มนัส สัตยารักษ์ : สงขลา มีครบ เพื่อนเก่าฐานะต่าง และ เพื่อนรักที่ฆ่ากันตาย

สงขลาเป็นเมืองที่มีธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้เกือบจะครบทุกอย่างที่ควรมีในโลก พูดถึงว่าถ้าเราจะเลือกสงขลาเป็นเมืองทำหนังอย่างฮอลลีวู้ด เราแทบไม่ต้องลงทุนสร้างฉากอะไรขึ้นมาอีกเลย ทุกโลเคชั่นที่ต้องการมีพร้อมอยู่แทบทุกมุม จะขาดก็แต่หิมะกับภูเขาไฟเท่านั้น

เรามีทะเล ทั้งน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย นอกจากนั้นเรายังมีคูคลองไปจนถึงแม่น้ำ คล้ายเมืองที่ไม่ติดทะเลด้วย เหตุนี้เราจึงมีปลาหลากหลายสายพันธุ์กว่าเมืองอื่น

ภูเขาหลายรูปแบบ เกาะแก่งน้อยใหญ่ มีน้ำตกและลำธาร เมื่อพูดถึงป่าเรามีทั้งที่เป็นป่าดงดิบ ไม้ป่าสูงใหญ่ ป่ายาง และสวนยาง และป่าละเมาะ สวนผลไม้นานาชนิดอุดมสมบูรณ์พบเห็นทั่วไป

อายุ 15 ปีได้เข้ากรุงเทพฯ แล้วผมก็มึนงงนิดหน่อยเหมือนหลงเมือง เพราะกรุงเทพฯ ไม่มีภูเขา ไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและลง แถมมีฝุ่นกับควันซึ่งที่สงขลาไม่ค่อยมี

อดคิดไม่ได้ว่าเมืองหลวงนี้เป็น “ฉาก” ที่ขาดอะไรไปสักอย่างสองอย่าง ทำนองว่ามีของไม่ครบ

เมื่อยังเป็นเด็กพอจะเริ่มรู้ความ ผมจำได้ว่าแม่พาผมมาพักที่บ้านริมทะเลสาบสงขลาของน้าผู้เป็นน้องสาวแม่ ภาพและเสียงที่ติดตาติดใจมาจนถึงวันนี้ก็คือ ภาพและเสียงของคลื่นกระทบก้อนหินใต้ถุนบ้าน

น้าเหมือนคนไทยโบราณทั่วไป คือ นับถือพี่สาวราวกับเจ้านาย ดังนั้น ผมกับแม่จึงได้นอนในเตียงใหญ่ของบ้านริมทะเลสาบ แถมผมได้ดื่มนมจากเต้าของน้าด้วย เนื่องจากหมอบอกว่าแม่โลหิตจาง

ภาพจำในวัยเยาว์ถัดมาอีกภาพก็คือ ภาพของบ้านและตึกแถวที่ปรักหักพังเพราะเครื่องบินทิ้งระเบิดในสงครามที่เราเรียกกันว่า “ญี่ปุ่นขึ้น” คือทหารญี่ปุ่นขึ้นจากทะเลมาโจมตีเรา

วันเวลาที่รบพุ่งกันนั้นผมกับชาวหาดใหญ่ส่วนหนึ่งหลบภัยไปอยู่ที่ตำบลควนลัง ถนนเพชรเกษม (ทางจะไปอำเภอรัตภูมิ) ซึ่งในยุคนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ ป่ายาง สวนยาง และสวนมะพร้าว

ผมจำได้ว่าขณะเดินไปตามถนนนครนอก ผ่านบ้านเรือนที่มีรอยไหม้ ผมได้กลิ่นของความตายโชยมาเป็นระยะ ขณะที่เดินไปนั้นเป็นเวลากลางวันและสงครามยุติแล้วจึงไม่น่ากลัวแต่อย่างใด เพียงรู้สึกถึงความสูญเสีย วังเวงและสลดหดหู่อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากวันนั้นแล้ว ผมไม่พบภาพและกลิ่นชวนเศร้าที่สงขลาอีก

ทั้งพ่อและแม่ของผมเป็นชาวสงขลาแท้ กล่าวคือมีเชื้อสายจีนปนไทย ญาติผู้ใหญ่ทางพ่อมาจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่เลยทีเดียว ชื่อและสรรพนามของคนในครอบครัวทั้งตำบลเป็นภาษาจีนกันทั้งนั้น เดิมผมเรียกพ่อว่า “เตี่ย” จนกระทั่งถึงวัยไปโรงเรียนจึงเปลี่ยนมาเรียก “พ่อ”

ญาติสายพ่อส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเมืองก่อนพ่อจะย้ายมาอำเภอหาดใหญ่ ส่วนของแม่อยู่นอกเมืองแถวเกาะยอและตำบลสทิงหม้อ

เราไม่ค่อยได้เดินทางไปไหน ดังนั้น การที่ผมได้ออกจากบ้านที่หาดใหญ่เดินทางไปสงขลานี่จึงนับว่าไกลและเป็นเหตุการณ์ชวนตื่นเต้นน่าจดจำมากที่สุดแล้ว

ถ้าไปกับพ่อ พ่อจะพาไปพบญาติผู้ใหญ่ทุกครั้งและทุกบ้าน จนผมเข้าใจว่าเรามีญาติทางพ่อแทบจะทุกมุมเมือง แต่ที่เป็นหลักๆ ก็พี่น้องของย่า 4 คน หน้าที่ของผมก็คือคุกเข่าเข้าไปกราบไหว้ย่าซึ่งเราเรียกว่า “ยาย” ตามภาษาคนสงขลายุคนั้น

