ในประเทศ : เผือกร้อน กม.ลูกโยนวุ่น สนช.-นายกฯ สังเวย “สมชัย ศรีสุทธิยากร” พ้น กกต. ระวังระเบิดเวลาลูกใหญ่

ต้องบอกว่า กรณีการยื่นหรือไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอแนะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการ ถือเป็นหมากที่ลึกซึ้งยิ่ง อย่างที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ว่าไว้

เพราะไม่เพียงที่จะได้เห็นเรื่องวุ่นๆ โยนกันไปมาระหว่างแม่น้ำ 5 สายที่ คสช. เป็นผู้ให้กำเนิด

แต่ยังมีบุคคลระดับกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ต้องสังเวยตกเก้าอี้ กกต. ไปอีกด้วย โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตวัดลายเซ็นเชือดด้วยข้อหาที่ปรากฏในคำสั่งตอนหนึ่งว่า

“ด้วยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในกรณีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความเห็นของตนเกี่ยวกับกระบวนการและกำหนดการการเลือกตั้งด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควร ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความสับสน อันจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. และการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”

 

แน่นอน ฟางเส้นสุดท้ายที่เป็นเหตุให้ถึงขนาดต้องงัดมาตรา 44 ออกมาปลดกรรมการในองค์กรอิสระคงเป็นเพราะคำให้สัมภาษณ์ที่นายสมชัยมีต่อกรณีการส่งร่าง พ.ร.ป. ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับตามข้อเสนอแนะของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ไปเกี่ยวพันกับเรื่องละเอียดอ่อนอันเป็น “วิกฤตคำมั่นสัญญา” ที่รัฐบาลต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้

นั่นคือ โรดแม็ปเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ถูกประกาศล่าสุด

เพราะนายสมชัยมองว่า จะยื่นหรือไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความก็เป็นปัญหา

เป็นปัญหา เพราะถ้าหากยื่นจะทำให้มีการทดเวลาเพิ่มอีก 2 เดือนเผื่อไว้สำหรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเดือนครึ่ง และนำกลับไปแก้ไขหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครึ่งเดือน

นั่นก็เท่ากับว่า การเลือกตั้งจะเคลื่อนออกไปจากโรดแม็ปอีก 2 เดือน จากกุมภาพันธ์ เป็นเมษายน 2562

ขณะเดียวกับนายสมชัยก็มองว่า สิ่งที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ท้วงติงมา ถือเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญด้วย

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ตามวรรคสาม มาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ให้ถือว่าร่างกฎหมายนั้นเป็นอันตกไปทันที

นั่นก็เท่ากับว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ขัด ก็ต้องใช้เวลายืดไปอีก 6 เดือน ซึ่งจะกระทบต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ต้องเลือก ส.ว. ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. นั่นเอง

นี่จึงเป็นที่มาของวลีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อ่านเกมทั้งหมดนี้ว่าเป็น “หมากนี้ลึกซึ้งยิ่ง”

 

แต่เมื่อยิ่งได้เห็นความเคลื่อนไหวของบรรดาห้อยโหนในแม่น้ำ 5 สายกลับกลายเป็นว่า ลึกซึ้งยิ่งกว่า

เพราะเมื่อขาใหญ่เนติบริกร นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ออกโรงทัก ด้วยการท้วงติงไปถึง สนช. แบบเป็นทางการ มีเหตุผลแย้งอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน

ชัดเจนถึงขนาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังต้องสะกิด สนช. ให้เงี่ยหูฟังก่อนที่เผือกร้อนก้อนนี้จะถูกส่งตรงไปมาถึงตัวเพื่อดำเนินการขั้นตอนก่อนการบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ทุกอย่างก็จึงกลับตาลปัตร จากหน้ามือเป็นหลังมือ

เพราะจาก สนช. ที่เคยยืนยันอย่างหนักแน่น ทั้งจากมติที่ประชุม สนช. ที่กดเห็นชอบกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายอย่างขาดลอย ทั้งจากการดาหน้ากันออกมายืนยันของคนระดับบิ๊กๆ สนช. โดยเฉพาะ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ก็ยังต้องเสียงอ่อย

