เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร – วันเวลา/สถานที่ปรินิพพาน

พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร (2)

2.เกี่ยวกับสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ผู้เขียนบทความไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานของเหล่ามัลลกษัตริย์ นอกเมืองกุสินารา ในวันเพ็ญเดือน 6 ตามที่คัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวถึงไว้ทั่วไป

เหตุผลที่นำมาอ้าง น่าจะหนักแน่นและมีความเป็นไปได้ทางหลักวิชาการ แต่กลับเป็นข้อสมมติฐาน หรือคาดเดาอย่างเลื่อนลอย

เช่น

(1)พระอานนท์เมื่อรู้แน่ว่าพระพุทธองค์จะปรินิพพานก็โศกเศร้า ยืนเหนี่ยว “กลอนหัวสิงห์” กลอนประตูทำด้วยหัวสิงห์อย่างดี ไม่น่าจะอยู่ในป่า ควรจะอยู่ที่อาคารใหญ่โตในเมือง ว่าอย่างนั้น

รู้ได้อย่างไรว่า สาลวโนทยาน เป็นเพียงป่าธรรมดาข้อความก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น อุทยานหลวงขอมัลลกษัตริย์ ย่อมมีอาคารที่พักเข้าสร้างไว้รองรับแขกและเป็นที่ประทับพักผ่อนของเหล่ามัลลกษัตริย์ และประชาชนทั่วไป

กลอนที่พระอานนท์เกาะยืนร้องไห้นี้เป็นกลอนกุฏิ หรือ กระท่อมอยู่ใกล้ต้นรังทั้งคู่ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ (พระบาลีใช้คำศัพท์ว่า วิหาร คือที่พำนักของภิกษุ)

และที่ว่าเป็น “กลอนหัวสิงห์” นั้นก็เข้าใจผิด ภาษาบาลีว่า “กปิสิสํ” ท่านแปลว่า “ไม้สลักเพชร” (ตามศัพท์แปลว่า “หัวลิง”) ตรงนี้พระอรรถกถาจารย์ไขว่าได้แก่ “อคฺคฬรุกฺขํ” คือ ไม้หรือท่อนไม้ขัดประตู กระท่อมทั่วไปก็ต้องมีประตู แล้วก็มีไม้ที่ขัดเป็นดาล

ความจริงก็คือว่า พระอานนท์เข้าไปในกระท่อมแล้ว ปิดประตูขัดดาล แล้วก็เกาะดาลประตูร้องไห้ทำไมลูกดาลอย่างนี้จะมีไม่ได้เล่า

พระคุณเจ้าไปแปลว่ากลอนหัวสิงห์ แล้วคิดว่ากลอนที่สลักเสลาเป็นรูปสัตว์งดงามนี้น่าจะอยู่ที่คฤหัสถ์มากกว่าอยู่ในป่า คิดมากไปเอง

(2)บอกต่อไปอีกว่า พระพุทธเจ้า “ป่วยหนัก” ปานนั้นไม่น่าจะรักษาตัวตามมีตามเกิดในป่า พระสงฆ์น่าจะหามพระองค์ไปให้นายแพทย์รักษาในเมือง

นี้ก็คิดแบบคนสมัยปัจจุบัน ในโลกปัจจุบัน ที่มีโรงพยาบาล หรือสถานที่รักษามากมาย

ในสมัยพุทธกาลนั้น การสาธารณสุขคงไม่ทันสมัยเหมือนปัจจุบันนี้ดอกครับ ถึงจะมีที่รักษาพยาบาลทันสมัยพระพุทธองค์ก็คงไม่ประสงค์จะให้สาวกต้องลำบากโดยไม่จำเป็น

เพราะถึงอย่างไร เมื่อถึงเวลาที่ทรงกำหนด พระองค์ก็จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานอยู่ดี

อาการป่วยทางร่างกายนั้น ถึงจะกำเริบหรือไม่กำเริบอย่างใด พระองค์ก็ทรงบรรเทาได้ด้วยพลังสมาธิ ไม่ทำให้พระองค์ปรินิพพานได้

