ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 มีนาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
เผยแพร่ |
สมเจตน์ วิมลเกษม ปราชญ์เมืองน่าน ผู้จุดประกายนำเสนอให้น่านเป็นเมืองมรดกโลกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เขาได้ศึกษาจารึกและใบบอกในฐานะนักอักษรศาสตร์ สำหรับหัวข้อ “เกลือเมืองน่าน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการเมือง” หนึ่งในสามวิทยากรหลักที่เปิดประเด็นเรื่อง “มุมมองใหม่ประวัติศาสตร์ล้านนาตะวันออก”
วิทยากรอีกสองคนในหัวเรื่อง “ล้านนาตะวันออก” กอปรด้วย วิมล ปิงเมืองเหล็ก (บันทึกพระครูศรีวิราชวชิรปัญญาแห่งเมืองพะเยา ตอนที่แล้ว) และ ดร.ดิเรก อินทร์จันทร์ (ครูบากัญจนะอรัญวาสีมหาเถรแห่งเมืองแพร่ ในฉบับหน้า)
ไฮไลต์ของอาจารย์สมเจตน์ในไทศึกษาครั้งนี้ คือประโยคที่ว่า “ถ้าไม่มีเมืองน่าน ก็ไม่มีนครรัฐสุโขทัย!”
เสน่ห์บ่อเกลือฤๅจะสิ้นมนต์ขลัง
บ่อเกลือเมืองน่าน ตั้งอยู่ในตำบลบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นอำเภอที่มีเนื้อที่ 7.40% ของพื้นที่ทั้งหมดในเมืองน่าน
อันที่จริง บ่อเกลือของน่านยังมีอีกบ่อหนึ่งอยู่ในไซยะบุรี ประเทศลาว กล่าวคือ เดิมนั้นอาณาเขตของเมืองน่านกว้างขวางมาก ก่อนจะถูกฝรั่งเศสเฉือนไป
สิ่งที่น่าสนใจของเกลือเมืองน่านก็คือ การที่เป็นบ่อเกลือแห่งเดียวในประเทศไทยที่อยู่บนภูเขา คล้ายดินแดนลี้ลับ ทำให้มีผู้เข้ามาศึกษาน้อยที่สุด ทั้งๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับนครรัฐสำคัญเช่นสุโขทัยมากที่สุด
ความสำคัญของบ่อเกลือเมืองน่าน ก็คือเป็นแหล่งเกลือ 1 ใน 9 แหล่งของเอเชีย ที่ยังคงมีการผลิตบนพื้นฐานของวิถีวัฒนธรรม มีพิธีกรรมมารองรับ
กรรมวิธีการผลิตมีดังนี้ ขั้นตอนแรก ใช้รอกตักแร่เกลือเป็นก้อนๆ ขึ้นมาจากบ่อภูเขา นำมาใส่น้ำพักทิ้งไว้ก่อน 1 คืนให้ตกตะกอน จากนั้นจะทำการลำเลียงแร่เกลือไปตามท่อน้ำส่งแจกจ่ายไปทั่วทุกๆ บ้าน
แต่ละบ้านต้องประกอบพิธี “เลี้ยงเกลือ” “ต้มเกลือ” ในอดีตเคยมีมาอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น แม้ว่าอาจจะไม่เข้มข้นเท่า
ผู้ต้มเกลือในอดีตคือ กลุ่มชนที่เรียกขานตัวเองว่า ไครเลาะ คำว่า ไคร หมายถึง คน, ส่วนคำว่า เลาะ หมายถึง ดี อาจเป็นชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่คล้าย ลัวะ คือพูดภาษาตระกูลมอญ-ขแมร์เหมือนกัน
ฤกษ์ที่ใช้ในการทำพิธีนี้กำหนดไว้ในคืนขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 เหนือ (หรือเดือน 3 กลาง) คือราวเดือนกุมภาพันธ์ จะเริ่มพิธีจุดไฟบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน เช่น ผีเจ้าซางคำ
บ้านแต่ละหลังอาจไม่จำเป็นต้องต้มเกลือพร้อมกัน แต่เมื่อใกล้เข้าพรรษาแล้วทุกหลังต้องหยุดต้ม
ระหว่างช่วงที่ต้มเกลือ ในปะรำพิธีมีการแบ่งเขตด้วยการปักตาแหลว เป็นสัญญาณบอกคล้ายป้าย อนุญาตให้คนเข้าไปชมได้ แต่ต้องเสียเงินตอนออก
ใช้เวลาต้มเกลือเพียง 4 ชั่วโมง 2 ชั่วโมงแรกจะได้เกสรเกลือ เป็นสิ่งมีค่ามาก ชาวบ้านจะตักเอาฝ้าเกลือที่ลอยขึ้นมาข้างบนเก็บไว้ ถือเป็นเกลือบริสุทธิ์ เก็บไว้ปรุงยา และประกอบอาหารชั้นเลิศเท่านั้น
ผ่านไป 2 ชั่วโมงหลัง รอจนครบ 4 ชั่วโมง ก็จะได้เนื้อเกลือสีขาว ตักเอาไว้กินและจำหน่าย
ส่วนคราบเกลือที่ติดก้นภาชนะ จะใช้เป็นยาสำหรับผู้หญิงหลังคลอดบุตรช่วงกำลังอยู่ไฟ กินอาหารต่างๆ ยังไม่ได้ ต้องกินเกลือเพื่อรักษาแผล เพราะเกลือที่นี่ผ่านการต้มแล้วจึงมีความสะอาด
รสชาติเกลือเมืองน่าน อาจารย์สมเจตน์บอกว่า ติด 1 ใน 3 ของโลก โอชารสมากกว่าเกลือทะเล เพราะทุกอณูเนื้อของเกลือเมืองน่านจะแฝงกลิ่นควันไฟอ่อนๆ ไว้ เหมาะในการถนอมอาหารและปรุงรส
ความเค็มอาจไม่เท่าเกลือทะเล ปัญหาคือไม่มีสารไอโอดีน ยุคหลังๆ จึงได้มีการผสมไอโอดีนลงไปด้วย
