คนมองหนัง : “ยักษ์” ใน “แก้วหน้าม้า” และละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่นๆ

คนมองหนัง

ยิ้มเยาะเล่นหวัว เต้นยั่วเหมือนฝัน (มติชนสุดสัปดา์ ฉบับวันที่ 14-20 สิงหาคม 2558)

หลายสัปดาห์ก่อน มีข่าวคราวเกี่ยวกับชะตากรรมทางการเมืองของ คุณพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ด้วยความระลึกถึงชีวิตนักแสดงของ “เด็จพี่” ผมจึงคลิกเข้าเว็บไซต์ยูทูบ แล้วเสิร์ชหาผลงานการแสดงเก่าๆ ของแกมานั่งชม

เสิร์ชไปเสิร์ชมา ก็เจอคลิปเปิดเรื่องของละครจักรๆ วงศ์ๆ ฟอร์มใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2542 เรื่อง “เทพศิลป์ อินทรจักร” ซึ่งหลายคนที่เคยดู ย่อมตระหนักได้ว่า นี่เป็น “รามเกียรติ์” ในระดับ “ย่อสเกล”

หรือเป็นการพยายามแปร “วัฒนธรรมหลวง” อย่าง “โขน” ให้กลายมาเป็น “วัฒนธรรมราษฎร์/มวลชน” ในรูปของละครจักรๆ วงศ์ๆ ทางโทรทัศน์

ฉากเปิดเรื่องของ “เทพศิลป์ อินทรจักร” เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “ท้าวจตุรพักตร์” ผู้เปี่ยมฤทธิ์ และสมุน พากันไปไล่ทำร้าย ทำลาย สั่งสอนบรรดาเทวดา-นางฟ้า ที่ชอบนินทาพญายักษ์สี่หน้า

ครั้นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเทวดากับยักษ์ลุกลามหนักขึ้นเรื่อยๆ “พระสยมภูวญาณ” ผู้เป็นใหญ่ จึงเรียกท้าวจตุรพักตร์ ขึ้นไปเข้าเฝ้า

ฉากการปะทะคารมระหว่างพระสยมภูวญาณ (พร้อมพงศ์) กับท้าวจตุรพักตร์ (ดามพ์ ดัสกร) อันถือเป็นบทสนทนาที่ “น่าสนใจมาก”

บทหนึ่ง ของประวัติศาสตร์ละครโทรทัศน์จักรๆ วงศ์ๆ ไทย มีเนื้อหาดังนี้

พระสยมภูวญาณ : ดูท่านไม่ได้ขึ้นมาหาเราซะหลายวัน เจ็บไข้ไม่สบายไปหรืออย่างไร?

ท้าวจตุรพักตร์ : ข้าพระองค์แข็งแรงและมีความสุขดี ไม่มีเป็นอะไรง่ายๆ หรอกพระเจ้าค่ะ ว่าแต่ที่มีพระประสงค์ให้ข้าพระองค์มาเข้าเฝ้าในวันนี้ คงจะเป็นเพราะไอ้พวกเทวดาขี้ขลาดพวกนี้มาทูลฟ้องกระมัง?

พระอินทร์ (ที่ยืนฟังการเจรจาอยู่ด้วย) : ท้าวจตุรพักตร์ท่านจะพูดจาอะไร ก็ขอให้สำรวม รู้จักกาลเทศะซะบ้าง ท่านอย่าลืมว่า ท่านอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระสยมภูวญาณผู้เป็นใหญ่

ท้าวจตุรพักตร์ : หุบปาก!

พระสยมภูวญาณ : แล้วท่านรู้ตัวรึเปล่า? ว่าทำผิดคิดร้ายอะไรพวกเขา พวกเขาถึงมาฟ้องเรา

ท้าวจตุรพักตร์ : พวกมันชอบนินทาว่าร้ายข้าไม่เว้นแต่ละวัน ต้องสั่งสอนซะบ้าง จะได้เข็ดหลาบ

พระสยมภูวญาณ : เท่าที่เรารู้ ท่านไม่ได้ตั้งใจสั่งสอนพวกเขา แต่ท่านจงใจทำร้ายพวกเขา จนเจ็บตายกันมากมาย

