มุกดา สุวรรณชาติ : การเมือง…ยุคออเจ้า และอนาคตใหม่ ไม่มีโลกสวย มีแต่การต่อสู้ช่วงชิง

มุกดา สุวรรณชาติ

การเมือง…ยุคออเจ้า ราชวงศ์ปราสาททอง
มาจากการรัฐประหาร และจบด้วยรัฐประหาร

พ.ศ.2171 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นโอรสของพระเอกาทศรถ ประชวรหนัก พระยาศรีสุริยวงศ์ กับออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ) สนับสนุนพระเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าทรงธรรม พระชนมพรรษา 14 พรรษา ให้ขึ้นครองราชสมบัติ โดยจับพระศรีศิลป์ พระปิตุลาซึ่งเป็นพระมหาอุปราชประหาร (สามารถกำจัดศัตรูที่เข้มแข็งที่สุดได้ก่อน 1 คน) จากนั้นพระยาศรีสุริยวงศ์ ก็รับตำแหน่งออกญากลาโหมคุมกำลังทหารไว้ในมือ

ส่วนพระเชษฐาธิราชได้ครองราชสมบัติเพียง 1 ปี 7 เดือน ก็ถูกออกญากลาโหมทำรัฐประหารอีกครั้ง และประหารพระเชษฐาธิราชเสีย (กำจัดขวากหนามคนที่ 2 ลงได้) และก็ตั้งพระอนุชาคือพระอาทิตยวงศ์ พระชนมพรรษา 10 พรรษา ขึ้นเป็นกษัตริย์และตั้งตนเองเป็นผู้ปกครองและผู้สำเร็จราชการ แต่อยู่เพียง 38 วัน ก็ยึดอำนาจไว้เองและให้ประหารพระอาทิตยวงศ์ ราชวงศ์สุโขทัยจึงสิ้นสุดลงอย่างนองเลือดในปีที่ 60

พระยาศรีสุริยวงศ์ ออกญากลาโหมวางแผนสังหารลุงและหลาน 3 คนรวด ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 5 หรือพระเจ้าปราสาททอง จากนั้นก็กำจัดออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) ที่ร่วมกันทำรัฐประหาร สั่งประหารชีวิตออกญาพิษณุโลกซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือพระองค์ และสามารถครองราชย์ได้นาน 25 ปี

ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงวิจารณ์พระเจ้าปราสาททองว่า ฉลาดในทางอุบายมารยา ต้องการราชสมบัติ จึงวางแผนต่างๆ มาแต่ต้น

พ.ศ.2198 สมเด็จเจ้าฟ้าชัยหรือสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 6 ราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ขึ้นครองราชย์ต่อได้ 9 เดือน ก็ถูกพระเจ้าอาคือพระศรีสุธรรมราชากับพระอนุชาต่างมารดาคือพระนารายณ์ สมคบกันแย่งชิงราชสมบัติ จับเจ้าฟ้าชัยประหารชีวิต

พ.ศ.2199 สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ขึ้นครองราชย์ อยู่ในราชสมบัติไม่ถึง 3 เดือน ถูกพระนารายณ์รัฐประหารและปลงพระชนม์ ปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 ครองราชย์นานถึง 32 ปี แต่ตอนปลายรัชสมัยปรากฏว่าบรรดาข้าราชการในราชสำนักเกิดแตกแยกกัน มีฝ่ายของออกญาวิชาเยนทร์ ซึ่งมีทหารฝรั่งเศสเป็นกำลังสำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งมีพระเพทราชาเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นพระสหายของสมเด็จพระนารายณ์ตั้งแต่พระเยาว์วัย

พ.ศ.2231 ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนักอยู่ที่ลพบุรี พระเพทราชาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ 2 เดือนก่อนสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคต พระเพทราชาได้ยึดอำนาจโดยจับเจ้าฟ้าอภัยทศ องค์รัชทายาทปลงพระชนม์พร้อมด้วยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สมุหนายก ก็ถูกประหารชีวิตด้วย จึงเป็นอันสิ้นสุดของราชวงศ์ปราสาททองที่อยู่ได้ 60 ปี

