เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : แหล่งเรียนรู้ของเมือง

หลังจากเห็นโลกมามากมาย ผู้เขียนก็ชักไม่แน่ใจว่าการศึกษาในโรงเรียนหรือสถาบันอุดมศึกษามีความสำคัญมากไปกว่าการได้เข้าไปอยู่ในสถาบันที่มีคนสติปัญญาใกล้เคียงกันและความสนใจใกล้เคียงกันมาอยู่ในที่เดียวกัน เป็นสังคมที่ก่อให้เกิดการปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนและคบหาสมาคมกันต่อไปในภายภาคหน้า ใช่หรือไม่

ส่วน “ความรู้” ที่แท้จริงหาเอาได้จากโลกภายนอก จากประสบการณ์ จากการไขว่คว้า เสาะหา เปิดหู เปิดตา และเปิดใจ

ยิ่งในยุคนี้ก็ยิ่งเป็นจริงมากยิ่งขึ้นในโลกออนไลน์ เมื่อข้อมูลเกือบทุกชนิดหาเอาได้บนหน้าจอ

และปัจจุบันก็เพิ่มลงไปอีกข้อหนึ่งว่า จากการท่องเที่ยวเดินทาง

ก็การเดินทางไปนครศรีธรรมราชเมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนใด้ขุมทรัพย์แห่งความรู้อันยิ่งใหญ่โดยไม่คาดคิด เป็นเรื่องการย้อมผ้าด้วยพืชนานาชนิด เป็นสีสวยสดใสตั้งแต่เขียว ฟ้า ม่วง ส้ม ชมพู เหลือง เป็นยอดแห่งโอท็อปประจำจังหวัด

thumbnail_raw-material1

คลังความรู้ชื่อ คุณอารี ขุนทน อยู่ที่ตำบลลำโกน อำเภอลานสกา เป็นศิลปินผู้ค้นคว้าและพัฒนาด้วยตัวเธอเอง

คุณอารีหลงใหลงานย้อมผ้าอย่างเป็น passion เลยทีเดียว วิชาความรู้จากโรงเรียนไม่มีความหมายสำหรับเธอ งานย้อมผ้าที่เธอเรียนรู้จากแม่เฒ่าและแม่ของเธอเองต่างหากที่เธอยึดเอามาเป็นอาชีพและทำด้วยความรัก

เวลาเล่าเรื่องย้อมผ้าเธอจะมีชีวิตชีวามาก

คุณอารีเห็นอะไรอยู่รอบบ้านที่เป็นวัสดุธรรมชาติเธอก็สามารถนำมาทดลองย้อมผ้าได้หมด ตั้งแต่กาบมะพร้าว เปลือกมังคุด ฝักสะตอ เปลือกไม้ ต้นขนุน

ใครจะนึกว่ากาบมะพร้าวจะให้สีกลีบบัวอ่อนหวาน

ส่วนฝักสะตอให้สีฟ้าอมม่วงที่มีผู้นิยมสูง และสีเขียวที่ผู้เขียนสะดุดตานั้นมาจากใบเพกา และไม่ว่าจะเป็นเงาะที่เป็นผลไม้ในสวนของชาวใต้ก็นำมาย้อมได้

ลูกเนียงที่ชาวใต้นำมาต้มกินกับมะพร้าวขูดหอมมันก็นำมาย้อมผ้าได้เหมือนกัน

1473749584470

สิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับคุณอารีที่บัดนี้เรียกตัวเองว่า “กลุ่มย้อมสีธรรมชาติคีรีวง” มีอยู่สองเรื่อง เรื่องที่คุณอารีเป็นข้อพิสูจน์ของการศึกษานอกโรงเรียนตามใจรักและความถนัดตามปรัชญาของซัมเมอร์ฮิลล์นั้นเรื่องหนึ่ง และเรื่องที่คุณอารีค้นคว้าทดลองไม่สิ้นสุดจากวัสดุรอบตัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

งานของคุณอารีเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

และคุณอารียังถ่ายทอดความรู้ของเธอให้ผู้อื่น เธอบอกว่า “ลองเอาไปทำดูนะคะ” และ “ถ้าติดขัดอะไรก็ถามได้” ว่าแล้วเธอก็ทำไลน์ส่วนตัวกับคนที่สนใจทันที

