ธุรกิจพอดีคำ : “รถเด็กเล่น”

แฟนคอลัมน์ที่ติดตามกันมาตั้งแต่แรกๆ

อาจจะพอทราบว่า ชื่อคอลัมน์ของผม

“ธุรกิจพอดีคำ”

ผมไม่ได้ตั้งเอง

แต่เกิดจากการ “ระดมสมอง” ของเพื่อนๆ ของผม ใน “เฟซบุ๊ก” ส่วนตัว

“กำลังอยากทำเพจเล่าเรื่องธุรกิจแบบง่ายๆ ใช้ชื่ออะไรดี”

จำได้ว่ามี “ตัวเลือกมากมาย”

แต่สุดท้ายมาลงเอยที่ “ธุรกิจพอคำ”

แบบคะแนนทิ้งห่าง “ตัวเลือก” อื่นๆ มากมาย

ทำไมน่ะหรือครับ

พนักงานประจำอย่างผม

ทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์

ถ้าพูดถึงกิจกรรมวันหยุดสุดสัปดาห์

ก็คงจะไม่ต่างจากใครหลายๆ คน

ผม ภรรยา และลูกชายวัย “สองขวบเศษ”

มักจะใช้เวลาอยู่ใน “ห้างสรรพสินค้า”

ซื้อของเข้าบ้าน ทานอาหารกลางวัน นั่งร้านกาแฟ

แต่มี “ห้างสรรพสินค้า” อยู่หนึ่งแห่ง

ที่ผมจะต้องพาครอบครัวไป ประมาณเดือนละหนึ่งครั้ง

ไม่ขาด ไม่เกิน

แม้ว่าจะต้องใช้เวลาขับรถเกือบชั่วโมงจาก “บ้าน”

“เซ็นทรัล อีสต์วิลล์”

กิจกรรมประจำเดือนของผมคือ พาลูกชายตัวแสบไปตัดผมครับ

ที่นั่นมีร้านตัดผมเด็กชื่อว่า “ลิตเติ้ล เรดฟ็อกซ์ (Little Redfox)”

ตัดผมเด็กๆ สองสามขวบ ให้หล่อเนี้ยบ เหมือนกับ “วัยรุ่น”

ราคาก็ไม่เบาครับ แพงกว่าเวลา “พ่อ” ไปตัดผมเล็กน้อย

แต่เพื่อให้ “หลานชาย” ของอาม่า ได้มีทรงผมน่ารักๆ

คุณพ่อก็เลยขัดไม่ได้

ที่เซ็นทรัลอีสต์วิลล์มีสิ่งหนึ่งที่ “เด็กๆ” ชอบมากครับ

ขอบอกว่า “เด็กทุกคน” จริงๆ ต้องร้องขอเพื่อเจอสิ่งนี้

นั่นคือ “รถเด็กเล่น” ที่ตัวเองสามารถเข้าไปนั่งได้ครับ

ในมุมมองของ “เด็กๆ” ก็คงจะพอเข้าใจได้

แหม ได้ขับรถ ผจญภัยในห้างสรรพสินค้า

แต่ถ้ามองจากมุมของ “ผู้ปกครอง”

ผมว่า นี่คือ “นวัตกรรม” ย่อมๆ ชั้นดีเลยครับ

ทำไมน่ะหรือ

ใครที่มีลูกหนึ่งคนวัยกำลังวิ่งซน จะพอทราบว่า

การไปห้างนั้น “เหนื่อย” ไม่แพ้การเข้า “ฟิตเนส” ทีเดียว

เด็กๆ มักจะร้องขอให้ผู้ปกครอง “อุ้ม”

เด็กหนึ่งคนในวัยวิ่งซน

จะมีน้ำหนักต่อคนอยู่ที่ประมาณ 12 กิโล

ลองนึกภาพ การเดินห้างเป็นเวลาหลายชั่วโมง

โดยที่ต้องแบกของหนัก “12 กิโล”

