คดีข้ามชาติของ ‘ฮุน มะเนต’ ทายาททางการเมือง 3 ทศวรรษ ‘ฮุน เซน’ (จบ)

AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

ตอน1

สรุปเอาไว้อีกครั้งว่า นายทหารใหญ่อนาคตดีอย่าง ฮุน มะเนต ลูกชายคนโตของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กำลังตกเป็นจำเลยในศาลแขวง “เซนทรัลดิสทริกต์” รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา อยู่ 2 คดี

คดีแรกโจทก์คือ เมียช โสวันนรา นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านที่อยู่ระหว่างถูกจำคุก 20 ปีที่เรือนจำ เปรย ซาร์ สืบเนื่องจากกรณีการชุมนุมประท้วงที่ลงเอยเป็นการจลาจลในพนมเปญ

เมียช โสวันนรา ยื่นคำร้องต่อศาล ฟ้องแพ่งต่อ ฮุน มะเนต และรัฐบาลกัมพูชา กล่าวหาว่าทำให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อันเนื่องมาจากการจับกุมคุมขังที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย จำคุกยาวนานเกินกว่าเหตุ ใช้การทารุณกรรม และอื่นๆ

อีกคดี มี พอล เฮย์ส ชาวอเมริกันเป็นโจทย์ กล่าวหา พลโท ฮุน มะเนต เป็นจำเลยในคดีทำร้ายร่างกายและขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ระหว่างที่โจทก์ทำหน้าที่นำหมายศาลไปหวังจะมอบให้ ฮุน มะเนต ที่อยู่ระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกา แต่ถูกองครักษ์จับทุ่มกับพื้นที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งในลองบีช เหตุวุ่นวายครั้งนั้นถึงขั้นมีการใช้สเปรย์พริกไทย

และลงเอยด้วยการที่ เฮย์ส ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

จอร์จ เอช. วู ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีนี้ซึ่งยังคงอยู่ในขั้น “ไต่สวนข้อเท็จจริง” แห่งคดี เมื่อ 1 และนัดประชุมร่วมกับทนายทั้งสองฝ่าย เมื่อ 8 กันยายนที่ผ่านมา คู่ความทั้งสองฝ่ายออกมา “ตีความ” ความเคลื่อนไหวของศาลออกไปต่างกัน

มอร์ตัน สคลาร์ ทนายโจทก์ ชี้ว่าคำสั่งศาลที่ออกมาในวันนั้น แสดงให้เห็นว่าคดีนี้กำลัง “รุดหน้า” ไปในทางที่ฝ่ายโจทก์ต้องการ

ในขณะที่ จอน เพอร์เซล ทนายจำเลยบอกว่าศาลแค่กำลังพิจารณาว่าคดีนี้มีมูลหรือไม่เท่านั้น

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ศาลมีคำสั่งหลังการพบหารือกับทนายทั้ง 2 ฝ่าย ให้ ฮุน มะเนต เบิกความเป็น “ลายลักษณ์อักษร” ในคดีทั้ง 2 ที่ถูกนำมาพิจารณาร่วมกัน

กำหนดให้ส่งคำให้การภายใน 4 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้เท่านั้น

คดีนี้ส่อเค้าว่าจะเป็นคดีสำคัญและมีนัยเชิงประวัติศาสตร์สำหรับกัมพูชา อย่างน้อยก็ในทัศนะของ มอร์ตัน สคลาร์ ทนายโจทก์ ซึ่งเห็นว่า ภายใต้คำสั่งศาล ฮุน มะเนต มีทางเลือกเพียง 2 ทางเท่านั้น ทางแรกก็คือตกลงยินยอมดำเนินกระบวนการตามคำสั่งเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น อย่างที่เรียกกันตามนิติวิธีว่ากระบวนการ “ดิสคัฟเวอรี”

หากเลือกทางนี้ “เราก็สามารถถามคำถามหลายๆ คำถาม และได้คำตอบเกี่ยวกับคำถามเหล่านั้น” ซึ่ง “หมายความว่าสามารถที่จะได้รับข้อมูลที่จะเปิดเผยข้อมูลสำคัญหลายๆ ชิ้น ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลกัมพูชา และ ฮุน มะเนต เคยปกปิดเอาไว้เป็นความลับ”

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ “เราสามารถทำให้พวกเขาเปิดเผยความลับเหล่านี้ออกมาได้ในระยะเวลาอันสั้น เร็วมากๆ”

“ข้อมูล” ที่ว่านั้นจะเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับคำถามของฝ่ายทนายโจทก์เป็นสำคัญ ถ้ามีนัย “สำคัญ” จริงๆ ก็สามารถเปิดโปงถึงบทบาทของ ฮุน มะเนต และรัฐบาลกัมพูชา “ที่อาจทำให้ขายขี้หน้าไปทั่วโลก” ก็เป็นได้

ทางเลือกทางที่สองนั้น สคลาร์ ชี้ว่า นายพลมะเนต ผู้บัญชาการหน่วย “บอดีการ์ด” อันขึ้นชื่อเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน สามารถ “เซย์ โน” ไม่เอาด้วยกับกระบวนการของศาล

หากเป็นเช่นนั้น ในความเห็นของสคลาร์ “ก็เท่ากับจำเลยแพ้คดีนี้ในทันที แล้วเราก็จะได้เห็นกันว่าคำพิพากษาที่ศาลมีต่อ ฮุน มะเนต กับรัฐบาลกัมพูชา จะเป็นอย่างไร”

ในทัศนะของทนายโจทก์ ทั้งสองทางนั้นล้วนสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศนี้ได้ทั้งสองทาง

เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนว่า คนระดับ ฮุน มะเนต และรัฐบาลชุดนี้จะตกอยู่ในสภาพเช่นนี้

แน่นอน จอน เพอร์เซล และทีมทนายจำเลยย่อมยืนกรานว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมด “ไม่มีมูล” และ คำฟ้องในคดีนี้ของฝ่ายโจทก์มีจุดอ่อน ช่องโหว่เต็มไปหมด ชนิดที่ศาลควรโยนคดีที่ 2 ทิ้งออกไปไม่ให้เปลืองเวลาศาลด้วยซ้ำไป

ในขณะที่โฆษกรัฐบาลกัมพูชาก็ยังคงยืนกรานว่า ฟ้องน่ะฟ้องกันได้ตามใจ แต่มั่นใจว่าศาลแคลิฟอร์เนียไม่มีอำนาจศาลในอันที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดกับประเทศอื่น

ปัญหาก็คือ ศาลแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่ศาลในกัมพูชา และ จอร์จ วู ก็ไม่ใช่ผู้พิพากษาชาวกัมพูชาแต่เป็นอเมริกัน และการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประหนึ่งตัวแทนศาล ถือเป็นเรื่องสาหัสไม่น้อย

อดใจรอกันอีกไม่ถึง 2 เดือนเท่านั้นก็จะรู้กันว่าคดีนี้จะลงเอยอย่างไร!