อารยันและชนชาติไทย กับประวัติศาสตร์อพยพ ในลัทธิอาณานิคม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นักวิชาการหลายกลุ่ม ทั้งที่เป็นชาวอินเดีย และหมายรวมถึงอีกมากที่ไม่ใช่ เคยเชื่อกันว่า เจ้าของดั้งเดิมของวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ที่ถือกันว่าคือต้นกำเนิดของอารยธรรมอินเดียเมื่อราว 5,000 ปีที่แล้วนั้นคือ พวกดราวิเดียน (Dravidian) ซึ่งมีผิวกายสีดำ จมูกแบน ปากแบะ ผมหยิก และอาศัยอยู่รวมกันเป็นสังคมเกษตรกรรม

ได้ถูกพวกอารยัน (Aryan) ที่มีผิวขาว ตาสีฟ้า จมูกโด่งเป็นสัน และใช้ชีวิตเร่ร่อนหมุนเวียนอยู่บนหลังม้า และกระโจม ตามแบบฉบับของผู้คนทั่วไป ที่ดำรงชีวิตอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง เข้ามารุกรานขับไล่จนถอยร่นลงไปทางใต้ของชมพูทวีป มาจนกระทั่งทุกวันนี้

คำว่า “ดราวิเดียน” เป็นคำใหม่ที่ชาวตะวันตกผูกขึ้นมาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า “ทราวิฑ” (Dravida) ที่มีคำว่า “ทรามิท” (Dramida) ใช้คู่อยู่ในความหมายเดียวกันด้วย แต่ทั้งคำสองนี้ก็มีรากมาจากภาษาอื่น ไม่ใช่ตระกูลภาษาอินโดยูโรเปียน อย่างภาษาสันสกฤตของพวกอารยัน

พูดง่ายๆ ว่าเป็นคำที่ภาษาสันสกฤตไปหยิบยืมมาจากภาษาอื่น ซึ่งก็คือภาษาพื้นเมืองอีกทอดหนึ่ง คือคำว่า “ทราวิทิ” (Dravidi) และ “ทมิฬิ” (Damili)

ทุกวันนี้เรามักจะรู้จักชนกลุ่มนี้ในชื่อของ “ทมิฬ” (Tamil, ซึ่งก็คือสำเนียงเสียงท้ายที่สุด ที่กร่อนมาจากคำว่า “ทมิฬิ”) ที่มักจะกระจายตัวอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียปัจจุบันมากกว่า

 

เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป ซึ่งมักเป็นที่อยู่ของพวก “แขกขาว” ที่สืบสายมาจากอารยันเสียมากแล้ว ก็จึงไม่แปลกอะไรนักหรอกครับ ที่ลักษณะอย่างนี้จะยิ่งตอกย้ำความเชื่อเรื่องการรุกรานเข้ามาในชมพูทวีป ของพวกอารยันได้อย่างดีเยี่ยม

จุดสูงสุดของความเชื่อนี้เกิดขึ้นเมื่อนักโบราณคดี ผู้มีบทบาทอย่างสูงในแวดวงโบราณคดีสหราชอาณาจักร และอินเดีย ในช่วงกลางศตวรรษที่แล้วอย่าง เซอร์ มอร์ติเมอร์ วีลเลอร์ (Sir Mortimer Wheeler, มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2433-2519) ได้เสนอว่า กลุ่มของโครงกระดูกที่มีค้นพบอยู่บนชั้นวัฒนธรรม ชั้นบนสุดในหลุมขุดค้นที่เมืองโมเหนโจดาโร (ซึ่งก็หมายถึงชั้นวัฒนธรรมสุดท้ายที่มีผู้คนอยู่อาศัยในเมืองนี้) นั้นคือ “เหยื่อ” จากการสังหารโหดของพวกอารยันที่ได้รุกรานเข้ามา เมื่อราว 3,500 ปีที่แล้ว

ดังปรากฏหลักฐานที่เอ่ยถึงสมรภูมิที่เรียกว่า “หริอุปิยะ” (Hariupiya) อยู่ในคัมภีร์ฤคเวท ของพวกอารยัน จนเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุล่มสลายลง