จะต้องใช้พลังงานขนาดไหน

แน่นอน อุ้มไปสักพัก

“ลูกชายตัวแสบ” ก็มักจะขอลงมาวิ่งเล่น

ทีนี้จากการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแขน

ก็เปลี่ยนเป็น “กล้ามเนื้อขา”

ต้องวิ่งตามกันไม่จบไม่สิ้น

เป็นวงจรแห่งความสุข ที่ “เหงื่อตก” ไม่น้อยเลยทีเดียว

“รถเด็กเล่น” จึงตอบโจทย์นี้อย่างดี

นอกจาก “เด็กๆ” จะมีความสุขแล้ว

ผู้ใหญ่ก็ลดการปวดไขข้อได้ดีทีเดียว

สิ่งที่ผมชอบมากที่สุด สำหรับ “รถเด็กเล่น” คันนี้

คือสามารถบังคับทิศทางของรถได้ “สองจุด”

จุดแรกคือ “พวงมาลัย” ของตัวรถ ที่เด็กๆ มักจะหมุนเล่นอย่างสนุกสนาน

ที่น่าสนใจสำหรับผมคือ จุดที่สอง

มันจะมี “ที่จับ” ยืดขึ้นมาทางด้านหลังของตัวรถ อีกอันหนึ่ง

ความสูงพอดีเป๊ะกับผู้ใหญ่ทั่วไป

มีความสูงพอดีที่ทำให้ไม่ต้อง “ก้ม” ให้เมื่อยเอว

ที่จับอันนี้ ต่อโดยตรงกับ “พวงมาลัย” ที่ตัวรถ

ออกแบบมาให้ “ผ่อนแรง” ได้ดี

เอาไว้ให้ผู้ปกครอง “บังคับ” รถของลูก

แน่นอนสำหรับผู้ใหญ่ เราก็สามารถดูแลลูกเราได้เต็มที่

ไม่ปล่อยให้เขา “เข็นรถ” ตัวเองไปชนอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า

แถมบางครั้งอาจจะเร่งความเร็ว เลี้ยวซ้ายขวา

ทำให้ลูกของเราสนุกสนานเป็นระยะๆ

ในเชิงของ “เด็ก”

เขาก็รู้สึกเป็น “อิสระ” พอที่จะขยับไปในทิศทางที่เขาต้องการ

ตาม “กำลังความสามารถ”

สำหรับผมในฐานะที่ทำงานด้าน “นวัตกรรม” มาค่อนข้างมาก

สิ่งที่ “รถเด็กเล่นอันนี้” มีเต็มๆ คือ “ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy)” ให้ผู้ใช้งาน

ตอบโจทย์ในเชิงการใช้งาน (Function) และอารมณ์ (Emotion)

ผู้ใหญ่ก็เมื่อยน้อยลง แต่ก็สามารถดูลูกๆ ได้อย่างดี

เด็กๆ ก็สนุกสนานกับการผจญภัย

ที่น่าสนใจคือ ไม่ต้องพึ่ง “เทคโนโลยี” อะไรให้วุ่นวาย

แต่เน้นปฏิสัมพันธ์ของ “พ่อ-แม่-ลูก” นี่แหละ

ที่ทำให้ไม่ว่าจะไปกี่ครั้ง

“รถเด็กเล่น” ก็จะเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวจะต้องไปขอยืมที่ “ประชาสัมพันธ์”

และแน่นอน “คิวยาว” ทุกครั้งไป

ผมเขียนคอลัมน์ครั้งแรกๆ ในวันที่ภรรยาให้กำเนิด “ลูกชาย”

เราตั้งชื่อเขาว่า “พอดี”

“ธุรกิจพอดีคำ”

ชื่อคอลัมน์ที่ “เห็นปุ๊บ” เลือกปั๊บ ไม่รีรอ

ก็เกิดจากการ “เข้าอกเข้าใจ (Empathy)” นี่แหละ