ท้าวจตุรพักตร์ : ไม่ยุติธรรม! พระองค์ทรงมีอคติต่อพวกยักษ์ตลอดมา เทวดาทำอะไรก็ไม่ผิด แต่พอยักษ์ทำบ้าง กลับถูกตำหนิติเตียน ทำไมข้าพระองค์จะไม่รู้ว่าทรงเข้าข้างพวกเทวดา ในเมื่อลำเอียงจนเห็นได้ชัดอย่างนี้ ก็เลิกเคารพ เลิกนับถือ กันซะที ต่อไปนี้ข้าจะไม่กลัวไม่เกรงใครหน้าไหนทั้งนั้น

พระสยมภูวญาณ : ไอ้ยักษ์อันธพาล! เราอุตส่าห์ตักเตือนเจ้าแต่โดยดี เจ้าอย่ามาพูดจาข่มขู่เรา อย่าอวดในอิทธิฤทธิ์นักเลย เมื่อเจ้าลำพองในอิทธิฤทธิ์นัก เราขอสาปให้เจ้าและวงศ์วานยักษ์อันธพาลของเจ้าทั้งปวง ต้องตายในน้ำมือของมนุษย์ ในเวลาไม่นานต่อจากนี้ไป

บทสนทนาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า “ยักษ์” ฝ่ายหนึ่ง กับ “เทวดา” และ “มนุษย์” อีกฝ่ายหนึ่งนั้น ไม่สามารถอยู่ร่วมโลกกันได้ เมื่ออยู่ร่วมกันไม่ได้ จึงต้องมีเทวดาอวตารลงไปเป็นมนุษย์เพื่อปราบยักษ์

และนี่ก็คือจุดกำเนิดเรื่องราวทั้งหมดของ “เทพศิลป์ อินทรจักร”

กลับมาที่ปี พ.ศ.2558 ละครจักรๆ วงศ์ๆ ฮ็อตฮิตเรื่องปัจจุบัน อย่าง “แก้วหน้าม้า” ก็มีตัวละครเป็น “ยักษ์” เช่นกัน

ทว่า “ยักษ์” ใน “แก้วหน้าม้า” กลับไม่ได้มีฤทธิ์เดชสูงส่งมากนัก ทั้งยังมีบทบาทคล้ายๆ ตัวตลกเสียด้วยซ้ำไป

ยักษ์หนุ่มอย่าง “ท้าวกายฆาต” ก็พลาดท่าเสียที ถูก “พี่อีโต้วิเศษ” ของแก้วหน้าม้า ตัดทั้งนิ้วและเขี้ยว ขณะที่ยักษ์แก่อย่าง “ท้าวพาลราช” ก็เคยแข่งว่าวแพ้ “พระปิ่นทอง” ผู้เป็นมนุษย์

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ ท้าวพาลราชมีลูกสาวเป็นนางยักษ์อยู่สองคน ชื่อ “สร้อยสุวรรณ” และ “จันทร์สุดา” ซึ่งถูกแม่ (ผู้เป็นยักษ์เช่นกัน) เลี้ยงดูขึ้นมาอย่างมนุษย์ แถมทั้งคู่ยังไม่เคยกินเนื้อสัตว์และเนื้อคน เฉกเช่นยักษ์ทั่วๆ ไป

ที่สำคัญ พวกนางยังหลงรักมนุษย์อย่างพระปิ่นทอง สวนทางกับความประสงค์ของผู้เป็นพ่อ ที่พยายามบีบบังคับให้ลูกสาวทั้งสองแต่งงานกับท้าวกายฆาต ซึ่งเป็นยักษ์ด้วยกัน

ในที่สุด สร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา และพระพี่เลี้ยง จึงพยายามหลบหนีออกจากเมืองยักษ์ แต่ภารกิจดังกล่าวกลับต้องล้มเหลวลง เมื่อทั้งหมดถูกท้าวกายฆาตจับกุมตัวเอาไว้ได้

ณ ท้องพระโรง ท้าวพาลราชบริภาษใส่ลูกสาวที่เพิ่งถูกจับตัวได้อย่างหนักหน่วงรุนแรง นำไปสู่บทสนทนาที่น่าสนใจอีกหนึ่งบท

ท้าวพาลราช : เจ้ามีพ่อเป็นยักษ์ มีแม่เป็นยักษ์ ถ้าไม่มีผัวเป็นยักษ์ แล้วเจ้าจะมีผัวเป็นมนุษย์อย่างงั้นเหรอ!!! ว่าไง???