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาข้อมูลทางโบราณคดี จากกลุ่มโครงกระดูกจากเมืองโมเหนโจดาโรดังกล่าวนั้น กลับให้ข้อมูลในทิศทางที่แตกต่างกันออกไปจากข้อสันนิษฐานของเซอร์วีลเลอร์โดยสิ้นเชิง

เพราะถึงแม้ว่าโครงกระดูกบางโครง จะแสดงให้เห็นถึงร่องรอยของอาการบาดเจ็บ

แต่ก็เป็นอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ที่มีร่องรอยของการรักษา

แถมยังมีช่วงระยะเวลาทิ้งห่าง กว่าจะเสียชีวิตที่นานเกินกว่าจะเป็นการตายเพราะพิษบาดแผลที่ว่าอีกต่างหาก

ที่สำคัญก็คือปริมาณของโครงกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บเหล่านี้ถือว่าน้อยเอามากๆ เมื่อเทียบกับโครงกระดูกทั้งหมดในชั้นวัฒนธรรมเดียวกัน

จนไม่น่าจะเกิดจากการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยม เพราะสงครามที่พวกอารยันเข้ามารุกรานชาวดราวิเดียนพื้นเมือง ในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ อย่างที่เซอร์วีลเลอร์ได้จินตนาการเอาไว้

และนี่ก็ทำให้นักวิชาการที่โต้แย้งข้อสันนิษฐานของเซอร์วีลเลอร์บางคน ถึงขนาดเรียกข้อสันนิษฐานดังกล่าวของท่านเซอร์คนนี้เอาไว้อย่างแสบๆ คันๆ ว่า “การสังหารหมู่ในมโน” (mythical massacre) เลยทีเดียว

 

ยังมีคำบอก (ที่ไม่รู้ว่าใครเริ่มบอกเป็นคนแรก?) เอาไว้ในแนวคิดเรื่องการรุกเข้ามาของพวกอารยันในทำนองนี้ด้วยว่า พวกอารยันได้รุกเข้ามาในลุ่มแม่น้ำสินธุโดยผ่านทางช่องเขาไคเบอร์ (Khyber pass) ในเทือกเขาฮินดูกูษ (Hindu Kush) ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเดินทางจากพื้นที่บริเวณภูมิภาคเอเชียกลาง เข้าไปยังลุ่มแม่น้ำสินธุ

แน่นอนว่า นอกจากที่พวกอารยันจะไม่ได้รุกรานเข้ามาในรูปแบบของสงครามแล้ว พวกเขาก็ยังไม่เคยจดบันทึกเอาไว้ด้วยว่า เดินทางผ่านช่องเขาใดมาบ้างหรอกนะครับ

แต่ก็น่าสนใจว่า เส้นทางนี้ ก็คือเส้นทางเดียวกับที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ แห่งมาซิดอน (Alexander the Great, มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.187-220) คือ มาซิโดเนียในปัจจุบัน ทรงใช้เมื่อครั้งที่คราวที่เข้ามาทำศึกกับชาวชมพูทวีปเมื่อ พ.ศ.217

เอาเข้าจริงแล้ว จึงอาจจะเป็นเส้นทางที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ทรงใช้ในการเข้ามารุกรานดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุนี่เอง ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครนำไปประดิษฐ์เป็นนิทาน เรื่องการรุกรานเข้ามาในชมพูทวีปของชาวอารยัน ซึ่งก็ดูจะมีรูปร่างหน้าตาไม่ต่างไปจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เท่าไหร่นัก (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรูปร่างหน้าตาของชาวทมิฬ หรือดราวิเดียน)

ร่องรอยที่น่าสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ รายงานการสำรวจเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์อย่างละเอียด ที่ชื่อว่า “On Alexander”s Track to the Indus : personal narrative of explorations on the North-west frontier of India, carried out under the orders of H.M. India Government” (ที่อาจจะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ตามรอยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไปยังลุ่มแม่น้ำสินธุ : ประสบการณ์สำรวจจากชายแดนทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในอุปถัมภ์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรแห่งอินเดีย”) โดยเซอร์ออเรล สไตน์ (Sir Aurel Stein, มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2405-2486) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2472 โดยท่านเซอร์สไตน์ เป็นนักโบราณคดีรุ่นบุกเบิก ที่ถูกเรียกว่าเป็นทั้งนักสำรวจ, นักภูมิศาสตร์, นักภาษาศาสตร์ และนักชาติพันธุ์วรรณา (ethnographer)