บ่อเกลือ ต้นกำเนิดอารยธรรม
ต้นกำเนิดสงครามเศรษฐกิจ
ในอดีต “เกลือ” ถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ใครมีเกลือ ย่อมมีอำนาจเจรจาต่อรองได้ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ น่านใช้เกลือดำเนินวิเทโศบายเพื่อความอยู่รอดสองด้านนี้มาตลอด
น่านไม่ได้ค้าเฉพาะเกลืออย่างเดียว แต่ยังค้างาช้างอีกด้วย
เหตุที่เกลือเมืองน่านมีสีขาวบริสุทธิ์ เป็นที่ต้องการของตลาด (สมัยก่อนเกลือเมืองน่านอัดแน่นเป็นแท่งแข็งแบบก้อนอิฐ ส่งไปตามเส้นทางคาราวานม้าต่างวัวต่าง) ทำให้บ่อเกลือเมืองน่าน “เป็นที่หมายปองจ้องตะครุบของใครต่อใคร” มาอย่างต่อเนื่อง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าเมืองน่านมีนามว่า เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช มีชาวฝรั่งเศสทั้งจากสยามและจากในลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้ส่งคนเข้ามาปล้นเกลือเมืองน่าน นำโดยเมอสิเยอร์เลอแจง
ครั้นนั้นเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเกือบจะต่อสู้ปลดแอกน่านจากรัฐบาลสยามได้สำเร็จ โดยใช้โอกาสของการที่ชาวฝรั่งเศสมารุกรานบ่อเกลือ
ย้อนมองอดีตยุคเก่าไปกว่านั้น ในช่วง 700 ปีที่ผ่านมา ยุคที่รัฐอิสระอย่างเมืองน่านต้องเลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายใด ระหว่างภูกามยาว (พะเยา) กับสุโขทัย เห็นได้ชัดว่าน่านไม่เลือกที่จะเอาหลังไปพิงกับพะเยา แต่เลือกสุโขทัยแทน เหตุที่สุโขทัยอยู่ทางใต้ มีทางออกสู่ทะเลได้
น่านมองว่า เมื่อค้าเกลือผ่านสุโขทัย จะช่วยเปิดพรมแดนด้านเศรษฐกิจได้มากกว่า พอเอาหลังไปพิงสุโขทัย น่านก็ได้หลวงพระบางมาเป็นสถานีค้าเกลือแหล่งสำคัญ
น่านมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับสุโขทัยมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์แล้ว จากจารึกหมายเลขที่ 64 คำปู่สบถ สนธิสัญญาระหว่างน่าน-สุโขทัย ขุนจิตขุนจอด พูดถึงปู่พญา สิ้นพระชนม์ 1935 เจ้าหญิงน่านแต่งงานกับพ่อขุนบานเมือง
จารึกตามพรลิงค์ ที่ รศ.ประทีป ชุมพล อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปริวรรตไว้ ระบุว่า ตอนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เข้าไปยึดเมืองนครศรีธรรมราช ได้ถามเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชว่าขาดแคลนอะไร หนึ่งในคำตอบที่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชบอกคือ เกลือ
ทั้งๆ ที่เป็นเมืองติดชายทะเล แสดงว่าการเรียนรู้ การทำเกลือสมุทรจากน้ำทะเลยังไม่เป็นที่รู้จักบนแผ่นดินสยามยุคก่อน
กระทั่งปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้น 20 สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาเชียงใหม่ ได้กระทำสงครามช่วงชิงรัฐสุโขทัยกับฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
การรบกันระหว่างล้านนากับอยุธยา ต่างฝ่ายต่างมียุทธศาสตร์หลักเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ นั่นคือต้องตัดเส้นทางเกลือไม่ให้อีกฝ่ายเข้าถึง พระเจ้าติโลกราชจึงเข้ายึดเมืองน่านก่อนเพื่อตัดเสบียง เมื่อเกลือส่งไม่ถึงสุโขทัย อยุธยาก็ต้องอดด้วยเช่นกัน เดือดร้อนถึงพระญายุทธิษฐิระเจ้าเมืองสองแควต้องหันมาสวามิภักดิ์กับเชียงใหม่
ประเด็นนี้น่าสนใจยิ่ง ถือเป็นมุมมองใหม่ที่ไม่เคยมีนักประวัติศาสตร์ล้านนากล่าวถึง ส่วนใหญ่มองว่า พระญายุทธิษฐิระเอาใจออกห่างจากกรุงศรีอยุธยา ก็เพราะน้อยใจที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อครั้งก่อนขึ้นเป็นกษัตริย์ ว่าเมื่อนั่งบัลลังก์แล้วจะแบ่งอาณาเขตอยุธยาให้ยุทธิษฐิระกึ่งหนึ่ง
แต่อาจารย์สมเจตน์กลับมองว่า สาเหตุหนึ่งที่พระญายุทธิษฐิระต้องรีบยอมอ่อนค้อมต่อพระเจ้าติโลกราชเพราะ หมดเสบียงเกลือ!