ฮวงซุ้ยของต้นตระกูลตั้งอยู่เชิงเขานอกเมือง (ปัจจุบันเป็นกลางเมืองเสียแล้ว) เราเรียกต้นตระกูลว่า “เฉา” (ผมเข้าใจว่าเป็นปู่หรือทวดของพ่อที่มาจากเมืองจีน) มีสิงโตหินสองตัวเฝ้าอยู่อย่างสง่างาม มีแผ่นหินสลักเป็นภาษาจีนบอกชื่อของครอบครัวและทายาท บรรดาลูกหลานและเหลนต่างมาบวงสรวงเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวัน “เช็งเม้ง”

ก็ได้แต่มาแลดูกัน…มาลันดูแก เพราะคนรุ่นเด็กไม่รู้จักกัน พวกรุ่นผู้ใหญ่เขาทักทายแล้วแนะนำให้รู้จักกันอย่างชุลมุน ดังนั้นเมื่อแยกย้ายออกจากเชิงเขาแล้วทุกคนต่างก็ลืม

เมื่อทางการตัดถนนใหญ่ไปอำเภอนาทวีผ่านเชิงเขา ฮวงซุ้ย “เฉา” ของเราถูกขุดและถากราบเรียบ อาคนหนึ่ง (ลูกพี่ลูกน้องของพ่อ) ถ่ายภาพยนตร์คนงานกรมทางฯ ขุดทำลายไว้เพื่อเป็นหลักฐานฟ้องร้องต่อศาล แต่ในที่สุดคงเห็นว่าที่ตรงนั้นเป็นของรัฐ จึงทำใจยอมไปโดยดุษณี ตุ๊กตาหินหายไป แผ่นหินดูเหมือนจะเอาไปถวายวัดแห่งหนึ่ง

และแล้วผมกับญาติใน เจนเนอเรชั่นเดียวกันก็เลิกเป็นลูกหลานคนจีน กลายเป็นคนสงขลาไทยแท้เต็มตัวมาแต่บัดนั้น

ผมมีภาพจำใหม่ๆ เกิดขึ้น ณ ที่เก่าเสมอ สถานที่อาจจะเปลี่ยนแปลกไปจากเดิมบ้างเพราะกาลเวลา อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกไม่ค่อยเปลี่ยนไปตามสถานที่สักเท่าไร

ครั้งหนึ่งผมขอให้เพื่อนจากหาดใหญ่พาไปกินอาหารที่ภัตตาคารดังถนนเก้าห้อง เมื่อไปถึงผมเตร่ไปดูอาหารปักษ์ใต้ที่ห้องแถวเก่าที่ตั้งประจันหน้าอยู่ฝั่งตรงกันข้าม

แค่ดูหน้าตาอาหารใต้ผาดๆ ผมเปลี่ยนใจทันที สั่งข้าวราดแกงเหลืองปลากระบอกกับผัดเผ็ดกระดูกหมูอ่อน

เจ้าของร้านส่ายหน้าปฏิเสธ “ไม่ได้ … ลุงจะกินแกงเหลืองกับผัดเผ็ดรวมกันไม่ได้”

ผมรู้ว่าเขาหวังดีต่อลูกค้าพร้อมกันไปกับ “ความรับผิดชอบ” ของยอดฝีมือ แต่ความอยากกิน (หรือตะกละ) ทำให้ผมแนะนำไปว่า “ตักแกงกับผัดเผ็ดแยกซ้าย-ขวา อย่าปนกันก็ได้นี่นา”

“ไม่ได้” เขายืนกราน มีเสียงสนับสนุนจากคนในร้าน “ปนกันแล้วมันจะเสียของไม่อร่อยไปเลยนะลุง”

ในที่สุดผมต้องยอมเชื่อฟัง สั่งข้าวราดแกงกินกับผักสดพื้นเมือง ส่วนผัดเผ็ดกระดูกหมูอ่อนใส่ถุงเอาไว้กินมื้อเย็นหรือไม่ก็เข้าตู้เย็นไว้กินวันถัดไป

สงขลาช่างมีอะไรที่ครบถ้วนแต่ประจันหน้ากันอยู่เสมอ เหมือนร้านข้าวแกงกับภัตตาคาร และเหมือนกับแกงเหลืองกับผัดเผ็ดในร้านข้าวแกง

สงขลามีตำนานเพื่อนเก่าคู่หนึ่ง คนหนึ่งเป็นรัฐบุรุษ เป็นประธานองคมนตรี เป็นอดีต ผบ.ทบ. และ อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนอีกคนหนึ่งขี่สามล้อรับจ้าง

เพื่อนคู่หนึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมาด้วยกัน เป็นเทศมนตรี จนผลัดกันเป็นนายกเทศมนตรี คนหนึ่งเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่อีกคนหนึ่งอยากจะพัฒนาแบบตะวันตก นักอนุรักษ์ถูกฆ่า นักพัฒนาเป็นฆาตกรถูกศาลตัดสินประหารชีวิต

เรามีศาลยุติธรรมพร้อม 3 ศาล คดีฆ่ากันตายข้างต้นนั้น ศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์กับศาลฎีกากลับตรงกันข้าม…ตัดสินประหารชีวิต