หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/’ตาเสือ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกเงือกหัวแรด - ฤดูแห่งความรักของเหล่านกเงือก เริ่มต้นพร้อมๆ กับต้นผลไม้ต่างๆ ที่เป็นอาหาร

หลังเลนส์ในดงลึก
ปริญญากร วรวรรณ

‘ตาเสือ’

“ตาเสือ”
ในที่นี้หมายถึง ผลไม้ ซึ่งเป็นพืชอาหารชนิดหนึ่งของเหล่านกเงือก
เช่นเดียวกับ ไทร มะเกิ้ม เลือดควาย และอื่นๆ
ผลไม้พวกนี้จะมีช่วงเวลาออกลูกสุกในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป
นี่ป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นกเงือกกำลังเลี้ยงดูลูกในโพรง
มองผ่านๆ ผลไม้เหล่านี้คืออาหารของนก
ในความเป็นจริง การกินของนกเป็นเพียงผลพลอยได้
เพราะสิ่งที่พวกมันกำลังทำ คือ “หน้าที่”
หน้าที่นำพาเมล็ดผลไม้เหล่านี้ไปแพร่กระจาย…

เสียงปีกแหวกอากาศดังฟืดๆ อยู่เหนือหัว ป่าฝนดิบทึบ ทากชูตัวสลอน
เสียงฟืดๆ หยุดเมื่อนกเงือกหัวแรดตัวนั้นโผเข้าเกาะกิ่งต้นไม้ ซึ่งกำลังออกลูกสีแดงสด
มันกระโดดไปตามกิ่งโน้นกิ่งนี้ เอียงคอ สักพักก็โผบินออกไป
เสียงปีกแหวกอากาศจางหาย
มันคงมาสำรวจดู อีกสักอาทิตย์ลูกตาเสือต้นนี้คงสุก
นกชนหิน ส่งเสียงร้องต่อเนื่อง ท่วงทำนอง “ก๊าก! ก๊าก!” รัวๆ ในตอนท้าย คือ มันโผจากที่เกาะ
ไทร รวมทั้งตาเสือหลายต้นในป่าทยอยออกลูก
งานหนักของเหล่านกตัวผู้เริ่มต้น

การเฝ้าดูนกเงือกอยู่ในซุ้มบังไพร แคบๆ ผจญกับยุง ผึ้ง และทาก นั้นไม่น่ารื่นรมย์นัก โดยเฉพาะเมื่อต้องทำเช่นนี้ทุกๆ วันตั้งแต่เช้ามืด ก่อนสว่าง กระทั่งพลบค่ำ
กระนั้น ความตื่นเต้นจะอยู่ที่จะได้เห็นว่า พ่อนกเอาอะไรมาให้
นกเงือกคือสัตว์ปีกที่หากินตามเรือนยอดต้นไม้สูง
แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ลงมาหาอาหารที่พื้น
หลายตัวมีความเชี่ยวชาญในการล่าสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ แมลง หนู งู รวมทั้งปูตามลำธาร ก็หลีกเลี่ยงนกเงือกไม่พ้น
นี่อาจเป็นเรื่องง่ายๆ ธรรมดาๆ
ใครก็รู้ว่า
หากอยาก “รู้จัก” บางสิ่งอย่างแท้จริง
จำเป็นต้องใช้เวลา

