อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : หนีเสือปะจระเข้ ภาพวาดบุคคลในข่าวจากสองยุคสมัย ในบริบทของสังคมไทย ที่กลับไม่ได้และไปไม่ถึง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ
ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

หนีเสือปะจระเข้

ภาพวาดบุคคลในข่าวจากสองยุคสมัย

ในบริบทของสังคมไทย

ที่กลับไม่ได้และไปไม่ถึง

มื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะของศิลปินไทยผู้ไปสร้างชื่อเสียงในระดับสากลอีกคน เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันฟังตามเคย
นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า
หนีเสือปะจระเข้ (Out of the frying pan into the fire)
นิทรรศการแสดงผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันของ ตะวัน วัตุยา ศิลปินหนุ่มผู้เกิด เติบโต และอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ
เขาจบการศึกษาศิลปะบัณฑิต จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ตะวันเริ่มต้นการเป็นศิลปินอาชีพ ด้วยการวาดภาพสีน้ำมันสีสันจัดจ้าน ฝีแปรงเร่าร้อนรุนแรง ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวที่พบในข่าวและสื่อสิ่งพิมพ์ ก่อนที่จะหันเหมาวาดภาพสีน้ำฝีแปรงอิสระเสรี ที่มักจะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง และประเด็นอื้อฉาวในสังคม ด้วยลีลาตลกร้ายแสบสันต์
และสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากนิทรรศการ “ห้าร้อย (500)” ที่หอศิลป์ Sarazine ในปี 2005 และนิทรรศการ Siamese Freaks หอศิลป์ Numthong ในปี 2007
หลังจากนั้นเขาเริ่มเดินสายแสดงนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, จีน, ไต้หวัน, สวิตเซอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เบลเยียม ผลงานของเขาเองก็ถูกสะสมในหลายคอลเล็กชั่น
ล่าสุด นิทรรศการแสดงเดี่ยวของเขาอย่าง Rogues Gallery : Monsters, Villains & Hellbent Politicians ของเขาในหอศิลป์ The Lodge ในนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา ก็ได้รับความสนใจจากแวดวงศิลปะระดับนานาชาติเป็นอย่างมาก

