กรองกระแส/ทวิลักษณะ การเมือง พรรคอนาคตใหม่ เผชิญประสบ หมิ่นหยาม หวาดกลัว

กรองกระแส

ทวิลักษณะ การเมือง

พรรคอนาคตใหม่ เผชิญประสบ

หมิ่นหยาม หวาดกลัว

สภาพการณ์ที่พรรคอนาคตใหม่ประสบจากกลุ่มความคิดเก่าทางการเมืองดำเนินไปในแบบทวิลักษณะอันขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง
1 สบประมาท ว่าไม่มีทางแจ้งเกิดได้
ขณะเดียวกัน 1 ต่างดาหน้ากันออกมาขุดคุ้ย โจมตี ใส่ร้าย ป้ายสีอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ หวังจะทุบทำลายตั้งแต่พรรคยังไม่ได้รับการจดแจ้งอนุมัติจากนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วยซ้ำ
คำถามก็คือ หากเห็นว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แล้วทำไมต้องพยายามสกัดขัดขวาง
จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า ภายในการพยายามสกัดขัดขวางเพื่อทำลายนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่อย่างน่าหวาดพรั่นของพรรคอนาคตใหม่
ด้วยเกรงว่าอาจจะเป็นไปอย่างพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย
เนื่องจากเปิดโอกาสให้พรรคไทยรักไทยได้แจ้งเกิดจากสนามการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยจึงสถาปนาตนเองขึ้นมามีสถานะอันแข็งแกร่งยิ่งในทางการเมือง
ยุบพรรคไทยรักไทยก็ยังมีพรรคพลังประชาชน ยุบพรรคพลังประชาชนก็ยังมีพรรคเพื่อไทย

ฐานคิด การเมือง
ต่อ “อนาคตใหม่”

ต้องยอมรับว่าฐานความคิดสำคัญที่มองว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่น่าจะมีอนาคต ไม่น่าจะประสบความสำเร็จมาจากความจัดเจนการเมืองแบบเก่า
นั่นก็คือ การเมืองในยุคพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคชาติสังคม พรรคสหประชาไทย
แม้จะเปรียบเทียบกับการเกิดขึ้นของพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคธรรมสังคม พรรคความหวังใหม่ ในยุคหลัง แต่ก็ยังเป็นกรอบคิดทางการเมืองในแบบเก่าที่พรรคการเมืองต้องอาศัยรากฐานเดิมของนักการเมืองเก่า
เห็นได้จากพรรคความหวังใหม่ก็ยังต้องอิงกับรากฐานเก่า เช่น นายเสนาะ เทียนทอง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นต้น
เห็นได้จากพรรคไทยรักไทยก็ยังต้องอิงกับรากฐานเก่า เช่น นายเสนาะ เทียนทอง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นต้น
เมื่อพรรคอนาคตใหม่ไม่มีฐานจากนักการเมืองเก่า ก็ย่อมขาดลอยจากการเมืองในต่างจังหวัด จึงยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถเจาะลึกลงไปในระบบหัวคะแนน จึงยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถแจ้งเกิดผ่านระบบเขตได้
เมื่อไม่มีฐานในต่างจังหวัด เมื่อไม่มีโอกาสได้รับเลือกในระบบเขต ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่พรรคอนาคตใหม่จะเป็นพรรคแม้กระทั่งขนาดกลาง อย่างเก่งก็เสมอเป็นเพียงพรรคระดับเล็ก

ทำไม ต้องทำลาย
ทำไม ต้องบดขยี้

ความน่ากลัวเป็นอย่างมากของพรรคอนาคตใหม่จึงมิได้อยู่ที่ฐานและกำลังในทางการเมือง ตรงกันข้าม ความใหม่อันสำแดงผ่านแนวคิดและที่จะแปรเป็นนโยบายต่างหากที่ก่อผลสะเทือนอย่างลึกซึ้ง
1 ทำให้เกิดความตื่นตัวแทบจะทุกพรรคการเมือง
ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ล้วนพากันโหมประโคมในเรื่องบทบาทของคนรุ่นใหม่ภายในพรรค
ก่อให้เกิดการแข่งขันว่าใครจะเปิดกว้างให้กับคนรุ่นใหม่มากกว่ากัน
ขณะเดียวกัน 1 ทำให้เกิดความคมชัดในการสรุปบทเรียนจากปัญหาและความขัดแย้งที่ดำรงอยู่นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่ามีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น
ภายใต้บทสรุปที่ว่าเป็น “ทศวรรษที่สูญเสีย” และมีผลเป็นอย่างสูงทำให้พัฒนาการทางการเมืองของไทยหยุดชะงัก
ผลก็คือ คสช. ตกเป็นเป้า ผลยิ่งกว่านั้นก็คือ ทหารตกเป็นเป้า
จากจุดนี้เองทำให้องคาพยพอันเสพเสวยประโยชน์จากกระบวนการรัฐประหารจำเป็นต้องออกโรงมาทุบทิ้งและทำลายเพื่อตัดตอนมิให้พรรคอนาคตใหม่ได้เติบใหญ่และพัฒนา
ในอีกด้านจึงเท่ากับเป็นการยอมรับในความหวาดกลัวต่อพรรคอนาคตใหม่

ทิศทาง คดเคี้ยว
อนาคต รุ่งโรจน์

พรรคอนาคตใหม่ก็เช่นเดียวกับสิ่งเกิดใหม่ทั้งหลายในทางประวัติศาสตร์ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ การเมืองหรือในทางวัฒนธรรม
ทุกนวัตกรรมใช่ว่าจะดำเนินมาด้วยความราบรื่น
ในอดีต พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคพลังใหม่ เกิดขึ้นจากสถานการณ์หลังเดือนตุลาคม 2516 แต่ก็ถูกทำลายไปพร้อมกับรัฐประหารเดือนตุลาคม 2519 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์รัฐประหารนับแต่เดือนกันยายน 2549 กระทั่งรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 สภาพการณ์ทางการเมืองที่อับตันก็เรียกร้องต้องการพรรคการเมืองใหม่ พลังทางการเมืองใหม่
การเกิดของพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสอดรับกับสถานการณ์เช่นเดียวกับการเกิดของพรรคไทยรักไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2541
วิถีดำเนินอาจจะคดเคี้ยว สลับซับซ้อน แต่ก็เหมาะสมกับความเป็นจริงในทางการเมือง