การเมืองยุคออเจ้า ไม่มีโลกสวย ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แม้มี ประชาชนก็มีฐานะเป็นเพียงไพร่ ทาส เป็นแค่ผู้ดู หรือทำตามคำสั่ง การพัฒนาการชิงอำนาจด้วยกำลังยังมีมาต่อเนื่อง แม้ผ่านมา 300 ปีก็ยังเกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตย

 

การเมืองในอนาคต
ยังอยู่ที่สนามเลือกตั้ง แต่ไม่มีความแน่นอน

ดูอดีตแล้ว มาดูอนาคตอันใกล้นี้ ผู้สนใจการเมืองยังมีคำถาม

1. มีเลือกตั้งหรือไม่ มีเมื่อไร? พรรคต่างๆ จะมียุทธศาสตร์และเตรียมการอย่างไร

2. ตาม รธน.2560 ถ้ามีเลือกตั้งแล้ว ใครมีโอกาสเป็นรัฐบาล รูปแบบจะเป็นอย่างไร มั่นคงแค่ไหน?

3. หลังเลือกตั้ง อำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย จะล้มอำนาจในระบบได้ง่ายๆ จริงหรือ?

สถานการณ์วันนี้สัญญาณแข่งขันยังไม่ทันดัง การเลือกตั้งไม่รู้ว่าจะมีขึ้นเมื่อใด แต่ดูเหมือนการแข่งขันจะเริ่มขึ้นแล้ว มีการชิงความได้เปรียบกันทุกวิถีทาง วันนี้เมื่อมีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นมามาก แต่ที่มีบทบาทจริงจะมีไม่มาก นี่ไม่ใช่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่แข่งขันกันในพื้นที่เฉพาะ แต่เป็นพื้นที่ทั้งประเทศ มีความซับซ้อนของกลุ่มประชากร

อีกทั้งสถานการณ์ในวันข้างหน้าจะแปรเปลี่ยนรวดเร็วมากในระยะเวลา 3-6 เดือน จนถึง 1 ปี ล้วนมีความแตกต่าง ก่อนเลือกตั้งกับขณะหาเสียง จะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง บทบาทของพรรคต่างๆ จากวันนี้จนถึงวันเลือกตั้ง อาจแปรเปลี่ยนไปตามเวลาเพียงแค่ 2-3 เดือน ตัวเต็งอาจกลายเป็นตัวรองได้ ในแต่ละช่วงเวลาพวกเขาอาจจะแก้ไขปัญหาและพัฒนาไปได้

หรือบางทีอาจแก้ไม่ได้และประสบกับปัญหามากขึ้นจนสูญเสียสถานะความได้เปรียบทางการเมืองหรือล้มเหลวในการเลือกตั้งก็ได้

 

พรรคอนาคตใหม่

ณวันนี้ดูแล้วจะเป็นพรรคใหม่จริงๆ สำหรับชาวบ้านธรรมดาโดยเฉพาะในชนบท ความก้าวหน้าของพวกเขาชาวบ้านจะตามทันในส่วนใดบ้าง วิเคราะห์ว่าสิ่งที่พรรคนี้จะทำคือ

1. สร้างนโยบายที่มีความสัมพันธ์ และอำนวยประโยชน์กับชีวิตของชาวบ้านทั้งในเมืองและชนบทซึ่งจะทำให้ผู้คนสนใจติดตามและสนับสนุนถ้าเห็นด้วย

2. พรรคนี้เป็นพรรคที่มีแนวทางนโยบายที่ก้าวหน้า คนที่มีความคิดก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไร จะถูกดึงเข้ามาสนับสนุน เพราะลงแรงน้อยสุด

