พนมเปญวันวาร-อย่าคิดว่าฉันจะลืม

อภิญญา ตะวันออก [email protected]

dfjudjd

ปีที่ผ่านมา วรรณ โมลีวรรณ ฉลองวัย 89 ปี โดยการย้ายจากกรุงพนมเปญ ไปพำนักถาวรเมืองเสียมเรียบ

เรือนอิฐมอญที่เขาออกแบบและคาดว่าน่าจะเป็นงานชิ้นสุดท้ายหลังนี้ แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ที่ร่มรื่นซึ่งโมลีวรรณให้สัมภาษณ์ว่า เขาต้องการจะปลีกวิเวกจากพนมเปญที่อึกทึก

เท่ากับว่า สถาปนิกแถวหน้าของกัมพูชาท่านนี้ กำลังจะทิ้งทุกสิ่งซึ่งเป็นผลงานยุคทองของตนไปสู่ความโดดเดี่ยวที่เรียบง่ายในบั้นปลายชีวิต

ซึ่งระหว่างปี “50-“70 นั้นว่ากันว่า พื้นที่กว่ากึ่งหนึ่งของกรุงพนมเปญแห่งนี้ ถูกออกแบบ และวางผังแปลนโดยชายผู้นี้

ผลงานเหล่านั้น ยังบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นพนมเปญที่ถูกจดจำหลังยุคอาณานิคม และจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้พนมเปญจะขยายตัวออกไปด้วยสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ อย่างไร้ทิศทาง แต่กระนั้น สถาปัตยกรรมแบบโมลีวรรณก็ยังโดดเด่นและปรากฏให้เราเห็นอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะอยู่จุดใดของกรุงพนมเปญ

อัตลักษณ์ที่น่าหลงใหลในงานสถาปัตยกรรมของโมลีวรรณนี้ มีให้เห็นตั้งแต่หลังคา 3 ชั้นและรูปทรงอาคารหลังคาจับจีบทรงคอนกรีตที่กลายเป็นทรงยอดนิยมยุคหนึ่งของกรุงพนมเปญ นอกจากนี้ ยังมีอาคารของรัฐอีกจำนวนมากทั้งเมืองหลวง หัวเมือง และสถานทูตกัมพูชาในอีกบางประเทศ

มากมายจนไม่น่าเชื่อว่า นี่คือผลงานที่สร้างโดยคนคนเดียว

เป็นความรู้สึกเช่นนั้น หากใครสักคนที่ได้พำนักอยู่ในกรุงพนมเปญระหว่างปี 1993-1999 ซึ่งเป็นช่วงที่ความงดงามของสถาปัตยกรรมแบบโมลีวรรณยังไม่ถูกบดบังจากสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่

แต่เมื่อรัฐบาลสีหนุถูกรัฐประหารในปี 1970 ผลงานของโมลีวรรณจึงหยุดชะงักลง และถูกปล่อยร้างทำลายจากสงครามสมัยแดง ครั้นมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็เกิดปรากฏการณ์ที่กลุ่มอาคารสถาปัตยกรรมสกุลโมลีวรรณหลายแห่งถูกรัฐบาลนำไปปล่อยขายให้เอกชน

มากกว่าจะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานชื่นชม

uewhheshh

ตอนอยู่พนมเปญฉันไม่แน่ใจว่าทำไมตัวเองจึงดิ้นรนที่จะเช่าอพาร์ตเมนต์หลังหนึ่งซึ่งมองเห็นสวนสาธารณะ ทุกๆ เช้าเมื่อเปิดหน้าต่าง จะมองเห็นพญานาคสีน้ำตาลใหญ่ยักษ์คอยพ่นน้ำ อันเป็นจุดแลนด์มาร์กที่ช่างภาพมักใช้เป็นที่ชักรูปหนุ่มสาวคู่สมรสตลอดทั้งวันตั้งแต่สายจรดบ่าย

