หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/’ที่อื่น’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวางผา - หลังไฟไหม้ สันดอยจะเป็นแหล่งอาหาร กวางผาใช้ทักษะที่มี ไต่ไปตามพื้นที่ชันๆ อย่างคล่องแคล่ว

หลังเลนส์ในดงลึก
ปริญญากร วรวรรณ

‘ที่อื่น’

ช่วงเวลาหนึ่ง ผมใช้เวลาอยู่บนดอยกว่า 4 ปี
พื้นที่ทำงาน เป็นพื้นที่อนุรักษ์ คือ อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์
ดอยซึ่งรับรู้กันว่า เป็นยอดสูงสุดของเทือกเขาถนนธงชัย ที่อยู่ในเขตประเทศไทย ด้วยความสูง 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ในฤดูหนาว อากาศหนาวจัด เกร็ดน้ำแข็งปกคลุมไปทั่ว อุณหภูมิลดต่ำกว่า 0 องศาเชลเชียส รวมทั้งป่าเมฆ นกหลากชนิด การเดินทางสะดวกสบาย และอีกหลายประการ
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ดอยอินทนนท์จึงไม่ใช่ดอยแปลกหน้าของใครๆ
ระหว่างอยู่บนดอย นอกจากทีมสื่อความหมาย ที่นำโดย ตั๋น มณีโต และหน่อเย้ง เพื่อนชาวม้งแล้ว ผมใช้เวลาส่วนใหญ่กับยะและบอม ทั้งคู่อยู่ในวัยเบญจเพสเท่ากัน
และพวกเขาก็อยู่ในสถานภาพคนงานรายวัน ลูกจ้างอุทยานฯ เหมือนกัน
ยะและบอม คือเพื่อนซึ่งทำให้ความต้องการภาพกวางผาของผมเป็นความจริง
ด้วยวิถีซึ่งไม่ค่อยติดต่อผู้คนนัก อีกทั้งการติดต่อค่อนข้างยุ่งยาก ทำให้เมื่อจากดอยไปแล้ว ผมไม่รู้ข่าวคราวของเพื่อนๆ ไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง
ไม่รู้ว่าสถานการณ์บนดอยเป็นอย่างไร
ไม่รู้ว่าหน่อเย้งสบายดีไหม
ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บอมยังทำงานอยู่บนดอยหรือเปล่า
เพิ่งไม่นานมานี้ ผมได้รับข่าวจาก ตั๋น มณีโต ว่า
ยะไม่อยู่ที่นี่แล้ว
เขาไปอยู่ที่อื่น ที่ซึ่งเขาจะไม่กลับมาอีกเลย…ตลอดกาล

บนดอย สายลมหนาวจริงจังมาถึงราวๆ กลางเดือนตุลาคม
หลังจากตกอยู่ในบรรยากาศที่ถูกปกคลุมด้วยหมอกและสายฝนมาระยะเวลาหนึ่ง
สายลมหนาวทำให้ทัศนวิสัยตามไหล่ผา ดีขึ้นบ้าง เรารู้ว่า ตั้งแต่ก่อนฤดูฝน อากาศปิดทึบ แม่กวางผาได้เวลาคลอด ฤดูฝนคือช่วงเวลาแห่งความอุดมสมบูรณ์ ลูกๆ กวางผาจะเติบโตอย่างรวดเร็ว
สภาพอากาศเปิด แสงแดดสาดส่องถึงบริเวณชะง่อนหินต่างๆ ริมผา แม่กวางจะพาลูกออกมาตากแดดอุ่น
นี่คือเวลาซึ่งลูกต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากแม่ ที่จะถ่ายทอดการใช้ชีวิต อันเป็นวิถีที่ถ่ายทอดกันมาอย่างยาวนาน
การใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณพื้นที่อันจำกัด หน้าผาสูงชัน ย่อมไม่ง่ายดาย
ลูกๆ จึงใช้เวลาอยู่กับแม่ เรียนรู้ให้ได้มากที่สุด
เพราะเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม แม่จำเป็นต้องขับลูกออกไป เพื่อหาครอบครัวใหม่
“ทำไมแม่ต้องไล่ลูกไปล่ะครับ” ในช่วงแรกที่เฝ้าดูด้วยกัน ยะสงสัย
“สาเหตุหลักคือ พวกมันไม่ต้องการให้เกิดผสมกันเองภายในกลุ่มน่ะสิ” ผมบอกตามความเข้าใจ
“บนดอยที่เหลือแค่หน้าผาแคบๆ มันจะไปหาพื้นที่ใหม่ที่ไหนได้ล่ะครับ”
ยะถามอย่างรู้คำตอบดี
นี่คือปัญหาของกวางผา จะว่าไป เป็นปัญหาเดียวกับที่สัตว์ป่าทุกชนิด ทุกป่าในโลกนี้กำลังเผชิญ
แหล่งอาศัยที่เหลือ ไม่ต่างจากเกาะแคบๆ
“ผสมกันเองภายในกลุ่ม ลูกเกิดมาไม่แข็งแรง หรือมีลักษณะด้อยลงเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ” ยะพูดความจริงที่สัตว์เผชิญ
และเขาจะพูดเช่นนี้ทุกครั้งเวลาเขาร่วมไปกับทีม สื่อความหมายสอนเด็กๆ ตามโรงเรียนรอบๆ ป่า
“แม่ต้องตัดใจให้ลูกไป ลูกก็ไม่อยากไป”
เขาบอกเด็ก เจตนาเพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงความเป็นชีวิตของเหล่าสัตว์ป่า
“ถ้าเด็กๆ ที่ผมคุยด้วย เติบโตขึ้นอย่างเข้าใจ ด้วยความรู้สึกแบบนี้ งานสื่อความหมายของเราก็ไม่เสียเวลาเปล่าหรอกนะครับ”
ยะพูดแววตาเชื่อมั่น