วิกฤตเกลือยุคติโลกราช-บรมไตรโลกนาถ
เมื่ออยุธยาขาดแคลนเกลืออย่างถึงที่สุด หลังจากต้องพ่ายแพ้แก่ล้านนาที่ยึดได้ทั้งเมืองน่านและเมืองเชลียง วิธีแก้ลำของอยุธยาก็คือ ต้องหาบ่อเกลือแหล่งใหม่ อาจไม่ใช่ “เกลือบก” แต่เป็นเกลือสมุทรริมชายทะเล ซึ่งน่าจะหาได้ไม่ยาก
ปัญหามีอยู่เพียงว่า “กรรมวิธีการผลิต” นั้น เขาผลิตกันอย่างไร เพราะไม่เคยเรียนรู้ความลับด้านนี้กันมาก่อน
ในสมัยก่อนขึ้นชื่อว่า “เกลือสมุทร” รัฐต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต้องสั่งซื้อมาจากจีน จักรพรรดิจีนถือเป็นสินค้าต้องห้าม เป็นความลับสุดยอดของรัฐบาล ฮ่องเต้จึงป้องกันไม่ให้ปัญญาชนที่ล่วงรู้ความลับนี้ออกนอกประเทศ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและขุนนางได้หาวิธีต่างๆ ที่จะให้ได้เกลือมาใช้บริโภคอย่างเพียงพอต่อความต้องการของชาวเมือง และหนึ่งในวิธีครั้งนั้นก็คือลักลอบติดต่อเจรจาให้ปัญญาชนจีนคนหนึ่งชื่อ เจี่ยบุ้งปิง เข้ารับราชการตำแหน่ง เอี้ยคุณ (ออกขุน) และเป็นทูตไทยไปจีน พ.ศ.2024 ซึ่งมีบันทึกว่า
“ขากลับในระหว่างทางได้ลอบซื้อเด็กชายหญิงและบรรทุกเกลือเถื่อนจำนวนมาก จักรพรรดิสั่งให้อำมาตย์ตักเตือนห้ามปรามพวก “ฮวน” มิให้กระทำเช่นนั้นอีก…”
ในที่สุดอยุธยาได้สูตรลับวิธีทำนาเกลือของจีน ทดลองทำเกลือสมุทรครั้งแรกที่แหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันเพชรบุรียังคงผลิตเกลือทะเลเป็นอันดับ 1 ของประเทศ
โดยพระเจ้าหลานของพระบรมไตรโลกนาถ รับอาสาไปกระทำจนสำเร็จดังความในเอกสารตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า
“…พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราราชกษัตริย์พระบวรเชษฐา พระราชกุมารอันเป็นพระเจ้าหลาน และพระก็ลาพระปู่พระย่ามาตั้งที่เพชรบุรี ท่านเอาพลมา 33,000 ช้างพังพลาย 500 ม้า 700 พลอันตามท่านมาเองนั้น 5,400 ท่านตั้งรั้ววัง เรือนหลวงหน้าพระลาน เรือนชาวแม่พระสนม แล้วก็ให้ท่านทำนาเกลือ แลท่านก็เอามาถวายแก่พระเจ้าปู่พระเจ้าย่าๆ ท่านก็ชื่นชมนักหนาว่าพระเจ้าหลานเรารู้หลัก มีบุญญาอันประเสริฐทุกประการ…”
เมื่ออยุธยาสามารถผลิตเกลือทะเลได้เอง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องง้อเกลือเมืองน่านอีกต่อไป ราชธานีอยุธยาก็อยู่ต่อมาได้อีก 400 กว่าปี
บ่อเกลือเมืองน่าน แหล่งหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชุมชนเมืองในหุบเขาที่ถูกโอบล้อมและตัดขาดจากโลกภายนอกยากแก่การเดินทางเข้าถึง นาม “นันทบุรีศรีน่าน” หรือนามเดิม “วรนคร”
บ่อเกลือที่เคยเป็นเดิมพันชีวิต ระหว่างสงครามนครรัฐล้านนา สุโขทัย อยุธยา
ยังคงหยัดคู่อยู่เคียงวิถีชีวิตชุมชน ลูกหลานชาวไครเลาะ แหล่งผลิตอาชีพรายได้หลักของชาวน่านในปัจจุบัน