คำถามที่ว่า “พระพุทธองค์ปรินิพพานด้วยโรคอะไร” เป็นการตั้งคำถามผิดพระพุทธองค์มิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร หรือด้วยการเสวยพระกระยาหารชนิดไหนหากปรินิพพานด้วย “อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ” ซึ่งทรงกำหนดวันเวลาไว้ล่วงหน้าแล้ว

เพราะเอาความรู้สึกของอดีตนายแพทย์สมัยนี้มาวัดว่าพระพุทธเจ้า “ป่วย” ต้องได้รับการรักษาในเมืองโดยนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

จึงไม่เชื่อพระคำภีร์ที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานในพระราชอุทยานนอกเมือง

(3)อ้างว่า เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เหล่ามัลลกษัตริย์ดำริจะเคลื่อนพระศพออกจากเมืองไปทางทิศใต้ นี้แสดงว่าปรินิพพานในเมือง นี่ก็แปลผิด

พระบาลีมีว่า อถโข สตฺตมมิปิ ทิวสํ โกสินารกานํ มลฺลานํ เอตทโหสิ มยํ ภควโต สรีรํ นจูเจหิ คีเตหิ วาทิเตหิ มาเลหิ คนฺเธหิ สกฺกโรนฺตา ครุกโรนฺตา มาเนนฺตา ปูเขนฺตา ทกฺขิเณน ทกฺขิณํ นครสฺส ภควโต สรีรํ ฌาเปสฺสามาตี = ครั้งนั้นแล เหล่ามัลลกษตัริย์แห่งเมืองกุสินาราคิดว่า พวกตนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา พระพุทธสรีระด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีด้วยดอกไม้และของหอมอัญเชิญพระพุทธสรีระไปทางทิศใต้ ยังด้านทิศใต้ของพระนคร จัดถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ นอกเมืองด้านทิศใต้พระนคร

แปลไม่ดีอาจแปลว่า อัญเชิญพระพุทธสรีระเข้าไปในเมืองทางด้านทิศใต้ พระอรรถกถาจารย์กลัวว่าเราจะแปลผิด ท่านขยายให้ฟังในอรรถกถาว่า พาหิเรน พาหิรนฺติ อนฺโตนครํ อปฺปวเสตฺวา พาหิเรเนว นครสฺส พาหิรปสฺสํ หริตฺวา = คำว่า “พาหิเรน พาหิรํ” หมายถึง ไม่ต้องอัญเชิญพระพุทธสรีระเข้าไปภายในพระนคร หากนำไปข้างนอก เลียบข้างนอกพระนครนั้นเอง (สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 204)

เมื่อเหล่ามัลลกษัตริย์อัญเชิญพระพุทธสรีระไปตามที่ตนดำริ ก็ไม่สามารถยกขึ้นได้จึงเรียนถามพระอนุรุทธเถระ พระเถระเจ้าได้ถวายวิสัชนาว่า เหล่าเทวาต้องการให้อัญเชิญพระพุทธสรีระไปทางด้านทิศเหนือ เข้าพระนครทางประตูด้านทิศเหนือ จนไปถึงใจกลางพระนครแล้ว ออกทางประตูเมืองด้านทิศตะวันออก ไปยังมกุฎพันธนเจดีย์ดังกล่าว

ข้อความจากพระสูตรชัดเจนครับ ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ปรินิพพานนอกพระนคร ทีแรกเหล่ามัลลกษัตริย์จะอัญเชิญพระพุทธสรีระไปถวายพระเพลิงนอกเมือง ทางทิศใต้แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาเปลี่ยนเป็นอัญเชิญเข้าเมืองทิศเหนือกลางใจเมืองแล้ว อัญเชิญออกนอกเมืองทางทิศตะวันออกแล้วถวายพระเพลิงมกุฎพันธนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมือง

ที่ผู้เขียนบอกว่า พระพุทธองค์ปรินิพพานในเมืองกุสินารานั้น เพราะแปลบาลีไม่แตก จึงเดาเอาครับ