จากนั้น อีกสองฤดูฝน ผมลงจากดอยไปอยู่เทือกเขาบูโด ห่างไปร่วมสองพันกิโลเมตร
อยู่บูโดได้สักสองเดือน ผมได้ข่าวยะเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดมะเร็งลำไส้
ล่าสุด ผมพบกับยะที่โรงพยาบาลเมืองอุ้มผาง ขณะขึ้นจากบูโดมาทำงานในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
เขาออกจากการทำงานบนดอย ร่วมงานกับทีมทำสารคดี และมาทำเรื่องแถวๆ อุ้มผาง
อาการป่วยยะทรุดลง
ผมไม่รู้หรอกว่ายะมาทำงานแถวๆ นั้น แต่เมืองเล็กๆ อย่างอุ้มผาง ข่าวไปถึงผมไม่ยาก
ผมไปเยี่ยมเขาที่โรงพยาบาล ยะดูอิดโรย ทักทายผมสั้นๆ
“หมดสภาพแล้วครับ”
เราไม่ได้พูดคุยอะไรอีก ผมนั่งข้างเตียงอีกพักใหญ่
บ่ายวันรุ่งขึ้นผมไปที่โรงพยาบาล พบว่า ยะย้ายไปรักษาต่อที่เชียงใหม่แล้ว
“ที่นี่” ผมไม่ได้พบกับยะอีก

ในผืนป่าอนุรักษ์ เรามียะ บอม รวมทั้งหนุ่มสาวอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังทำงานของพวกเขาอย่างเอาจริง
โดยสถานภาพ พวกเขาคือลูกจ้างรัฐ
ด้วยวุฒิการศึกษาและทักษะ หลายคนเลือกไปทำงานอย่างอื่นได้
พวกเขาอยู่ในป่า ตั้งใจทำที่ๆ พวกเขาอยู่ให้ดี
ด้วยความเชื่อว่า ทุกชีวิตมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการอาศัยอยู่บนโลกใบนี้
รายได้เพียงเท่านี้ จึงไม่ใช่เพราะเงินหรอก
เหตุผลอาจเป็นเพราะพวกเขาเลือกที่จะอยู่ในป่าด้วยหัวใจ

ผมมีความเชื่อแบบเดียวกับเพื่อนๆ บนดอย
เมื่อคนตายจาก พวกเขาเพียงไปอยู่ที่อื่นเท่านั้น
และจะมาทุกครั้งที่เราคิดถึง
ยะ ชายหนุ่มวัยเบญจเพส มีเวลาแค่สั้นๆ ในการอยู่ “ที่นี่”
และสั้นมาก เมื่อเทียบกับอายุของดอย
“ที่อื่น” ที่ไหนสักแห่ง
เมื่อพบกัน ผมหวังว่าเขาจะจำผมได้