จักรสิน ชายหนุ่มจากที่ราบสูง เป็นผู้ช่วยนักวิจัย และนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาเรื่องนกเงือกในป่าด้านตะวันตก ผมร่วมงานกับเขาหลายปี
“รังนกกก หมายเลข 36 น่าจะเข้าแล้วนะครับ” วันหนึ่งเขาชวนผมไปดู หลายปีกับงานสำรวจ พวกเขาพบรังและเก็บข้อมูล รวมทั้งพิกัดไว้
รังนี้ เขาสำรวจพบตั้งแต่สองปีก่อน
“ไม่ต้องห่วงครับ รังนี้มีพิกัดเดินไปไม่หลง” เขาหัวเราะ
การใช้เพียงความทรงจำ หลายครั้งทำให้เราไปไม่ถึงจุดหมาย
เดือนก่อนเราไปหารังนกเงือกสีน้ำตาลไม่พบ และใช้เวลาเกือบทั้งวันหาทางกลับ
จากแคมป์ จักรสินพามุ่งสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เดินไปตามด่านเล็กๆ ที่มีรอยช้างเก่าๆ เดิน
“เลาะไปตามห้วยสักชั่วโมง ข้ามห้วยแล้วพบหน้าผา ปีนขึ้นหน้าผาจนถึงสัน รังนกอยู่ที่ต้นยางแดงบนไหล่เขานั่นแหละ”
จักรสินบอกเส้นทาง อันทำให้รู้ว่าจะพบกับเส้นทางอย่างไร
“ฟังดูก็ไม่ยากเท่าไหร่” ผมพูดยิ้มๆ รู้ว่าจะพบกับทางอันมีสภาพตรงกันข้ามกับที่พูด
“รับรองครับ ไปได้สบายๆ” จักรสินรับรอง ชูจีพีเอสในมือ เดินหาที่โล่งๆ พักใหญ่ก็ส่ายหัว
“ไม่มีสัณญาณเลย” เขาพูดเบาๆ
ท้องฟ้าครึ้ม กลุ่มเมฆดำทะมึน ในสภาพอากาศอย่างนี้ เครื่องมือนำทางก็ไม่ทำงาน
“ตามห้วยไปให้ถึงหน้าผาแล้วค่อยว่ากัน” ผมชวนเดินต่อ
มีร่องรอยเก่าๆ ของคน
“คงเป็นชุดลาดตระเวนน่ะครับ ถ้าพวกล่าสัตว์จะไม่บากไม้ไว้แบบนี้” จักรสินชี้ให้ดูรอยมีดเล็กๆ ที่ลำต้นไม้
ด่านพาขึ้นสูง ลำห้วยบริเวณต้นน้ำ สายน้ำไหลแรง หินก้อนโตๆ บางช่วงเป็นน้ำตกเล็กๆ รายล้อมด้วยป่าดิบเขาระดับต่ำ ด่านข้ามลำห้วยไป-มา หินเปียกๆ ลื่น ผมต้องระวังในการวางเท้า
เราหยุดดูพังพอนกินปู ที่เดินดมหาอาหารตามโขดหินพักใหญ่ ก่อนเดินทางต่อ
ทางชันมากขึ้น ราวชั่วโมงครึ่งเราถึงบริเวณหุบ ซึ่งขนาบด้วยเขาทั้งสองด้าน
ด่านใหญ่แยกไปทางทิศเหนือ
ทางเดินสบายๆ นั่น ไม่ใช่ทางที่เราจะไปหรอก ผมนั่งลงบนขอนไม้เปียกๆ ขยับเสื้อชุ่มเหงื่อ ปลดทาก 2-3 ตัว ที่ขึ้นมาถึงเอว ม้วนเป็นก้อนกลมๆ ด้วยนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ ดีดไปไกล
“ขึ้นไปทางผาด้านขวามือ นี่แหละครับ” จักรสินจำทางได้ เขายังพยายามหาที่โล่งๆ เพื่อรับสัณญาณ แต่ไร้ผล
ทางชันร่วม 70 องศา
ผมเงยหน้าขึ้นมองเส้นทางที่จะต้องปีนป่าย
นับวัน “ด่าน” คล้ายจะสูงชันยิ่งขึ้น

เราใช้เวลากว่าชั่วโมงจึงถึงสันเขา
“นั่นครับต้นรัง” จักรสินชี้ไปที่ต้นยางแดงสูงลิบๆ
จากกล้องสองตา ผมเห็นปากโพรงปิด โคนต้นมีเศษอาหารและขี้นกใหม่ๆ
แม่นกเข้าโพรงแล้ว
เราหาทำเลเหมาะ ทำซุ้มบังไพร ห่างพอสมควร บังไพรต้องกลมกลืน แนบเนียน เพื่อไม่ให้พ่อนกระแวง

ลมกระโชกแรง ยอดไม้เอนลู่ กิ่งไม้หักหล่นลงพื้น เสียงนกกกแว่วมา
ลมแรงๆ อยู่ราว 20 นาที สายฝนก็โปรย ฝนทำให้ผึ้งหายไป เหลือแต่ทากบนพื้น
จักรสินดึงผ้ายางคลุมเป้ ผมสวมเสื้อกันฝน หยดน้ำหยดติ๋งๆ ตามขอบหมวก
ซุ้มบังไพรเสร็จ ดูกลมกลืน ฝนขาดเม็ด
เสียงปีกแหวกอากาศ พ่อนกเข้าป้อน มันโผเข้าปากโพรงเลย ไม่เกาะกิ่งต้นใกล้ๆ ก่อน
พ่อนกเงยหน้า ขย้อนอาหาร อันเป็นเมล็ดผลไม้สีดำออกมา
“ลูกตาเสือ” จักรสินพูดเบา ตาแนบกล้องสองตา
พ่อนกขยับลูกตาเสือไว้ปลายปาก และก้มลงป้อน 16 ครั้ง จึงหยุดมองซ้ายขวา ก่อนบินออก
“ลูกนกคงโตแล้ว กินเก่งชมัด” จักรสินพูด

จักรสินกลับแคมป์ก่อน ผมอยู่ถึงเย็นตลอดบ่าย นอกจากมีไข่นกครั้งหนึ่ง นอกนั้นอาหารที่พ่อนกนำมาคือ ลูกตาเสือ
ตาเสือ คือพืชอาหารซึ่งออกลูกสุกพอดีกับช่วงเวลาที่นกเงือกต้องการ
มีการจัดสรรเรื่องราวแบบนี้ไว้อย่างเหมาะสม

พลบค่ำ
ผมเริ่มวางเท้าลงบนทางชันๆ ยากยิ่งกว่าขาขึ้นมา
เดินไปในป่าทึบ ราวสองชั่วโมง กลับแคมป์ คือเรื่องปกติ
บางคนก็ถูกจัดสรรให้อยู่ในที่อันเหมาะสม
ความยากลำบาก อาจอยู่ที่การหา “สถานที่” นั้นให้พบ

นกเงือกหัวแรด ในป่าดิบทึบ และนกกก ในผืนป่าด้านตะวันตก ทำให้ผมรู้อย่างหนึ่ง
หาสถานที่เหมาะสมให้พบนั้นไม่ง่าย
อีกทั้งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องยอมรับว่า
เมื่อใกล้ถึงจุดหมาย หนทางจะยิ่งสูงชัน