอบครัวของเพื่อนรัก เอาเป็นว่าวันเวลาผ่านเลยมานานจนกระทั่งท่านเสียชีวิตแล้วก็ยังไม่เคยลืมความเอื้ออารีครั้งกระนั้น

เคยได้กล่าวว่าหลังจากได้เดินทางไปสหรัฐเมื่อครั้งแรกแล้ว จึงนัดหมายกับเพื่อนรักไว้ในปีถัดไป (2529) จะมีการดำเนินงานพาเหล่าศิลปินครูอาจารย์จากประเทศไทยไปอีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่ติดขัดด้วยเรื่องงานประจำจึงต้องถูกสั่งให้ระงับการเดินทางครั้งนั้น ทั้งๆ ที่ได้จัดการเรื่องบัตรโดยสารเครื่องบินไว้เรียบร้อยแล้ว

แต่การเดินทางไปสหรัฐในครั้งที่ 2 ย่อมเกิดขึ้นจนได้ เพียงแต่เว้นวรรคไปอีกถึง 16 ปี ซึ่งจะขอเก็บเอาไว้เล่าต่อไปอีก รอให้จบเรื่องการเดินทางครั้งแรกเสียก่อน

เพราะยังทิ้งผู้สูงอายุไว้ยังหมู่บ้านชาว “ลาวอพยพ” ในรัฐ “ไอโอวา”