อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ / เมียนมาช่วงเปลี่ยนผ่าน : โรฮิงญา

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เพื่อนคนไทยคนหนึ่งของผมอยู่ในเมียนมาปีหนึ่ง เราพูดคุยกันเมื่อได้พบกันอีก

เขามีเรื่องเมียนมาเยอะแยะเล่าให้ผมฟัง

เรื่องหนึ่งที่เขาเน้นมากและโลกภายนอกไม่ค่อยรู้กันคือ เมียนมาเปลี่ยนแปลงเร็วก็จริง แต่สำหรับเขาแล้วบางอย่างช้ามาก

ผมเห็นด้วย อีกทั้งจากสิ่งที่ผมและคณะวิจัยทั้งของศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อนนักวิจัยชาวเมียนมาจากมหาวิทยาลัยเมาะลำไยเห็นพ้องกันคือ

ปัญหาที่สั่งสมมายาวนานในเมียนมามีมาก สลับซับซ้อน ทั้งในแง่โครงสร้าง พื้นฐานเศรษฐกิจและการเมือง

กลุ่มการเมืองหลักโดยเฉพาะทหาร และกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ยังมีบทบาทและพลังอำนาจต่อพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของเมียนมามาก

สิ่งหนึ่งที่ต้องเน้นคือ เศรษฐกิจ การเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สลับซับซ้อนขึ้นและเปลี่ยนแปลงปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงของบริบทภายนอกและบริบทภายใน ซึ่งบริบทดังกล่าวมีผลต่อกันและกัน

ที่น่าสนใจและอยากขยายความในบทความสั้นๆ นี้คือ ปัญหาชาติพันธุ์และปัญหาทางศาสนาที่ซ้อนกันอยู่ของปัญหาโรฮิงญาในเมียนมา

ซึ่งล่าสุดเพื่อนชาวไทยของผมและเพื่อนชาวเมียนมาของผมพูดเหมือนกันว่า เป็นวิกฤตการณ์ชนิดหนึ่งที่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อหลายภาคส่วนของเมียนมา

 

โรฮิงญาในปัจจุบัน

โรฮิงญาเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ (Rakhine) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศเมียนมาในปัจจุบันซึ่งอยู่ติดกับประเทศบังกลาเทศ

ในอดีตและในประวัติศาสตร์คนในรัฐยะไข่เกี่ยวข้องกับบังกลาเทศตั้งแต่ก่อนยุคอาณานิคม (pre-colonial period) ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีรัฐชาติ

ความเกี่ยวข้องดังกล่าวมีทั้งการเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและใช้กำลังทำสงครามแย่งชิงอำนาจกับรัฐต่างๆ ในบังกลาเทศสมัยนั้นอยู่เหมือนกัน

แต่ใช่ว่ารัฐยะไข่จะเกี่ยวข้องกับบังกลาเทศในประวัติศาสตร์เท่านั้น ยะไข่ซึ่งอยู่ทางตะวันตกก็เคยส่งกำลังรบเดินทางทางเรือเข้ามาโจมตีรัฐมอญ (Mon) ช่วงที่รัฐมอญอ่อนแอ

ช่วงหนึ่งคือ ช่วงที่มหากษัตริย์บุเรงนองของพม่าครองเมืองมอญอยู่สิ้นพระชนม์ ยะไข่ได้แต่งทัพ ซึ่งบางคนบอกว่าทำตัวเป็นโจรสลัด ล่องแม่น้ำมาเผาพระราชวังของกษัตริย์บุเรงนอง ที่เมืองพะโคในปัจจุบันจนสิ้นซาก

หากใครได้ไปเยี่ยมชมพระราชวังกษัตริย์บุเรงนองที่บูรณะขึ้นมาใหม่ที่เมืองพะโค แล้วเห็นซากเสาพระราชวังที่ถูกเผาทิ้งจนเหลือแต่ซากชิ้นเล็กชิ้นน้อยก็ขอให้รู้ว่า นี่เป็นฝีมือของคนจากยะไข่ในช่วงประวัติศาสตร์

แต่อย่าเพิ่ง ชาตินิยมหน่อมแน้ม โกรธชังและหาว่ายะไข่โหดร้าย

ผู้เชี่ยวชาญพม่าบอกแก่ใครๆ ว่า ใครที่ทำสงครามในสมัยนั้น เขาจะเผาวังและเมืองจนสิ้นซากไม่เหลือชิ้นดีกันทั้งนั้น ไม่ว่ารัฐไหนในประวัติศาสตร์

อีกทั้งอย่าเพิ่งสรุปนะครับว่า โรฮิงญาจากยะไข่เป็นโจรสลัดที่ชาวเมียนมาโกรธแค้นและเอาประเด็นเหล่านี้มาปะติดปะต่อเป็นความเกลียดชังทางเชื้อชาติ

ปัญหาโรฮิงญาและยะไข่สลับซับซ้อนก่อนนั้นมาก

กล่าวโดยย่อคือ โรฮิงญาเขาอยู่ที่ยะไข่มามากกว่า 2 ศตวรรษ รุ่นปู่ของปู่ของพวกเขาไปๆ มาๆ ระหว่างยะไข่กับบังกลาเทศในปัจจุบัน