3. ดูแนวทางการเมือง และรูปแบบของพรรคอนาคตใหม่ ต้องดึงคนหนุ่มสาวที่มีอายุ 18-35 มาสนับสนุนให้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุถึงแต่ไม่มีโอกาสใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือใช้แล้วถูกตัดสินว่าเป็นโมฆะ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ถือว่าระยะห่างของการเลือกตั้งคือ 2554-2562 ประมาณ 8 ปี กลุ่มผู้จะมาใช้สิทธิ์ครั้งใหม่อาจเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 5 ล้านคน ถ้ากระแสดี

4. เตรียมบุคลากร ตามโครงสร้างพรรค เพราะตามกฎหมายพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกจำนวนหนึ่งมีตัวแทนในแต่ละจังหวัด ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ส่วนผู้ที่เป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับ ส.ส เขตถึงแม้ไม่ส่งทั้งหมดก็ต้องส่งไม่ต่ำกว่า 250 เขต แสดงว่าต้องมีคนที่เหมาะสม 250 คน ส่วนตัวแทนที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องมีอย่างน้อย 20-30 คน ที่เป็นคนมีชื่อพอมองเห็นว่าเป็นความหวังในอนาคต มีแนวคิดมีชื่อเสียงที่ดี แต่ต้องผ่านการคัดเลือกที่เหมาะสม

เวลาประมาณ 1 ปีจากนี้ ไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนาน เมื่อ คสช. ยิ่งห้ามเคลื่อนไหวเตรียมตัว ทุกพรรคจะทำงานยากขึ้น เส้นทางไปสู่การเลือกตั้งคดเคี้ยวยิ่งนัก

5. ต้องดึงผู้มีประสบการณ์เข้าร่วมงาน ต้องทันเล่ห์เหลี่ยมของคู่แข่งและศัตรูทางการเมือง ซึ่งจะไม่ทำตามกติกา เข้าใจว่าพรรคอนาคตใหม่ได้เตรียมการรับสถานการณ์ต่างๆ ไว้พอสมควร ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองเตือนมาว่า ถ้านี่เป็นการแข่งขัน ต้องถือว่าเป็นเส้นทางวิบากผสมทางเรียบ และในเส้นทางวิบากนั้นบางจุดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าตกลงไปแล้ว อาจจะกลับเข้าสู่การแข่งขันไม่ได้

ในขณะที่ประเทศต้องการคนก้าวหน้าที่กล้าสู้จำนวนมาก แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก และการต่อสู้นี้ยืดเยื้อยาวนาน การถนอมกำลัง การสะสมกำลังในท่ามกลางการต่อสู้จึงยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ยิ่งถ้ามองอนาคตการต่อสู้ไว้ถึง 20 ปี

6. เตรียมตั้งรับอุปสรรคและการโจมตีใส่ร้ายป้ายสี ทันทีที่เปิดตัว ตลอดเส้นทางยังต้องระวังกับดัก ขวากหนามและหลุมพรางที่จะมีคนสร้างขึ้น ยิ่งเด่นยิ่งดังเสียงดีก็จะเจอแบบที่คิดไม่ถึง ในยุค 40 กว่าปีที่แล้วไม่เพียงใส่ร้ายป้ายสี ถึงขนาดขว้างระเบิดใส่เวทีหาเสียงก็มี ยิงใส่พรรคก็มี ลอบสังหารผู้นำพรรคก็ทำมาแล้ว พรรคพลังใหม่และพรรคสังคมนิยมโดนมาแล้วทั้งสิ้น

เมื่อก่อนมีอุปสรรคเรื่องคอมมิวนิสต์มาทาสีแดงใส่แกนนำพรรค โดยพวกอนุรักษนิยมขวาจัด ถึงยุคนี้ก็เปลี่ยนเป็นข้อกล่าวหาอื่น การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าจะต้องมีกลุ่มคนความคิดเก่า ความคิดล้าหลัง คนหัวอนุรักษนิยม ผู้เสียผลประโยชน์ทำการขัดขวางและต่อต้านนี่จึงเป็นเรื่องปกติ