และนี่คือ พื้นที่ส่วนแรกๆ บนถนนสายหลักนโรดมที่ วรรณ โมลีวรรณ ออกแบบ

ก่อนหน้าสักไม่กี่เดือน ฉันเคยเช่าตึกแถวชั้น 3 ถนนเส้นในสายรองจากนโรดมซึ่งเยื้องกับอาคารโบเด็ง (Building) กลุ่มอาคารห้องชุดอพาร์ตเมนต์ที่ออกแบบยุคเดียวกับสปอร์ตคอมเพล็กซ์ เพื่อใช้เป็นที่พำนักของนักกีฬาแหลมทองซึ่งกัมพูชาตั้งใจเป็นเจ้าภาพในปี 1963 แต่ได้ยกเลิกไปเสียก่อน และจนถึงบัดนี้ กัมพูชาก็ยังไม่สามารถเป็นเจ้าภาพด้านการแข่งขันกีฬาอีกเลย

ส่วนโบเด็งนั้น ซึ่งตกทอดความยิ่งใหญ่ผ่านห้วงเวลามาถึงปัจจุบัน ตั้งแต่การตั้งรกรากของคนยากไร้สมัยหลังเขมรแดง และถูกนำไปขายให้เอกชนโดยขับผู้อาศัยออกจากพื้นที่ซึ่งทอดเวลาร่วมทศวรรษ

ถัดขึ้นไปยังถนนวงเวียนอนุสาวรีย์ซึ่งอดีตเป็นคาเฟ่กรีนเฮ้าส์ที่ฉันมักแวะเวียนไปมา ที่นี่เอง ที่สุดยอดสถาปัตยกรรมแบบโมลีวรรณโดดเด่น และผสมผสานระหว่างศิลปะร่วมสมัยกับเขมรดั้งเดิมที่เรียว่า “วิเมียนเอกเรียด”

แม้ปัจจุบัน ฐานองค์อนุสาวรีย์ดูจะรกรุงรังไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มเติมภายหลัง

ดูเหมือน “ความพอดีที่สมบูรณ์แบบ” แบบ วรรณ โมลีวรรณ นับวันมีแต่จะถูกคุกคาม

แต่ก็นั่นแหละ ยุคทองของพนมเปญและโมลีวรรณดูจะล่วงผ่านไปแล้ว

เช่นเดียวกับอาคารสถาปัตยกรรมหลายแห่งที่เป็นผลงานของเขากำลังถูกคุกคามจากสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ เช่น สถาบันพุทธศาสนบัณฑิตย์ หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของโมลีวรรณที่เชื่อมต่อกับเกาะเพชร เขตกาสิโนคอมเพล็กซ์ซึ่งตกเป็นข่าวดังรุกล้ำที่ดินของสถาบัน รวมถึงโรงละครแห่งชาติพระสุรามฤทธิ ทำเนียบจัมกามอนและสตั๊ดโอลิมปิก ที่ถูกทิ้งร้าง และบ้างก็ปล่อยขาย-เช่าให้เอกชน

แต่ศาลาจตุรมุขได้รับการปรับปรุงให้เป็นอาคารการประชุม อาคารต้นแบบ ซึ่งกลายเป็นหออเนกประสงค์ในการจัดพิธีการงานต่างๆ

แต่งานของท่านโมลีวรรณที่ฉันผูกพันดูจะเป็น 2 แห่ง คือสระว่ายน้ำของสปอร์ตยูธคลับที่ใช้สำหรับฝึกซ้อม 1 ในโครงการของสปอร์ตคอมเพล็กซ์

สปอร์ตคลับของยูธคลับนี้ นอกจากสระว่ายน้ำแล้วยังมีคอร์ตเทนนิสสำหรับผู้ใคร่ออกกำลัง และพักผ่อนเหมือนไปตากอากาศนอกเมืองเพราะความร่มรื่นบริเวณวัดพนม มีคาเฟ่เล็กๆ บริการอาหารและเครื่องดื่ม แต่เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น บริการดังกล่าวก็ปิดลง

และต่อมาปลูกสร้างเป็นอาคารสถานทูตสหรัฐ

นั่นล่ะ วรรณ โมลีวรรณ ที่ถูกจดจำในแบบของฉัน ไม่ว่าจะเป็นอนุสรณ์สถานวิมานเอกราช ศาลาจตุรมุข สำนักพุทธศาสนบัณฑิตย์ และยังผลงานอื่นๆ เช่น อาคารรัฐสภา บางส่วนที่เขาออกแบบร่วมที่สนามบินโปเชนตง ฯลฯ

