สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน เยือน ร.ร. I see U แด่ครูผู้เสียสละ (12)

เช้าวันใหม่ที่ห้องประชุมโรงเรียนสังวาลย์วิทยา แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กลายเป็นสถานที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) สัญจรนอกวังจันทรเกษม หลังเสร็จสิ้นภารกิจคาราวานการศึกษาแยกสายกันไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนห่างไกล บนยอดเขาภูดอย 18 โรง เมื่อวันวานที่ผ่านมา

ทั้ง 5 สาย ต่างเล่าเรื่องราวที่พบเห็น ได้ยิน ได้สัมผัสภาพชีวิตจริงของเด็กน้อย พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูและผู้บริหาร ยืนหยัดต่อสู้ มุ่งมั่น เสียสละ ทุ่มเท ท่ามกลางความขาดแคลน ยากลำบาก ขัดสน เพื่อให้ลูกหลานได้รับโอกาสทางการศึกษา และโรงเรียนดำรงอยู่ได้เพื่อเป็นที่พึ่งพาและอนาคตของเด็กรุ่นต่อๆ ไป โดยไม่ถูกยุบลงไปเสียก่อน

ความสะเทือนใจ ดำเนินไปพร้อมกับความประทับใจในความเสียสละของครูน้อยใหญ่ ลำพังผลตอบแทนเงินเดือนของตัวเองกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัวที่ต้องเสียไปในแต่ละเดือนก็แทบจะไม่เหลือเก็บออม

แต่ครูก็ยังช่วยเจียดเงินเดือนบางส่วนของตัวมารวมกันเพื่อจ้างครูอัตราจ้างที่ทางราชการไม่มีงบประมาณให้

ขอเพียงให้นักเรียนมีครูครบชั้น ครบห้อง ครบวิชา ครูยอม ครูทำได้

 

ลานหน้าอาคารเรียนสังวาลย์วิทยา นักเรียนอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ล้วนชนเผ่าของชุมชนกะเหรี่ยง เข้าแถวเป็นระเบียบ เคารพธงชาติ สวดมนต์ ทำสมาธิเสร็จ เด็กชั้นประถมทั้งแถวหมุนตัวกลับ หันหน้ามาโค้งคำนับผู้พี่ชั้นมัธยม กิจวัตรปกติของพวกเขาทุกเช้า เป็นภาพที่น่าจดจำ การสอนวิชาชีวิตภาคปฏิบัติ การเคารพผู้อาวุโส การมีระเบียบวินัย

ใกล้กันนั้นถูกจัดให้เป็นที่แสดงนิทรรศการผลงานของโรงเรียนประถม มัธยมในพื้นที่ เพื่อแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าแต่ละแห่งมีผลงานการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ที่น่าชื่นชมอย่างไร

เด็กน้อยสองสามคนช่วยกันสาธิตวิธีสานตะกร้าไม้ไผ่ได้สวยงาม

 

รถคันใหญ่ทำเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ จอดให้ผู้สนใจได้ก้าวเข้าไปเยี่ยมชมนวัตกรรมนำการศึกษาไปให้ถึงที่หมาย ห่างไกลแค่ไหนรถไปถึง พร้อมกลยุทธ์ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านด้วยลีลาต่างๆ อาณาจักรนักอ่าน มาอ่านกันนะ พลังอ่าน พลังคิด พลังชีวิต ลับสมองประลองปัญญา อ่านวันละนิดจิตแจ่มใส เป็นตัวอย่าง

ผมทราบจากครูผู้ดูแลเล่าว่า เป็นโครงการที่องค์การยูนิเซฟร่วมกับบริษัท TOP ดำเนินการมอบรถห้องสมุดเคลื่อนที่ให้กับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน ทั้งเขต 1 และเขต 2 ปี 2558 มอบให้เขต 1 อำเภอเมือง ขุนยวม ปาย ปางมะผ้า 2 คัน เขต 2 สบเมย แม่สะเรียง แม่ลาน้อย 1 คัน ปี 2559 มอบต่อให้เขต 1 2 คัน ปี 2560 ให้เขต 2 1 คัน

ให้ทั้งรถ ทั้งหนังสือ ค่าจ้างคนขับ พนักงานบริการ คนละ 8,500 บาทต่อเดือน เบี้ยเลี้ยงวันละ 200 บาท รถห้องสมุดจะเคลื่อนตัวไปตามจุดต่างๆ ตามปฏิทินการปฏิบัติงาน ทำงานร่วมกับครูของโรงเรียนนั้นๆ จอดให้ผู้ใช้บริการ สัปดาห์ละ 1 จุด บางสัปดาห์ 2 จุด

