โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/พระกริ่งเชียงตุง 2486 พระเครื่ององค์สุดท้าย สมเด็จพระสังฆราช (แพ)

สมเด็จพระสังฆราช (แพ)

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ
[email protected]

พระกริ่งเชียงตุง 2486

พระเครื่ององค์สุดท้าย

สมเด็จพระสังฆราช (แพ)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นพระคณาจารย์ที่โด่งดังในการสร้าง “พระกริ่ง” ของเมืองไทย
สำหรับ “พระกริ่งเชียงตุง” ปี 2486 นับเป็นพระกริ่งรุ่นสุดท้าย ในสมเด็จพระสังฆราช (แพ) และยังเป็นการนำแม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่เดิม มาใช้ในการจัดสร้างอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย
การสร้างพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) นั้น ส่วนใหญ่ พระองค์จะใช้พิมพ์พระกริ่งใหญ่ของ พระยาศุภกรบรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) ผู้อำนวยการกองพระคลังข้างที่ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นอดีตช่างทองหลวงฝีมือดี และรับอาสาทำแม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่ถวาย โดยการใช้ตะกั่วตีหุ้มองค์พระกริ่งใหญ่ต้นแบบ ทำให้ได้ขนาดเท่ากับต้นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
เมื่อปี พ.ศ.2486 คุณหญิงศุภกรบรรณสาร ภรรยาพระยาศุภกรบรรณสาร ได้นำแม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่ ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ตะกั่ว ถวายสมเด็จพระสังฆราช (แพ)
และในปีดังกล่าว ทรงโปรดให้หล่อพระกริ่งใหญ่โดยใช้แม่พิมพ์ตะกั่วเดิมนั้น
พระกริ่งที่ทรงสร้าง ใช้ชนวนพระกริ่งรุ่นต่างๆ ที่ทรงเก็บไว้บนตำหนักสมเด็จ ผสมกับเนื้อชนวนพระกริ่ง ปี 2482 และแผ่นทองที่จารพระยันต์ 108 กับ นะ ปถมัง 14 รวมกับแผ่นทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 อีกจำนวนมาก
กระแสเนื้อภายในจะออกสีนากอ่อนแล้วกลับเป็นสีน้ำตาล มีทั้งวรรณะอมเขียว ที่เรียกว่า สีไพล (ว่านไพล) คือออกสีเขียวเข้ม เพราะแก่ชนวนพระกริ่งนวโลหะ วรรณะออกน้ำตาลอ่อนและน้ำตาลอมแดง
พระกริ่งเชียงตุง มีจำนวนสร้าง 108 องค์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้มอบแก่เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาที่จะเดินทางไปเชียงตุง และศิษย์ผู้ใกล้ชิดประมาณ 30 องค์
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2487 เจ้าประคุณสมเด็จฯ สิ้นพระชนม์
พระกริ่งเชียงตุง จึงนับเป็นพระกริ่งรุ่นสุดท้ายในองค์สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว)

พระนามเดิม “แพ” ประสูติเมื่อวันพุธที่ 12 พฤศจิกายน 2399 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครอบครัวเป็นชาวสวนบางลำพูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี
พ.ศ.2411 ปีมะโรง บรรพชาที่วัดราชบูรณะ ศึกษาเล่าเรียนที่วัดทองนพคุณ ต่อมาเมื่ออายุ 16 ปี ตามสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ ครั้นสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) อาพาธใกล้ถึงมรณภาพ แนะนำให้พระองค์ไปฝากตัวเป็นศิษย์พระเทพกวี (แดง) วัดสุทัศน์ (ภายหลังพระเทพกวีได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต)
ปีเถาะ พ.ศ.2422 อุปสมบทที่วัดเศวตฉัตร มีพระเทพกวี (แดง) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ชุ่ม วัดทองนพคุณ และพระอาจารย์โพ วัดเศวตฉัตร เป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์ กลับมาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับพระอุปัชฌาย์ที่วัดสุทัศน์ และยังได้ศึกษากับสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์
ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม 3 ครั้ง ได้เปรียญธรรม 5 ประโยค

พระกริ่งเชียงตุง ปี 2486 (หน้า)
พระกริ่งเชียงตุง ปี 2486 (หลัง)

ลําดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2432 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีสมโพธิ และได้เลื่อนสมณศักดิ์ชั้นเทพในพระราชทินนามเดิม เมื่อ พ.ศ.2439 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พ.ศ.2441 เลื่อนเป็นพระราชาคณะที่พระเทพโมลี พ.ศ.2433 เลื่อนเป็นพระธรรมโกศาจารย์
พ.ศ.2455 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานหิรัญบัฏ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพรหมมุนี
พ.ศ.2466 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพุฒาจารย์
พ.ศ.2472 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต
ครั้นเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 11 วัดราชบพิธฯ เสด็จสวรรคต จึงมีประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2481 โดยประกาศสถาปนาสมเด็จพระวันรัตขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 8
ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 วันที่ 19 กันยายน 2482 ได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสุพรรณบัฏสมเด็จพระสังฆราชเจ้าว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
ทรงปกครองคณะสงฆ์ให้เจริญเรียบร้อยก้าวหน้ามาโดยลำดับ ตั้งแต่เริ่มจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์
ด้านการศึกษาส่วนพระปริยัติธรรม รับหน้าที่เป็นแม่กองสนามหลวงฝ่ายบาลี สอบวัดความรู้พระปริยัติธรรมพระภิกษุ-สามเณร ตั้งแต่ พ.ศ.2471-2474

แม้จะทรงพระชราภาพ แต่ยังทรงพระปรีชาญาณ และทรงเห็นว่าจะไม่สามารถปกครองสังฆมณฑลให้สัมฤทธิผลได้ดังพระราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาตั้งคณะบัญชาการแทนพระองค์ขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินศาสนกิจให้ลุล่วง
จวบจนวันที่ 14 ตุลาคม 2484 รัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อประสานนโยบายฝ่ายพุทธจักรกับอาณาจักร จึงมีพระบัญชาให้เปิดประชุมสมัยสามัญแห่งสังฆสภาขึ้น และเสด็จเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2485
ทรงแต่งตั้งพระมหาเถรานุเถระในสังฆสภา ให้ดำรงตำแหน่งตามบทแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 โดยครบถ้วนเพื่อบริหารกิจการพระศาสนา
ในบั้นปลายพระองค์ทรงประชวรด้วยพระโรคชรา ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2487 คณะแพทย์ถวายการรักษาจนสุดความสามารถ พระอาการได้ทรุดหนัก จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2487 สิ้นพระชนม์ที่ตำหนักสมเด็จ ในวัดสุทัศนเทพวราราม สิริพระชนมายุ 89 ปี พรรษา 66
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชรวม 7 ปี