สระน้ำสาธารณะกับปัสสาวะ

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

สระน้ำสาธารณะกับปัสสาวะ

 

อากาศร้อนจัดแบบนี้ หลายคนคลายร้อนด้วยการว่ายน้ำ

สำหรับคนที่ชอบการว่ายน้ำและใช้สระน้ำสาธารณะบ่อยๆ เมื่อทราบผลการศึกษานี้ อาจจะรู้สึกหนาวทันที

เพราะสระว่ายน้ำคือแหล่งสะสมปัสสาวะในปริมาณสูง และปัสสาวะที่เจือปนอยู่กับน้ำในสระนั้น

เสี่ยงทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่คนในสระน้ำได้

 

ในปี 2017 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา (University of Alberta) ประเทศแคนาดา ได้ทำการทดสอบสระว่ายน้ำต่างๆ ในท้องถิ่นจำนวน 31 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในศูนย์กีฬา โรงแรม และบ้านส่วนตัว

พบว่าสระน้ำทุกแห่งที่ทำการทดสอบ ล้วนมีปัสสาวะเจือปนอยู่ทั้งสิ้น

โดยสระว่ายน้ำขนาดใหญ่แต่ละแห่งที่ปริมาณความจุ 833,000 ลิตร หรือมีขนาดเท่ากับ 1 ใน 3 ของสระว่ายน้ำโอลิมปิกนั้น มีปริมาณปัสสาวะ 75 ลิตร

ส่วนสระว่ายน้ำขนาดเล็กลงมาหน่อย จะมีปริมาณปัสสาวะเฉลี่ย 30 ลิตร

ผู้เชี่ยวชาญยังพบว่า นักว่ายน้ำจะปลดทุกข์ในสระโดยเฉลี่ยครั้งละ 70 มิลลิลิตร ปริมาณเทียบเท่า 1 ใน 5 ส่วนของน้ำอัดลม 1 กระป๋อง

 

นักวิจัยทราบปริมาณปัสสาวะในสระน้ำได้ด้วยการตรวจหาสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เรียกว่า อะซีซัลเฟมโพแทสเซียม หรืออะซีซัลเฟมเค (Acesulfame K) จากตัวอย่างน้ำในสระต่างๆ

สารให้ความหวานชนิดนี้จะผสมอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มซึ่งจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและขับออกทางปัสสาวะ เป็นสารคงตัว ไม่เปลี่ยนรูปเมื่อถูกความร้อน

นั่นหมายความว่าสารจะยังคงอยู่และตรวจพบได้แม้จะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะแล้ว

ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าสารอะซีซัลเฟมเคในสระน้ำนั้นมีความเข้มข้นกว่าระดับสารที่อยู่ในน้ำก๊อกถึง 570 เท่า

 

ลินด์ซีย์ แบล็กสต็อก (Lindsay Blackstock) นักศึกษาปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา และเป็นหัวหน้าการศึกษาเรื่องสระน้ำกับปัสสาวะ บอกว่าการปัสสาวะลงในสระน้ำของมนุษย์เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ทุกคนควรกังวล แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วปัสสาวะจะปลอดเชื้อ

แต่เมื่อปัสสาวะซึ่งเป็นสารอินทรีย์ ไปผสมกับสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื่อโรคอย่างเช่นคลอรีน ก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนอง ทำให้เกิดสารตกค้างจากการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection by-products, DBPs) ซึ่งก็คือไนโตรเจนไตรคลอไรด์ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสระน้ำที่อยู่ในร่ม

ซึ่งสารตกค้างนี้เมื่อสัมผัสกับร่างกายในระดับหนึ่ง มีโอกาสทำให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะที่ตา และยังส่งผลเสียต่อระบบการหายใจ เช่นทำให้เป็นโรคหอบหืด

นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงว่าหากสัมผัสสารตกค้างดังกล่าวในระยะยาว มีส่วนก่อให้เกิดโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะได้

 

แม้การปัสสาวะลงในสระน้ำเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ก็มีผู้ใหญ่ 19 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าตัวเองเคยปัสสาวะในสระน้ำอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ลินด์ซีย์บอกว่าเธอต้องการใช้งานศึกษาครั้งนี้ให้ความรู้แก่ทุกคนเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อรักษาสุขอนามัยของสระน้ำสาธารณะ เราทุกคนควรมีความคำนึงถึงผู้อื่นที่ใช้สระร่วมกันด้วยการเดินขึ้นจากสระไปทำธุระให้เรียบร้อยเมื่อรู้ตัวว่าต้องเข้าห้องน้ำ

หลายคนสงสัยว่านักว่ายน้ำอาชีพเคยปลดทุกข์ในสระบ้างหรือไม่

รีเบกก้า แอดลิงตัน (Rebecca Adlington) นักว่ายน้ำ 2 เหรียญทองโอลิมปิกชาวอังกฤษ เคยยอมรับผ่านรายการทีวีเรียลลิตี้ “I’m A Celebrity” ว่า เธอปัสสาวะลงในสระน้ำเป็นประจำ เพราะบ่อยครั้งเวลาฝึกซ้อมในสระติดต่อกัน 2 ชั่วโมงคุณไม่สามารถปลีกตัวขึ้นจากสระไปทำธุระในห้องน้ำได้ก็ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ

เธอบอกว่าการปัสสาวะลงในสระเป็นสิ่งที่ใครเขาก็ทำกัน

 

ไมเคิล เฟลป์ส (Michael Phelps) ยอดนักว่ายน้ำชาวอเมริกัน ก็ออกมายอมรับเคยปัสสาวะในสระน้ำ

เฟลป์สเจ้าของเหรียญโอลิมปิกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 28 เหรียญ เป็นเหรียญทองถึง 23 เหรียญบอกว่า เขาคิดว่าการปัสสาวะในสระเป็นเรื่องปกติที่นักว่ายน้ำทุกๆ คนทำ

เวลาที่เราต้องซ้อมติดต่อกัน 2 ชั่วโมงไม่ค่อยมีใครขึ้นจากสระไปทำธุระในห้องน้ำ

อีกอย่าง ในสระมีคลอรีนช่วยฆ่าเชื้ออยู่แล้ว การปัสสาวะในสระก็คงไม่เป็นอันตรายหรอก

 

คาดว่าหลังจากทุกคนได้ทราบผลของการศึกษาเรื่องสระน้ำกับปัสสาวะแล้ว ก็อาจจะอยากทบทวนเรื่องการปัสสาวะในสระเสียใหม่

เพราะนอกจากจะเป็นการไม่รับผิดชอบต่อสังคมแล้ว

ยังมีผลเสียต่อสุขภาพของตัวเองและคนอื่นด้วย