และความทรงจำอีกแห่งเกี่ยวกับ วรรณ โมลีวรรณ คือโอลิมปิกสเตเดี้ยม หรือที่ชาวเขมรเรียกว่า “สตั๊ดโอลิมปิก”

สถานที่ที่ฉันผูกพันตั้งแต่สมัยตามไปดูการชุมนุมประท้วงของพรรคการเมืองไปจนถึงทำงาน ที่นั่นอย่างน้อย 4-5 ครั้ง โดยเฉพาะอาคารกีฬาในร่มที่น่าจดจำในโครงสร้างการออกแบบ และความรู้สึกเมลืองมลังยามแสงแดดจากภายนอกอาคารสาดทะลุเข้ามาตามช่องลม

พอมีฝูงชนมายืนรอล้อมรอบอาคารระหว่างเข้ามาชมการแสดงเท่านั้น ร่างกายพวกเขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเงาแสงที่เคลื่อนไหว และกลายเป็นความกดดันที่น่าตื่นเต้นในคราเดียวกัน

ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ลองไปเดินเล่นตรงใจกลางโดมตลาดใหม่หรือเซ็นทรัลมาร์เก็ต (เขมรเรียกว่าผซาทไม) ตรงจุดนี้เองที่เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปจะเห็นแสงแดดสาดเข้ามาโดยรอบ-แลดูเมลืองมลังกับโทปาสสีเก่าของอาคาร

นอกจากนี้ ยังมีสนามกลางแจ้งที่เราเคยแสดงคอนเสิร์ตต่อหน้าฝูงชนบนอัฒจันทร์

แลหนหลังสุดนี้ (ซึ่งก็หลายปีมาแล้ว) เกิดผิดครูบาอาจารย์อย่างไรมิทราบ เกิดฝนฟ้ากระหน่ำจนเป็นอุปสรรคในการทำงาน จนนางรำพากันบ่นว่า อาจจะมีใครในคณะที่เผลอไผลไปบนไว้กับเนียะตา

นั่นปะไร พวกเธอ–นางรำจึงเห็นว่า เราควรที่จะกลับไป (รำ) ขอขมาเนียะตาที่สตั๊ดโอลิมปิก

บ่ายแก่วันหนึ่ง ณ ริมสนามฟุตบอลที่ฉันจดจำไม่ลืม เมื่อมีนางรำในชุดนางละครห่มสไบ สวมรัดแขน รัดเกล้าและกำไลข้อเท้า พลางออกท่าร่ายรำอย่างงามสง่าตรงริมสนามหญ้า

ขณะในสนาม การประลองกำลังของ 2 ทีมนักรักบี้ยังคงห้ำหั่นกันไปมาอย่างเอาเป็นเอาตาย

นี่ก็ผ่านมาหลายปีแล้วสำหรับเหตุการณ์นั้น และเกือบ 6 ทศวรรษเห็นจะได้สำหรับโมลีวรรณ นับจากปีที่ลงมือเขียนแบบแปลนสเตเดี้ยมแห่งนี้เป็นครั้งแรก

ด้วยมาตรฐานทัดเทียมเทียบเท่ากับโอลิมปิกสเตเดี้ยมครั้งหนึ่งที่เคยมีความจุถึง 80,000 ชีวิต ซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถาวรที่ชาวพนมเปญมักรวมตัวกัน

เช่น ค่ำคืนหนึ่งซึ่งฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่ฝูงชนกว่าห้าหมื่น ยังคงรวมตัวเพื่อชมการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญ โดยไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก และไม่มีชาวเขมรคนใดจดจำชื่อเขาได้ก็ตาม

แต่ตราบใดที่สตั๊ดโอลิมปิกยังเป็นเหมือนปอดข้างที่สองของชาวพนมเปญ ตราบนั้น ผลงานของ วรรณ โมลีวรรณ จะยังคงเป็นตำนานที่ถูกจดจำ

แบบเดียวกับวลีหนึ่งของชาวกัมพูชาที่สื่อถึงวันวารอันชวนให้ถวิลหา

“อย่าคิดว่าฉันจะลืม”