สร้อยสุวรรณ : เพคะ หม่อมฉันจะมีพระสวามีเป็นมนุษย์

ท้าวพาลราช : เฮอะ! นังสร้อยสุวรรณ (จากนั้น ท้าวพาลราชเงื้อมือจะตบหน้าสร้อยสุวรรณ ก่อนที่จันทร์สุดาจะเอาร่างเข้ามาขวาง)

จันทร์สุดา : อย่าเพคะ หม่อมฉันด้วย ถ้าไม่ได้อภิเษกกับพระปิ่นทอง หม่อมฉันจะไม่อภิเษกกับใครเด็ดขาด

จากบทสนทนาและโครงเรื่องทั้งหมด สร้อยสุวรรณ-จันทร์สุดา จึงเป็น “ยักษ์” (ทางกายภาพ) ที่ไม่ได้อยากจะเป็น “ยักษ์” (ในทางวิถีการดำเนินชีวิต/วัฒนธรรม) แต่เป็น “ยักษ์” ที่อยากใช้ชีวิตร่วมกันกับ “มนุษย์” เหมือนดังที่ “คนหน้าม้า” สามารถใช้ชีวิตร่วมกับ “มนุษย์ปกติ” ได้

พล็อตเรื่องเช่นนี้มิใช่สิ่งแปลกใหม่หรือแปลกปลอมสำหรับละครจักรๆ วงศ์ๆ เพราะ “ยอพระกลิ่น” เวอร์ชั่นล่าสุด ที่ออกฉายก่อนหน้า “แก้วหน้าม้า (2558)” ก็มีตัวละครเจ้าชายเมืองมนุษย์ที่ได้เสียกับธิดาเมืองยักษ์ จนมีลูกเต้าด้วยกัน และสามารถใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ถ้าจำไม่ผิด แม้แต่ใน “เทพศิลป์ อินทรจักร” ซึ่ง “ยักษ์อันธพาล” ถูกปราบจนเกือบสิ้นวงศ์ ก็ยังมีธิดาของท้าวจตุรพักตร์ ที่ได้ครองรักกับพระรองอย่าง “อินทรจักร”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “แก้วหน้าม้า” ฉบับล่าสุด ทำได้เหนือกว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องก่อนๆ คือ การเปิดโอกาสให้ตัวละครผู้เป็น “ยักษ์” ได้ป่าวประกาศเจตจำนงแห่ง “การไม่อยากเป็นยักษ์” ของตน ออกมาอย่างหนักแน่นชัดเจน ผ่านบทสนทนาอันเกรี้ยวกราด เถรตรง โดนใจผู้ชมจำนวนมาก

จากจุดเปิดเรื่องของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องหนึ่ง เมื่อ 16 ปีก่อน มาถึง ตำแหน่งแห่งที่ของตัวละคร “ยักษ์” ในละครประเภทเดียวกัน ยุคปัจจุบัน

ผู้ชมคงได้มองเห็นถึงความคลี่คลายบางประการ อันถูกสื่อแสดงผ่านความปรารถนาของตัวละคร “ยักษ์” ซึ่งไม่ต้องการให้อัตลักษณ์ของตนและวงศ์วาน กลายสถานะเป็น “กรงศักดิ์สิทธิ์” ที่คอยกักขัง หน่วงเหนี่ยว ฉุดรั้ง ความใฝ่ฝันในการก้าวข้ามไปให้พ้นลักษณะเฉพาะหรือข้อจำกัดเชิงเผ่าพันธุ์/ชาติพันธุ์ของตนเอง

คำประกาศสงครามระหว่างพระสยมภูวญาณกับท้าวจตุรพักตร์ จึงเริ่มกลายเป็นปมปัญหาแบบโบราณของละครจักรๆ วงศ์ๆ ยุคเก่า ที่แลดูล้าสมัย หากพิจารณาผ่านกรอบของละครจักรๆ วงศ์ๆ ยุคใหม่ ที่ “ยักษ์” มิได้ปรารถนาจะอยู่ขั้วตรงกันข้ามกับ “เทวดา” และ “มนุษย์”

นี่คือเจตจำนงใหม่ของ “อดีตเหล่าร้าย” ซึ่งตั้งเข็มมุ่งเอาไว้ว่า ทุกๆ ฝ่ายไม่จำเป็นต้องพลัดตกลงไปในกับดักของ “อภิมหาเรื่องเล่า” เดิมๆ ที่คอยขีดเส้นชักใยให้พวกเขาฟาดฟันทำลายล้างกัน จนวอดวายไปข้างหนึ่ง

น่าเสียดาย ที่เรายังไม่ได้ยินเจตจำนงอันชัดเจนแบบเดียวกัน จากปากของตัวละครฝ่ายเทวดา

(เครดิตภาพประกอบ : http://www.bugaboo.tv)