เกี่ยวกับวันเวลาปรินิพพาน ผู้เขียนฟันธงว่า ไม่ใช่วันเพ็ญเดือน 6 เหตุผลของผู้เขียนก็คือ “แต่ความในมหาปรินิพพานสูตรระบุไว้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ปรินิพพานหลังออกพรรษาใหม่ๆ คือ ประมาณเดือน 11-1- หรือล่วงเลยไปถึงเดือน 1 ของจันทรคติต่อมา” ซึ่งเป็นฤดูหนาวหรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ที่ต้นสาละในป่าสลัดใบหมดแล้ว ดอกสาละที่บานสะพรั่งหล่นบูชาพระพุทธองค์นั้น เป็นดอกสาละที่ผลิดอกนอกฤดูกาล (อกาละ)

ก็ไม่ทราบว่า ตรงไหนของมหาปรินิพพานสูตรที่บอกว่า “ระบุชัดเจน” ว่าปรินิพพานหลังออกพรรษาใหม่ๆ พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่เวฬุวคาม ซึ่งอยู่ในเขตเมืองไพศาลี ออกพรรษาแล้ว อรรถกถาบอกเราว่า พระองค์เสด็จนิวัติพระนครสาวัตถี พระสารีบุตรไปทูลลาที่นั่น เพื่อไปนิพพานที่บ้านเกิดของท่าน หลังจากนั้นก็เสด็จไปเมืองราชคฤหัสถ์อีก

เสด็จกลับจากราชคฤหัสถ์มายังเมืองเวสาลีอีกครั้งประทับที่ปาวาลเจดีย์ ตรงนี้เองที่ทรงปลงอายุสังขาร (ว่าอีกสามเดือนข้างหน้าจะปรินิพพาน) จากนั้นก็เสด็จไปตามลำดับ คือ ป่ามหาวัน – ภัณพคาม – หัตถิคาม – อัมพคาม – โภนคร – จากนั้นก็เสด็จเข้าสู่เขตเมืองปาวา – จากเขตเมืองปาวาจึงเสด็จเข้ายังกุสินารา

ผ่านตั้งหลายสถานที่ ซึ่งต้องกินเวลาไม่น้อย เพราะทรงประชวรด้วย ย่อมต้องพักผ่อน ณ สถานที่ต่างๆ แห่งละนานพอสมควร

ตามหลักฐานนี้ก็แสดงว่า

1. หลังออกพรรษากลางเดือน 11 ก็เสด็จไปสาวัตถีและราชคฤห์ คงระหว่างกลางเดือน 11 ถึงเดือน 2 (เดือนยี่) พอเดือน 3 คงเสด็จมาประทับที่ปาวาลเจดีย์แล้ว การปลงอายุสังขารก็คงเป็นเดือน 3 แน่นอน เพราะทรงระบุไว้ว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตกเดือน 6 พอดี) จะปรินิพพาน

2. วันปรินิพพานคือวันเพ็ญเดือน 6 ตามพระบาลีบันทึกไว้แน่นอน

3. ไม่มีทางเป็นอื่น วันเวลานี้เชื่อถือกันทั่วโลกพระพุทธศาสนามานานไม่มีใครสงสัย

เดือน 6 อาจมิใช่เดือนที่ต้นสาละผลิตดอกออกผลตามปติจึงเป็น “อกาล” (นอกฤดูกาลผลิตดอกออกผล) ที่ต้นสาละผลิตดอกบานสะพรั่งเพื่อบูชาพระพุทธองค์นั้น เป็นด้วยพุทธานุภาพ และ “อกาล” ที่กล่าวถึง มิจำเป็นจะต้องเป็นเดือน 11-12 หลังออกพรรษาใหม่ๆ

แต่หมายถึงเดือน 6 ดังที่บันทึกไว้ในคัมภีร์แทบทุกเล่มเมื่อไม่มีหลักฐานและเหตุผลที่หนักแน่นกว่านี้ เหตุใดจึง “ฟันธง” ส่งเดช ไม่ทราบได้

และที่อ้างฤดูใบไม้ร่วงใบไม้ผลินั้น ดูออกจะเลอะเทอะเพราะอินเดียมีแค่สามฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว เท่านั้น