องค์กรระหว่างประเทศ ภาคเอกชน ภาคสังคม จับมือกันทำการศึกษาประชารัฐ ก่อนหน้ายุคประชานิยม ประชารัฐจนถึงไทยนิยม จะฮือฮา มานานแล้ว

 

ต่อมาเวทีในห้องประชุมโรงเรียนสังวาลย์วิทยารับรู้บทเรียนการจัดการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ ในแต่ละสายที่แยกย้ายกันไปเยี่ยมเยียน บางโรงใช้แนวทางจิตตปัญญาศึกษามาช่วยการจัดการเรียนการสอน เริ่มต้นก่อนเข้าสู่บทเรียนด้วยการฝึกสติ ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยกับเด็กโดยการกอด จัดกิจกรรมสร้างชุมชนทางความคิด สะท้อนคิด PLC Reflection ออกแบบหลักสูตรวิชาชีพ คิดนอกกรอบ การดำเนินงานแบบของบประมาณแลกกับเป้าหมายที่โรงเรียนจะทำให้ถึง การพัฒนาครูโดยออกแบบด้วยตนเอง ล้วนเป็นความคิดสร้างสรรค์ของครู ที่น่าชื่นชม

ก่อนที่ครูใหญ่ ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานที่ประชุมจะกล่าวสรุปถึงข้อค้นพบในภาพรวมทั้งหมด หลายประเด็น

1. แม้ว่าโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้ยังมีปัญหาความขาดแคลน แต่วิชาการโดยเฉพาะการสอนภาษาไทยเข้มแข็งเกือบทั้งหมด ทั้งๆ ที่เป็นชนเผ่า

2. ผลักดันการเรียนการสอน ส่งเสริมแนวทางผลิตนักวิทยาศาสตร์น้อย ให้เด็กมีความชอบ เลิกคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเข้าใจยาก

3. หอพักนอน การจัดการทำได้ดี เด็กไม่มีโรคคิดถึงบ้าน วันหยุดซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดที่พัก แม้แออัดแต่แลกกับการฝึกเด็กให้ช่วยเหลือตัวเองได้ถือว่าคุ้มมาก

“ที่พักนอนอาจเป็นคำตอบ ทางออกของปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล ขาดแคลน” เขาย้ำ

4. คูปองครู ครูส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ อยากเข้าเรียน มุ่งมั่นเพื่อเอามาพัฒนาการสอน

5. การจัดการเรียนการสอนผลลัพธ์ดี มีการพัฒนา

6. การส่งเสริมวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนวิถีพุทธ

ส่วนข้อที่ควรพิจารณาหาทางแก้ไข อาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนไปเช้าเย็นกลับ กับเด็กพักน้อยวันละ 3 มื้อ ให้เพียงพอ ปัญหาวิกฤตไฟฟ้า ไอซีที อินเตอร์เน็ตไม่เสถียร ขาดๆ หายๆ องค์กรท้องถิ่นยังมีบทบาทน้อย ขาดครูภาษาอังกฤษ การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC ) เป็นเครื่องมือพัฒนาครูที่ดีมาก แต่วิธีการทำไม่ชัดเจน หลักสูตรวิชาชีพ จักสาน ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ซ่อมจักรยานยนต์ ทำได้ดี กับการมีส่วนร่วมของชุมชนสูง

การตั้งงบประมาณให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก งบฯต่อหัวไม่รองรับค่าใช้จ่ายเพียงพอ ควรทบทวนใหม่ เฉพาะโรงเรียนห่างไกล ทุรกันดาร เช่น บนพื้นที่สูง ตามเกาะแก่ง

 

ครับ ข้อค้นพบ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ทำนองนี้ ยังมีอีกทั้งในเชิงระบบและรายโรงเรียน

สะท้อนภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่แม้ผ่านความพยายามแก้ไข ปรับปรุงเรื่อยมา แต่ปัญหายังดำรงอยู่ไม่น้อย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนได้เสีย เสนอทางออกอย่างไร ณ ปัจจุบัน ทั้งที่เกี่ยวกับกฎระเบียบ กติกาและปัญหาของคน

ต้องติดตามตอนจบ