ส่วนนิทรรศการ หนีเสือปะจระเข้ ในคราวนี้ เป็นการรวบรวมจิตรกรรมสีน้ำมันตั้งแต่ปี 2005 ของตะวัน วัตุยา เมื่อครั้งที่ตะวันวาดภาพใบหน้าของผู้คนที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่คัดสรรแล้วกว่า 30 ภาพ นำมาจัดแสดงรวมกับผลงานภาพจิตรกรรมสีน้ำมันภาพบุคคลที่ปรากฏในสื่ออินเตอร์เน็ต ที่เริ่มวาดมาตั้งแต่ปี 2017
โดยศิลปินเจ้าของหอศิลป์ ARTIST+RUN อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ผู้คัดสรรและดูแลผลงานในนิทรรศการครั้งนี้
“นิทรรศการนี้เริ่มมาจากที่อังกฤษเขาเคยไปนอนบ้านเรา แล้วเขาไปเห็นภาพวาดในช่วงปี 2005 ที่เราวาดไว้ประมาณ 30 กว่ารูป คือช่วงนั้นเราซื้อหนังสือพิมพ์ทุกวัน แล้วเราก็ไล่ดูรูปหน้าคนที่ลงในหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ข่าวพาดหัว ไล่ไปจนหน้าข่าวกีฬา, หน้าซุบซิบ แล้วก็เลือกวาดออกมา แต่ไม่ได้เจาะจงว่าจะเลือกใคร เหมือนสุ่มเลือกมากกว่า มันก็เลยมีทั้งภาพหน้าตำรวจ, ทหาร, นักการเมือง, ดารา,นักร้อง, นักกีฬา ไปจนถึงผู้ต้องหา, อาชญากร, นักโทษการเมือง, ผู้ลี้ภัย รวมถึงหน้าคนต่างประเทศ เหมือนเวลาเราดูข่าว ที่มีข่าวการเมือง, ข่าวกีฬา, ข่าวบันเทิง, ข่าวต่างประเทศ ข่าวอาชญากรรม วาดเสร็จ เราก็เก็บเอาไว้จนลืม แล้วก็คิดว่าคงไม่ได้เอาไปแสดงที่ไหนแล้ว”
“ทีนี้อังกฤษเขาสนใจจะเอาภาพวาดชุดนี้ไปแสดง เพราะเขามองว่ามันเป็นเหมือนต้นทางของงานจิตรกรรมของเราทุกวันนี้ เราก็เห็นดีเห็นงามด้วย ก็รู้สึกว่าเหมือนมันตายไปแล้ว แต่อยู่ๆ ก็ได้กลับคืนชีพมาอีกครั้ง”
“แต่อังกฤษก็มีไอเดียว่า เราน่าจะวาดภาพแบบนี้ขึ้นมาอีก ในรูปแบบเดียวกัน แต่ต่างเวลา เราก็นึกสนุก ก็เลยตกลง แต่ในยุคนี้เราไม่ได้ดูข่าวจากหนังสือพิมพ์แล้ว แต่ดูจากจอโทรทัศน์, จากจอมือถือมากกว่า เราก็เลยใช้การประมวลข่าวจากการดูโทรทัศน์ จากการอ่านข่าวในเว็บไซต์ ดูว่าเพื่อนในเฟซบุ๊กเขาโพสต์อะไร ตอนนี้ใครกำลังมา”
“ก็ใช้เวลาทำช่วงปีที่แล้ว (2017) ช่วงที่กลับมาอยู่เมืองไทย ซึ่งก็มีอยู่สองคนนะ ที่เราวาดเมื่อปี 2005 และปี 2017 เราก็วาดซ้ำอีก คือ เสก โลโซ แล้วก็ มาร์ค อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) นอกจากนั้นก็จะเป็นคนจากคนละยุค”