ความแตกต่างในอดีตกับวันนี้ก็คือ ในอดีต พรรคใหม่ที่เกิดขึ้นไม่มีโอกาสจะส่งเสียงคัดค้านต่อสู้หรืออธิบายเพราะสื่อสารมวลชนถูกคุมโดยผู้มีอำนาจจนเกือบหมด แต่วันนี้การควบคุมเหล่านี้ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ

ต้องเตรียมใจว่าการต่อสู้จะแหลมคมมาก และสนามการต่อสู้จะมีทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และภาคพื้นดิน

พรรคอนาคตใหม่ แม้ไม่ประกาศว่าเป็นตัวแทนความคิดใหม่ แต่ตอนนี้ ได้เป็นไปแล้ว ผู้คนจึงคอยดูว่า สิ่งใหม่ที่จะเสนอคืออะไร? ทำอย่างไร? แต่ภายใต้กรอบกรรมการยุทธศาสตร์คงไม่ง่าย

 

พรรคพลังธรรมใหม่

พรรคพลังธรรมเดิมเติบโตมาจากความเชื่อว่าเป็นพรรคคนดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ มีแนวทางการเมืองต่อต้านนายกฯ คนนอก มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว ดังนั้น ถ้าจะใช้ฐานมวลสมาชิกเดิมและผู้สนับสนุนที่มีอุดมการณ์เดิม จุดยืนของพรรคจะต้องกล้าพูดชัดเจนในเรื่องที่ว่าจะเอานายกฯ คนนอกหรือไม่ มิฉะนั้นผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่งจะหายไป

จะดูศักยภาพของพลังธรรมใหม่ ต้องดูว่าสามารถส่งผู้สมัครได้กี่เขต ถ้าต่ำกว่า 250 เขต ก็แสดงว่ากำลังหนุนไม่ถึง แต่เมื่อมีคนจำนวนมากมาเป็นตัวแทนของพรรค ในการแข่งขันเลือกตั้งแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะหาใครก็ได้ ถ้าคุณสมบัติไม่ดีพอ วุฒิภาวะไม่พอ ไม่เพียงไม่ได้คะแนนเสียง ถ้ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียต่อภาพรวมในขณะหาเสียงก็ได้ เพราะภาพพลังธรรมไม่ว่าใหม่หรือเก่า ต้องไม่มีรอยเปื้อน

ที่คนคอยดู คือความเป็นพลังธรรม และอะไรคือสิ่งใหม่

 

พรรคใหม่แนว กปปส.

จนป่านนี้ พรรคที่มีอุดมการณ์แบบ กปปส. ยังไม่ตั้งขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเดือนกันยายน 2560 ทีมวิเคราะห์เคยเสนอความคิดที่ว่าสุเทพและแกนนำ กปปส. ที่อยู่ในประชาธิปัตย์จะไม่มีโอกาสตั้งพรรค กปปส.ได้ ถ้ามีจะต้องเป็นคนอื่น และจนถึงวันนี้เรื่องนี้ก็น่าจะเป็นความจริง เพราะแกนนำทั้งหมดที่กล่าวถึงได้ถอยไปแล้ว

แต่ถ้าจะมีตัวแทนตั้งพรรคแนว กปปส. ขึ้นมาก็น่าจะเป็นเรื่องดี คนที่มีความคิดแบบ กปปส. มีอยู่จำนวนไม่น้อย ในการเคลื่อนไหวม็อบขนาดใหญ่ในปลายปี 2556 ต่อถึงต้นปี 2557 คนจำนวนมากที่ออกมาร่วม แต่พวกที่ไม่มีแนวคิดแบบ กปปส. จริง มาร่วมเพียงไม่กี่วันก็ถอย แต่ก็ยังมีคนเห็นด้วยในหลายประเด็นและยังชอบอุดมการณ์แบบนี้อยู่ ดังนั้น ถ้ามีการตั้งพรรคแนว กปปส. ขึ้นก็จะเป็นการยืนยันว่าพลังมวลมหาประชาชนที่เคยสร้างไว้มีอยู่จริงหรือไม่?

