พระอัศวโฆษ : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

สิ่งที่เสถียร โพธินันทะ ขยายจาก “ลัทธิของเพื่อน” ส่วนหนึ่งคือการชี้ลงไปว่า การก่อตัวของมหายานเริ่มปรากฏเป็นเค้าตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 1 แต่ยังไม่โจ่งแจ้ง

บรรดาทัศนะของคณาจารย์ทั้ง 18 ล้วนเป็นบ่อเกิดของมหายานทั้งสิ้น

นั่นก็คือ ฝ่ายเถรวาทแตกออกเป็น 11 มี 1 วาตสิปุตริยะ (วัชชีบุตร) 2 มหิศาสกะ 3 ธรรมคุปตะ 4 เสาตันติกะ 5 สรวาสติวาทิน 6 กาศยปิยะ 7 สัมกรานติวาทิน 8 สามมะมีติยะ 9 ศันนาคาริก 10 ภัทระยานิกะ 11 ธัมโมตตริยะ

ฝ่ายมหาสังฆิกะ มีสาขาแตกออกไป 5 นิกาย มี 1 เอกะวะยะหาริกะ 2 โคกุลิกะ 3 พหุศรุติยะ 4 ไจติกะ 5 ปรัชญะประติวาทิน

ที่มีอิทธิพลมากคือฝ่ายมหาสังฆิกะ

มหายานได้ค่อยๆ ฟักตัวเองจากการเลือกเฟ้นผสมผสานบรรดาปรัชญาในนิกายต่างๆ แล้วจึงได้ปรากฏรูปร่างขึ้นชัดแจ้งราวพุทธศตวรรษที่ 6

ตอนนี้แหละที่ได้เสนอนามแห่ง “อัศวโฆษ” ขึ้นมา

กระนั้น การเสนอนามแห่ง “อัศวโฆษ” ก็มีเงื่อนแง่อันเป็นข้อสงสัยโดยอ้างอิงจากเอกสารทางด้านฝ่ายจีนเป็นหลัก

จาก “อัศวโฆษ” จึงต่อเนื่องไปยัง “นาคารชุน”

เริ่มจากพระอัศวโฆษชาวเมืองสาเกต ได้ประกาศลัทธิมหายานด้วยการแต่งคัมภีร์ “มหายานศรัทโธตปาทศาสตร์” ซึ่งเป็นปรัชญาฝ่ายภูตตถตาวาทิน

แต่นักปราชญ์ยังสงสัยกันว่าคัมภีร์นี้เป็นฝีมือของชาวจีนมากกว่า

และพระอัศวโฆษกน่าจะเป็นคณาจารย์ของฝ่ายสาวกยานมากกว่า เหตุผลก็คือ คณาจารย์ของมหายานนิยมการแต่งพระสูตรถวายเข้าพระพุทธโอษฐ์แบบเดียวกับพวกมหาสังฆิกะ

ตอนนี้พระสูตรมหายานได้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีอิทธิพลเท่าไรนัก

จนตราบเท่าถึงพุทธศตวรรษที่ 7 (ศักราชนี้ยังเถียงกัน) มหายานเกิดคนสำคัญขึ้นคนหนึ่งคืออาจารย์นาคารชุนแห่งอินเดียใต้ ได้ประกาศปรัชญาศูนยตวาทินขึ้น และด้วยนิพนธ์ของท่านชื่อ “มาธยมิกศาสตร์” ซึ่งนำปรัชญาของนานานิกายในพระพุทธศาสนากับปรัชญาของพราหมณ์มาวิพากษ์ พร้อมทั้งอธิบายปรัชญาศูนยตาขึ้น

ได้ทำให้มหายานมีฐานะโดดเด่น ข่มรัศมีของนิกายอื่นๆ สิ้น ประชาชนหันมาเลื่อมใสในลัทธิใหม่นี้มากขึ้นทุกที

ศิษย์ของท่านนาคารชุนชื่อ “เทวะ” ได้รับช่วงงานของอาจารย์อย่างเข้มแข็ง

เราจะยังไม่อธิบายและขยายความเกี่ยวกับบทบาทของท่านเทวะ แต่จะย้อนกลับมาพิจารณาเรื่องราวของ “นาคารชุน”

โดยย้อนกลับไปยัง “ลัทธิของเพื่อน” ที่ระบุว่า

นาคารชุนเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองวิทรรก และเป็นคณาจารย์ในพระพุทธศาสนาทางปักษ์ใต้แห่งอินเดียในสมัยราว พ.ศ.700

ตรงนี้ก็มีข้อมูลในเชิงโต้แย้ง

กล่าวคือ หลวงจีนเหี้ยนจังแจ้งว่า พ.ศ.400 และว่าอยู่ในปักษ์ใต้ของแคว้นโกศล ในหนังสือราชตรังคินีพงศาวดารกัษมีระระบุว่า นาคารชุนเป็นสังฆเถระของพระเจ้าอภิมันยุซึ่งสืบสันตติถัดจากพระเจ้ากัษมีระ

อย่าว่าแต่เรื่องของเวลาเลย แม้กระทั่งเรื่องของ “อาจารย์” ก็มีข้อแย้ง

ลัทธิของเพื่อนระบุว่า อาจารย์ของนาคารชุนเป็นผู้ที่อยู่ในวรรณศูทรชื่อ “สรห” หรือ “ราหุลภัทร” แต่ก็กล่าวในเชิงอรรถด้วยว่า ในสมุดคู่มือพระพุทธศาสนาของเกินระบุว่า อาจารย์ของนาคารชุนเป็นพราหมณ์ชื่อราหุลภัทรซึ่งเป็นผู้นับถือคติมหายานมาแต่เดิม

กระนั้น ตามตำนานกล่าวว่า นาคารชุนมีอิทธิพลสามารถมาก เพราะฉะนั้น ประวัติของท่านผู้นี้จึงมีเรื่องราวกล่าวไปทางปาฏิหาริย์

นั่นเป็นเรื่องที่สมควรอธิบายและขยายความต่อไป

ไม่ว่าจะอ่านจาก “ลัทธิของเพื่อน” ไม่ว่าจะอ่านจาก “ปรัชญามหายาน” แม้จะเอ่ยถึงพระอัศวโฆษ แต่น้ำหนักเน้นไปยัง “นาคารชุน”

การจะทำความเข้าใจ “มหายาน” จึงต้องเริ่มจาก “นาคารชุน”

ไม่ว่าจะเป็นการมองนาคารชุนผ่านแว่นของ “เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป” ไม่ว่าจะเป็นการมองนาคารชุนผ่านแว่นของเสถียร โพธินันทะ

เพราะว่าเรื่องของ “ชีวิต” ย่อมสัมพันธ์กับ “ความคิด”