อ่อยถึงขนาดพาดหัวหนังสือพิมพ์บางฉบับใช้วลีที่ว่า “สนช.กลับลำ” เพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เพราะไม่เพียงจะได้ชื่อ 30 สมาชิก สนช. ที่เข้าชื่อถึงประธาน สนช. เพื่อส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตีความในบทเฉพาะกาลที่ สนช. เพิ่มเข้ามา โดยแบ่งประเภทในการเข้ารับสมัคร ส.ว. เป็น 2 วิธี คือ สมัครด้วยตนเอง กับการสมัครด้วยการแนะนำจากองค์กร จะทำให้การเลือกในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ มีการแยกกันเลือกเป็นบัญชีสองประเภทตามผู้สมัครแต่ละวิธี อาจจะไม่ตรงกับมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญตามที่นายมีชัยได้ท้วงติง

แต่ยังมีเงื่อนไขจากนายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. ไปถึงยังบรรดานักการเมืองด้วย

 

“ขอให้พรรคการเมืองทำสัตยาบันร่วมกันมาเลยว่า ยินยอมให้เลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้งออกไป 3 เดือน สนช. จะดำเนินการส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้อีกฉบับหนึ่ง”

ถือเป็นการฉวยเอาหมากเกมนี้มาเป็นโอกาสเพื่อถ่วงเวลาการเลือกตั้งให้ถ่างออกไปอีก

ทั้งๆ ที่ต้นเหตุของกรณีดังกล่าวมาจากความเห็นต่างของ สนช. กับ กรธ. เป็นเรื่องภายในของ คสช. เอง แต่กลับมาโยนปัญหาให้กับพรรคการเมือง โดยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับแต่อย่างใด

จึงไม่แปลกที่นักการเมือง ทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา หรือแม้แต่พรรคภูมิใจไทย ถึงออกมารุมยำไอเดียดังกล่าวกันอย่างถ้วนหน้า

แน่นอนว่า ท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โยนให้การส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไปให้ศาลตีความเป็นเรื่องของ สนช. ไม่ใช่เรื่องรัฐบาล ขณะที่ สนช. ได้ยืนยันที่จะไม่ส่งไปให้ศาลตีความ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนก่อนการบังคับใช้กฎหมายแล้ว

หลังจากนี้ คงเป็นเรื่องของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วว่า 2 ประเด็นที่ กรธ. ได้ท้วงติงในร่าง พ.ร.ป.ส.ส.

นั่นคือ การตัดสิทธิเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปใช้สิทธิ กับการให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการขณะเข้าคูหาเลือกตั้ง

โดยเฉพาะข้อหลังที่ในหนังสือแสดงความเห็นที่ กรธ. ส่งไปถึง สนช. ได้มีการหยิบยกเอาคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ที่เคยวางแนวปฏิบัติต่อหลักในการลงคะแนนโดยลับว่า จะต้องดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ให้ผู้ใดทราบว่า ผู้ลงคะแนนตัดสินใจเลือกใคร ซึ่งเคยมีผลทำให้การเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเป็นโมฆะมาแล้ว

เมื่อได้รับคำตอบจากประธาน กรธ. ที่ยังมองโลกในแง่ดีว่า แม้จะเป็นส่วนสำคัญต่อกระบวนการการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะการนับคะแนน

 

หากในอนาคตมี “มือดี” ไปยื่นร้อง และศาลชี้ว่าขัด จะทำให้การเลือกตั้งหน่วยที่มีปัญหาเสียไป แต่สามารถจัดการเลือกตั้งซ่อมเฉพาะหน่วยได้ ไม่น่าจะมีผลทำให้การเลือกตั้งทั้งหมดนั้นต้องล้มไป

แต่ก็ยังมีคำถามอันเป็นความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ว่า ใครจะรู้จริงวินิจฉัยได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะอำนาจในการวินิจฉัยที่มีผลผูกพันทุกองค์กรอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การโยนให้เรื่องดังกล่าวให้เป็นเรื่องของอนาคต อาจเป็นหมากเกมที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าที่อดีต กกต. หมาดๆ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ชวนให้สังคมฉุกคิดหรือไม่

เพราะอาจจะเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกใหญ่ที่ตั้งใจตั้งเวลาไว้เพื่อรอให้มีผล ทำให้การเลือกตั้งที่ผู้คนต่างเฝ้ารอ ล้มแบบไม่เป็นท่าอีกก็เป็นได้!