แม้ไม่มาร่วมเดินขบวนแต่เห็นด้วยอยู่กับบ้านก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อย ถ้ามี 1-2 ล้านคน ต่อให้ไม่ชนะเลือกตั้งเลยแม้แต่เขตเดียว แต่ถ้าส่งคนลงเลือกตั้งตามเขตต่างๆ ประมาณ 300 เขตก็น่าจะมี ส.ส. ได้ 10-20 คน นี่เป็นสิ่งที่น่าจะลองดู เพราะถ้ามี ส.ส. ก็ไม่ต้องไปเคลื่อนไหวตามถนนอีกแล้ว น่าจะเป็นผลดีกับระบอบประชาธิปไตยแบบไทยนิยม

โชคไม่ดีที่คดีกลุ่ม กปปส. มาเดินหน้าตอนนี้ ทำไมบังเอิญอย่างนี้

 

อุปสรรคของพรรคใหม่
เป็นเรื่องปกติ ในระบบอำนาจนิยม

การมีรัฐธรรมนูญแล้วเตรียมจะมีการเลือกตั้งในประมาณ 1 ปี แต่การจำกัดขอบเขตไม่ให้คนที่จะลงเลือกตั้งตั้งพรรคการเมือง ห้ามการประชุม ห้ามการปรึกษาหารือในทางการเมือง เป็นเรื่องไม่ปกติในโลกยุคปัจจุบัน

แต่ถ้ามองย้อนไปตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็จะพบว่าสถานการณ์เป็นจริงที่อยู่ตรงหน้าก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนาร้ายแรงจนต้องยอมถอยหลัง เพราะ 10 ปีที่ผ่านมามีการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง มีการใช้ตุลาการภิวัฒน์ล้มรัฐบาล มีการใช้กำลังมวลชนเคลื่อนไหวล้มการเลือกตั้งจนเป็นโมฆะ 2 ครั้ง การเคลื่อนไหวชุมนุมปิดล้อมสนามบิน ปิดทำเนียบรัฐบาล ปิดสถานที่ราชการ ปิดเมืองหลายครั้ง มีการล้อมปราบประชาชนที่เรียกร้องการเลือกตั้งใหม่ จนมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

สถานการณ์หลายอย่างที่ในโลกนี้ส่วนใหญ่ไม่ทำกัน แต่ที่ประเทศเราทำได้ แล้วคนที่ทำก็ยังลอยหน้าอยู่ในสังคมได้ ดังนั้น ถ้าจะลงสนามการเมืองไทยนิยม การเตรียมตั้งรับสถานการณ์แบบแรงๆ จึงต้องอยู่ในแผนการหาทางหนีทีไล่และหาวิธีการต่อสู้

รูปแบบการต่อสู้ปัจจุบัน ไม่ใช่ยุคออเจ้า พรรคใหม่ไม่ต้องวิตก แต่จะใช้สภาพแวดล้อมใหม่ และเทคโนโลยียุคใหม่มาต่อสู้อย่างไร

การยืดเวลาการเลือกตั้งออกไป อาจไม่ใช่เรื่องเสียเปรียบของพรรคใหม่ เพราะต้นไม้ปลูกใหม่ต้องการเวลา ในช่วงรดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน และในขณะเดียวกันสถานการณ์คู่ต่อสู้ก็ไม่ใช่จะดีขึ้น

สถานการณ์ตัวหลักสามกลุ่มคือ ปชป. เพื่อไทย และกลุ่มสนับสนุน คสช. ดีหรือไม่ ขอไว้ในโอกาสหน้า