ผลงานสำคัญของท่านเซอร์คนนี้ก็คือ การรวบรวมบันทึก, จารึก และเอกสารโบราณอื่นๆ จากวัดถ้ำต่างๆ ที่เมืองตุนหวง (Dunhuang) มณฑลก่านซู่ (Gansu) ประเทศจีน ซึ่งช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียกลางเป็นอย่างมาก

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่ พวกอังกฤษจะใช้ท่านเซอร์สไตน์ในการสำรวจเส้นทางของกองทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ จากเอเชียกลางเข้าไปสู่ลุ่มน้ำสินธุ

โดยเฉพาะเมื่อเป็นการสำรวจในอุปถัมภ์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร แห่งอินเดีย ในยุคอาณานิคม ที่อังกฤษเข้าไปปกครองอินเดีย และคนขาวคือตัวแทนของความศิวิไลซ์ ในขณะที่คนผิวสีอื่นคือผลผลิตของความไม่เป็นอารยะ

 

ชาวยุโรปในยุคอาณานิคมล้วนแล้วแต่ตระหนักดีถึงสถานะความเป็น “คนนอก” และ “ผู้รุกราน” ในดินแดนเส้นศูนย์สูตรอันไกลโพ้นของตนเองนะครับ จึงมักจะพยายามสร้างความชอบธรรมที่คล้ายจะถูกต้องด้วยกฎหมาย

และวิธีการยอดนิยมที่ถูกงัดขึ้นมาใช้อยู่เสมอก็คือ “การสืบทอด” อำนาจการปกครองตามแต่จะสมมติกันขึ้นมาจากผู้ปกครองท้องถิ่น ที่ยอมสยบ หรือถูกช่วงชิงอำนาจด้วยชาวยุโรป

ดังนั้น พวกยุโรปจึงมักตั้งอกตั้งใจสร้าง “ประวัติศาสตร์” ให้กับผู้ปกครองท้องถิ่นเหล่านั้นเป็นพิเศษ เพื่อที่จะใช้อ้างสิทธิเหนือดินแดนของผู้ปกครองเดิมที่ชาวยุโรปพิชิตได้ (โดยเฉพาะเมื่อต้องประชันกับชาติมหาอำนาจอื่นจากโลกตะวันตกด้วยกัน)

ยิ่งเมื่อประวัติศาสตร์ของชนชาตินั้น แสดงให้เห็นถึงความเจริญที่กลุ่มชนภายนอกนำเข้าไปให้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะนั่นก็หมายถึงสิทธิธรรมของ “ผู้มาใหม่” อย่างพวกตนเอง ที่พร้อมจะมอบความเจริญยิ่งขึ้นไปให้กับผู้อยู่ภายใต้ปกครอง อันเป็นชนพื้นเมืองด้วยเช่นกัน

ทั้งๆ ที่วางตัวเป็นลูกแกะน้อย ที่ถูกหมาป่าเจ้าอาณานิคมกลั่นแกล้งรังแก แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยก็ถูกสร้างขึ้นด้วย “พล็อต” ทำนองเดียวกันนี้เหมือนกันนะครับ

ไม่ว่าจะเป็นการอพยพมาจากน่านเจ้า หรือเทือกเขาอัลไต ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเข้ามาสร้างศูนย์กลางอำนาจใหม่ แทนกลุ่มชนที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นขอม หรือมอญ ก็ตาม

และก็เป็นชนชาติจากน่านเจ้า หรือเทือกเขาอัลไต ซึ่งเข้ามาใหม่นี่แหละ ที่สร้างบ้านแปงเมืองจนกลายเป็นอาณาจักรต่างๆ แล้วสืบทอดมาเป็นสยามประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่ชนชาติอื่นที่สร้างปราสาทขอม เจดีย์อย่างลาวทั้งล้านนา ล้านช้าง รวมไปถึงมัสยิดหรือสุเหร่ามลายู ที่เพิ่งจะถูกรวบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนประเทศไทย เมื่อรัฐส่วนกลางที่กรุงเทพฯ สามารถเจรจาปักปันเขตแดน กับชาติมหาอำนาจตะวันตกได้จนเป็นผลสำเร็จนั่นเอง