จากยุคของหน้าหนังสือพิมพ์สู่สื่อออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดีย จากความตายของแผ่นกระดาษ (?) สู่การเกิดใหม่ของทัชสกรีน ศิลปินอย่างตะวัน ก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานด้วยเทคนิคที่มีมาแต่ครั้งโบร่ำโบราณอย่างงานจิตรกรรมที่สีน้ำมัน ในยุคสมัยที่ป่าไม้ยังไม่มีเสือ ในคลองยังไม่มีจระเข้
ด้วยระยะเวลาห่างกันกว่า 12 ปี ที่เขาบันทึกเรื่องราวความเป็นไปรายวันของสังคมผ่านใบหน้าบุคคลสำคัญที่ปรากฏเป็นข่าว บุคคลอันเป็นที่รักและที่รังเกียจของสื่อมวลชน ทั้งหมดถูกวาดออกมาในรูปแบบคล้ายกับภาพ Mugshot หรือภาพถ่ายผู้ต้องหาหรือบุคคลในข่าวที่เรามักเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์
ในยุคสมัยของการสื่อสารไร้พรมแดน ที่เราถูกกระหน่ำด้วยพายุภาพและข้อมูลนับล้าน แต่ตะวันก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะวาดภาพใบหน้าเหล่านั้นอย่างประณีตหรือให้ออกมาเหมือนเป๊ะ เสมือนเป็นภาพในหอเกียรติยศของประเทศไทย แต่วาดออกมาอย่างอิสระเสรีไร้การปั้นแต่งบรรจง จนดูเหมือนเกมใบ้คำเพื่อเดาใบหน้าเสียมากกว่า
“เวลาวาดรูปเราไม่ค่อยร่างภาพอยู่แล้ว ถ้าวาดสีน้ำนี่ไม่เคยร่างเลย ส่วนวาดสีน้ำมันก็ร่างแค่บางรูป เราก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าทำไมเราหลงใหลการวาดภาพพอร์ทเทรต (ภาพบุคคล) นัก อาจจะเพราะเราชอบดูหน้าคน เราชอบสังเกต ชอบมอง มันเป็นความหลงใหลบางอย่าง ซึ่งเราก็หยุดวาดไม่ได้สักที เหมือนถ้าเวลาเราไปเป็นศิลปินพำนักที่ไหน เบื้องต้น ถ้าเรานึกอะไรไม่ออก เราก็จะเก็บใบปลิว หรือหนังสือพิมพ์ แล้วก็เอาไปวาดพอร์ทเทรต หรือจำหน้าของคนในพื้นที่ที่เราเห็นเป็นแบบวาด”
“ตอนเราไปเมืองจีน ไปญี่ปุ่น ก่อนที่เราจะทำโครงการอะไรขึ้นมา เราจะเริ่มต้นจากการวาดพอร์ทเทรตคนที่นั่นก่อน มันคงเป็นความหลงใหลอะไรบางอย่างของเรา”
เมื่อจ้องมองไปที่ร่องรอยของสีน้ำมันของตะวัน ที่ถูกพู่กันตวัดวาดทิ้งไว้บนผิวแคนวาส เค้าลางของใบหน้าบุคคลที่คุ้นเคย จนดูเหมือนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ท่ามกลางเวลาและความเจริญที่ไม่ได้ออกเดินไปข้างหน้า แต่กลับวกวนเวียนอยู่กับเราและเรื่องราวเดิมๆ 12 ปี ที่สังคมของเราพยายามวิ่งหนีเสือ เพื่อกระโจนลงไปหาจระเข้
“ไอเดียของชื่อนิทรรศการครั้งนี้ เริ่มมาจากอังกฤษ ที่เขาอยากได้ชื่อที่มันเป็นไทยๆ เพราะว่าในนิทรรศการของเราหลายๆ ครั้ง ที่ผ่านมาก็ใช้ชื่อไทย อย่าง “ญี่ปุ่นควบฝรั่ง”, “ตีท้ายครัว” หรือ “เด็กเอ๋ยเด็กดี” อะไรแบบนี้ คำไทยค่อนข้างจะเข้ากับงานของเราบางชุด ส่วนชื่อ “หนีเสือปะจระเข้” นี่ตั้งแบบขำๆ มากกว่า มันเป็นความรู้สึกของเราที่ว่า ไม่ว่าเวลาผ่านไปเท่าไร เราก็ยังอยู่กันที่เดิม เหมือนออกจากวังวนหนึ่ง แล้วออกมาเจออีกวังวนหนึ่ง”
“เหมือนถอยกลับก็ไม่ได้ ไปต่อก็ไม่ถึง”

12 ปีผ่านไป ในยุคที่สายตาของคนย้ายจากกระดาษไปสู่จอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน แต่การอ่านข่าวในประเทศไทยก็ยังคงเหมือนดูละครรีเมกที่ไม่มีวันจบสิ้น
รัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เหล่าทหารก็ยังคงอยู่ในอำนาจ
เหล่าบุคคลผู้สูญหาย ก็ยังคงหายสาบสูญต่อไปอย่างไร้วี่แวว
บทละครที่เคยพูดถึงการสมรู้ร่วมคิดหรือการแทงข้างหลังก็ไม่ได้เปลี่ยนไปแม้แต่น้อย มีเพียงชื่อใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาในรายชื่อของนักแสดงเท่านั้น
ท้ายที่สุดแล้ว คุณจะเลือกเส้นทางไหนเพื่อไปเจออะไร ระหว่าง เสือ หรือ จระเข้?
นิทรรศการ หนีเสือปะจระเข้ (Out of the frying pan into the fire) จัดแสดงที่ ARTIST+RUN ที่ N22 ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 25 มีนาคม 2561
สอบถามข้อมูลได้ที่ [email protected], www.artistrun2016.com, และเบอร์โทรศัพท์ 09-9454-5955
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก ARTIST+RUN บทความประกอบนิทรรศการ หนีเสือปะจระเข้ โดย อารีแอน คุปเฟอร์แมน สุทธวงษ์