มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส/สัมผัสผิว ผิวสัมผัส

มองบ้านมองเมือง
ปริญญา ตรีน้อยใส

สัมผัสผิว ผิวสัมผัส

ผิวสัมผัส เป็นคำที่ใช้ในงานวงการออกแบบหรืองานศิลปะ ที่แปลมาจากคำว่า Texture
ในทางทฤษฎีนั้น ผิวสัมผัสหรือ Texture เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งขององค์ประกอบในงานศิลปะสถาปัตยกรรม เช่นเดียวกับขนาด รูปทรง และสี
ด้วยผิวสัมผัสขององค์ประกอบจะมีความสำคัญต่อการรับรู้ ได้แก่ ใกล้ไกล แข็งแกร่ง อ่อนโยน ฯลฯ
แต่ผิวสัมผัสจะมีคุณลักษณะพิเศษ ที่สามารถสร้างการรับรู้ได้มากกว่าสี ที่มาจากการมองเห็นเท่านั้น แต่ผิวสัมผัสนั้นสามารถรับรู้ได้เพิ่มขึ้นจากการสัมผัสด้วยมือหรือร่างกาย จึงช่วยให้เกิดการรับรู้ง่ายขึ้น
เช่นเดียวกับกลิ่นและรส ที่รับรู้ได้จากการสัมผัสได้ทางจมูกและลิ้น
ผิวสัมผัสจึงเป็นคุณสมบัติขององค์ประกอบที่มีความซับซ้อนมากกว่าขนาด รูปร่าง และสี
ดังนั้น การสร้างการรับรู้ผ่านผิวสัมผัสในงานออกแบบที่ไม่ใช่งานสองมิติ จึงง่ายขึ้นหรือยากขึ้นแล้วแต่บุคคล

ในงานสองมิติ ความหยาบและละเอียดของผิวสัมผัสจะช่วยให้เกิดการรับรู้ในด้านระยะหรือมิติของภาพ
ผิวสัมผัสหยาบจะทำให้เกิดการรับรู้ว่าใกล้
ในขณะที่ผิวสัมผัสละเอียดจะทำให้เกิดการรับรู้ระยะไกล
ผิวสัมผัสจึงช่วยให้การจัดองค์ประกอบนั้นมีมิติที่หลากหลายมากขึ้น
อย่างเช่น หากต้องการให้เกิดมิติของความลึก องค์ประกอบที่อยู่ด้านหน้าของภาพจะต้องมีผิวสัมผัสหยาบ
ส่วนองค์ประกอบที่มีผิวสัมผัสละเอียดจะเสมือนอยู่ไกลออกไป
แต่ทว่าในงานออกแบบสามมิติ ที่ระยะใกล้ไกลปรากฏเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว การเพิ่มคุณสมบัติผิวสัมผัส อาจเสริมเพิ่มมิติให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือทำให้เกิดความกำกวมในมิติที่จะกลายเป็นจุดเด่นของงานก็เป็นไปได้

ดังนั้น การเลือกวัสดุก่อสร้างที่มีผิวสัมผัสต่างกัน สำหรับอาคารหลายชั้น โดยกำหนดให้ชั้นล่างๆ ก่อผนังด้วยวัสดุผิวหยาบ ส่วนชั้นบนจะเป็นวัสดุผิวเรียบ จะช่วยให้เกิดมิติความสูงชัดเจนมากขึ้น เหมือนอย่างที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมเรเนซองส์ แต่ก็มีสถาปนิกบางคนที่เลือกวัสดุสลับกัน ซึ่งทำให้มิติใกล้ไกลเปลี่ยนไป เกิดความขัดแย้งระหว่างความเป็นจริงและการรับรู้
ขณะเดียวกัน ประสบการณ์ของมนุษย์ ทำให้การรับรู้เรื่องผิวสัมผัสนั้นมากกว่ามิติใกล้ไกล อย่างเช่น หินที่ขรุขระจะให้ความรู้สึกต่างไปจากพรมที่มีเส้นรกรุงรัง ทั้งๆ ที่มีผิวสัมผัสหยาบเหมือนกัน
ยิ่งในสังคมไทยปัจจุบัน เน้นการรับรู้เรื่องผิวสัมผัสอย่างมาก จนทำให้ชายหนุ่มหญิงสาวต้องทุ่มทุนที่จะทำให้ผิวกายเกลี้ยงเกลา ปราศจากรูขุมขน
ด้วยเหตุนี้ ในงานออกแบบสามมิติ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไม้สอย เครื่องเรือน การตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และผังเมือง เรื่องผิวสัมผัสจึงเป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งยาก มากกว่าผิวสัมผัสในการออกแบบสองมิติ
เราจึงพบเห็นการเลือกวัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างๆ โดยผู้เลือกคิดเพียงการรับรู้ แต่ไม่ได้คิดถึงการสัมผัสจริง ทำให้เกิดเป็นปัญหา
เช่น การเลือกใช้แผ่นหินขรุขระหรือไม้ผิวหยาบ ตกแต่งผนังภายในหรือส่วนที่มีต้องสัมผัสอยู่เสมอ
ซึ่งแม้จะเห็นเป็นภาพสวยงาม มีมิติชัดเจน แต่จะทำให้เกิดปัญหาในการใช้งาน
เช่นเดียวกับการเลือกใช้วัสดุที่มีผิวสัมผัสไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เช่น เลือกวัสดุผิวหยาบ ทั้งๆ ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิด
หรือเลือกวัสดุผิวละเอียดทั้งๆ ที่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด เป็นต้น
ผิวสัมผัส Texture จึงเป็นคุณสมบัติหนึ่งขององค์ประกอบศิลปะที่เข้าใจง่าย รับรู้ง่ายแต่ยากในการนำมาจัดองค์ประกอบให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

คงเป็นเหมือนหลายเรื่องที่คนไทยเราซึมซับบางเรื่อง ที่ผิดไปจากแบบแผนดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นความชมชอบกระเป๋าหนังเทียมที่ปั๊มตราโลโก้ชื่อดัง มากกว่ากระเป๋าหนังแท้ไร้แบรนด์ โดยไม่สนใจที่ผิวสัมผัส
หรือการเรียกขานหลังคายอดแหลมสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยว่าโดม
ทั้งๆ ที่เจ้าของภาษาใช้สำหรับเรียกขานหลังคาทรงโค้งกลมมากกว่า
รวมทั้งนักออกแบบหลายคนที่โอ้อวด โอ่อ้าง เรื่องผิวสัมผัสอยู่เสมอ
โดยที่ไม่ได้เข้าใจหรือเรียนรู้อย่างเข้าใจ