ผู้เขียนได้กลับมาลองย้อมผ้าด้วยเปลือกมังคุด รู้สึกสนุกกับการค้นคว้าทดลองที่ยังไม่ลงตัว และได้รู้ว่าต้องทดลองและเรียนรู้อีกมาก

แต่ก็อุ่นใจที่มี “ครูอารี” คอยแนะนำ

1471443603740

จากกลุ่มย้อมผ้าคีรีวง ยังมีแหล่งเรียนรู้อีกแห่งที่ได้ไปคือที่บ้านศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ของครูหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน ผู้เสียชีวิตไปแล้ว

แต่บ้านท่านยังอยู่ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

คือมีบ้านที่ท่านเคยอยู่อาศัยที่บัดนี้เป็นที่อยู่ของลูกชายและลูกสะใภ้ มีเรือนที่แสดงนิทรรศการถาวรตัวหนังตะลุงจากประเทศต่างๆ ในรูปแบบเรียบง่าย และมีโรงเล่นหนังตะลุง

เราเดินขึ้นไปชมพิพิธภัณฑ์ชั้นบนก่อน ด้วยการนำของลูกสะใภ้ของท่านผู้กระตือรือร้นที่จะอธิบายเกี่ยวกับตัวท่านและตัวหนังต่างๆ ที่ติดไว้ในตู้กระจกที่จัดแสดง บนเรือนไม้ชั้นสองอายุประมาณร้อยปีนั้นมีเครื่องดนตรีตั้งแสดงไว้เรียบง่าย

เมื่อเดินกลับลงมาข้างล่างก็จะเห็นภาพประวัติการทำงานและการแสดงตามที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งรางวัลที่ได้รับ ดูจากผลงานท่านเป็นศิลปินระดับชาติและนานาชาติที่ได้เป็นตัวแทนไปทัวร์มาแล้วหลายทวีป เป็นที่รู้จักในระดับสากล

ครูสุชาติเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2558 ในวัย 77 ปี แต่พิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2530 กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ประจำจังหวัด มีการจัดเวิร์กช็อปให้กับกลุ่มนักเรียนและประชาชนทั่วไปเป็นประจำ เมื่อเห็นว่าคณะเราให้ความสนใจซักถามก็เลยพาเราเข้าไปสาธิตวิธีทำหนังตะลุงด้วยการใช้เครื่องมือตอกฉลุลวดลายบนแผ่นหนัง

แล้วให้เราได้ทดลองทำ

จากนั้นก็ชวนเราไปนั่งคอยในหอแสดงหนังตะลุงที่เปิดโล่ง มีเวทีอยู่ด้านหนึ่ง มีจอหนังขึงอยู่

สักครู่ศิลปินที่ไม่ได้เตรียมตัวก็ทยอยกันขึ้นมาเปิดการแสดงนัดพิเศษแบบหอมปากหอมคอให้เราชม

เป็นศิลปะที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งแยกของท้องถิ่น มนุษย์มีอารมณ์ตอบสนองและเพลิดเพลินกับสิ่งเดียวกัน คือเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน แฝงสาระ

สังเกตได้ทันทีถึงการสอดแทรกล้อเลียนการเมืองที่เป็นลักษณะเฉพาะของคนใต้

เห็นภาพการมาดูหนังตะลุงเปรียบเสมือนความสนุกจากอารมณ์เจ็บๆ คันๆ ขำขัน แล้วก็สะท้อนถึงอุปนิสัยและการแสดงออกของคนใต้ที่ตรงไปตรงมา

คนใต้ยังดูหนังตะลุงกันอยู่ทุกวันนี้

พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงที่ได้ก่อตั้งมาในปี 2530 กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอย่างกว้างขวางจนได้รับรางวัลกินรียอดเยี่ยม (ไทยแลนด์ ทัวริสต์ อวอร์ดส) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ก็เพราะมันมีชีวิต มีทั้งการเรียนรู้และนันทนาการ

ใครว่าการมีรางวัลไม่สำคัญ ทุกวันที่นั่นไม่เหงาหงอย วันที่เราไปนั้นมีความคึกคักจากคณะที่มาถ่ายทำสารคดี

แหล่งเรียนรู้นี้เป็นทั้งสมบัติของครอบครัว ของเมือง และของมนุษยชาติ

เมื่อเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสกับครูสุชาติว่า “อย่าหวงวิชา” สั้นๆ แต่ลึกซึ้งยิ่ง