เมียนมาปัจจุบันก็ไม่ยอมรับเขา ไม่ให้สัญชาติเมียนมาแก่เขา โรฮิงญาเป็นมุสลิม ในขณะที่ชาวเมียนมาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ต้องย้ำว่า พุทธในเมียนมามีหลายนิกาย หากเกลียดชังโรฮิงญาก็ต้องถามและย้อนกลับไปว่า เกลียดชังในประเด็นไหนกันแน่

หากเอาเศรษฐกิจมาเป็นตัววัด พวกโรฮิงญาส่วนใหญ่ยากจน แต่ที่รัฐยะไข่กลับอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งสินแร่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ดังนั้น เขาไม่ได้ยากจน แต่มีหลายฝ่ายปล้นเอาทรัพยากรธรรมชาติของเขาไป

ตรงนี้ ใครเกลียดชังโรฮิงญา เกลียดชังในเรื่องความจนหรือความร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ จึงมีการไม่ยอมรับ ขับไล่และผลักดันพวกเขาไปนอกประเทศ

บ้างก็ลี้ภัยไปบังกลาเทศ บ้างก็ไปมาเลเซีย เพราะพวกเขามีญาติพี่น้องอยู่ที่นั่นและปลอดภัยกว่า

 

โรฮิงญาในมิติภายในและภายนอก

มิติภายใน

จริงครับ โรฮิงญามีประเด็นทั้งชาติพันธุ์และศาสนาซึ่งสร้างปัญหากับการเมืองภายในของเมียนมาในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ในทางการเมือง ปัญหาโรฮิงญาก่อให้เกิดปัญหาการบริหารและความชอบธรรมทางการเมืองต่อรัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลอย่างนางออง ซาน ซูจี ซึ่งกลืนไม่เข้าคายไม่ออกต่อปัญหาโรฮิงญา

เมื่อเห็นแก่มนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน หลายฝ่ายก็วิจารณ์ว่านางออง ซาน ซูจี ทำอะไรน้อยเกินไป น้อยจนเอารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มอบให้เธอคืน รางวัลจากมหาวิทยาลัย Oxford จากประเทศอังกฤษก็เอาคืน คะแนนนิยมของนางออง ซาน ซูจี ในหมู่ชาวเมียนมาตกต่ำลง

ในขณะที่ผู้นำทหารเมียนมาในระยะแรกนิ่งเงียบ ปล่อยให้สถานการณ์ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาและคนมุสลิมอื่นๆ บานปลาย ผู้นำทหารเมียนมากลับได้รับความนิยมจากชาวเมียนมาอีกครั้งหนึ่งในเรื่องนี้

และเมื่อผู้นำทหารใช้กองกำลังจัดการความรุนแรงที่เกิดขึ้น ความนิยมต่อผู้นำทหารเมียนมาก็เพิ่มสูงขึ้น

 

มิติภายนอก

มิติภายนอกอาจแบ่งได้เป็น 2 กรณีอย่างง่ายๆ

กรณีแรกคือ องค์การระหว่างประเทศคือ องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญและห่วงใยในสถานการณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยข้ามไปบังกลาเทศประมาณ 680,000 คน พร้อมตั้งคณะทำงานด้านการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา พร้อมทั้งเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนแก่ชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยไปบังกลาเทศ

โดยการสนับสนุนการตั้งค่ายผู้อพยพ การดูแลเรื่องอาหาร ยาและสุขภาพอนามัยของผู้ลี้ภัย

รวมถึงการเสนอมาตรการการคุ้มครองการกลับคืนสู่หมู่บ้านที่พำนักของชาวโรฮิงญาที่รัฐยะไข่ในเมียนมา

นอกจากนี้ นานาชาติได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮิงญาอย่างมาก รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้เดินทางเยือนค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาด้วย

ในกรณีที่สอง ที่ควรพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือ บทบาทของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ควรทราบก่อนว่า ความสัมพันธ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนกับรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรค NLD ไม่ค่อยราบรื่นนัก

เพราะรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่สานงานปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลเมียนมาที่นำโดยนายพลเต็ง เส่ง ซึ่งได้ระงับโครงการการลงทุนของต่างชาติหลายโครงการ ซึ่งรวมทั้งการทำเหมืองทองแดงและโครงการท่อก๊าซและน้ำมันของจีนซึ่งโครงการนี้อยู่ที่จ้าว ผิว ในรัฐยะไข่

มิติภายนอกที่เราเห็นการปรับความสัมพันธ์ของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งการเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศจีนต่อเมียนมาหลายครั้ง การเข้าร่วมประชุมของนางออง ซาน ซูจี เรื่อง Belt and Road Forum ที่ทะเลสาบ Yanqi นครปักกิ่ง เมื่อ 15 พฤษภาคม 2017

รวมถึงความพยายามเข้ามามีบทบาทอีกครั้งของสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอียู ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ต่อเมียนมาและกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ย่อมช่วยให้เห็นว่า ถึงโรฮิงญาจะเป็นประเด็นความขัดแย้งที่สลับซับซ้อน

แต่การมีปฏิสัมพันธ์ของนานาชาติต่อโรฮิงญาในมิติต่างๆ ย่อมส่งผลบวกในระดับหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาด้วย

เรื่องนี้เพิ่งเริ่มต้นครับ